วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา 2 ในฐานะวิชาหรือศาสตร์ทั้งปวงของโลก

เสาร์ที่ 2 มีนาคม 2515

          ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย
            การบรรยายวันเสาร์ในครั้งที่ 2 นี้ จะได้กล่าวถึงเรื่อง อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิชาหรือเป็นศาสตร์ทั้งปวงของโลก ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทบทวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดีที่สุด นับตั้งแต่ความมุ่งหมายของการเอาเรื่องนี้มาบรรยาย ขอให้นึกไว้เสมอว่า มีความประสงค์ที่จะ ทำให้พุทธบริษัทเป็นพุทธบริษัทยิ่งขึ้นจนเต็มรูปของความเป็นพุทธบริษัท ซึ่งประเดี๋ยวจะได้พิจารณากันว่าทำไมจึงต้องเข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตา; และที่สำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ ว่าเรื่องนี้เป็น หัวใจของพุทธศาสนา และเป็นตัวแท้ทั้งหมดของพุทธศาสนา แต่แล้วก็ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครเอามาพูด
            ทีแท้นั้นไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเอามาพูดกันเสียเลย แต่ได้เอามาพูดอยู่ในถ้อยคำอย่างอื่น คือไม่ใช่ถ้อยคำว่า อิทัปปัจจยตา หรือถ้อยคำที่เป็นตัวสูตรโดยตรงของอิทัปปัจจยตา ที่จริงเราก็พูดกันอยู่ทุกวัน ถึงเรื่องเหตุ หรือปัจจัย แต่เราก็ไม่ได้เอ่ยถึงคำว่า อิทัปปัจจยตา; โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์ นี้คือเรื่องเหตุเรื่องผลและความที่มันเกียวเนื่องกันระหว่างเหตุกับผล ซึ่งเป็นลักษณะของอิทัปปัจจยตา; แต่เราก็ไม่เอ่ยถึงคำว่า อิทัปปัจจยตา หรือไม่แยกเอาใจความสำคัญข้อนี้ข้นมาพูด คงพูดแต่เรื่องอริยสัจจ์ 4 คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ เกรงไปว่าคนเหล่านั้นจะไม่มองเห็นความเป็น อิทัปปัจจยตา ที่นี้อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ทุกข์ หรือเหตุให้เกิดทุกข์ หรือความดับทุกข์ หรือทางให้ถึงความดับทุกข์; ดังนั้นก็แปลว่าไม่ลึกลงไปถึงหัวใจ พูดกันแต่ตัวข้างนอก นี่จึงขอให้สนใจต่อไปอีก ให้เห็นถึงลักษณะความที่มันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา และเป็นเนื้อเป็นตัวทั้งหมดของพุทธศาสนา นี้คือข้อที่อาจจะต้องเตือนกันทุกครั้งของการบรรยายก็ได้ เพราะมันยังใหม่มันยังไม่ชิน
            ทีนี้ก็จะเตือนต่อไปถึงข้อที่ว่า พระพุทธเจ้า เมื่อท่านจะว่าอะไรเล่น อยู่พระองค์เดียว เหมือนกับเราสวดมนต์เล่น สวดมนต์บทใดบทหนึ่งนั้น ๆ เล่น อย่างนี้ก็ตาม หรือว่าเมื่อคนหนุ่มคนสาวเขาจะร้องเพลงเล่นก็ตาม; พระพุทธเจ้าท่านจะออกปาก เอ่ยออกมาเป็น อิทัปปัจจยตา พึมพำ ๆ อยู่ตามลำพังพระองค์ ในสูตรบางสูตรก็ได้กล่าวไว้ชัดว่า ทรงไล่ ปฏิจจสมุปบาทไปทั้ง 11 อาการ ทั้งฝ่ายสมุทยวารและนิโรธวาร; แต่ว่ายังมีในสูตรอีกบางสูตร เช่นสูตรที่ 5 แห่ง คหปติวรรค อภิสมยสังยุตต์ เป็นต้น ในสูตรนี้กล่าวว่าพระองค์จะทรงพึมพำเนื้อหาของ อิทัปปัจจยตา คือข้อความมีอยู่ 4 ประโยคนั้น ๆ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี แล้วต่อไปเราก็จะเอามาสวดให้คล่องปากกันทุกคน มีเหตุผลอย่างไรเดี๋ยวก็จะได้รู้ เมื่อพระองค์ทรงพึมพำอยู่พระองค์เดียว ก็จะตรัสใจความของคำว่า อิติ อิมสฺมึ สติ, อิทํ โหติ โดยอาการอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะการเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับไปดังนี้ เป็นบาลีก็มีแต่เพียงว่า