วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา 9 ในฐานะเป็นสิ่งที่ฆราวาสต้องเรียนรู้ และปฏิบัติ

เสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2515
          ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!
            ในการบรรยายครั้งที่ 9 นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อที่ว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ฆราวาสต้องเรียนรู๔ และปฏิบัติ ท่านทั้งหลายจงได้สังเกตถ้อยคำที่อาตมาได้กล่าวแล้วว่าฆราวาสต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ควรเรียนรู้ หรือน่าจะเรียนรู้ ข้อที่ต้องใช้คำว่า ต้อง นี้ ย่อมแสดงความหมายชัดแจ้งถึงที่สุดอยู่แล้ว ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไร? จึงหวังว่าท่านทั้งหลาย จะได้ตั้งอกตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์
            ขอทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แก่ท่านทั้งหลาย โดยไม่กลัวว่าจะรำคาญว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องมีความคุ้นเคยกันกับเราทังหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ในการพูดจาก็ดี ในการคิดนึกก็ดี ในการประพฤติกระทำในชีวิตประจำวันนี้ก็ดี ขอให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา และใช้กฎเกณฑ์อันนี้แก้ไขปัญหาตาง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน; คือจะเป็นเรื่องทางกายหรือทางใจก็ตาม จะต้องอาศัยกฎเกณฑ์อันนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้นำมากล่าวแล้วกล่าวอีก หลายครั้งหลายคราวแล้ว จนกว่าจะเป็นที่คุ้นเคยกับพวกเราทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท
            อีกข้อหนึ่ง ซึ่งจะต้องนึกไว้เสมอว่า อิทัปปัจจยตา นั้นก็คือปฏิจจสมุปบาท หรือปฏิจจสมุปบาท ก็คือ อิทัปปัจจยตา แต่เมื่อกล่าวโดยตัวหนังสือแล้ว คำว่า อิทัปปัจจยตา กินความกว้างกว่า หรือหมายความกว้างกว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท ตามสูตรที่ได้ตรัสไว้โดยตรงนั้น เป็นเรื่องอาศัยกันเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ และความดับไปแห่งกองทุกข์ ที่มีอยู่ในจิตใจของคนเราโดยเฉพาะเท่านั้น แต่คำว่า อิทัปปัจจยตา นั้นกินความกว้าง หมายความว่าไม่ยกเว้นอะไรเลย ในบรรดาสิ่งที่เป็นสังขตธรรมทั้งหลาย จะเป็นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี ภายนอกก็ดี ภายในก็ดี หยาบละเอียดก็ดี อะไรดังนี้เป็นต้น ล้วนแต่เนื่องอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ของสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
            ถ้าจะพูดกันโดยสรุปให้เป็นประเภทใหญ่ ๆ แล้ว ก็จะได้เป็น 3 ประเภท :
-        อิทัปปัจจยตา ของสิ่งที่เป็นเหตุ นี้อย่างหนึ่ง
-        อิทัปปัจนยตา ของสิ่งที่เป็นผล นี้อีกอย่างหนึ่ง และ
-        อิทัปปจจยตา ของปัจจยาการ คืออาการที่เนื่องกันระหว่างเหตุกับผล นี้อีกอย่างหนึ่ง
          อย่างแรก อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นเหตุนั้น ก็ได้แก่สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยทั้งหลาย มีขึ้นมาและเป็นไปได้ตามกฎเกณฑ์อันนี้ อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็ฯผลนั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม หมายถึงสิ่งที่เป็นผลธรรมที่เป็นผล อันเกิดขึ้นแล้วเพราะอาศัยกันและกัน อิทัปปัจจยตา แห่งปัจจยาการนั้น ไม่มุ่งถึงเหตุหรือผล แต่มุ่งถึงความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุกับผล หรืออาการที่เหตุทำให้เกิดผล ในลักษณะนี้ ก็คือตัวปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง ปัจจัยนั้นอย่างหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมนั้นก็อย่างหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง รวมเป็น 3 อย่าง อย่างนี้
            ท่านทั้งหลายจงมองดูให้ดีว่า ในโลกนี้ บรรดาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรานั้นอะไรเป็นอะไร? คือว่า อะไรเป็นเหตุ? อะไรเป็นผล? และ อะไรเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างเหตุกับผล? เป็นสิ่งที่น่าสนใจและละเอียดสุขุม ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ในลักษณะอย่างไร มันเกี่ยวข้องกันกับสิ่งทั้ง 3 นี้ ทั้งนั้น หรือถ้าว่าอีกทีหนึ่ง ก็ว่า ความเกี่ยวข้องกันระหว่างเหตุกับผลนั้นแหละ คือชีวิตของคนเราทุกขณะๆ ไปทีเดียว เมื่อ อิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนเราโดยตะรางอย่างนี่ มันก็ต้องเป็นเรื่องที่ควรจะสนใจ ฆราวาสก็เป็นคน ดังนั้น ฆราวาสก็ต้องสนใจ ฆราวาสมีเรื่องมา มีภาระมาก มีปัญหามาก เป็นเหตุ เป็นหนทางให้เกิดความทุกข์มาก นั่นแหละจึงต้องรอบรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา
        ฆราวาสไม่ใช่สัตว์ ที่เกิดมาสำหรับทนทุกข์อย่างตกนรกทั้งเป็น ขออภัยที่พูดตรง ๆ อย่างนี้  ก็เพื่อประหยัดเวลา ว่าไม่ใช่เกิดมาเพื่อทนทุกข์อย่างตกนรกทั้งเป็น ฆราวาสมีโอกาสที่จะต้องทนทุกข์อย่างตกนรกทั้งเป็น ยิ่งกว่าบรรพชิดก็เห็นกันชัด ๆ แล้ว ว่าฆราวาสมีเรื่องอะไรบ้าง? อย่างไรบ้าง? หรือเท่าไร? พระเณรมีเรื่องอะไรบ้าง? อย่างไรบ้าง? หรือเท่าไร? เปรียบเทียบกันแล้วมันน้อยกว่ากันมาก ในการที่จะทำให้ตกนรกทั้งเป็น ในหมู่พระหมู่เณร; แต่ฆราวาสนั้นมีทางที่จะเป็นได้ง่าย เพราะมันเกี่ยวพันกันยุ่งไปหมด แล้วก็มีภาระหนักอึ้ง
            ฆราวาสไม่ใช่สัตว์ที่เกิดมาสำหรับทนทุกข์อย่างตกนรกทั้งเป็น นี้ตามทัศนะของพุทธบริษัท คนพวกอื่นเขาจะถืออย่างไรก็ตามใจเขา แต่พุทธบริษัทเราจะต้องถือว่า ฆราวาสก็คือสัตว์ที่เกิดมา เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้และทั่วกันทุกคน เกิดมาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ หมายความว่าถ้าไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้นี้ มันก็ไม่ควรจะเรียกว่ามนุษย์ ต่อเมื่อได้สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้ จึงจะเรียกว่ามนุษย์ แล้วก็ต้องได้ หรือควรจะได้ด้วยกันทุกคน
            อาจะมีคนแย้งว่า มันเป็นเรื่องยากเกิดไป ไม่ควรจะได้ทุกคน ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเป็ฯคนปรกติตามธรรมดาสามัญแล้ว ก็ควรจะได้ทุกคน; แต่ถ้าเป็นคนอาภัพ คือมีการวิกลวิการทางจิตใจ มันก็ยากที่จะได้อยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันไม่พร้อมที่จะได้ เดี๋ยวนี้พูดกันอย่างว่าในกรณีปรกติ ผู้ที่เรียกว่ามนุษย์ได้แล้วก็ควรจะได้สิ่งนี้ ความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์ได้สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุดทีมนุษย์ควรจะได้ จะมีเหตุผลอย่างไร ในเรื่องนี้ ก็ควรจะได้พิจารณากันต่อไป
            หัวข้อที่ได้ยกขึ้นไว้นั้นมีว่า สิ่งที่ฆราวาสต้องเรียนรู้และปฏิบัติ นั้นคือ อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา ก็รู้คำแปลกกันดีอยู่แล้วทุกคน ว่า ความที่หรือภาวะที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น; นี่ตั้งอยู่ในลักษณะที่เป็นกฎทั่วไปในสิ่งทั้งปวง แล้วก็มีกิริยาอาการที่ปรากฏออกมาให้เห็น ตามกฎเกณฑ์อันนั้น เรื่องผิดก็เป็นอย่างนั้น เรื่องผิดก็เป็นอย่างนั้น เรื่องถูกก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ เมื่อเรารู้จักใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ได้สิ่งที่ควรจะได้ หรืออยู่ในฐานะที่ควรจะได้
            แม้ว่าท่านจะนึกถึงหลักธรรมที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 ประการ ที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่พึงปรารถนาที่ไม่เหลือวิสัยแล้วดังนั้นก็จริง แต่อย่าลืมว่า ลำพังอิทธิบาทนั้น มันไม่มีความหมาย; มันต้องเป็นอิทธิบาทที่เป็นไปถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา มันจึงจะมีความหมาย อิทธิบาทแต่ละอย่างต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ข้อนี้
        หรือว่า ธรรมะหมวดใดก็ตาม มีหน้าที่อย่างไรก็ตาม ก็ล้วนแต่เป็นธรรมะ ที่จะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา จึงจะสามารถให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้นได้ เดี๋ยวนี้เราพูดกันสำหรับฆราวาส ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว ก็จะได้พูดให้เห็นชัดลงไป โดยเฉพาะเรื่องอันเกี่ยวกับฆราวาส
          ความเป็นฆราวาสนั้น มีคำลาลีเรียกว่า กามโภคี กามโภคี แปลว่าผู้บริโภคกาม เป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องของกามโภคีไว้เป็น 10  จำพวกด้วยกัน ใน 10 จำพวกนั้น พวกที่ 10 คือพวกสุดท้ายประเสริฐที่สุด ท่านทั้งหลายคอยฟังดูให้ดีว่า จะประเสริฐหรือไม่ประเสริฐอย่างไร? ในกามโภคี 10 จำพวกนี้ มันมีอยู่อย่างไรบ้าง พระองค์ได้ตรัสแก่อนาถบิณฑิกคหบดีในอังคุตตรนิกาย หมวด 10; ถ้าเป็นพระไตรปิฎกฉบับบาลี ก็เล่ม 24 หน้า 188 ไปเปิดดูโดยรายละเอียดเอาเอง ในที่นี้จะยกมาโดยหัวข้อที่เป็นหมวด ๆ
            ในบรรดากามโภคี 10 จำพวกนั้น แบ่งเป็นพวก ๆ อีกทีหนึ่ง; 3 พวกแรก มีการแสวงหาไม่เป็นธรรม ทารุนโหดร้าย; 3 พวกถัดมา มีการแสวงหาเป็นธรรม ทารุณโหดร้ายบ้าง มีการาแสวงหาไม่เป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้ายบ้าง; 3 พวกต่อไป เป็นการแสวงหาเป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้ายโดยประการทั้งปวง เป็น 9 พวก แล้วมีพวกที่ 10 พวกสุดท้ายที่แปลกออกไป ที่ว่า จะต้องมีคุณสมบัติอันประกอบด้วย; จะจาระไนโดยละเอียด :-
          กลุ่มที่ 1 มีอยู่ 3 พวก : ชนิดที่ 1 นี่ แสวงหาไม่เป็นธรรม ทารุณโหดร้าย ไม่เป็นธรรมคืออธรรม ทารุณโหดร้ายคือสาหัส ครั้นได้ทรัพย์มาแล้วไม่เลี้ยงตนเองให้เป็นสุขหรืออิ่มหนำด้วย แล้วก็ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญด้วย พวกนี้ควรถูกตำหนิโดย 3 สถาน คือควรถูกติโดย 3 ส่วน 3 สถาน : การแสวงหาก็ไม่เป็นธรรม ได้มาแล้วก็ไม่เลี้ยงตนเองให้เป็นสุข แล้วก็ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ; นี้เป็น 3 อย่างอยู่อย่างนี้ เขาไม่ทำอะไรเลย เรียกว่าถูกตำหนิโดยส่วนทั้ง 3 ชนิดที่ 2 แสดงหาไม่เป็นธรรม ทารุณโหดร้ายอย่างนั้น แต่ว่าได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้เป็นสุขและอิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ; อย่างนี้เขาควรถูกติแต่โดย 2 สถาน ควรจะชมสักหนึ่งสถาน คือข้อที่ว่ายังรู้จักเลี้ยงตนให้เป็นสุขและอิ่มหนำ ติก็ติที่ว่า แสวงหาไม่เป็นธรรม แล้ก็ไม่รู้จักแจกจ่ายทำบุญ ชนิดที่ 3 นั้น แสวงหาก็ไม่เป็นธรรมทารุณโหดร้าย ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้เป็นสุขอิ่มหนำ แล้วก็แจกจ่ายทำบุญด้วยพวกนี้ควรถูกตำหนิ 1 สถาน คือแสวงหาไม่เป็นธรรม แล้วควรชมเชย 2 สถาน คือรู้จักเลี้ยงตนเองให้มีความสุข และรู้จักแจกจ่ายทำบุญ ใน 3 พวกนี้ แล้วแต่แสวงหาไม่เป็นธรรม
            ที่นี้ มาถึง กลุ่มที่ 2 : ชนิดที่ 1 แสวงหาเป็นธรรมบ้าง ไม่เป็นธรรมบ้าง คือโหดร้ายบ้าง ไม่โหดรายบ้าง หมายความว่าเจือกัน ไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข แล้วก็ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ นี้ไม่ควรจะถูกติไปเสียทังหมด เพราะว่าการแสวงหาบางครั้งบางคราวของเขายังเป็นธรรมบ้าง ยังไม่ทารุณโหดร้ายบ้าง นี้ส่วนนี้เรียกว่ายังชมไว้ให้นิดหนึ่ง : ส่วนที่ไม่เลี้ยงตน ไม่แจกจ่ายทำบุญ นี้ควรตำหนิแล้วก็ยังตำหนิส่วนที่ว่า บางทีก็แสวงหาไม่เป็นธรรมและทารุณโหดร้ายในบางคราว ดังนั้น การถูกติจึงมีเป็น 3 การชมเชยได้เพียง 1 ชนิดที่ 2 ของพวกนี้ก็คือแสวงหาไม่เป็นธรรมบ้าง เป็นธรรมบ้าง ทารุณโหดร้ายบ้าง ไม่ทารุณโหดร้ายบ้าง ครั้นได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข แต่ไม่แจกจ่ายไม่ทำบุญ นี้ควรถูกติโดย 2 สถาน คือว่าไม่รู้จักแจกจ่ายทำบุญ และในบางคราวก็แสวงหาไม่เป็นธรรมด้วย แต่ก็ควรจะสรรเสริญ ที่ว่าเลี้ยงตนให้เป็นสุข และบางคราก็แสวงหาเป็นธรรม เรียกว่าดี 2 สรรเสริญ 2 ที่นี้ ชนิดที่ 3 ของพวกนี้ แสวงหาไม่เป็นธรรมบ้าง เป็นธรรมบ้าง ทารุณบ้างไม่ทารุณบ้าง ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้เป็นสุขอิ่มหนำ แล้วก็แจกจ่ายทำบุญด้วย นี้ควรดีเพียงข้อเดียว คือข้อที่ว่าบางครั้งแสวงหาไม่เป็นธรรมแล้วก็สรรเสริญชมเชยให้ 3 คือว่าบางคราวก็แสวงหาเป็นธรรม แล้ก็นำมาเลี้ยงตนด้วย แล้วก็แจกจ่ายทำบุญด้วย 3 พวกนี้ เป็นพวกที่การแสวงหานั้นก้ำกึ่งกันคือบางคราวเป็นธรรม บางคราวไม่เป็นธรรม เห็นจะได้แก่พวกคนโดยมากในสมัยนี้ในโลกนี้
          กลุ่มที่ 3 ชนิดที่ 1 แสวงหาเป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้าย แต่ก็ไม่เลี้ยงตนเองให้เป็นสุขอิ้มหนำ แล้วก็ไม่แจกจ่ายทำบุญ เราจะเห็นว่ามีบางคนบางพวกอยู่ในโลกนี้ แสวงหาเป็นธรรมไม่เบียดเบียน แต่ไม่รู้จักเลี้ยงตัวเองให้เป็นสุข ไม่แจกจ่ายไม่ทำบุญ เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์หรืออะไรในทำนองนั้น ก็มีอย่าคนพวกนี่ควรจะถูกติโดย 2 สถาน คือว่าไม่รู้จักเลี้ยงตัวเองให้เป็นสุข และไม่รู้จักแจกจ่ายทำบุญ แล้วก็ยกย่องชมเชยให้ 1 คือว่าแสวงหาเป็นธรรม ทีนี้ ชนิดที่ 2 ของพวกนี้แสวงหาเป็นธรรม ไม่ทารุณโหดราย ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนเองให้เป็นสุขอิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ มีตำหนิ 1 ตรงที่ไม่แจกจ่ายทำบุญ สรรเสริญ 2 ตรงที่ว่ารู้จักเลี้ยงตนเอง และการแสวงหานั้นก็เป็นธรรม ชนิดที่ 3 ของกลุ่มนี้ แสวงหาเป็นธรรม ไม่ทารุณโหดร้าย แล้วก็รู้จกเลี้ยงตัวเองให้เป็นสุขอิ่มหนำแล้วก็รู้จกแจกจ่ายและทำบุญ แต่ว่ายังเป็นคนกำหนัดยินดีในการบริโภคกามนั้น เรียกว่า คธิโต กำหนัดยินดีในการบริโภคกามนั้น เรียกว่า มุจฺฉิโต สยบมัวเมาในการบริโภคกามคุณนั้น อชฺฌาปนฺโน พัวพันอยู่ในการบริโภคกามนั้น อนาทีนวทสฺสาวี ไม่รองเห็นโทษของการบริโภคกามนั้น อนิสฺสรณปญฺโญ ไม่มีปัญญาเครื่องออกไปพ้นจากการบริโภคกามนั้น นี่ส่วนนี้พระพุทธเจ้าท่านยังติ ท่านยังตำหนิคือติ 1 แล้วก็สรรเสริญ 3 สรรเสริญ 3 คือ แสวงหาเป็นธรรม แล้วเลียงดุตนเองให้เป็นสุขด้วย แล้วแจกจ่ายทำบุญด้วย 3 อย่างนี้สรรเสริญ แต่ทรงติดอยู่อย่างหนึ่ง คือ กำหนัด มัวเมา พัวพัน ไม่เห็นโทษแห่งกามคุณนั้น
            ทีนี้ก็มาถึง พวกสุดท้าย คือชนิดที่ 10  พวกนี้แสวงหาเป็นธรรมไม่ทารุณโหดร้าย นี้ได้ 1 คะแนน ทีนี้ เลี้ยงตนให้เป็นสุขอิ่มหนำ ได้อีก 1 คะแนนแจกจ่ายทำบุญด้วย ได้อีก 1 คะแนน อคธิโต ไม่กำหนัด อมุจฺฉิโต ไม่สยบหมกมุ่น อนชฺฌาปนฺโน ไม่พัวพัน อาทีนวทสฺสาวี พิจารณาเห็นโทษแห่งการจมอยู่ในกามคุณ นิสฺสรณปญฺโญ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องออกจากกามคุณ นี้เป็นเรื่องสรรเสริญทั้ง 4 ไม่มีติเลย
            ทบทวนดูใหม่ว่า แสวงหาก็เป็นธรรมด้วย เลี้ยงตัวเองให้เป็นสุขด้วยแจกจ่ายทำบุญด้วย แล้วมีจิตไม่ลุ่มหลงในการบริโภคกามนั้นด้วย นี้ได้สรรเสริญ 4 พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราควรจะเรียกเขาว่า : อคฺโค เป็นผู้เลิศ เสฏฺโฐ เป็นผู้ประเสริฐ ปาโมกฺโข เป็นผู้เด่นดวง อุตฺตโม เป็นผู้สูงสุด ปวโร เป็นผู้บวร พวกที่ 10 นี้ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้าว่าเลิศ ประเสริฐ เด่นดวง สูงสุด บวร อคฺโค เสฏฺโฐ ปาโมกฺโข อุตฺตโม ปวโร
            สำหรับพวกที่ 10 นี้ พระองค์ยังตรัสเปรียบไว้ด้วยว่า นมสดรีดมาแล้วทำเป็นนมส้ม มันก็ดีกว่านมสด; นมส้มเอาไปทำเป็นเนยข้น คือ นวนิต มันก็ดีกว่านมส้ม; เนยข้นเอาไปทำเป็น สัปปิ คือเนยใส มันดีกว่าเนยข้น; สัปปิ เอาไปทำเป็น สัปิมัณฑะ ยอดของเนยในหรือหัวของเนใส เป็นสิ่งสูงสุดในบรรดาสิ่งที่เกิดจากรสแห่งโค; สิ่งสูงสุดของสิ่งที่เกิดจากโครสนั้น คือ สัปปิมัณฑะ บุคคลจำพวกที่ 10 นี้ ควรจะเปรียบด้วยสัปปิมัณฑะ ท่านตรัสว่าอย่างนี้
            ขอให้ลองคิดดูว่า กามโภคีบุคคล ผู้เป็นฆราวาสครองเรือนบริโภคกามนั้นมีอยู่ 10 พวก ใน 9 พวกนั้น ยังไม่ถูกสรรเสริญโดยทั้งหมด เพราะว่าแม้จะไม่ทำผิดอะไรในทางศีลธรรม แต่ก็ยังเป็นผู้มัวเมา ไม่ลืมตา ในเรื่องของการบริโภคกามคุณ
            นี่แหละ เราทั้งหลายที่เป็นฆราวาส ลองคิดดูเถอะว่า การเป็นฆราวาสนั้น จะเป็นฆราวาสที่ดีได้อย่างไร? เราจะเป็นฆราวาสชนิดไหนกัน ในเมื่อเราเป็นพุทธบริษัท? ถ้าเราต้องการจะให้เป็นพวกที่ดีที่สุด ก็คือเป็นพวกที่บริโภคกามคุณด้วยจิตที่อยู่เหนืออำนาจบีบคั้นของกามคุณ : อคธิโต ไม่กำหนัด อมุจฺฉิโต ไม่สยบมัวเมา อนชฺฌาปนฺโน ไม่พัวพัน อาทีนวทสฺสาวี เห็นโทษของมันในส่วนที่เป็นโทษ นิสฺสรณปญฺโญ มีสติปัญญาที่จะอยู่เหนือโทษของกามคุณนี้
            นี่เราจะเป็นฆราวาสชนิดที่ 10 นี้ได้อย่างไร ตามที่เป็นจริงแล้วต้องอาศัยความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา อย่างละเอียดลออ อย่างถูกต้อง จึงจะเป็นฆราวาสที่ไม่หลับหูหลับตา กำหนัด สยบ หมกมุ่น พันพัว ไม่เป็นโทษ ไม่รู้จักทำจิตใจให้อยู่เหนือสิ่งเหล่านี้
            นี่แหละเป็นการชี้ให้เห็นว่า ฆราวาสกามโภคีบุคคล ถ้าจะเป็นให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์แล้ว ต้องมีความรู้ขนาดที่อยู่เหนืออำนาจบีบคั้นของสิ่งเหล่านี้ ไม่สยบมัวเมา จงได้สนใจในเรื่องความจริงของสิ่งต่างๆ คือ อิทัปปัจจยตา แล้วก็สามารถถอนจิตใจออกมาเสียได้จากการตกจมเหล่านี้
        นี้ก็เป็นเหตุผลข้อที่ 1 ที่อาตมาคิดว่า มันเป็นเหตุผลที่ฆราวาสควรจะมองเห็น เพื่อจะเรียนรู้และปฏิบัติในส่วน อิทัปปัจจยตา เพื่ออย่าให้เป็นทาสของกามคุณ แต่ให้เป็นนายของกามคุณ กามคุณเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับฆราวาสอยู่ในโลก มันก็ระคนปนเปอยู่กับสิ่งทีเรียกว่า กามคุณ แต่ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่มีส่วนที่ควรติเตียน ให้ได้คะแนนเต็มทั้ง 4 คะแนนในการเป็นกามโภคี ตามที่กล่าวไว้ในพระบาลีนี้เถิด นี้คือ อิทัปปัจจยตา เกี่ยวกับฆราวาส เรื่องที่ 1
          เรื่องที่ 2 ต่อไป ที่เกี่ยวกับฆราวาสโดยตรง ก็อยากจะระบุถึง อิทัปปัจจยตา แห่งการทะเลาะวิวาท; อิทัปปัจจยตา แห่งการทะเลาะวิวาท นี้คงจะแปลกหูสำหรับท่านทั้งหลาย ที่แท้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับคนเรา : คนเราอยู่ในโลกก็มีการทะเลาะวิวาทกัน นี้ไม่ต้องอธิบาย เข้าใจได้เอง
            การทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นไปตามกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา พระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้ ในฐานะเป็นกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา ได้ตรัสเรื่องนี้แก่พระอานนท์ที่หมู่บ้านกัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุ เรียกว่ามหานิทานสูตร เป็นสูตรที่กล่าวถึง อิทัปปัจจยตา คือ นิทานะ พระไตรปิฎกบาลี เล่ม 10 หน้า 69
            พระพุทธภาษิตนั้นว่า : อิติ โข ปเนตํ อานนฺท ดูก่อนอานนท์! ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ : เวทนํ ปฏิจฺจ ตณฺหา เพราะอาศัยเวทนา จึงเกิดตัณหา ตณฺหํ ปฏิจฺจ ปริเยสนา เพราะอสํยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา ปริเยสนํ ปฏิจฺจ ลาโภ เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้ ลาภํ ปฏิจฺจ วินิจฺฉโย เพราะอาศัยการได้ จึงมีการปลงใจรัก
            วินิจฺฉโย หรือวินิจฉัยนั้น ตามภาษาลาลี แปลว่า ปลงใจลงไปอย่างนั้นทั้งหมดทังสิ้น; ในกรณีนี้ คำว่า วินิจฺฉโย นั้นแปลว่า ปลงใจรักลงไปในสิ่งที่ได้ จึงตรัสว่า : ลาภํ ปฏิจฺจ วินิจฺฉโย เพราะอาศัยการได้ จึงมีการปลงใจรัก วินิจฺฉยํ ปฏิจฺจ ฉนฺทราโค เพราะอาศัยการปลงใจรัก จึงเกิดฉันทราคะ คือความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความเพลิน ฉนฺทราคํ ปฏิจฺจ อชฺโฌสานํ เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน จึงเกิดความสยบมัวเมา อชฺโณสานํ ปฏิจฺจ ปริคฺคโห เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงเกิดความจับอกจับใจ ปริคฺคหํ ปฏิจฺจ มจฺฉริยํ เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงเกิดความตระหนี่ไม่อยากแบ่ง ไม่ยอมแบ่ง มจฺฉริยํ ปฏิจฺจ อารกฺโข เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดความหวงกั้น คือความหึงและความหวง อารกฺขํ ปฏิจฺจ อารกฺขาธิการณํทณฺฑาทานสตฺถาทานกลหวิคฺคหวิวาทตุวิตุวิเปสุญฺญมุสาวาทา เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงได้เกิดการใช้อาวุธไม่มีคม เกิดการใช้อาวุธมีคม เกิดการโกลาหนวุ่นวาย เกิดการยื้อแย่ง เกิดการวิวาท เกิดการกล่าวว่า มึง ๆ เกิดถ้อยคำส่อเสียด เกิดถ้อยคำมุสาวาท อันมีมูลมาจากการหวงกั้นนั้น ๆ อเนเก ปาปกา อกุสลา ธมฺมา สมฺภวนฺตี-ติ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้น ด้วยการอย่างนี้
            ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่องเกี่ยวกับความดับทุกข์นั้นอย่างไร จะเห็นได้ว่า ในที่นี้ท่านมีความเข้าใจรอบรู้ในเรื่อง อิทัปปัจจยตา ของการทะเลาะวิวาท ซึ่งจะได้ทบทาวนอีกที่หนึ่ง เป็น 10 อาการ :
            เพราะอาศัยเวทนาคือรสอร่อย หรือรสที่ได้จากความรู้สึกนั้น จึงได้เกิดตัณหา
            เพราะอาศัยตัณหา                           จึงเกิดการแสวงหา
            เพราะอาศัยการแสวงหา                 จึงเกิดการได้
        เพราะอาศัยการได้                           จึงเกิดการปลงใจรัก
            เพราะเกิดการปลงใจรัก                  จึงกำหนัดด้วยความเพลิน
            เพราะกำหนัดด้วยความเพลิน        จึงสยบมัวเมา
            เพราะสยบมัวเมา                             ก็เกิดความจบอกจับใจ
            เมื่อมีการจับอกจับใจ                      ก็เกิดการตระหนี่
            เมื่อเกิดการตระหนี่                          ก็เกิดการหวงหึง
            เมื่อเกิดการหวงหึง ก็เกิดสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย คือการใช้อาวะไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การโกลาหลวุ่นวาย การยื้อแย่งกัน การวิวาท การพูดว่ามึง ๆ การกล่าวคำส่อเสียด การกล่าวคำเท็จ สิ่งไม่พึงปรารถนา เกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนี้
            ในที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสถามอานนท์ว่า ถ้าไม่มีการปวงกั้นแล้ว ถ้าการหวงกั้นดับสิ้นเชิงแล้ว การจับอาวุธมีคม ไม่มีคม เป็นต้นนี้ จะถึงมีได้หรือ? พระอานนท์ก็ทูลตอบว่า หามิได้ พระเจ้าข้า! พระพุทะองค์จึงตรัสว่า : ตสฺมาติหานนฺท ดูก่อนอานนท์! เพราะเหตุฉะนั้นในเรื่องนี้เป็นอันกล่าวได้ว่า : เอเสว เหตุ นั้นแหละคือตัวเหตุ เอตํ นิทานํ นั้นแหละคือต้นเงื่อน เอส สมุทโย นั้นแหละแดนเป็นที่เกิดขึ้น เอส ปจฺจโย นั้นแหละคือปัจจัย แห่ง ทณฺฑาทาน การใช้อาวุธไม่มีคม สตฺถาทาน การใช้อาวุธมีคม กลห การโกลาหนวุ่นวาย วิคฺคห การยื้อแย่ง วิวาท การวิวาทด้วยวาจา ตุวํตุวํ การพูดว่ามึง ๆ เปสุญฺญ การส่อเสียดให้คนแตกกัน มุสาวาท การพูดเท็จ อเนเกสํ ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ สมฺภวาย นั้นเป็นทางให้เกิดขึ้นแห่งอกุสลธรรม อันเป็นบาปลามกทังหลาย มิใช่หนึ่ง ยทิทํ อารกฺโข เหตุนั้นก็คือการหวงกั้นหรือการหึงหวง
            จากพุทธภาษิตข้อนี้ ฆราวาสก็ควรจะสนใจว่า ความรู้อะไร ที่จะมาดับเสียได้ ซึ่ง อารกฺโข คือการหวงกั้นหรือหวงหึง หึงหวง : อารกฺโข ตามตัวหนังสือก็แปลว่า อารักขา แต่ในกรณีแห่งกิเลสชื่อนี้ หมายถึงการหวงกั้นหรือการหึงหวง การหึงหวงก็คือการยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ว่าตัวกูว่าของกู ถ้าดับอารักขาหรืออารักโขนี้ ไม่ได้แล้ว สิ่งอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ก็ยังคงมีอยู่สืบไปต้องทำสิ่งที่เรียกว่า อารักโข หรืออารักขา หรืออารักขะ นี้เสีย การยึดมั่นหรือการหวงกั้น จึงจะไม่มี
        แล้วก็พิจารณาดูเถิดว่า อะไรเล่าจะมาทำลายสิ่งที่เรียกว่า อารักโข ความหึงหวงนี้เสียได้ ก็มีแต่อิทัปปัจจยตาธรรม ที่บุคคลได้รู้ ได้ศึกษาและได้ปฏิบัติแล้วเท่านั้น; เพราะเห็นอยู่ว่ามันเป็นเพียงธรรมชาติ ธรรมดาสามัญเพียงแต่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ ก็คือเวทนา เวทนาที่เป็นเหยื่อล่อ หรือเป็นสิ่งที่เรียกว่าอัสสาทะ คือเหยื่อล่อให้สัตว์เข้าไปติด แล้วเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง; มันประเสริฐเพียงเท่านั้น
          สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น เป็นของลมๆ แล้ง ๆ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา ถ้าผู้ใดรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ผู้นั้นจะเห็นเวทนาเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง : ไม่รู้สึกใน สุขเวทนา จนเกิด ราคานุสัย ไม่รู้สึกใน ทุกขเวทนา จนเกิด ปฏิฆานุสัย ไม่รู้สึกต่อ อทุกขมสุขเวทนา จนเกิด อวิชชานุสัย เมื่ออนุสัยไม่เกิด สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะเกิดเป็นกิเลสหรือเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ นี่แหละคือเรื่อง อิทัปปัจจยา ที่สามารถตัดต้นเหตุแห่งทะเลาะวิวาท อันเป็น อิทัปปัจจยต ในส่วนที่ไม่พึงปรารถนานั้นเสียได้
            ขอให้ลองคิดดูให้ดี ๆ โดยเปรียบเทียบว่า อิทัปปัจจยตาชุดนี้ ไม่พึงปรารถนา แต่มีอิทัปปัจจยตาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งควรปรารถนา เพื่อจะกำจัดเสียซึ่งอิทัปปัจจยตา ชุดที่ไม่พึงปรารถนา อิทัปปัจจยตาแห่งการทะเลาวิวาทนี้ ใคร ๆ ก็ไม่พึงปรารถนา ในโลกนี้กำลังทนทุกข์ทรมานเหมือนตกนรกทั้งเป็น ทำสงครามรบราฆ่าฟันกัน ด้วยอาวุธด้วยสติปัญญาเหลือที่จะพรรณนาได้ อยู่ในโลกนี้ ในทุกวันนี้ในยุคปัจจุบันนี้ นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา แห่งการทะเลาะวิวาท ที่เกิดขึ้นเพราะไม่รู้เรื่องของ อิทัปปัจจยตา คือเห็นเป็นเรื่องที่มีความหมาย จนยึดมั่นถือมั่น จนฆ่ากันทำลายกัน ล้างผลาญกันอย่างใหญ่หลวง ก็ไม่รู้สึกอะไร นี่คือผลแห่งความโง่ในเรื่อง อิทัปปัจจยตา
            ขอให้สนใจให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ที่รบราฆ่าฟันกันทังดลกในเวลานี้ ก็เพราะไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา สัตว์ทังหลายที่มีชีวิตนี้ หลงใหลในเวทนา ไม่ว่ากรรมกรหรือนายทุน หลงใหลในเวทนาคือเนื้อหนัง อาศัยเวทนา ก็เกิดตัณหา อาศัยตัณหา ก็เกิดการแสวงหา อาศัยการแสวงหาก็เกิดการได้ นี้ได้มาโดยไม่ต้องคิดว่า มันจะถูกหรือมันจะผิดอย่างไร ครั้นได้แล้วก็ปลงใจรัก กระทั่งจับอกจับใจ หลงใหล มัวเมา ตระหนี่ และหวงกั้น คอยทำลายผู้อื่นด้วยการหวงกั้น ไม่ให้เขามาแตะต้องของเรา หรือมาแย่งชิงของเราไป หรือมามีส่วนแบ่งของเรา
            นี้เรียกว่าปัญหาทังหมด ที่ไม่พึงปรารถนา ในหมู่มนุษย์; โดยส่วนบุคคลก็ดี รวมกันทั้งโลกก็ดี มันอยู่ที่การทะเลาะวิวาท ด้วยอำนาจของ อิทัปปัจจยตาในส่วนนี้ เรากำลังวิวาทกัน บนดิน ใต้ดิน โดยส่วนตัวส่วนสังคม ทุก ๆ ยุค ทุกสมัย กระทั่งยุคปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่ายุคปิงปอง
            ดูมาอีกทีหนึ่งก็ว่า ผัวเมียก็ทะเลาวิวาทกันเพราะเหตุนี้ พ่อกับลูกก็ยังทะเลาวิวาทกัน เพราะสิ่งที่เรียกว่าเวทนา ตามกฎเกณฑ์อันนี้ เพื่อนกับเพื่อก็ทะเลาวิวาทกัน เพราะเหตุนี้ แม้แต่พระกับฆราวาสที่ทะเลากัน ก็ไม่ใช่เพราะเหตุอื่น พระทะเลากับชาวบ้าน ก็ไม่ใช่เพราะเหตุอื่น มันก็เพราะเหตุนี้ จะไม่ทะเลากันได้ ก็เพราะรู้ความจริงข้อนี้ คือ อิทัปปัจจยตา แห่งการทะเลาะวิวาท ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ในสูตร ๆ นี้; อาตมาจึงยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า มันเป็นสิ่งที่ฆราวาสต้องเรียนรุ้ และต้องปฏิบัติ
            ทีนี้ เรื่องที่ 3 ต่อไปอีก ก็คือเรื่องพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า : ฆราวาสนี่ไม่ควรจะหยุดอยู่เพียงแต่ความพอใจว่าได้ทำบุญทำกุศล อยู่เป็นสุขตามแบบของฆราวาส ข้อความที่กล่าวตักเตือนอนาถปิณฑิกคหบดีในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือมีพระพุทธภาษิตว่า ดูก่อนคหบดี! ท่านทั้งหลายไม่ถึงกระทำความพอใจแต่เพียงว่าเราทั้งหลายได้บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขารเท่านั้น ดูก่อนคหบดี! เมื่อเป็นดังนั้น ในกรณีนี้ ท่านทังหลายพึงทำความสำเหนียกอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราทั้งหลายจักเข้าถึง ปวิเวกปีติ แล้วแลอยู่ โดยกาลอันควร ดูก่อนคหบดี! ท่านทั้งหลายพึงทำคามสำเหนียกอย่างนี้แล
            ใจความของเรื่องนี้ ก็มีอยู่ว่า เพียงแต่ที่ได้บำรุงภิกษุสงฆ์ ด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะหรือเภสัชนี้ ก็อย่าเพื่อถึงความนอนใจ ว่ามันเป็นการได้ที่ดีถึงที่สุด แต่ขอให้กระทำตนให้เข้าถึง ซึ่งปวิเวกปีติ ในเวลาอันควร โดยการอันควร
          ปวิเวกปีติ คืออะไร? พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสต่อมากับพระสารีบุตรเพื่อขยายความข้อนี้ : พอพระองค์จะตรัสเรื่องลึกนี้ ก็หันพระพักตร์ไปทางพระสารีบุตรตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร! สมัยใดอริยสาวกเข้าถึงซึ่งปวิเวกปีติ แล้วแลอยู่ สมัยนั้นเหตุ(ฐาะ) ทัง 5 ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น คือไม่มีทุกข์โทมนัสเพราะอาศัยกาม และก็ไม่มีสุขโสมนัสเพราะอาศัยกาม และก็ไม่มีทุกข์โทมนัสเพราะอาศัยอกุศล และก็ไม่มีสุขโสมนัสเพราะอาศัยอกุศล และก็ไม่มีทุกข์โทมสัสเพราะอาศัยกุศล รวมเป็น 5 อย่าง
            อย่างที่ 1 ไม่มีทุกข์โทมนัสที่อาศัยกาม หมายความว่า การเข่าไปเกี่ยวข้องกับกาม ตามแบบของฆราวาสนั้น ไม่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้น
            อย่างที่ 2 ไม่มีสุขโสมนัสที่อาศัยกาม หมายความว่าไม่ลุ่มหลงในสุขที่เกิดจากกาม การที่ไปยินดีในความสุขอันเกิดจากกามนั้น เขาเรียกว่าเป็นผู้ที่มีสุขโสมนัสเพราะอาศัยกาม อย่างนี้ไม่ใช่ปวิเวกปีติ คือไม่ใช่วิเวกอันสงัดที่ควรจะยินดีไม่ใช่ความสุขความยินดี ชนิดที่เรียกว่าปวิเวกปีติ
            อย่างที่ 3 ไม่มีทุกข์โทมนัสอันอาศัยอกุศล นี้หมายความว่าทำบาปแล้วก็มีทุกข์มีโทมนัส อย่างนี้ไม่มีปวิเวกปีติ มันเห็นได้ชัดเพราะว่า มันมีทุกข์โทมนัส แล้วก็อาศัยบาปอกุศลด้วย
            อย่างที่ 4 แม้แต่สุขโสมนัสที่อาศัยบาปอกุศลนั้น ก็ต้องไม่มี พวกคนพาลได้ทำบาปทำอกุศลแล้วก็พอใจเป็นสุข นี้ก็ไม่ใช่ปวิเวกปีติ จะเรียกว่าปิวิเวกปีติไม่ได้