อิติ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฃฺชติ อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ ถ้าเป็นไทยก็ว่า โดยอาการอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี่ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อสิ่งไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับไป มีเท่านี้เอง ที่เป็นภาษาบาลี เราควรจะจำให้แม่นยำ ทุกตัวอักษร ทุกพยัญชนะว่า อิติ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ นี้มันเป็น คาถา เป็นถ้อยคำที่ควรจะเรียกว่าเป็นคาถาที่ควรจะภาวานาอยู่เสมอ ในฐานะเป็นหัวใจของพุทะศาสนาทังหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสอย่างนั้น คือในสูตรที่ 7 แห่งกฬารขัตติยวรรคนิทานสังยุตต์ มีข้อความว่า ดูก่อนภิกษุทังหลาย ! อริยสาวกในพระศาสนานี้ย่อมทำในใจดังนี้เสมอว่า อิติ อิมสฺมึ สิต อิทํ โหติ อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ อย่างเดียวกันกับที่พระองค์ได้เคยทรง พึมพำเอง แล้วก็มาตรัสว่าอริยสาวกในศาสนานี้ พึงกระทำในใจดังนี้อยู่เสมอว่า คือว่าอย่างเดียวกัน เพราะนั้นขอให้ถือว่า ส่วนพระองค์เอง ก็ยังทรงพึมพำอยู่อย่างนี้ แล้วก็ยังทรงสอนให้อริยสาวกในพระศาสนานี้ พึมพำอยู่อย่างนี้
            คำว่า พึมพำ นี้ ไม่ได้หมายความว่า พูดเล่นเพ้อ ๆ ไป แต่หมายถึงมีความรู้ความเข้าใจอย่างยิ่งในใจ แล้วมันดันออกมาเป็นคำพูด เมื่อเป็นดังนี้ก็หมายความว่าทุกคนจะต้องพิจารณาจนเห็นความจริงข้อนี้เสียก่อน แล้วปล่อยให้มันออกมาทางปากเป็นคำพูด เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี่ย่อมมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ย่อมดับไป นี้เรียกว่าตัว อิทัปปัจจยตา มีข้อความสั้น ๆ เพียงเท่านี้
            สำหรับคำว่า อิทัปปัจจยตา ก็แปลอย่างที่ท่านทังหลายได้ยินชินหูมาเรื่อย ๆ ว่า : ความที่เมื่อสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ยอ่มเกิดขึ้น; เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น จะท่องแต่เพียงเท่านี้ก็ได้เหมือนกัน มันสั้นและจำง่ายสำหรับในครั้งแรก ๆ ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น นี้มันสั้นหน่อย ถ้าเอายาว ก็ว่า
                        เมื่อสิ่งนี้มีอยู่             สิ่งนี้ย่อมมี
                        เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้           สิ่งนี่ย่อมเกิดขึ้น
                        เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
                        เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้             สิ่งนี้ย่อมดับไป
            นี่มันเป็น 4 ประโยค 4 ที่ ถ้าเราย่น เหลือ 2 ที ก็ว่า : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงพึมพำอย่างนี้อยู่เสมอตลอดเวลาย่อย ๆ ถ้าหากท่านจะปล่อยให้ปากพึมพำอะไรเล่น และท่านก็สอนให้เราพึมพำอย่างนี้ โดยความรู้สึกอย่างนี้
            ทีนี้ก็จะมองกั้นให้ลึกลงไปว่า ทำไมมันจึงมีความสำคัญมากนัก จะถือโอกาสพูดไปเสียคราวเดียวกันกับที่ว่า มันเกี่ยวกับวิชา หรือศาสตร์ทั้งหลายอย่างไร :-