            อย่างที่ 5 อันสุดท้าย ไม่มีทุกข์โทมนัสอันอาศัยกุศล หมายความว่าการบำเพ็ญกุศล ในบางกรณีก็ต้องได้รับความลำบาก เพราะว่าการบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดยยากนั้น บางทีก็ต้องได้รับความลำบาก ต้องไม่รู้สึกลำบากอย่างนี้ด้วย จึงจะเรียกว่ามีปวิเวกปีติ
            เป็นอันว่าสิ่งที่เรียกว่าปวิเวกปีติ คือ ปีติที่เกิดมาจากความสงัดทางจิตใจถึงที่สุดนั้น มีอยู่ 5 ลักษณะด้วยกัน อย่างนี้ แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องกาม ในเรื่องกุศล ว่าเป็นสิ่งสูงสุด
            คนธรรมดาก็ยึดมั่นเรื่องกาม คือกามารมณ์ นี่สลัดออกมาไม่ได้ ทีนี้พ้นจากกามารมณ์ ก็มายึดมั่นในกุศล เมื่อยังยึดมั่นอยู่ในกุศล ก็มีความกลัดกลุ้ม มีความหนักอกหนักใจ อันเกี่ยวกับกุศล จิตใจยังไม่เกลี้ยงเกลาเป็นปวิเวกปีติ; จิตใจจะเกลี้ยงเกลาเป็นปวิเวกปีติได้ ก็เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นเรื่องมันจึงเป็นว่า ต้องอาศัยความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ทำลายความยึดมั่นถือมั่น เหล่านั้นเสีย จิตจึงจะได้พบกันเข้ากับปวิเวกปีติ นี้เรียกว่าฆราวาสโดยเฉพาะ คืออนาถปีณฑิกคหบดี พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้
            อย่าเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนเรื่องหลุดพ้น เรื่องโลกุตตระกับฆราวาส : ท่านพยายามบอกถึงอย่างนี้ ว่าอย่ายินดีแต่เพียงบำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช เท่านั้น จงพยายามทำตนให้ถึงปวิเวกปีติ ในโอกาสอันควร และตามสมควรอยู่เสมอ มันทำให้อยู่เหนืออำนาจกาม เหนืออกุศล เหนือกุศล แต่ว่าสิ่งนี้ไม่อาจจะได้มาจากทางอื่น นอกจากความรู้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น คือเรื่อง อิทัปปัจจยตา : มองเห็นกามเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา มองเห็นบาปเป็นเพียงอิทัปปัจจยตา มองเห็นบุญเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา; จิตใจก็เลยว่างไม่มีอะไรรบกวน เรียกว่าเป็นจิตใจที่สงัดแล้วอย่างทั่วถึง
            ทีนี้ เรื่องที่ 4 ก็มีต่อไปว่า ฆราวาสที่สนใจแต่เรื่องวิบากผลแห่งบุญ เช่นกามสุขเป็นต้น ในความเป็นฆราวาสนี้ก็ดี หรือว่าบุญที่ยิ่งไปกว่านั้นก็ดี ไม่สนใจในเรื่องการดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นนั้น นับว่ายังไม่ได้รับสิ่งที่ฆราวาสควรจะได้รับ
        อนาถปีณฑิกคหบดี เพิ่งมารูสึกในเรื่องนี้อย่างจริงจังในบั้นปลาย ในตอนปลาย คือเรื่องมีว่า เมื่อเจ็บหนักจวนจะสิ้นชีวิตอยู่แล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสใช้พระอานนท์และพระสารีบุตร ให้ไปเยี่ยมไข้ของอนาถปิณฑิกดคหบดี ท่านก็เลยให้โอวาทแก่อนาถปิณฑิกคหบดีที่เจ็บหนักนั้นเป็นในความว่า ดูก่อนคหบดี ในเรื่องการเจ็บไข้นี้ ท่านพึงทำความสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งจักษุ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็จักไม่มีวิญญาณอันอาศัยจักษุ; ฯลฯ จักไม่ยึดมั่นซึ่งรูป ฯลฯ จักไม่ยึดมั่นถือมั่นนซึ่งจักขุวิญญาณ ฯลฯ ซึ่งจักขุสัมผัส ฯลชฯ ซึ่งจักขุสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ (อย่างนี้เรื่อยไปจนครบทั้ง 6 อายตนะ) จักไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งปฐวีธาตุคือธาตุดิน ฯลฯ จักไม่ยึดมั่นซึ่งรูปขันธ์ ฯลฯ จักไม่ยึดมั่นอากาสานัญจายตนะ ฯลฯ ไม่ยึดมั่นโลกนี้ ไม่ยึดมั่นโลกอื่น ฯลฯ อารมณ์ใด ๆ ที่เราเห็นแล้ว ฟังแล้ว รู้สึกแล้ว รู้แจ้งแล้ว แสวงหาแล้ว เชื่อแล้วด้วยใจ เราจักไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งอารมณ์นั้น ๆ แล้วิญญาณนั้น ชนิดนั้น ๆ อันอาศัยอารมณ์นั้น ๆ ก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ นี่พระเถระได้เตือนสติอนาถปิณฑิกคหบดี ในวาระสุดท้ายด้วยเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น สูงสุดถึงอย่างนี้
            ครั้นพระสารีบุตรได้กล่าวอย่างนี้แล้ว อนาถปิณฑิกคหบดี ได้ร้องไห้แล้วมีน้ำตามนองหน้าแล้ว ได้กล่าวแก่พระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้ามิได้อาศัยชีวิตดอก มิได้มีใจจดจ่อในชีวิตดอก แต่ว่าพระศาสดาเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งใกล้แล้ว ตลอดเวลานาน ภิกษุทั้งหลายที่เป็นที่ชอบพอกัน ก็มีเป็นอันมาก แต่ว่าธรรมกถามอย่างชนิดนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยฟังเลย และได้กล่าวต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นขอธรรมกถาอย่างชนิดนี้ จงเป็นที่แจ่มแจ้งแม้แก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวทังหลายเถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! กุลบุตรผู้มีชาติแห่งธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย ก็มีอยู่ในโลก เมื่อไม่ได้ฟังธรมะนี้แล้ วจะเสื่อมจากประโยชน์ เพราะว่าผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ จักมี แล้วอนาถปิณฑกคหบดี ก็ตาย นี้เป็นเรื่องของฆราวาสแท้ ๆ
            ขอให้ลองคิดดูว่า คหบดีผู้นี้ร้องไห้เสียใจถึงที่สุด เพราะว่าเพิ่งจะมาได้ฟังเดี๋ยวนี้ ใกล้จะตายอยู่รอมร่อแล้ว ทำไมไม่ได้ฟังมาก่อนหน้านี้ ก็จะได้มีเวลาเข้าใจธรรมะนี้ ได้รับผลสูงสุดจากธรรมะนี้ เป็นเวลายาวนาน พระอานนท์ได้อธิบายข้อนี้ว่า เป็นของลึก ไม่ควรนำมาแสดงแก่ฆราวาส; เรื่องมันก็ไขว้เขวกันหมด
        อนาถปิณฑิกคหบดีตัดพ้อว่า พระเถระที่คุ้นเคยกันก็มีเป็นอันมาก ทำไมไม่พูดเรื่องนี้ เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้าก็นานนักหนามากแล้ว ทำไมไม่ได้ยินเรื่องนี้? แต่สูตรที่แล้วมาเมื่อตะกี้นี้ แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตักเตือนคหบดีว่าอย่าพอใจแต่เพียงว่า ได้บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ฯลฯ ให้พยายามเข้าถึงปวิเวกปีติ ตามสมควรแก่เวลาอยู่เสมอ นี้ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าได้เคยทรงตักเตือนในข้อนี้
            แต่เรื่องปวิเวกปีติ นั้น มันคงจะยากเกิดไปสำหรับอนาถปิณฑกคหบดีที่จะเข้าใจคำว่า จะไม่มีทุกข์โทมนัส อันเกิดจากกุศลทั้งหลาย; คงจะเข้าใจว่า ขึ้นเชื่อว่ากุศลแล้ว ก็จะไม่มีทุกข์โทมนัส; นั้นแหละเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งของ อิทัปปัจจยตา
            กุศลหรืออกุศลก็ตามใจ สุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตามใจ ถ้าใครมีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ย่อมเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสล่วงหน้าว่า ให้ไปสนใจปวิเวกปีติกันเสียบ้าง ข้อนี้อนาถปิณฑกคหบดีเสียใจว่าขาดทุน เป็นเวลานานไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ทั้งที่นั่นใกล้พระพุทธเจ้า พระเถระที่ชอบพอกันก็มีเป็นอันมากทำไมไม่พูดเรื่องนี้? นี้ฆราวาสทั้งหลายลองคิดดูว่า เรากำลังจะซ้ำรอยกับเรื่องนี้บ้างหรืออย่างไร?
          ถ้าผู้ใดต้องการจะเข้าใจปวิเวกปีติ ก็ต้องสนใจเรื่อง อิทัปปัจจยตา; หมายความว่าถ้าต้องการจะอยู่เหนือการบีบคันของกาม ของอกุศล ของกุศล ต้องใช้อาวุธ คือ อิทัปปัจจยตา เท่านั้นเอง การที่จะไม่ยึดมั่นในสิ่งใด ๆ อย่างที่ออกชื่อมาแล้ว : ไม่ยึดมั่นในอายตนะ ไม่ยึดมั่นในปฐมธาตุ ฯลฯ ในรูปขันธ์ ฯลฯ ในอากาสานัญจายตนะ ฯลฯ ไม่ยึดมั่นในโลกนี้ ไม่ยึดมั่นในโลกอื่น อะไรทำนองนี้แล้ว ต้องใช้ อิทัปปัจจยตา คือความรู้ที่ทำให้มองเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด เป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ; เป็นแต่สักว่า : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น เท่านั้นเอง หาสาระอะไรที่แน่นหนาไปกว่านั้น ไม่ได นี้เป็นเรื่องที่จะต้องคิดดู สำหรับฆราวาสที่มีความมุ่งหมายที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ฆราวาสควรจะได้รับ
        ทีนี้ เรื่องที่ 5 ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ตรง ๆ อาตมาเอามาอ่านให้ฟัง เพื่อว่าใคร ๆ อย่าได้ไปโทษพระพุทธเจ้า ว่าไม่ทรงสอนเรื่องนี้ นี้ก็ได้แก้เรื่อง สุญญตา ที่เรากำลังศึกษากันอยู่ โดยไม่เข้าใจ
            สูตรที่ว่าด้วยเรื่องสุญญตานั้น มีเป็นอันมาก และที่สำคัญที่สุด ก็คือในธัมมนินนสูตร มหาวารวรรค สังยุตตนิกาย เล่มที่ 19 หน้า 512 มีกล่าถึงว่า :-
        พวกฆราวาสหมู่ใหญ่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีอุบาสก ชื่อธัมมทินนะ เป็นหัวหน้า แล้วได้ขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเรื่องที่มีประโยชน์ที่สุด
            มีบาลีว่า โอวทตุ โน ภนฺเต ภควา อนุสาสตุ โน ภนฺเต ภควา ยํ อมฺหากํ อสฺส ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายาติ; ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคช่วยสอนเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุขตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เย เต สุตฺตนฺตา ตถาคตภาสิตา คมิภีรา คมฺภีรตฺถา โลกุตฺตรา สญญตปฺปฏิสํ ยุตตฺต เต กาเลน กาลํ อุปสมฺปชฺช วิหริสฺสามาติ มีใจความว่า ดูก่อนธัมมทินนะ! ท่านจงทำความสำเหนียกศึกษาอย่างนี้ว่า สุตตันตะทังหลายเหล่าใดที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นของลึก มีอรรถลึก เหนือโลก ประกอบด้วยสุญญตา นั่น เราจักเข้าถึงซึ่งธรรมนั้น แล้วแลอยู่ ตลอดกาลโดยกาล”; คือตามสมควรแก่เวลา
        นี้จะพูดว่าพระพุทธเจ้าไม่สอนเรื่องสูงสุด เรื่องสุญญตา เรื่องเหนือโลกแก่ฆราวาสนั้น ไม่ได้ อย่างไรสูตรนี้เป็นตัวอย่าง และยังมีในสูตรอื่นอีกมาก รวมทังสูตรที่ได้กล่าวแก่อนาถปิณฑิกคหบดี เมื่อตะกี้นี้ นี้มันมีในความว่า พระพุทธองค์ทรงถือว่า เรื่องสุญญตาสูงสุดนี้เหมาะสมแก่ฆราวาส
            ทีนี้ อุบาสกชุดนี้ ก็บอกว่ามันยากไป เห็นจะปฏิบัติไม่ไหว พระพุทธเจ้าก็ตรัส โสตาปัตติยังคะ ให้แทน; คือให้มีสัทธามั่นคงในพระพุทธ สัทธามั่นคงในพระธรรม สัทธามั่นคงในพระสงฆ์? แล้วก็มีศีลที่บริสุทธิ์ ไม่ติเตือนตัวเองได้รวม 4 อย่างนี้ อุบาสกชุดนี้ก็กราบทูลว่า นี่ก็ปฏิบัติอยู่แล้ว เอซิ! พอพระองค์ทรงแนะให้ว่า ถ้าไม่เอาเรื่องสุญญตาก็ต้องปฏิบัติธรรมข้อนี้ เขาก็กราบทูลว่า นี้ก็ปฏิบัติอยู่แล้ว; ก็แปลว่ามันไม่มีทางหลีกอย่างอื่น นอกจากจะเลื่อนขึ้นไปยังสุญญตา
        เรื่องสุญญตานั้น ความหมายมันก็คือ จะไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดให้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างจากภาวะที่ควรยึดมั่นถือมั่น
            จะพิจารณาอย่างไรจึงจะเห็นสุญญตา? มันก็ต้องพิจารณา อิทัปปัจจยตา ถึงขนาดที่ว่า : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ก็เกิดขึ้น ถ้ารู้อยู่อย่างนี้ ก็คือเห็นสุญญตา; ไม่เห็นส่วนใดที่เป็นตัวตนหรือของตน
        ดังนั้น ขอให้ถือว่า มันเป็นเรื่องจำเป็นแก่ฆราวาส หรือแก่คฤหัสถ์ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอย่างนี้ ว่าเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านทั้งหลาย  ตลอดกาลนานนั้น มนคือเรื่องสุญญตา ทีนี้ เขาก็ว่าปฏิบัติอยู่แล้ว มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากจะต้องสนใจเรื่อง อิทัปปัจจยตา ต่อ ๆ ไปเท่านั้นเอง เพราะมันไม่มีอะไรจะถอยหลังลงมาได้อีกแล้ว
            ทีนี้ สำหรับเรื่อง โสตาปัตติยังคะ ที่พระพุทธเจ้าทรงมีไว้สำหรับต่อรองแก่คนที่ยังไม่รั้บสุญญตานั้น มันก็ยังเนื่องกับ อิทัปปัจจยตา นี้ฟังดูให้ดี เดี๋ยวจะไม่เข้าใจ ว่าเรื่องสุญญตามันเนื่องอยู่กับ อิทัปปัจจยตา : ต้องเห็น อิทัปปัจจยตาจึงจะเห็นสุญญตา ทีนี้ไม่เอาสุญญตาแต่จะเอาโสตาปัตติยังคะ พอมาถึงโสตาปัตติยังคะ มันก็เนื่องกันอยู่กับ อิทัปปัจจยตาอีก เดี๋ยวก็จะเห็นได้ต่อไปในสูตรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
            สูตรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นสูตรที่ตรัสกับอนาถปิณฑกคหบดี คราวหนึ่งอีกตามเคย คือพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแก่อนาถปิณฑกคหบดี เป็นธรรมะที่เกี่ยวพันกัน 3 ข้อ ขอให้ฟังให้ดีสักหน่อยว่า ยโต โข คหปติ ดูก่อนคหบดี! ในกาลใด อริยสาวกลฺส ปัญฺจ ภยานิ เวรานิ วูปนสฺตานิ โหนิติ เวรภัยทั้ง 5 ประการ เป็นสิ่งที่สงบระงับแล้ว แก่อริยสาวก จตูหิ โสตาปตฺติยงฺเคหิ สมมฺนาคโต โหติ และอริยสาวกนั้น ก็จะเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะทั้ง 4 นั้นด้วย อริโย จสฺส ญาโย ปญฺญาย สุทิฏโจ โหติ สุปฏิวิทฺโธ และยายธรรมอันเป็นอริยะ ก็จะเป็นสิ่งที่อรยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดแล้วด้วยดี
            นี้หมายความว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัวว่า : 3 อย่างนี้ แยกกันไม่ได้ : ถ้าเขาพ้นจากภัยเวรทั้ง 5 แล้ว ก็ประกอบพร้อมด้วยโสตาปัตติยังคะ แล้วเขาจะต้อวงแทงตลอดซึ่งอริยญายธรรม
            อริยญายธรรมในที่นี้ ก็คือปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา; เมื่อเป็นดังนี้ : โส อากงฺขมาโน อตฺตนาว อตฺตานํ พฺยากเรยฺย เมื่ออริยสาวกนั้นหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ซึ่งตนด้ยตนว่า ขีณนิรดยมฺหิ เราเป็นผู้มีนรกอันสิ้นแล้ว ขีณติรจฺฉานโยนิโย เราเป็นผู้มีกำเนิดเดรัจฉานอันสิ้นแล้ว ขีณปิตฺติวิสโย เราเป็นผู้มีเปรตวิสัยอันสิ้นแล้ว ขีณาปายทุคฺคติวินิปาโต เราเป็นผู้มีอุบายทุคคติวินิบาตอันสิ้นแล้ว โสตาปนฺโน เราเป็นผู้ถึงกระแสแล้ว อวินิปาตธมฺโม มีอันไม่ตกต่ำอีกเป็นธรรมดา นิยโต เป็นผู้เที่ยงแท้ สมฺโพธิปรายโน มีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า
            นี่เมื่อประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่างนี้แล้ว มันเป็นอย่างนี้ คือไม่ตกนรกแน่นอน และก็เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน : มันเกี่ยวกันกันอยู่ว่า พ้นจากเวรภัยทั้ง 5 ประการ ประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ 4 แล้วก็แทงตลอดซึ่งอริยญายธรรม
            เมื่อกล่าวถึง อริยญายธรรม คืออะไร? พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า : อิธ คหปติ อริยสาวโก ดูก่อนคหบดี! อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ ปฏิจจสมุปปาทญฺเญว สาธุกํ โยนิโส มันสิกโรติ ย่อมกระทำในใจ โดยแยบคายด้วยดีซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั้นเทียว : อิติ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชิชติ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ย่อมดับ ยทิทํ. นั้นคืออะไรเล่า? อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั้นคือสังขารทั้งหลาย ย่อมมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญญาณย่อมมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย ฯลฯ เหล่านี้จนตลอดปฏิจจสมุปบาท แล้วก็สรุปความว่า อยมสฺส อริโย ญาโย ปญฺญาย สุทิฏฺโฐ โหติ สุปฏิวิทฺโธ ดูก่อนคหบดี นี้แล คืออริยญายธรรม อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดด้วยดีแล้ว
            ในความมันสำคัญอยู่ที่ว่า แทงตลอดซึ่งอริยญายธรรม ญายธรรมแปลว่าธรามเครื่อนไป ไปไหน? คือไปจากทุกข์ ฆราวาสก็ต้องไป ไม่ใช่ไปแต่พระ ฆราวาสคนไหนเล่ามันอยากตกนรก? ก็คงจะไม่มีใครต้องการ!
        นี่สูตรอย่างนี้ มีอยู่ 2-3 แห่ง เนื้อความเหมือนกันหมด แสดงว่าต้องไปพร้อมกับการเว้นจากเวรภัยทั้ง 5 คือเวรภัยที่เกิดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรัย นี่ เวรภัยทังหลาย ที่เกิดจากสิ่งทั้ง 5 นี้ต้องไม่มี แล้วก็มีความเชื่อมั่น ใช้คำว่าเชื่อมั่น เดี๋ยวจะเป็นยึดมั่น ต้องมีความเชื่อมั่นที่ถูกต้องแน่นแฟ้น ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ก็มีศีลทีติเตียนตัวเองไม่ได้ แล้วก็แทงตลอดซึ่งอริยญายธรรม; ถ้ามันขาดอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่ครบที่จะเป็นพระโสดาบัน ในลักษณะอย่างนี้
            ทีนี้เรื่องสำคัญมันก็อยู่ที่อริยญายธรรม คือรู้ อิทัปปัจจยตา ที่ว่า : เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ นี่คือหัวใจของ อิทัปปัจจยตา เพราะว่าเมื่อรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ มันไปทำปาณาติบาตไม่ได้ อทินนาทานไม่ได้ กาเมสุมิจฉาจารก็ไม่ได้ ฯลฯ; แล้วเมื่อรู้อย่างนี้ มันยิ่งมีศรัทธาแน่นแฟ้น ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์; ผู้ได้รู้อย่างนี้ ผู้ได้ปฏิบัติอย่างนี้ ผู้ได้รับผลอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่ามันยิ่งมีศรัทาแน่นแฟ้น; ศีลจึงเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าติเตียนตนเองก็ไม่ได้ นี่คือ อานิสงส์ของ อิทัปปัจจยตา
            ฟังดูให้ดี ๆ ฆราวาสจะต้องเว้จากโทษของเวรภัยทั้ง 5 ประกอบด้วยองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน ทังนี้เนื่องอยู่กับความรู้เรื่องอริยญายธรม คือ ปฏิจจสมุปบาท หรือคือ อิทัปปัจจยตา ดังที่กล่าวมาแล้ว
            นี่ขอให้ถือว่า ถ้าเป็นฆราวาสที่ดี เป็นอริยสาวกที่ดี ในพุทธศาสนาต้องมีความปรารถนาอย่างนี้ คือเพื่อให้ถึงความพ้นที่รับประกันได้ว่านรกสิ้นแล้ว อบายสิ้นแล้ว วัฏฏะสิ้นแล้ว อะไรในทำนองนี้ ด้วยอาจของ อิทัปปัจจยตา นี้เรียกว่า จะมองกันไปในทางไหน มันก็ไม่พ้นไปจากเรื่อง อิทัปปัจจยตา สำหรับฆราวาสผู้ต้องการที่จะเป็นฆราวาสพุทธบริษัทสมบูรณ์แบบ สูตรที่ยกมาให้ฟังนี้ เป็น สูตรที่ตรัสเพื่อ ฆราวาสโดยตรง ทั้งนั้น
            ทีนี้ เรื่องที่ 6 คือพระพุทธภาษิตอื่น ๆ ต่อไปอี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับ อิทัปปัจจยตา คือความรู้เรื่องนี้ที่ทำให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น อย่าลืมเสียว่า เราต้องการความไม่ยึดมั่นถือมั่น อิทัปปัจจยตาช่วยให้เห็นความจริง จนไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วสรุปเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
            บทสำคัญที่ว่า : สพฺเพ ธมิมา นาลํ อภินิเวสาย นี้ เราถือกันว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ขยายออกเป็นอะไรก็ได้ ว่าสิ่งทังหลายทังปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น; แล้วมันก็ไม่เกิดโลภ ไม่เกิดโกรธ ไม่เกิดหลง ไม่ทำบาป ไม่ทำอกุศล ไม่ยึดมั่นในกุศล เพราะมันไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
        การที่จะมองเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น มันไม่มีแว่นอันอื่นมาส่อง นอกจากแว่นคืออิทัปปัจจยตา; ให้คุ้นเคยอยู่กับ อิทัปปัจจยตาก็จะเห็นอยู่เสมอ สิ่งทังปลายทั้งปวงไม่ควรยึดม่นถือมั่น
            ครั้งหนึ่ง มีภิกษุองค์หนึ่ง มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า รู้อะไร ที่รู้แล้ว  จะละอวิชชาเสียได้ และทำวิชชาให้เกิดได้? ภิกษุนั้นมาทูลถามพระพุทะเจ้าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า : อิธ ภิกฺขุ ภิกฺขุโน สุตํ โหติ สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสายติ ดูก่อนภิกษุ! สุตะ(คือสิ่งสดับหรือศึกษาเล่ราเรียนเรียกว่าสุตะ) ของภิกษุในธรรมวินัยนี้มีอยู่ว่า : สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เอวณฺเจตํ ภิกฺขุโน สุตํ โหติ สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสายาติ ดูก่อนภิกษุ! ถ้าว่าสุตะของภิกษุในธรรมวินัยนี้มีอยู่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วไซร้; โส สพฺพํ ธมฺมํ อภิชานาติ ภิกษุนั้น ชื่อว่าย่อมรู้เฉพาะซึ่งธรรมทั้งปวง; สพฺพํ ธมฺมํ อภิญฺญาย สพฺพํ ธมฺมํ ปริชานาติ เพราะรู้เฉพาะซึ่งธรรมทั้งปวงภิกษุนั้นย่อมรู้รอบ รอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง สพฺพํ ธมฺมํ ปริญฺญาย สพฺพนิมิตฺตานิ อญฺญโต ปสฺสติ เพราะรอบรู้ รู้รอบซึ่งธรรมทั้งปวง เธอนั้น ย่อมเห็นนิมติทั้งหลายทังปวง โดยความเป็นประการอื่น
            ตรงนี้จะไม่เข้าใจคำว่า ความเป็นโดยประการอื่น ฉะนั้น ต้องอธิบาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อการศึกษาเล่าเรียน สดับตรับฟัง มันมีอยู่ ว่าสิ่งทังหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นแล้ว ผู้นั้นจะรู้ยิ่งหรือรู้เฉพาะเจาะจงซึ่งธรรมทั้งปวง; เพราะรู้เฉพาะเจาะจงซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว จะรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง เพราะรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง เขาจะเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยประการนั้น
            คำว่า โดยประการอื่น นี้ คือ ประการอื่นจากที่คนทั่วไปเขาเห็น; จึงใช้คำว่า อื่น เฉย ๆ อัญญะโต โดยประการอื่น; คนทังโลกเขาเห็นโดยประการนี้ แต่คนนี้จะเห็นโดยประการอื่น ซึ่งตรงกันข้าม
            คนทั้งโลกที่เป็นปุถุชน ย่อมเห็นตามสายตา รู้จักคิดนึกของปุถุชฃน แต่คน ๆ นี้จะเห็นโดยประการอื่น : จกฺขุ อญฺญโต ปสฺสติ เห็นจักษุโดยประการอื่นผิดไปจากคนอื่นเขาเห็นกัน; รูเป อญฺญโต ปสฺสติ ย่อมเห็นซึ่งรูปทั้งหลายโดยความเป็นประการอื่น ผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน; จกฺขุวิญฺญานํ อญฺญโต ปสฺสติ ย่อมเห็นจักขุวิญญาณ โดยประการอื่น ผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน; จกฺขุสมฺผสฺสํ อญฺญโต ปสฺสติ ย่อมเห็นซึ่งจักขุสัมผัส โดยประการอื่น ผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน; ยมฺปิทํ จกฺขุสมฺผสฺสปจิจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา ตมฺปิ อญฺญโต ปสฺสติ ย่อมเห็นซึ่งเวทนาอันมาจากจักขุสัมผัสนั้น โดยประการอื่น ผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน
        แล้วพระองค์ก็ตรัสจำแนกไปถึง หมวด เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ว่าแต่ละอัน ๆ นี้ ผู้นี้เห็นผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน : เมื่อมีการศึกษา มีการปฏิบัติ อิทัปปัจจยตา แล้ว จะเห็นทุกสิ่งผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกั้น พระบาลีมีแต่เพียงว่า สพฺพนิมิตฺตานิ อญฺญโต ปสฺสติ ย่อมเห็นซึ่งนิมติทั้งหลายทั้งปวงโดยความเป็นประการอื่น
            ดังนั้น คำว่า ประการอื่น ในที่นี้ กินความกว้าง คืออื่นทุกอย่างจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน เราจะเห็นตรงกันข้าม เห็นว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เป็นความรู้ที่ทำให้เราเห็นสิ่งทั้งปลายทั้งปวง ผิดจากที่คนธรรมดาเขาเห็นกัน
            ถ้าเขาไม่บ้า เราก็บ้า ถ้าเราไม่บ้า เขาก็บ้า; แปลว่าต้องตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง เพราะเห็นหรือไม่เห็นอิทัปปัจจยตา : ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; นี้เรื่องที่เป็นการกล่าวถึงหัวใจของพุทธศาสนา มันมีอยู่อย่างนี้ รวมความว่า จะเห็นนิมิตทังปลายทั้งปวง ผิดจากที่พวกอื่นเขาเห็นกัน นี่แสดงอานิสงส์ของ อิทัปปัจจยตา ในลักษณะอย่างนี้
            ยังมีข้อความอีกสูตรหนึ่งที่ตรัสแก่ท้าวสักกะ แล้วก็ไปตรัสเล่าให้พระโมคคัลลานะฟัง ขึ้นต้นก็เหมือนกัน คือเห็น อิทัปปัจจยตา  แต่แล้วก็จะเกิดอนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี; เหมือนที่เราอธิบายกันในเรื่องอานาปานสติ แต่วิธีปฏิบัติไม่เหมือน นี้ก็เรียกว่า เห็นผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นด้วยเหมือนกัน นี่ คือ อิทัปปัจจยตา จะทำให้เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดจากที่คนธรรมดาเห็น
        นี่แหละจะเหมาะสำหรับฆราวาส หรือไม่เหมาะ ก็ขอให้ลองคิดดู เมื่อฆราวาสนี้ต้องการจะเป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์แบบของพระพุทธเจ้า มันก็เว้นเรื่องนี้ไม่ได้ คือเห็นผิดจากที่คนทั่วไปเห็น; ถ้าเขาไม่บ้า เราก็บ้า; ถ้าเราไม่บ้า เขาก็บ้า เรียกว่า อัญญะโต ปัสสะติ ย่อมเห็นโดยประการอื่น ผิดจากที่คนอื่นเขาเห็นกัน แล้วใครจะบ้าหรือไม่บ้าก็ลองไปคิดดูเอาเอง
            แล้วทีนี้มันยิ่งชัดเข้ามาทุกทีว่า เราจะมีความรู้ หรือมีแสงสว่าง หรือมีอะไรก็ตาม ที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา นี้ สำหรับจะเป็นอย่างนี้ สำหรบจะเป็นฆราวาสที่ถูกใจพระพุทธเจ้า
            ทีนี้ เรื่องที่ 7 ดุกันต่อไปว่ เพราะเหตุว่าพระพุทธองค์ ได้ทรงมอบโลกุตตรธรรม ให้ไว้เป็นสัมบัติแก่คนทุกคน; สูตรนี่ก็น่าสนใจมาก : มิชฌิมนิกาย มิชฌิมปัณณาสก์ เอสุการีสูตร เล่ม 13 หน้า 614 ทรงสนทนาหรือเรียกว่าแย้งหรือเถียงกันกับพราหมณ์คนหนึ่ง ท่านทางถกกับพวกพราหมณ์ว่า บัญญัติเรื่องทรัพย์กันอย่างไร? พวกพราหมณ์ว่าเข่าบัญญัติธนูและศรนี้ ให้เป็นทรัพย์ของกษัตริย์ บัญญัติภิกขาจาร คือสิทธิในการขอ ให้แก่พวกพราหมณ์ บัญญัติกสิกรรมและโครักขกรรม แก่พวกแพศย์ หรือคนชาวบ้านทั่วไป บัญญัติเกี่ยวกับไม้คาน ไว้สำหรับพวกศูทร; นี้แสดงวรรณะ 4 อย่างชัดแจ้ง
        ธนูและลูกศร ธนูและลูกศร ลูกศรและธนู นี้คืออาวุธยิ่งไกลสำหรับสมัยนั้น ยังไม่มีปืน สมัยนี้ก็ได้แก่ปืน หรือเครื่องอาวุธที่จะรบราฆ่าฟันทังหลาย นี้บัญญัติให้เป็นทรัพย์ของวรรณะกษัตริย์ ให้วรรณะกษัตริย์หากินด้วยทรัพย์นี้ ทีนี้ภิกขาจารสิทธิ คือสิทธิที่จะขอ มีสิทธิที่จะขอ แล้วไม่ดูถูกว่าเป็นขอทานอย่างนี้ สิทธิอันนี้บัญญัติให้เป็นทรัพย์แก่พวกพราหมณ์ พวกครูบาอาจารย์ นี้ยังเลยลามมาถึงภิกษุสามเณรนี้ มีสิที่จะบิณฑบาตอย่างนี้ ทีนี้ บัญญัติการทำไร่ทำนาเลี้ยงโคเลี้ยงควาย ไว้เป็นทรัพย์แก่ชาวบ้านทั่วไป คือระดับชาวบ้านชั้นดีทั่วไป แล้วเคียวกับไม้คาน สำหรับพวกศูทร พวกกรรมกร พวกวรรณะต่ำทราม สิ่งที่เรียกว่าเคียวนี้ เขาใช้เป็นเครื่องหมายของพวกนี้มาแต่ดึงดำบรรพ์แล้ว แล้วก็ไม้คานหมายความว่าหาบหามนี้; การเกี่ยวข้าวหรือการตัดหญ้า หรือการหาบหาม เป็นทรัพย์ของพวกคนชั้นต่ำที่สุด
        ทีนี้ พราหมณ์ก็ย้อนถามเอาบ้างว่า เรื่องทรัพย์นี้พระสมณโคดมบัญญัติว่าอย่างไร? อริยํ วโข ปน อหํ พฺราหฺมณ โลกุตฺตรํ ธมฺมํ ปุริสสฺส สทฺธนํ ปญฺญเปมิ ดูก่อนพราหมณ์ ! ส่วนเรานี้ บัญญัติ โลกุตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์ของคนทุกคน ปุริสัสสะ ในที่นี้แปลว่าคนเฉย ๆ ไม่ใช่แปลว่า ผู้ชาย ผุ้ไม่รู้ภาษาบาลี จะเข้าใจคำว่า ปุริสะ นี่แปลว่าผู้ชายไปเสียหมด เมื่อพูดถึงว่าคน คนเฉย ๆ คนทั่วไป ก็ใช้คำนี้ ดูกก่อนพราหมณ์ ! ส่วนเรานี้บัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ ว่าเป็นทรัพย์สำหรับคนทุกคน
        ที่เกี่ยวกับพวกพราหมณ์ ก็ลองเปรียบเทียบดุเถอะว่า พระพุทธเจ้าท่านมาเหนือกว่าอย่างไรบ้าง? ท่านบัญญัติ โลกุตตรทรัพย์แก่ทุกคน !
        ทีนี้ คนบางคนมาพูดว่า โอ๊ย โลกุตตรธรรมนี้ ไม่จำเป็นแก่ฆราวาส ไม่ใช่สำหรับฆราวาสนี่ ก็แปลว่าเขาไม่รู้จักพระพุทธเจ้า เป็น คนที่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ เป็นทรัพย์สำหรับทุกคน สำหรับคนทั่วไปก็แล้วกัน ถ้าใครไม่เป็นคน ก็ไม่ต้อง แต่ถ้าใครเป็นคนแล้ว คนนั้นจะต้องสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า โลกุตตรธรรมอันประเสริฐ มีคำว่า อริยํ โลกุตฺตรํ ธมฺมํ ปุสิสสฺส สทฺธนํ สัทธนัง แปลว่า ทรัพย์ประจำตัว มี ส เข้ามาด้วย สทฺธนํ แปลว่าทรัพย์ประจำตัว เราบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐเป็นทรัพย์ประจำตัวของคน!”
            นี่มันเป็นขี้ที่จะตัดสินลวงไปว่า หมดปัญหากันที เรื่องโลกุตตรธรรมสำหรับฆราวาส ควรรู้หรือไม่ควรรู้? จำเป็นหรือไม่จำเป็น? จะถือว่ามันเป็นพุทธประสงค์ ให้คนทุกคนได้รับทรัพย์อันนี้เป็นมรดก
            ลองคิดดูว่า จะเป็นคนชนิดไหน? หน้าตาอย่างไร? ถ้าไม่ต้องการทรัพย์มรดกที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้สำหรับคน อาตมาคิดว่า พวกจิตว่างอันธพาล เท่านั้นแหละที่จะไม่ชอบโลกุตตรธรรมทรัพย์นี้ พวก กามวิปริตวิตถาร ที่มีอยู่ชุกชมในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยบาร์ ด้วยไนต์คลับ อะไรนั้น ที่จะไม่ชอบโลกุตตรทรัพย์นี้ คนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็จะต้องยินดีพอใจ ยกมือขึ้นบูชารับเอาโลกุตตรทรัพย์นี้เหมือนกับที่ตะกี้ที่ตรัสแก่ธัมมทินนอุบาสกว่า สุญญตานี้เป็นของสำหรับฆราวาส เป็นประโยชน์เกื้อกุลตลอดกาลนาน
            ทีนี้ เมือเราต้องการจะได้ทรัพย์สมบัติอันเป็นโลกุตระนี้ ก็ไม่มียานพาหนะไหน? ไม่มีเครื่องมืออะไร ที่ไหน ที่จะให้ได้ หรือแม้แต่ฟังถูกจนเข้าใจเรื่องนี้ นอกจากเครื่องมือคือ อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่อง อิทัปปัจจยตาก็จะเป็นการง่าย เป็น การสะดวกดาย ที่จะได้รับมรดกโลกุตตรธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมุ่งหมายไว้สำหรับคนทุกคน
        นี่ยิ่งพูดไปเท่าไรก็จะยิ่งเห็นว่า อิทัปปัจจยตา ยิ่งจำเป็นแก่ฆราวาสผู้ที่ต้องการจะเป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์แบบ อาตมาก็พยายามที่จะสำรวจตรวจสอบพระพุทธภาษิตทั้งหลายที่เกี่ยวกับฆราวาส เคยคิดจะทำหนังสือ เรียกว่า ฆราวาสจากพระโอษฐ์ นี้สักเล่มหนึ่ง มันจึงพบเรื่องอย่างนี้มาก จึงนำมาพูดให้ฟังพลางเผื่อว่าตายเสีย ไม่ได้ทำหนังสือเล่มนั้น แล้วพวกฆราวาสก็จะไม่ค่อยมีโชคดีที่จะได้ฟัง; จึงรีบ ๆ พูดเสีย; ดังนั้นอย่าเพื่อง่วงนอน อย่าเพ่อเบื่อหน่าย อย่าเพ่อรำคาญทนฟังไปอีกสักหน่อย เพราะมันจะพูดหลายคราวก็ไม่ได้ พูดคราวเดียวก็ต้องพูดให้หมดทุกเรื่องที่จะพูดได้
            ทีนี้ เรื่องที่ 8 ที่อยากจะพูด ก็คือเรื่องที่จะต้อง เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างฆราวาสเลว กับฆราวาสดี ฆราวาสเลว ก็จะมุ่งหมายถึงปุถุชน ฆราวาสดี ก็จะมุ่หมายเอาอริยสาวก
            เมื่อกล่าวถึงพุทธบริษัทที่ดี ที่เป็นฆราวาส พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า อริยสาวก แทบทุกกรณี เว้นไว้แต่จะเดิมคำว่า อิธ เข้ามาด้วย จึงจะหมายถึงทั้งบรรพชิตและฆราวาส ถ้าไม่ใช้คำว่ อิธ เข้ามาด้วย มีอริยสาวกเฉย ๆ แล้ว จะหมายถึงฆราวาสทั้งนั้น สังเกตดุส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้
            ทีนี้ปุถุชนกับอริวสาวกนี่ มันเป็นผุ้ที่วตรจะมาจับกันดู : ปุถุชนไม่เรียกว่าอริยสาวก เพราะยังดิบ ยังหนา ยังบ้าบอด ยังอะไรมากเกินไป ไม่พอที่จะเรียกว่าอริยสาวก อิรยสาวกนั้น อย่างน้อยก็เข้าถึงเขตที่พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์ เช่นเป็นพระโสดาบันเป็นต้น หรือกำลังพยายามเพื่อจะเป็นพระโสดาบันเป็นต้น เราจะต้องรู้ความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยสาวกเสียก่อน
        สฬายตนสังยุตต์ เล่ม 18 หน้า 257 มีพูดเรื่องนี้ไว้ชัด ๆ ง่าย เพราะตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยสาวกไว้ว่า เมื่อมีการเสวยเวทนา : ปุถุชนเสวยเทวนาด้วยกิเลส อริยสาวกเสวยเวทนาด้วยปัญญา เวทนานี้ เกิดเป็นประจำ แก่ทุกคน ทุกหน ทุกแห่ง เรียกว่าเวทนา ตี่พอเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ปุถุชนเสวยด้วยกิเลส อริยสาวกเสวยด้วยปัญญามันต่างกันอย่างนี้
            ทำไมมันเป็นอย่างนี้? เพราะอริยสาวกได้ฟัง ได้เรียน ได้รู้ เรื่อง อิทัปปัจจยตา ได้เรื่อง สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสย; ดังนั้นจึงเสวยเวทนาทังหลายด้วยปัญญา ปุถุชนหลัหูหลับตา มันก็เลยเสวยด้วยกิเลส ใช้กิเลสเป็นเครื่องเสวยเวทนา ไม่ได้ใช้ปัญญาเลย เพราะปุถุชนขาดความเรื่องเรื่อง อิทัปปัจจยตา อริยสาวก เต็มไปด้วยความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ เป็นองค์ปรักอเบของความเป็นอริยสาวก นี้; จึงเมื่อเสวยเวทนาทั่วไป มันต่างกันอย่างนี้
        ที่นี้ เมื่อเสวยทุกขเวทนาโดยเฉพาะ เช่นความเจ็บปวด ความไม่ได้อย่างใจเรียกว่าทุกขเวทนา นั้น ปุถุชนจะเป็นทุกข์ทั้งทางกาย และทางจิต ส่วน อริยสาวกนี้จะเป็นทุกข์เพียงทางกาย เป็นเพียงผิวกาย หรือไม่เป็นทุกข์เลย แล้วแต่ว่าจะเป็นพระอริยสาวกชั้นไหน เมื่อคนเราเกิดทุกข์เวทนาเจ็บปวดอะไรขึ้นมาทางกายอย่างนี้ ส่วนร่างกายมันก็เจ็บ ถ้าจิตใจมันยึดมั่นถือมั่นว่ากูเจ็บ มันก็เลยเจ็บลึกถึงวิญญาณ ถึงจิตใจด้วย
            ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบอุปมาไว้ ให้เข้าใจง่ายว่า คน ๆ หนึ่งถูกยิ่งด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยังถูกยิงตามมาด้วยลูกศรอาบยาพิษอีกดอกหนึ่ง : ลูกศรที่แรกคือลูกศรธรรมดา ใช้ไม้แหลม ๆ ยิงเข้าไป แล้วมีลูกศรที่อาบยาพิษร้ายกาจตามมายิงเข้าไปอีกดอกหนึ่ง นี้คือปุถุชน เช่นเจ็บทางกายนี้ เหมือนกับถูกยิงด้วยลูกศรธรรมดา ไม่มียาพิษ แล้วมันไปเกิดความยึดมั่นถือมันในทุกขเวทนานั้น มันดินรนไปด้วยตัณหาอุปาทานนั้น มันเจ็บถึงส่วนลึกของวิญญาณ นี้เรียกว่าเหมือนกับถูกลูกศรที่อาบไปด้วยยาพิษ
            ฉะนั้น ปุถุชนจะถูกลูกศร 2 ดอกเสมอไป แล้วดอกหลังอาบยาพิษ ส่วนอริยสาวก สาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น เหมือนกับถูกยิงด้วยลูกศรดอกแรกดอกเดียว คือลูกศรธรรมดา ดึงออกแล้วแผลก็ให้หายได้ มันไม่มียาพิษ คือจิตไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัณหาอุปทานขึ้นมาในนั้น แล้วบางที่จะเหมือนกับไม่ได้ถูกยิงเลย หรือยิงไม่เข้า เพราะว่าพระอริยสาวกชั้นสูงสุดนั้น หมดตัณหาอุปาทานแล้ว มันไม่มีทุกขเวทนา หรือมันไม่มีเรื่องถูกยิงเลยก็ได้
            เมื่อมีการเสวยทุกขเวทนา มันต่างกันอย่างนี้ ในระหว่างปุถุชนกับอริยสาวก นี้ก็เพราะไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา อย่างยิ่ง มันจึงถูกยิง 2 ดอก ถ้ารู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะถูกแต่ดอกเดียวแล้ก็ไม่มียาพิษ หรือว่ายิงไม่ถูกเลย ยิ่งไม่เข้าเลย
            ยังมีความแตกต่างที่จะต้องเปรียบเทียบกันต่อไปอีก อย่างหนึ่ง ก็คือว่า ปุถุชนเมื่อเสวยทุกขเวทนา มันเกิดปฏิฆานุสัยเพิ่ม ส่วนอริยสาวกนั้น ไม่เกิด : ปุถุชนเมื่อเสวยสุขเวทนา มันเกิดราคานุสัยเพิ่ม; ปุถุชนเมื่อเสวยทุกขมสุขเวทนา มันเกิดอวิชชานุสัยเพิ่ม; ส่วนอริยสาวกไม่เกิดอนุสัยใด ๆ เลย
            อนุสัย มีอยู่ 3 ชนิด คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย และอวิชชนานุสัย เมื่อเราขัดเคืองในทุขเวทนา มันเพิ่มปฏิฆานุสัย อนุสัยแห่งความเกลียดชัง โกรธแค้น ขัดเคืองนี้; เมื่อเสวยสุขเวทนา มันเพิ่มราคานุสัย อนุสัยที่ให้รักให้โลภ; และเมื่อมันเป็นอทุกขมสุขเวทน มันเพิ่มอวิชชานุสัย คือความสงสัย ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจความสงสัย ปุถุชนจะเกิดอนุสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทุก ๆ เวทนา ส่วนอริยสาวกจะไม่เกิด เพราะว่ามีความรู้สึกหรับป้องกัน คือความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา
            มันไม่เป็นเวทนาไปได้ มันไม่เป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นอทุกขมสุข หรืออะไรไปได้ มันเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา ทำให้ไม่รู้สึกว่าสุขหรือทุกข์ นี้เป็นของตรงกันข้ามที่เป็นคู่ เป็นของหลอกลวง นี่ปุถุชนกับอริยสาวกมันต่างกัน อย่างนี้
            สิ่งที่ว่ามานี้ มันอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้? ขอให้ลองคิดดูมันควรหรือไม่ควรที่จะมีความรู้อย่างนี้ มันอาจหรือไม่อาจที่จะมีความรู้อย่างนี้ มันต้องสนใจหรือไม่ต้องสนใจในความรู้ข้อนี้ คือ อิทัปปัจจยตา ที่ว่าทำให้ผิดแผกแตกต่างไปจากคนธรรมดา เหมือนที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ : จะรู้สึกโดยประการอื่น จะคิดนึกโดยประการอื่น จะกระทำโดยประการอื่น ไม่เหมือนกับคนธรรมดา
            ถ้าใครต้องการความก้าวหน้าของความเป็นมนุษย์ แม้แต่ฆราวาสนี้ก็ต้องสนใจ เรื่อง อิทัปปัจจยตา เรื่องอะไร ๆ กี่เรื่องจะมารวมอยู่ที่ อิทัปปัจจยตาในฐานะเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือ ที่จะต้องใช้
            เรื่องที่ 9 ที่อยากจะให้ได้ทราบ ก็คือว่า ฆราวาสนี้ควรจะสนใจอะไรกันบ้าง? เกี่ยวกับเรื่องนี้มันแปลกอยู่ คือว่าได้สำรวจดูในพระสูตรทั้งหลายในสังคุตตนิกายโดยเฉพาะเท่าที่ผ่านสายตา ก็มีแต่พบว่า ผู้ที่มาทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องทิฏฐธรรมนิพพาน คือนิพพานกันที่นี่เดี๋ยวนี้ มีแต่ฆราวาสทั้งนั้นไม่เคยมีที่พบเป็นบรรพชิตเลย ทำไมเป็นอย่างนี้ก็ไม่ทราบ ว่าผู้ที่มาทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานในทิฏฐธรรม คือในชาตินี้ ในทันตาเห็นนี้ มันมีแต่ฆราวาสทั้งนั้น
            ในสังยุตตนิกาย ในสูตรที่ 5 ของโลกกามคุณวรรคที่ 2 ท้าวสักกะเป็นผู้มาถามว่า อะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน? ในสุตรที่ 6 ปัญจสิงขร นักดนตรี เทวดานักดนตรี มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน? ท้าวสักกะหรือเทวดานี้ เป็นฆราวาสนะ; อย่าเข้าใจว่า ไม่เป็นฆราวาสนะ พระอินทร์หรือท้าวสักกะนั้น เป็นฆราวาส ปัญจสิงขรนี้ ก็เป็นฆราวาส
        ในสุตรที่ 1 คหปติวรรค อุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลี มาทูลถามเรื่องอะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพา? สูตรที่ 2 ของวรรคนั้น อุคคคหบดี ชาวบ้านหัตถีคาม เมืองเวสาลี มาทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องอะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน?
            สูตรที่ 3 ของวรรคนั้น คหบดีชื่ออุลาลี ชาวเมืองนาลันทา ก็มาทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องอะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน?
            ในสูตรที่ 5 แห่งวรรคนี้ คหบดีชื่อโสณะ อยู่ใกล้ ๆ กรุงราชคฤห์ มาทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องอะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน?
            สูตรที่ 8 แห่งวรรคนั้น นกุลปิตาคหบดี เมืองสุงสุมารคิระ ก็มาทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องอะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน?
            ไม่พบว่า บรรพชิต ภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง มาทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องอะไรเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน? ยังไม่เคยพบ แล้วก็เลยรู้สึกแปลก ว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนี่? หรือว่าพระนี้ไปสนใจอะไรกันในรูปไหน จึงไม่สนใจเรื่องนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ เหมือนฆราวาสเหล่านี้? เรื่องนั้นมันยังไม่ต้องวินิจฉัย ยกไว้ก่อนก็ได้
            แต่จะวินิจฉัยตรงที่ว่า ทำไมมันจึงมีฆราวาสล้วน? และยิ่งกว่านันก็ว่า ทำไมฆราวาสจึงสนใจเรื่องทิฏฐธรรมนิพพาน? ฆราวาสเดี๋ยวนี้สนใจทิฏฐธรรมนิพพานกันหรือเปล่า? สนใจนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้กันหรือเปล่า? ปัญหาสำคัญมันอยู่ตรงนี้เอง
            คำโต้ตอบก็เหมือนกันทุกสุตรเลย โก นุ โข ภนฺเต เหตุ โก ปจฺจโย เยน มิเธกจฺเจ สตฺตา ทิฏฺเจ ว ธมฺม โน ปรินิพฺพายนฺติ ข้าแต่พระผุ้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ! อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ที่สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในทิฏฐธรรม? นี้คำถามที่ว่า ไม่ แล้คำถามที่ 2 ว่า เหตุปัจจัยที่ปรินิพพานในทิฏฐธรรม; ถ้าถามทั้ง 2 ฝ่ายก็คือ เหตุไรจึงไม่ เหตุไรจึงมี นิพพานในทิฏฐธรรม
        ที่ตรัสแก่ท้าวสักกะหรือใคร ๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น มันเพียงแต่ออกชื่อทักผิดกัน ;ว่า : สนฺติ จ โข เทวานมินฺท ดูก่อนท่านเทวานมินทะ ! จกฺขุวิญฺเญยฺยา รูปา อิฏฺจา กนฺตา มนาปา ปิยรูปา กามูปสญหิตา รชนิยา รูปารมณ์ทั้งหลาย อันรู้ได้ด้วยจักษุ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ปรารถนา เป็นที่อิ่มเอิบใจ มีรูปน่ารัก เป็นที่ตั้งแห่งกาม เป็นที่ตั่งแห่งความกำหนัด; ตญฺเจ ภิกฺขุ อภินนฺทติ อภิวทติ อชฺโฌสาย ติฏฺฐติ ถ้าภิกษุเพลิดเพลินเฉพาะพร่ำสรรเสริญเฉพาะ หมกมุ่นมัวเมาอยู่ ซึ่งรูปารมณ์นั้น แล้วไซร้; ตสฺส ตํ อภินนฺทโต อภิวทโต อชฺโฌสาย ติฏฺฐโต เมื่อเพลิดเพลินเฉพาะอยุ่ พร่ำสรรเสริญอยู่ มัวเมาอยู่ เช่นนั้น; ตํ นิสฺสิตํ วิญฺญานํ โหติ วิญญาณของเขานั้นเป็นวิญญาณที่กิเลสอาศัยอยู่แล้ว; ตทุปาทานํ วิญญาณนั้น ชื่อว่าอุปาทาน สอุปาทาโน เทวานมินฺท ภิกฺขุ โน ปรินิพฺพายติ ดูก่อนเทวานมินทะ! ผู้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ย่อมไม่ปรินิพพาน; ฯลฯ นี่แหละคือเหตุ นี่แหละคือปัจจัย ที่สัวต์ทังหลายบางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในทิฏฐธรรม
            นัยตรงกันข้ามมันก็คือว่า ไม่ : ไม่เพลิดเพลินเฉพาะ ไม่พร่ำสรรเสริญเฉพาะ ไม่หมกมุ่นมัวเมาในรูปารมณ์อย่างนั้น มันก็นิพพานในทิฏฐธรรม พูดเป็น 2 ฝ่าย ตรงกันข้าม
            เมื่อพูดถึงรูปแล้ว ก็พูดถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐพพะ ถึงธรรมารมณ์ ไปครบทั้ง 6 อย่าง ใจความสำคัญ มันก็มีอยู่ที่ว่า อภินนฺทติ เพลินเฉพาะ เพลินถึง อภิวทติ พร่อสรรเสริญออกปากอยู่เรื่อย นี่แสดงว่ามันจับใจถึงกับพูดออกมาทางปา สวยโว้ย! อร่อยโว้ย! สนุกโว้ย! อย่างนี้เข่าเรียกว่า พร่ำพูดอยู่แต่อย่างนั้น สำหรับ อชฺโฌสาย ติฏฺฐติ คือ หมกจมอยู่ในนั้น ในความรู้สึกอันนั้น 3 อย่างเท่านั้นเอง มันไม่มีอะไรมาก เพราะเพลิดเพลิน ก็พร่ำสรรเสริญ ก็มาหมกอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ใคร่ ที่รัก ที่พอใจ ที่น่ารัก ที่เป็นที่อาศัยแห่งความรู้สึกของกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
        นี้มันมีสิ่งที่น่าคิด ก็อยู่ที่ว่า สิ่งเหล่านี้มันยากเกิดกว่าฆราวาสจะรู้สึกหรือ? ผู้ถามทั้ง 7 คนนี้เป็นฆราวาสทั้งนั้น
            ทีนี้ การที่ว่าจะไม่เพลิดเพลิน จะไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกนั้นจะทำได้อย่างไร? ตอบอย่างกำปั้นทุบดิน ตอบอย่างไม่มีผิดอย่างเดียวกันอีกว่า เมื่อเห็นอยู่โดยความเป็น อิทัปปัจจยตา แล้วมันเกิด 3 อย่างนี้ไม่ได้ : ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมก นี่ อิทัปปัจจยตา จะช่วยไม่ให้เกิดอาการอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นนิพพานทิฏฐธรรม นิพพานในทิฏฐธรรมนี้ มิได้หมายความว่านิพพานเด็ดขาดสิ้นเชิงจนเป็นอนุปาทิเสสะไปเสียหมด; แต่หมายถึงนิพพานที่มีความคล้ายกันอย่างนั้น; แล้วก็ได้ทันที ที่นี่และเดี๋ยวนี้
            สรุปความขึ้นมาได้ว่า เมื่อจิตของเราปรกติ : ไม่เพลินเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกในอารมณ์ มีลักษณะอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นเป็นทิฏฐธรรมนิพพานทันควัน ทีนั้นและเดี๋ยวนั้น ตั้งหน้าระวังอย่างเดียว รักษาไว้อย่างเดียว อย่าให้ อภินนฺทติ อภิวทติ อชฺโฌสาย ติฏฺฐติ; คือไม่เพลินเพลินเฉพาะ ไม่พร่ำสรรเสริญ (คือหัวใจมันบูชา เรียกว่าพร่ำสรรเสริญ) แล้วก็ไม่สยบมัวเมาอยู่ใต้รสอำนาจของอารมณ์เหล่านั้น; เมื่อนั้นเป็นทิฏฐธรรมนิพพาน
            ตามความรู้สึกของอาตมาเห็นว่า พอเหมาะพอดีแล้วสำหรับฆราวาสสำหรับนิพพานชนิดนี้ และเมื่อทำต่อเรื่อย ๆ ๆ มันก็ค่อยหมดกิเลสไปตามลำดับจนกระทั่งเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน แท้จริงได้
            ดังนั้น  เรามีทิฏฐธรรมนิพพาน : นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้ ชั่วคราวทันอกทันใจ ทันปากว่า ตาเห็นนี้ กันเสียหน่อยเถอะ โดยอาศัยหลักปฏิบัติที่ว่า : ไม่เพลินเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกนี้; เท่าที่เราจะทำได้ เราทำได้เท่าไร ก็จะมีความเป็นนิพพานเท่านั้น นี้ก็สำเร็จได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
          เรื่องที่ 10 ให้ฟังดุให้ดี ๆ แล้วก็อย่าได้ถึงกับเห็นไปว่าอาตมาโฆษณาอิทัปปัจจยตา เกิดขอบเกตุไปแล้ว นี่ว่าตามที่มีอยู่จริงในพระบาลี ; เป็นพุทธบริษัททังทีต้องคุ้นเคยกับ อิทัปปัจจยตา เพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ ขอให้ถือว่าเป็นลักษณะสังเกตเฉพาะ หรือเป็น เครื่องหมายติดหน้าหมวก ของผู้ที่เป็นพุทธบริษัท ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทหรือเป็นอริยสาวก ต้องคุ้นเคยกับเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น
            พระพุทธภาษิตนี้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่นิโครธาราม ในเมืองกบิลพัสพุ์ขันธสังยุตต์ เล่ม 17 หน้า 114 พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตตฺร ภิกฺขเว สุตวา อริยสาวโก อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมเพ่งพิจารณาอย่างนี้ว่า : อตฺถิ นุ โข ตํ กิญฺจิ โลกสฺมึ ยมหํ อุปาทิยมาโน นวชฺชวา อสฺสํ ในโลกนี้มีอะไร ๆ บ้างไหม ที่เมื่อเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะไม่เป็นโทษแก่เรา ว่าในโลกนี้ มีอะไร ๆ บ้างไหมที่เราไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะไม่มีโทษแก่เรา? พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เพ่งพิจารณาอย่างนี้อยู่เสมอว่า ในโลกนี้ มีอะไรบ้างไหม ที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะไม่เป็นโทษแก่เรา?
            โส เอวํ ปชานาติ อริยสาวกนั้น ย่อมรู้จัดอย่างนี้ว่า : นตฺถิ นุ โช ติ กิญฺจิ โลกสฺมึ ยมหํ อุปาทิยมาโน นวชฺชวา อสฺสํ ในโลกนี้ ไม่มีอะไร ๆ ที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะไม่มีโทษแก่เรา”; นี้คือบทที่อริยสาวกหรือพุทธบริษัท จะต้องพิจารณาแล้วรู้ คือพิจารณาอย่างนี้ แล้วรู้อย่างนี้
        โส เอวํ ปชานาติ อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า : อหญฺจ รูปญเญว อุปาทิยมาโน อุปาทิเยยฺวํ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นรูป; ตสฺส เม อสฺส อุปาทานปจิจยา ภโว ภพย่อมเกิดขึ้นแก่เรานั้น เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย; ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติย่อมมี; ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี; โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาสมฺภเวยฺยํ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ทั้งหลาย จะพึงมี; เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย อสฺส กองทุกข์ทั้งหลายทั้งสิ้นก่อขึ้นมา ด่วยอาการอย่างนี้
          บทมนต์ที่สำคัญที่สุด ก็คือว่า : นตฺถิ นุ โข ตํ กิญฺจิ โลกฺมึ ยมทํ อุปาทิยมาโน นวชฺชวา อสฺสํ ไม่มี่อะไร ๆ ในโลกนี้ ที่เราเข้าไปยึดถือแล้วจะไม่มีโทษ; นี้เป็นพุทธภาษิตที่ตรัสว่า ถ้าเป็นอริยสาวกจริง เป็นพุทธบริษัทจริงจะต้องมีความเห็นอย่างนี้ แล้วมีการพิจารณาอยู่อย่างนี้; ให้เห็นในรูปก็อย่างนี้ในเวทนาก็อย่างนี้ ในสัญญาก็อย่างนี้ ในสังขารก็อย่างนี้ ในวิญญาณก็อย่างนี้ เมื่อไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเข้า ก็จะเกิดเป็นภพขึ้นมาจากความยึดมั่นถือมั่นนั้น
            ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเข้า สิ่งที่เรียกว่าภพ คือความเป็นตัวเป็นตนเป็นฉัน เป็นอะไรนั้น จะเกิดขึ้นเพราะอุปาทานนั้น; เพราะภพนั้น จะเกิดชาติ; เพราะชาตินั้น จะเกิดชรามรณะ และกองทุกทั้งปวง
            หมายความว่า อยู่ท่านี่เดี๋ยวนี้ ทุกข์ทังหลายทั้งปวง จะเกิดขึ้นในจิตใจเนื่องด้วยชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส เอามานึกมาคิดก็เป็นทุกข์ได้; ไม่ต้องมีรความจริงเกิดขึ้น มันก็รู้สึกหวั่นกลัว หวาดเกรงล่วงหน้า วิตกกังวลได้ เกี่ยวกับชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส; นี่เป็นอย่างนี้
            ฆราวาสดูให้ดีว่า อริยสาวกในที่นี้เล็งถึงฆราวาส หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทั้งบรรพชิตทั้งฆราวาส เพราะคำว่า อริยะสาวโก เฉย ๆ อย่างนี้เล็งถึงฆราวาส ชั้นดีทั่วไป; เพราะคำว่าฆราวาสมีความหมายเป็นคนทั่วไป ยิ่งกว่าคำว่าภิกษุ ยิ่งกว่าคำว่าภิกษุสามเณร
          คนชั้นดีทั่วไปต้องมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ว่าไม่มีสิ่งใดในโลกที่ยึดถือเข้าแล้ว จะไม่มีโทษนั้น
            ทีนี้ จะไม่ยึดถือได้อย่างไร? ก็หันไปหา อิทัปปัจจยตา ที่เป็นเสมือนยาสารพัดนึกแก้โรคอะไรได้หมด นี้; หรือหมอสารพัดอย่าง รักษาโรคอะไรได้หมด คือ อิทัปปัจจยตา นี่เรื่องที่ว่าฆราวาสจะต้องสนใจ จะต้องเรียนรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา มันเป็นอย่างนี้
            เอาละ ทีนี้มันก็เลยเวลาไปบ้างแล้ว อาตมาคิดว่าไม่อยากพูดอีกครั้งละ เพราะโปรแกรมมันมีจำกัน พูดเรื่อย ๆ ไป ใครทนไม่ไหวกลับไปก่อนก็ได้
          เรื่องที่ 11 ที่จะพูดต่อไป คือว่า การเห็น อิทัปปัจจยตา นั้น คือเห็นธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า เห็น อิทัปปัจจยตา คือเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผุ้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้เห็นปฏิจจสมุปบาท
            เรื่องนี้จะถือว่าตรัสผ่านทางพระสารีบุตรก็ได้ จะถือว่าเป็นพุทธภาษิตโดยตรงก็ได้ มีข้อความเดียวกัน : โย ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ปสิสติ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท; โส ธมฺมํ ปสฺสติ ผุ้นั้นเห็นธรรม โย; ธมฺมํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม; โส ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ปสฺสติ ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท
            สรุปใจความสั้น ๆ ว่า พระสารีบุตรยืนยันว่า พระพุทะเจ้าได้ตรัสไว้แล้วว่า : ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเป็นปฏิจจสมุปบาทท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ข้อนี้ขอให้ไปดูมหาหัตถิปโทปมสุตร ในมิชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
            ที่อาตมาเอาเรื่องนี้มาพูดก็เพราะว่า การมองเห็น อิทัปปัจจยตา นั้นมันเท่ากับ การมองเห็นพระพุทธเจ้า ทีนี้ อุบาสกอุบาสิกาคนไหน ที่ไม่อยากเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสว่าท่านนิพพานไปแล้วสูญหาย แต่มี พระพุทธเจ้าที่จะอยู่กับพวกเธอทั้งหลาย คือธรรมวินัยที่ได้ตรัสไว้นี้
            และในสูตรอื่นก็ยังมีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า : ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม แต่ในสูตรนี้ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้เห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ก็หมายความว่า การเห็นธรรมนั้นคือิการเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นคือเห็น อิทัปปัจจยตา เพราะเป็นคำเดียวกัน ใช้แทนกัน ฉะนั้น ผู้ใดเห็น อิทัปัจจยตา ผุ้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า; เป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่รู้จักสาปสูญพระพุทธเจ้าองค์จริง
            ฆราวาสก็มีโอกาสทีจะเห็นพระพุทธเจ้าจริงได้ ด้วยการเห็น อิทัปปัจจยตา ธรรมะหรือการเห็นธรรมนี้ มันไม่มีเป็นฆราวาส ไม่มีเป็นบรรพชิต ธรรมะนี้ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ฆราวาส ไม่ใช่บรรพชิต ธรรมะ ต้องเป็นธรรมะเสมอ
        ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชนิดนี้แล้ว ผุ้นั้นก็พลอยเป็นไม่ใช่ฆราวาส ไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย อะไรไปด้วย ฉะนั้น ก็ลองพยายามดู; ความเห็น อิทัปปัจจยตา ทำให้เป็นอย่างนี้ นี้ ก็แสดงว่า มันเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่อิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งที่ควรรู้และปฏิบัติสำหรับฆราวาสทั้งหลาย
        เรื่องที่ 12 ที่ปลีกย่อยออกไป คือคำว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม : ถ้าอยากเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือธัมมานุโมมะปะฏิปันโนแล้ว ก็จงปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในอาการของปฏิจจสมุปบาท
          ปฏิจจสมุปบาทนั้น มีอาการ 11 อาการ ตามที่มีการปรุงแต่งกันระหว่างปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรม 12 อย่าง จับคุ่กัน 11 คู่ คือ ชรามรณะ ชาติ ภาพ อุปทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ อายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร แล้วก็อวิชชา; การปรุงแต่ง 11 อย่างนี้แต่ะละอย่าง ๆ เรียกว่า อาการของปฏิจจสมุปบาท ให้พิจารณาอาการของปฏิจจสมุปบาทแต่ล่ะอย่างทุก ๆ อย่างแล้วก็ให้เห็น เพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ; แล้วก็ปฏิบัติเพื่อให้มันเบื่อหน่าย ให้มันคลายกำหนัด ให้มันดับเสีย ซึ่งอาการของปฏิจจสมุปบาททุก ๆ อย่างเหล่านั้น
            ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺดน ภิกฺขูติ ลํ วจนาย ผุ้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่ายในอาการของปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ ควรตจะเรียกว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็คือ อิทัปปัจจยตา แต่ละอาการ หรือปฏิจจสมุปปันนธรรมแต่ละอย่าง ถูกพิจารณาเห็น โดยความเป็นของน่าเบื่อหน่ายคลายกำหนัด
            ถ้าผู้ใดอยากจะเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปที่ไหนให้ลำบาก; ให้เจาะจงลงที่ อิทัปปัจจยตา โดยเฉพาะ ที่เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท 11 อาการ ดูแต่ละอาการ ว่า แหม! มันน่าเบื่อหน่าย เรื่องนี้ตรัสแก่ภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง ในสังคุตตนิกาย เล่ม 16 หน้า 22
        เรื่องที่ 13 ที่น่าสนใจต่อไปอีกก็ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ มันมีหลาย ๆ คนนักที่พูดว่า ไม่รู้จะตั้งต้นที่ไหน? และโดยข้อเท็จจริง เขาก็เวียนหัว ไม่รู้ว่าจะตั้งต้นที่ตรงไหน? แต่ละคนมาถามอาตมา; นี่จับได้เลยว่า ไม่รู้ว่าต้นอยู่ที่ไหน? ปลายอยู่ที่ไหน? หัวอยู่ที่ไหน? ท้ายอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้?
          ปัญหาที่เอามาถาม แสดงให้เห็นว่า คนเหล่านั้นไม่รุ้ว่าหัวท่าย ต้นปลายของพรหมจรรย์ มันอยู่ที่ไหน? นี้ก็ขอให้ถือเป็นหลักเสียเลย โดยอาศัยพุทธภาษิตว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์นี้เรียกว่า อาทิพรหมจรรย์ เรียกสั้น ๆ อย่างนี้ เป็นบาลีก็ว่า : อาทิพฺรหฺมจริยโก ธมฺมปริยาโย ธรรมะปริยายนี้ เป็นอาทิพรหมจรรย์ คือเป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์
            เรื่องนี้เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ลำพังพระองค์เดียว จะอะไรขึ้นมาก็ไม่ทราบ ทรงเปล่งพระวาจาออกมา เหมือนกับเรานั่งอยู่เงียบ ๆ แล้วร้องเพลงเล่น; ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจิจยา วิญฺญาณํ ฯลฯ แต่ทรงขึ้นต้นด้วยคำว่า : จักฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญานํ ติญฺณํ ธมิมานํ สงฺคติ ผสฺโส ฯลฯ เรื่อยไปจนเต็มปฏิจจสมุปบาท คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่เอง พระพุทธเจ้าทรงเอามา ร้อง(?) ใช้คำว่าอะไรดี จึงจะไม่เป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้า; คือเหมือนอย่างคนหนุ่มคนสาวนั่งอยู่คนเดียว ร้องเพลงเนอย่างนั้นแหละ พระพทะเจ้าก็ทรงทำอย่างนี้; แต่ว่า เพลง นั้นคือปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา
        ภิกษุองค์หนึ่งได้ยินเข้า เลยแอบมาฟัง : แอบฟังอยู่ข้างหลัง ไม่ให้พระพุทธเจ้าเห๋น จนพระพุทธเจ้าท่านเหลือบไปเห็น : เอ้า! จับตัวมา ว่า มานี่! มานี่ ! แล้วก็ตรัสว่า
 : อุคฺคญฺหาหิ ตฺวํ ภิกฺขุ อิมํ  ธมฺมปริยายํ ดูก่อนภิกษุ! เธอจงทรงไว้ จำไว้ ซึ่งธรรมปริยายนี้; ปริยาปุณาหิ ตฺวิ ภิกฺขุ อิมํ ธมฺมปริยายํ ดูก่อนภิกษุ ! เธอจงเล่าเรียนธรรมปริยายนี้; ธาเรหิ ตฺวํ ภิกฺขุ อิมํ ธมฺมปริยายํ ดูก่อนภิกษุ ! เธอจงทรงไว้ จำไว้ ซึ่งธรรมปริยายนี้;  อตฺถสญฺหิโตยํ ภิกฺขุ ธมฺมปริยาโย อาทิพิรหฺมจริยโก ดูก่อนภิกษุ! ธรรมปริยายนี้ประกอบไปด้วยประโยชน์ เป็น เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์
            จงฟังคำนี่ให้ดีว่า เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ : ถ้าจับเงื่อนต้นไม่ถูกมันก็ทำไม่ถูก เหมือนกับว่าไม่ได้เอาเล็ดพืชเพาลงไปในดิน มันจะงอกขึ้นมาได้อย่างไร? เราต้องตังต้นที่ถูกต้องอย่างนี้ คือจงศึกษาปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี่ ๆ แล้วพรหมจรรย์ของเราจะตั้งต้น ทั้งในทางปริยัติทั้งในทางปฏิบัติ
          พรหมจรรย์ปริยัติ เขาก็เรียกว่า ปริยัติพรหมจรรย์ คือเล่าเรียนก็ต้องตั้งต้นด้วยอันนี้; พรหมจรรย์ในทางปฏิบัติ ก็เรียกว่าปฏิบัติพรหมจรรย์ คือลงมือปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติข้อนี้ แล้วส่วนปฏิเวธนั้นมันเป็นผลจากการปฏิบัติเรื่องนี้
            นี้ขอให้ถือเอา อิทัปปัจจยตา เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ในการเล่าเรียน และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้
            นิทานสังยุตต์ เล่มที่ 16 หน้า 90 แสดงเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ไว้ด้วยเอง อิทัปปัจจยตา ซึ่งได้พูดแล้ว อธิบายแล้วอธิบายเล่าว่า มันเป้ฯกำของกฎทั้งหลาย แม้แต่กฎของวิทยาศาสตร์ แม้แต่กฎอะไรก็ตาม ก็คือ อิทัปปัจจยตา แล้วอันนี้กลายเป็นเงื่อนต้น หรือจุดตั้งต้น ที่เราจะต้องศึกษา เล่าเรียน และปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้
          เรื่องที่ 14 ในชื่ออันไพเราะว่า อริญายธรรม ถือ ปฏิจจสมุปบาท นี้มันก็คือสูตรที่เอามาเล่าแล้วว่า อริยสาวกจะต้องพ้จากเวรภัยทั้ง   5 แล้วก็มีโสตาปัตติยังคะ 4 แล้วก็มีอริยญายธรรม หรือพุดอีกทีก็คือ ให้รู้ว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นอริยญายธรรม
            ญายธรรม แปลว่าธรรมเครื่องไป หรือเครื่องพาสัตว์ไปให้พ้น; อริยะ แปลว่า อันประเสริฐ ธรรมที่จะเป็นเครื่องไปเอง หรือพาสัตว์ไปให้พ้น นี้คือ อิทัปปัจจยตา; ไม่มีธรรมอื่น หรือถ้าจะเรียกชื่ออย่างอื่น ก็ไม่ใช่ธรรมอื่น มันก็เป็นธรรมนี้ คือรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ในลักษณะที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นั่นแหละมันจึงจะหลุดพ้นออกไป หรือพาไปได้; เป็นสูตราที่ตรัสแก่อนาถปิณฑิกคหบดี สูตรเดียวกันกับที่เล่าแล้วก่อนหน้านี้; (ดูหน้า297)
            อนึ่ง อิทัปปัจจยตา นี้ เป็นมิชฌมาปฏิปทา เรื่อง มิชฌิมาปฏิปทา ขอให้จำใส่ใจไว้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนา เป็นสายกลาง ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา ไม่ไปทางโน้นทางนี้ อยู่ตรงกลาง เป็นมิชฌิมาปฏิปทา
            มีพระบาลีตรัสไว้ว่า ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ : อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฯลฯ ที่เรียกว่ สมุทยวาร; เมื่อกำลังเป็นไปอยู่ นี้เป็น มิจฉาปฏิปทา
            ส่วนที่ว่า อวิชฺชาย ตฺวา อเสสวิราคนิโรธา สงิขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ ฯลฯ ที่เรียกว่า นิโรธวาร; เมื่อกำลังเป็นอยู่ นี้เป็น สัมมาปฏิปทา
            พูดให้ผู้ฟังนี้เข้าใจง่าย ก็คือ อิทัปปัจจยตา ส่วนที่ให้เกิดทุกข์นั้นเป็นมิจฉาปฏิปทา; อิทัปปัจจยตา ส่วนที่ให้ทุกข์ดับลงนี้ เป็นสัมมาปฏิปทา นี้เพื่อให้เห็ชัดทันทีว่า อิทัปปัจจยตา ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่เพียงแต่เป็นความรู้ ต้องเป็นการปฏิบัติ คือการทำลงไปจริง ๆ ด้วยกาย วาจา ใจ ถ้าทำฝ่ายนิโรธวารแล้วก็เป็นสัมมาปฏิบัติ
            ทีนี้ สัมมาปฏิปทาในลักษณะนี้ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปาทา ที่เป็นอัฏฐังคิกมรรคดับทุกข์ได้ นี้มันเป็นคำอธิบายที่ลึกซึ้ง คือว่าไม่สุดโต่ง ไม่ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ไม่เรียกว่ามี ไม่เรียกว่าไม่มี ไม่เรียกว่าอัตตา ไม่เรียกว่าอนัตตา
        คำนี้ถ้าอธิบายจะกินเวลามาก จะขอสรุปความให้ช่วยจำไว้ว่า : ที่เรียกว่าอัตตา ๆ นั้นเพราะมันโง่ โง่ไปในทางที่จะมีอัตตา ส่วนที่เรียกว่าอนัตตานี้ ถ้าเผลอนิดเดียวกันก็เป็นนัตถิกทิฏฐิ : โง่ไปในทางที่จะไม่มีอะไรเลย ถ้าเป็น อิทัปปัจจยตา มันอยู่ตรงกลาง จะไม่พูดว่าอัตตา หรือจะไม่พูดว่า อนัตตา ถ้าจะพูดว่าอนัตตา ก็ต้องพูดตามแบบของ อิทัปปัจจยตา
            เพราะฉะนั้น สรุปความได้ว่า อิทัปปัจจยตา จะช่วยให้อนัตตาไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าปราศจาก อิทัปปัจจยตา เสียแล้ว อนัตตาจะเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น; สุญญตา ก็จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ; แต่เดี๋ยวนี้มี อิทัปปัจจยตา กำกับอยู่ อนัตตา หรือสุญญตาจึงจำกัดความหมายไว้แต่เพียงว่า เพราะเป็นอิทัปปัจจยตา; คือ เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น
            ถ้าพูดให้ดีแล้ว อย่าไปพูดว่าอัตตา อนัตตา แต่ให้พูดว่า อิทัปปัจจยตา : พูดว่าอัตตา ก็สมมติฝ่ายนี้; พูดว่าอนัตตา ก็สมมติฝ่ายโน้น ถ้าไม่สมมติเลยต้องพูดว่า อิทัปปัจจยตา
            บาลีอนัตตลักขณสูตร เรื่องขันธ์ 5  เป็นอนัตตา นั้น ก็พูดเป็นสมมติเพราะว่าถ้าพูดไม่สมมติ จะต้องพูดเป็น อิทัปปัจจยตา ในทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสด้วยภาษาธรรมดา ภาษาคนธรรมดา จึงตรัสว่า : รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ ท่านพูดภาษาธรรมดา แต่หมายความว่า อนัตตาแบบ อิทัปปัจจยตา ไม่ใช่แบบนัตถิกทิฏฐิ หรือแบบอุจเฉททิฏฐิ
            ทีนี้ ปัญหายุ่งยากลำบาก เกิดขึ้นในประเทศไทยเรา หรือประเทศอื่น ๆ ที่เข้าใจผิดในเรื่องนี้ อนัตตาเลยเป็นมิจฉาทิฏฐิ สุญญตาเป็นมิจฉาทิฏฐิไปหมด คือไม่มีอะไรไปเสียเลย
            อิทัปปัจจยตา นั้น ไม่ยอมให้พูดว่า มี แล้วก็ไม่ยอมให้พูดว่า ไม่มี ถ้าเห็น อิทัปปัจจยตา จริง ๆ แล้ว ท่านจะไม่พูดว่า มี หรือจะไม่พูดว่า ไม่มี อิทัปปัจจยตา นั้น มันแล้วแต่ปัจจัย : เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; มีเท่านี้เอง เกิดขึ้นแล้วก็ชั่วขณะเท่านั้น ไม่ควรจะพูดว่า มี ไม่ควรจะพูดว่า ไม่มี”; ดังนั้นจะพุดว่าอะไร? ถ้าพูดตามภาษาผู้รู้ ก็พูดว่า อิทัปปัจจยตา ชาวบ้านฟังไม่ถูก เพราะฉะนั้น ก็ต้องพูดว่า มี หรือ ไม่มี คำใดคำหนึ่ง ให้ชาวบ้านฟังถูก
            นี่แหละ การรู้ อิทัปปัจจยตา นี้ พอรู้มันก็เป็นมิชฌิมาปฏิปทา อันแสนประเสริฐขึ้นมาทันที ในจิต ในใจ ในกาย ในวาจานั้น มันวิเศษอย่างนี้; มิชฌิมาปฏปทาชนิดที่เรยกว่าสัมมาทิฏฐิ สมมาสังกัปโป ฯลฯ อะไรก็ตาม มันจะรวมอยู่ในคำ ๆ เดียวนี้ คือ อิทัปปัจจยตา เพราะว่าถ้ารู้ อิทัปปัจจยตา แล้ว ความเห็นก็ถูก ความปรารถนาก็ถูก พูดจาก็ถูก การงานก็ถูก เลี้ยงชีวิตก็ถูก ความเพียงก็ถูก สติก็ถูก สมาธิก็ถูก ถูกหมดเพราะอำนาจของการเห็น อิทัปปัจจยตา
            นี่ชั้นสูงสุด คือเป็นโลกุตตระ อัฏฐังคิกมรรคชั้นโลกุตตระ จงสนใจที่จะใช้ อิทัปปัจจยตา เหมือนกับว่าเป็นวีลัดแบบสายฟ้าแลบ ดึงเอามาซึ่งมัชฌิมาปฏิปทาชั้นสูงสุด ได้เดี๋ยวนี้ นี่สังยุตตนิกาย เล่ม 16 หน้า 5
          เรื่องที่ 15 ก็มาถึงเรื่องชวนให้คิดนึกถึงตัวเรามากขึ้น
            พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นใจความว่า : จิตของมนุษย์นี่ยุ่งเหมือนด้ายยุ่ง เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท นี่ฟังดูให้ดี จิตของคนเรานี้มันยุ่งเหมือนกับด้ายยุ่ง เพราะเหตุเดียว คือไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ถ้ารู้ปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา เสียแล้ว จิตของเราจะไม่ยุ่งเหมือนด้ายยุ่ง ในวันหนึ่ง ๆ ชาวบ้านอยู่ที่บ้านที่เรือนนั้น หัวใจมันยุ่ง ได้ยินเขาว่าอย่างนั้น มันยุ่งเรื่องนั้น มันยุ่งเรื่องนี้ มันยุ่งไปหมด มันสาวงไม่ออก เพราะมันไม่รู้จักใช้กฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา; พวกอยู่ที่บ้าน หัวใจจึงยุ่ง
            ทีนี้ พวกที่มาวัดก็หัวใจยุ่ง : ถามปัญหาอะไรก็ไม่รู้ ยุ่งไปหมด จับต้นชนปลายไม่ถูก นี่แสดงว่าจิตใจมันก็ยุ่งเหมือนด้ายยุ่ง มันจึงถามปัญหายุ่งไปหมด ยุ่ง ๆ ไปหมด ไม่มีข้างต้น ไม่มีตรงกลาง ไม่มีข้างปลาย
        นี่เรียกว่า ชาวบ้านหรือชาววัด เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย หนุ่มสาว แก่เฒ่า จิตยุ่งเหมือนด้ายยุ่ง เพราะไม่รู้ อิทัปปัจจยตา
            ข้อนี้ได้ตรัสแก่พระอานนท์ ในทุกขวรรค นิทานวรรค สังยุตตนิกายเล่มที่ 16 หน้า 111 ว่า : เอตสฺส อานนฺท ธมฺมสฺส อญฺญาณา อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา ดูก่อนอานนท์! เพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ตาม เพราะไม่แทงตลอดซึ่งธรรม คือปฏิจจสมุปบาทนั้น; เอวมยํ ปชา สัตว์นี้ จึงมีอาการอย่างนี้ คือ ตนฺตากุลชาตา ยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายยุ่ง คุฬีคุณฺฐิกชาตา ยุ่งเหมือนเศษด้ายยุ่ง; มุญฺชปพฺพชภูตา ยุ่งเหมือนซึ่งหญ้ามุญชะและเซิงหญ้าปัพพซะ; อปายํ ทุกฺคตึ วินิปตํ สํสารํ นาติวตฺตติ ย่อมไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคคติ วินิบาต สังสาระ ไปได้
            เรื่องมันมีว่า พระอานนท์มาทูลพระพุทธเจ้าว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ เขาว่ายากกว่าลึก แต่มันปรากฏแก่ข้าพระองค์คล้ายกับว่าตื้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่า ! อย่าพูดอย่างนั้น ! นี่สำนวนท่านเรียกว่าอย่างนั้น; คล้าย ๆ กับว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้สึกในพระอานนท์มากที่พูดอย่างนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ! เพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ตาม เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งเรื่องนี้ จิตใจของสัตว์จึงยุ่งเหมือนปมด้ายยุ่งคือว่าเศษด้ายที่มันเต็มไปด้วยปม กิ่ว ๆ คอด ๆ แล้วมีปม แล้วมันพันกันยุ่ง เป็นกลุ่มใหญ่
            นี่ใคร ๆ ก็คงจะพอนึกออก มองเห็นว่า เศษด้ายเป็นปมแล้ว มันยุ่งกันใหญ่ มันมากอย่างนี้ มันไม่รู้ว่าจะดึงอันไหนออกก่อน แล้วจึงจะให้มันออกมาเรียบร้อยได้ นี้อย่างหนึ่ง
            หรือว่า เซิงหญ้าชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่าหญ้ามุญชะ หญ้าปัพพชะ ไม่ทรบว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าหญ้าอะไร เพราะไม่ทราบแน่ แปล ๆ กันมาว่าหญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย นี่ไม่ทมราบว่าถูกหรือไม่ถูก แต่ขอให้นึกไปถึงภาพพจน์เอาก็แล้วกัน ว่าหญ้าบางชนิดนั้น มันประสานกันยุ่ง เหมือนกับที่ริมลำธารนี้ มีเถาวัลย์อะไรชนิดหนึ่ง เส้นเล็ก ๆ ฝอยละเอียด สานกันยุ่ง ไม่รู้จะดึงมาได้อย่างไร
            ที่มันยุ่งเหมือนอย่างนั้น เพราะว่าไม่รู้อิทัปปัจจยตา ว่า เพราะมีสิ่งนี่ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น มันไม่เห็นกระจ่างอย่างนั้น มันจึงฟันกันยุ่งไปหมด จิตสัตว์จึงยุ่งเหมือนปมด้ายยุ่ง เพราะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
            นี่คิดดูซิ ฆราวาสที่ไม่ประสีประสาเรื่องอิทัปปัจจยตา จิตมันจะยุ่งสักเท่าไร : นั่งอยู่ในครัว มันก็ด่าไม้ฟันก็ได้ เพราะจิตมันยุ่งโดยที่ไม่รู้อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ มาถึงเรื่องทางธรรมะ ทางศาสนา ก็อย่างเดียวกันอีก : ธรรมะแขนงไหน ไม่ว่าจะพูดกันแขนงไหน เรื่องโลก เรื่องธรรมะ เรื่องต่ำ เรื่องไกล เรื่องสูง จะไม่ยุ่ง ก็เพราะว่ามันสางออกเสียได้ด้วยความรู้ที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ในข้อที่เป็น อิทัปปัจจยตา
            ฆราวาสจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ข้อนี้ เพื่อว่าจิตมันอย่าได้ยุ่ง ฆราวาสมีเรื่องที่จะทำให้จิตยุ่งง่ายกว่าบรรพชิต เพราะนั้น ฆราวาสก็จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา มากว่าบรรพชิต; จึงจะถูกต้อง
            แล้วทีนี้ดูกันต่อไปในเรื่องยุ่ง ก็มาถึงข้อที่ว่า ทำไมมันจึงยุ่ง? ทีเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ ที่เกี่ยวกับความทุกข์ ความยุ่ง ๆ ในจิตนี้ มันมีประจำวันในชีวิตประจำวัน แก่ฆราวาสนับไม่ไหว มันก็เรื่องอิทัปปัจจยตา : อาการยุ่งนั้น คือ อิทัปปัจจยตา ชนิดที่มองไม่ออก ทีนี้ ที่มันไม่ยุ่งก็คือ อิทัปปัจจยตาที่มองออก
            เดี๋ยวนี้ คนเรามีความรู้สึกในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ; 5 อย่างนี้ ในลักษณะที่เป็นความพอใจเพลิดเพลิน ที่เรียกว่า นันทิ; นินทิ ความเพลิน : เพลินในรูป เพลินในเวทนา เพิลนในสัญญา เพลินในสังขาร เพลินในวิญญาณ; คือในร่างกาย แล้วก็ในความรู้สึก แล้วในความจำหมาย ในความคิดนึก ในความที่จิตมันรู้แจ้ง; แต่ถ้าถูกใจกูขึ้นมาก็ พอใจตัวเอง
        ความพอใจตัวเองนี้ ดูจะไม่มีความพอใจชนิดไหนมากเท่า : บางทีก็พใจในลักษณะของรูป บางทีก็พอใจในลักษณะของเวทนา บางทีก็สัญญาณ บางทีก็สังขาร บางที่ก็วิญญาณ ความพอใจนี้ เรียกว่านันทิ นี่ ตัวที่มันจะทำยุ่งเรียกว่านันทิ-ความเพลิดเพลิน; ความโง่ความหลงที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน; มีความเพลินเพลินแล้ว นั้นคืออุปทาน
        นันทิ นั้น คืออุปาทาน คนที่ไม่เคยเห็นพระบาลีตะราง ๆ จะไม่เชื่อ อาตมารที่แรกก็ไม่ค่อยเชื่อ แต่พบพุทธภาษิต ตทุปาทานํ นี้มากเข้า ๆ จึง เอ้า! มันอันเดียวกัน มีนันทิที่ไหน มีอุปาทานที่นั่น ไปรัก ไปชอบ ในอะไรก็มีอุปาทานในนั้น ที่นั่น แล้วนันทินั้นแหละ คืออุปาทาน
            พอมีอุปาทานแล้ว ไม่ต้องพูด : ก็มีภพ มีชาติ คือตวกุ ของกุ แล้วปัญหาเรื่องชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปยาส ก็ตามมา : แล้วมันจะไม่ยุ่งทนไหวหรือ?ท ลองคิดดู ทุกเรื่องมันเอามาใส่ที่ ชาติ ทั้งหมด; ก็เรื่อง ๆ มันเอามาใส่ที่คำว่า ชาติ
            ชาติ นี่มาจาก ภพ ภพ มาจาก อุปาทาน อาปาทานนั้นคือนันทิ; นันทิที่เกิดความพอใจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ นี้แจกลูกออกไปมันก็ยุ่งตาย; เพียง 5 อย่าง แต่ละอย่างนี้ มันก็มีทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน หยาบ ละเอียด ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างใน ข้างนอก มันจึงยุ่งกันใหญ่; นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่าการเกิดขึ้นแห่งอุปทาน ภพ ชาติ นี้มันมากมายอย่างนี้ เกิดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ในลักษณะนี้
        ที่นี้ เรื่องที่ 16 ขอให้ทนฟังต่อไปอีก เป็นเรื่องสุดท้าย ก็คือเรื่องว่าทำไม อิทัปปัจจยตา จึงแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้? จะต้องตั้งปัญหาอย่างนั้นก่อน ว่าทำไม อิทัปปัจจยตา คำเดียวนี่จะแก้ปัญหาทุกอย่างต่าง ๆ ได้?
            คำตอบตามพระพทุธภาษิตนั้นก็คือว่า ใน อิทัปปัจจยตา นั้น ไม่มีผุ้กิน”! ฟังดูให้ดีซี ใน อิทัปปัจจยตา นั้น ไม่มีผู้กิน ไม่มีผู้กระกบ ไม่มีผุเสวย ไม่มีผู้อยาก ไม่มีผู้ยึดมั่น ใน อิทัปปัจจยตา นั้น ไม่มีผู้กิน หมายความว่า อาหาร 4 มี วิญญาณหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น มันเป้นปัจจัยเพื่อให้เกิดภพใหม่เท่านั้น ความรู้สึกทางจิตใจทั้งหลายนี้ มันเป็นไปในทางที่จะให้เกิดอุปาทานยึดมั่นจนมีภพใหม่ ไม่มีผู้กิน ที่ตรงไหน คือว่า ถ้ามีปัจจัยคือวิญญาณหารเป็นต้นแล้ว ภพใหม่เป้นต้องมี ไม่มีใครเป็นผู้กินอาหาร มีแต่อาหารที่ปรุงให้เกิดภพใหม่ นี่ก็ข้อหนึ่งแล้ว อย่าเห็นว่าเป็นอาหารแล้ว จะต้องมีผู้กิน
          กวฬิงการาหารธรรมดาสามัญ คือคำข้าวที่เปิบเข้าปากนี้ มันก็ไม่มีผู้กิน; บทปัจจเวกขณ์ของพระเณรก็มี : นิสฺสตฺโต นิชฺชิโว สุญฺโญ ธาตุมตฺตโก มันมีเพียงว่า อาหารนี้ก็เป็นรูปธรรม ตามธรรมชาติ แล้วก็ผ่านเข้าไป สำหรับทำให้เนื้อหนังมันเจริญ ส่วนทางจิตใจรู้สึกว่า ตัวกูกินอาหารแล้ว นี้เป็นภพใหม่ เกิดภพใหม่ขึ้นมา เป็น ตัวกูกินอาหาร มันมีแต่อย่างนี้
          ผู้กินแท้ ๆ มิได้มี : มันมีแต่ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; มีได้แต่พูดอย่างนี้ ตัวตนของบุคคลผู้กินอันแท้จริงไม่มี
          ผู้กระทบก็ไม่มี : ไม่มีบุคคลตัวตนสัตว์อะไรที่เป็นผู้กระทบผัสสะนั่น; มีแต่ สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย คือมีอายตนะภายนอก และอายตนะภายใน เป็นปัจจัย ผัสสะจึงเกิดขึ้น : ผัสสะมี แต่ผู้ผัสสะไม่มี : ผู้กระทบนั้นไม่มี ถ้ามองเห็น อิทัปปัจจยตา จะเห็นว่าผู้กระทบนั้นไม่มี มีแต่การกระทบที่เกิดขึ่นเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
          ผู้เสวยเวทนา ก็ไม่มี : มีแต่ ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิดขึ้น : มีแต่เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ตัวผู้เสวยเวทนานั้นไม่มี
          ตัวผู้อยากผู้มีตัณหานั้น ไม่มี : มีแต่เวทนาปรุงตัณหา : เวทนาปัจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงเกิดขึ้น
          ตัวผู้ยึดมั่นถือมั่น นั่น นี่ ก็ไม่มี ผู้ทำอุปาทานนั้น ก็ไม่มี; มีแต่ : ตัณฺหาปัจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมชาติ แล้วก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา : ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีอัตตา ไม่มีชีโว ไม่มีอย่างที่เขาเรียก ๆ กันเป็นตัวตน นั้นมันไม่มี
            ยังมีภิกษุหัวดื้อองค์หนึ่ง ชื่อโมลิยผัคคุนะ ภิกษุรูปนี้จะให้มีตัวตนเสียเรื่อย ไปคะยั้นคะยอพระพุทธเจ้า จะให้พระพุทธเจ้าตรัสในทำนองที่มันมีตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาให้ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ : ไม่มีผู้กินอาหาร มีแต่อาหารที่ปรุงให้เกิดร่างกายใหม่หรือภพใหม่ ไม่มีผุ้กระทบหรือทำผัสสะ มีแต่เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย อาการแห่งผัสสะก็เกิดขึ้น ไม่มีผู้เสวยเวทนา มีแต่เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิดขึ้น ฯลฯ ทำนองนี้ทั้งนั้น
        เราไม่อาจรู้สึกอย่างนั้น ปุถุชนจะไม่รู้สึกอย่างนั้น จิตคิดว่า นี้คือฉัน ฉันกระทบ ฉันเสวย ฉันได้ ฉันกิน ฉันยึดครอง นี้มันเป็น ฉัน แต่ถ้า อิทัปปัจจยตา เข้ามา จะแสดงให้เห็นทีเดียวว่ ตัวฉันนั้น ไม่มี อะไร ๆ ที่ว่าตัวฉันนั้น มันเป็นเพียงเท่านี้ : การกระทบมี แต่ผู้กระทบไม่มี; การเสวยเวทนามี แต่ผู้เสวยเวทนาไม่มี; ความอยากมี แต่ผู้อยากไม่มี; ความยึดมั่นถือมั่นมี แต่ผู้ยึดมั่นถือมั่นไม่มี; นี้นิทานวรรค สังยุตตนิกาย เล่ม 16 หน้า 15 เป็นพระพุทธภาษิตนี้อยู่อย่างนี้
            ถ้ารู้สึกได้อย่างนี้ จะสบายสักเท่าไร ฆราวาสทั้งหลายลองคิดดู ฆราวาสทั้งหลายจมอยู่ในกองเวทนา กองอาหาร กองอะไรต่าง ๆ มันมีผู้นั้น ผู้นี่ ผู้โน้น ผู้อะไรเรื่อยไป จนจิตยุ่งเหมือนด้ายยุ่ง แต่พอ อิทัปปัจจยตา เข้ามาก็ไม่มี ผู้ สักผู้เดียว มีแต่อาการแห่ง อิทัปปัจจยตา อาการหนึ่ง ๆ เป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
        ทีนี้ ถ้าเราอยากจะเป็นฆราวาสที่จิตใจไม่ยุ่ง ก็เอา ผู้ นี้ออกเสีย : ผู้นั่น ผู้นี่ ผู้โน่น เอาออกเสีย; หรือเป็นหญิง เป็นชาย เป็นผัว เป็นเมีย เป็นนาย เป็นบ่าว เป็นอะไร เป็นผู้แพ้ ผู้ชนะ เอาออกเสีย; ให้มันเหลือแต่ อาการแห่ง อิทัปปัจจยตา นี้ฆราวาสจะได้รับประโยชน์ข้อนี้
          ถ้าไม่รู้จัก อิทัปปัจจยตา จะตกนรกทั้งเป็น  ที่นี่และเดี๋ยวนี้ !นี่ในสฬายตนสังยุตต์ เล่ม 18 หน้า 158 มีข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงนรกชื่อแปลกประหลาด จนอาตมาอยากจะพูดว่า พวกอรรถกถาจารย์ก็ไม่เข้าใจ แล้วแถมไปกล่าวนรกนี่อยู่ใต้บาดาล ใต้นรกใต้ดินนั่นแหละ
            นรกที่ว่านี้ พระพุทะเจ่าท่านตรัสเรียกว่า ฉผัสสายตนิกนรก; แปลว่า หก ผัสสายตนิกะ เป็นไปในทางสัมผัส คือทางการติดต่อด้วยผัสสะ นี่นรกที่เนื่องด้วยผัสสะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่า อายตนิกนรก
            นรกที่เนื่องด้วยการสัมผัสทางอายตนะ 6 นี้  นี้หมายถึงว่า เมื่อตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียงเป็นต้น อย่างไหนก็ตามเถอะ ความไม่รู้ ความขาดสติ ความอะไรนั้นนะ มันมี มันจึงสัมผัสสิ่งนี้ด้วยอวิชชาสัมผัส; อวิชชาสัมผัส ต้องให้เกิดเวทนา ชนิดที่เป็นเวทนาเพื่ออวิชชา เกิดตัณหา เกิดอุปทาน แล้วร้อนเหลือประมาณในขณะนั้น ในขณะที่มีความยึดมั่น ถือมั่นอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวกู-ของกูนั่นแหละ ร้อนเหลือประมาณ นรกนี้ เรียกว่า อายตนิกนรก หรือ ผัสสายตนิกนรก หรือ ฉผัสสายตนิกนรก
            พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ที่อายตนะจะมีนรกอะไรได้? พระอรรถกถาจารย์ เลยเดา ว่าพระพุทธเจ้าทรงหมายถึงมหานรกอเวจี อะไรที่มันร้อนที่สุดโน้น แต่เมื่อดูตามพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น! กลับเป็นทำนองว่า : นรกนี้ร้อนกว่านรกอเวจี; นรกอเวจี ถ้ามีจริงก็อยู่ที่นี่ ถ้ามีจริงมันอยู่ที่อายตนะ 6 ! ส่วนที่เขียนตามรูปภาพว่าอยู่ใต้ดินนั้น ไม่ร้อนเท่า; ฉะนั้น ขออย่าได้ตกนรกนี้เถอะ : อย่าได้ตกนรกชื่อ ฉผัสสายตนิกนรก นี้ก็แล้วกัน
            ทีนี้ สวรรค์ ชื่อ ฉผัสสายตนิกสวรรค์ คือไม่มีตัวกู-ของกู ที่ทำให้ร้อน เมื่อกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์; นี้เป็น สวรรค์ที่ดีกว่าสวรรค์ 6 ชั้น ข้างบนฟ้าโน้น สวรรค์นี้ก็ 6 เหมือนกัน ชื่อ ฉผัสสายตนิกไปตามอายตนะ 6 : มีสติควบคุมการกระทบทางอายตนะไม่ให้เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา แล้วสบายที่สุด นี้เป็นสวรรค์ดีกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ฯลฯ อะไรที่พูดกันนักนั้น สวรรค์นั้นไม่ดีเท่าสวรรค์นี้ !
            ขออย่าให้ตกนรกชื่อผัสสายตนิกนรก! ขอให้ฆราวาสทุกคนได้สวรรค์ชื่อฉผัสสายตนิกสวรรค์ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ถูกแผดเผยด้วยกิเลส แล้วสงบเย็นเป็นสุอขอยู่ได้ในโลกนี้ จะทำประโยชน์อะไรก็ทำไปได้ นี้คือสวรรค์ชนิดนี้อยู่ที่อายตนะ 6 นรกก็อยู่ที่อายตนะ 6 สวรรค์ก็อยู่ที่อายตนะ 6; และนี่แหละคือนรกจริง สวรรค์จริง
          ปิดนรกทุกชนิดได้ด้วยความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เข้าถึงสวรรค์ทุกชนิดได้ ก็ด้วยความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา
            ขอให้ฆราวาสทั้งหลายคิดดุว่า มันน่าสนใจสักเท่าไร? เพราะว่าฆราวาสทังหลาย มีอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แวดล้อมอยู่รอบ ๆ ตัว เป็นประจำวันมากมาย นับไม่หวาดไม่ไหว เป็นอันว่า จะเป็นเรื่องนรกสวรรค์ หรือเป็นเรื่องดับทุกข์ ดับกิเลสอะไรก็ตาม มันอยู่ที่ความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา นรกสวรรค์ชนิดนี้ มีในสฬายตนสังยุตต์ เล่ม 18 หน้า 158 สำหรับนรก; หน้า 159 สำหรับสวรรค์ ไปติดตามหาอ่านดูให้มันละเอียดยิ่งกว่านี้เองเถิด
            นี่อาตมาเป็นแต่เพียงเอามากล่าวทุก ๆ เรื่อง ที่พอเป็นเรื่องกรุยทางให้เกิดความเข้าใจ แล้วไปค้นหาเพิ่มเติมให้ละเอียดเอาได้เอง ความมุ่งหมายมีอย่างเดียวว่า แม้เรื่อง อิทัปปัจจัยตา จะเป็นเรื่องโลกุตตรธรรม ก็ยังจำเป็นสำหรับฆราวาส ด้วยเหตุผลดังที่ได้อธิบายมานี้ เหลือที่จะจาระไนให้มันละเอียดจนหมดได้จึงกล่าวแต่โดยย่อ โดยสังเขปเอาแต่ใจความ
            ถ้าจะเป็นกามโภคี 10 จำพวก ก็ควรเป็นพวกที่ดีที่สุด โดยอาศัยเครื่องมือ อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา แห่งการทะเลาะวิวาทนั้น ก็ระงับได้ด้วย อิทัปปัจจยตาแห่งการไม่ทะเลาะวิวาท ฆราวาสควรจะฉลาดในเรื่องเหล่านี้; ฆราวาสควรจะนึกถึง ปวิเวกปีติ คือความสงบสุขทางจิตใจที่ลึกซึ้ง ที่ไม่เป็นการปรุงแต่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้ายึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ปวิเวกะ ปวิเวกะ ต้องปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้ายึดมั่นถือมั่น มันวิเวกะไปไม่ได้ มันวิเวกไปไม่ได้ อนาถปินฑิกะร้องไห้เพราะว่า ไม่ได้ฟังเรื่องนี้แต่เนิ่น ๆ เดี๋ยวนี้จะตายอยู่หยก ๆ แล้วจึงเอามาพูด แล้วขอพรว่า ต่อไปนี้ขอให้สอนเรื่องนี้ให้แพร่หลายที่สุด
            ฆราวาสควรศึกษาเรื่องสุญญตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าไม่มีสุญญตาเป็นหลักแล้ว วินัยจะเลอะเลือน; วินัยเลอะเลือนแล้ว ธรรมะจะเลอะเลือน; ธรรมะเลอะเลือน วินัยเลอะเลือน วินัยเลอะเลือน ธรรมะเลอะเลือน จะย้อนกันไปจะย้อนกันมา จนเลอะเลือนถึงที่สุด : นี่มีในอังคุตตรนิกาย หมวด 5 เล่ม 22 หน้า 122
            ถ้าเอาสุญญตาออกเสียแล้ว แก่นแท้หมด เหลือแต่เปลือก เหลือแต่กระพี้ ถ้ารู้เรื่องสุญญตา ก็หมายความว่า รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ความเป็นพระอริวสาวกอยู่ที่อาศัย อิทัปปัจจยตา ทำให้หมดเวรหมดภัย แล้วทำให้มีโสตาปัตติยังคะ 4 หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย; นั่นแหละคือตัว อิทัปปัจจยตา ที่ทำให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลายทั้งปวง
        ขอให้ถือว่า ธรรมะสูงสุด ชั้นโลกุตตระนี้ เป็นสมบัติที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้แก่คนทุกคน; ที่มีความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับอริยสาวก ก็เพราะสมบัติอันนี้ : ปุถุชนไม่มีเสียเลย; อริยสาวกจะมี และมีมากขึ้นไปตามลำดับ ๆ เรื่องนิพพานนั้น ฆราวาสควรจะสนใจ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วถึง 7 ราย เป็นฆราวาสล้วน ไปทูลถามเรื่องทิฏฐธรรมนิพพาน นี่เป็นพุทธบริษัททั้งที่ ไม่คุ้นกับเรื่องนี้ มันก็ไม่ไหว
          สรุปความว่าอิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องที่ฆราวาสต้องเรียนรู้; และเมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องปฏิบัติด้วย ในที่สุดก็จะเป็นฆราวาสชนิดที่ดีพวกที่ 10 ที่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ ว่าเหมือนสัปปิมัณฑะ ซึ่งเป็นของเลิศ ประเสริฐยิ่งกว่าโครสทั้งหลาย
          นี่ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามพระพุทธประสงค์ ขอให้การมาประชุมอบรม สั่งสอนกัน ที่นี่ มีผลก้าวหน้าไปตามแนวของ อิทัปปัจจยตา สมตามความมุ่งหมาย

            ขอยุติคำบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลาย สวดธรรมปริยายอันเป็นเครื่องกระตุ้นแก่การปฏิบัติธรรม ส่งเสริมกำลังใจต่อไปอีก ตามที่เคยกระทำ ณ บัดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น