            แม่ครัวเข้าไปในครัว แล้วก็หยิบไม้ฟืนมาติดไหที่เตาไฟ แล้วไฟมันก็ลุกขึ้น แล้วนำเอาหม้อข้าวที่ใส่ข้าวสารที่ล้างแล้ว มีน้ำ ตั้งไฟแล้วเมื่อรออยู่ครู่หนึ่งน้ำก็เดือด เม็ดข้าวก็อ่อนพอที่จะเช็ดน้ำ หรือจะไม่เช็ดน้ำ แล้วในที่สุด ก็เป็นข้าวที่สุดแล้วก็ตักเอามากินได้ นี่ขอให้ศึกษาดูว่า มันเป็น อิทัปปัจจยตา ทางรูปธรรมอย่างไร เมื่อไม่รู้ มันก็ไม่เห็นว่าเป็น อิทัปปัจจยตา หรือว่ามันเป็นหลัก อิทัปปัจจยตาอย่างไร; เมื่อไม่รู้ มันก็ไม่เห็นว่าเป็นอิทัปปัจจยตา หรือว่ามันเป็นหลัก อิทัปปัจจยตาอย่างไร; นี่ก็เพราะว่าเราไม่รู้ เราเคยเห็นพ่อแม่ทำมาอย่างนั้น เราก็ทำอย่างนั้นแล้วก็ได้กินข้าว เด็ก ๆ เห็นผู้ใหญ่ทำ ก็ทำอย่างนั้น มันก็เลยไม่ต้องรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ว่าทำไม มันจึงเป็นอย่างนั้น
            ทีนี้ก็มานึกถึง กฏของ อิทัปปัจจยตา ว่า ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ในขั้นแรกเราก็เห็นว่ามีไม้ฟืน หรือมันมีอะไรที่จะช่วยสำหรับวางไม้ฟืนด้วย ไฟจะลุกขึ้นมา ก็เพราะว่ามันจะต้องมีเชื้อเพลง เช่นไม้ฟืน มันต้องมีอากาศชนิดที่ไฟมันต้องการ โดยเฉพาะก็อากาศอ๊อกซิเย่น; แล้วมันก็ต้องการความร้อนเล็กน้อย เพื่อิจะทำให้เชื้อเพลงนั้นลุกเป็นไฟขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วมันก็ลุกเป็นไผมากขึ้น เพราะการหล่อเลี้ยงของอากาศ และสิ่งที่มีอยู่ในเชื้อเพลงร่วมกัน นี่มันเกิดเป็นไฟลุกโลง ๆ ขึ้นมา โดยกฎอันนี้; เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น นี้เพราะมีเชื้อเพลงที่มีคุณภาพดี มีอากาศอ๊อกซิเย่น มีความร้อนที่เป็นจุดตั้งต้น อย่างน้อยก็มี 3 อย่าง : เพราะมีสิ่งนี้ เป็นปัจจัย 3 อย่าง สิ่งๆ นี้คือไฟก็ลุกโพลงขึ้นมา
            ทีนี้เราก็ไม่ต้องถึงขนาดนี้ เพราะว่า ที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มุ่งหมายจะให้รู้ แต่มุ่งหมายจะให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อจะเข้าใจคำว่า อิทัปปัจจยตาที่พูดว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น นี่คนครัวก็ลองไปสังเกตดูว่ามีไม้ฟืน มีอากาศอ๊อกซิเย่น มีความร้อนนิดหน่อย รวมกันเข้า 3 อย่าง เป็นปัจจัยแล้ว สิ่งที่เรียกว่าเปลวไฟก็เกิดขึ้นโพลง ๆ ทีนี้เราก็เอาหม้อข้าวที่มีข้าวสารล้างแล้วมีน้ำด้วยวางเหนือกองไฟ ทีนี้ไฟที่เคยเป็นผลมาจากไม้ฟืน มาจากอะไร มันก็กลายเป็นเหตุ คือไฟมันมีความร้อน มันก็ทำให้น้ำ ที่มีอยู่ในหม้อข้าวกับข้าวสารนั้นมันพลอยร้อน : อณูต่าง ๆ มันก็ขยายตัว เมื่อขยายตัวมันก็อ่อน แล้วมันก็เปื่อยออกไป สิ่งที่ทำให้ข้าวสารนั้นเปลี่ยนตัว ก็เพราะว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าความร้อนในน้ำ ในหม้อ; ข้าวสารมันก็เปลี่ยนไปสู่ความเป็นอย่างอื่น; ความเป็นอย่างอื่นก็เกิดขึ้น ในที่สุดนั้นก็เห็นอยู่แล้วว่า ข้าวสุกมันเกิดขึ้น แล้วมันก็มีเรื่องต่อไปอย่างไม่มีหยุด คือเป็นไปได้เรื่อยเช่นว่า เพราะมันมีข้าวสุก มันก็มีการกินเข้าไป มันก็มีการดับความหิว ความกระหาย แล้วมันก็จะต้องไปถ่ายอุจจาระ เป็นแน่นอน ใครจะเก็บไว้ได้ มันเนื่องกันไปอย่างนี้ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ทางวัตถุธรรม
            ทีนี้ลองคิดดูว่า หลักวิชาเกี่ยวกับฟิสิคส์เคมีอะไรก็ตาม มันก็คือกฎที่ซ่อนอยู่ในสิ่งทั้งปวงอย่างนี้ : เรื่องความร้อน เรื่องอุณหภูมิ เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เขาไปข้นคว้า เขาจึงบัญญัติได้ว่า มันเป็นอย่างนั้น; เมื่อเป็นอย่างนั้น แล้วมันจะเป็นอย่างนั้น; เมื่อเป็นอย่างนั้น แล้วมันจะเป็นอย่างนั้น จะต้องมีความร้อนเท่าไร สิ่งนี้จึงจะไหม้ไป หรือว่าสิ่งนี้จึงจะเปลี่ยนแปลง หรือว่าเพียงแต่ว่าน้ำจะเดือดอย่างนี้ เพราะเขารู้เรื่องอย่างนี้ละเอียดมากลงไปอีก ดังนั้นเขาจึงทำรถไฟได้ ทำเรื่องไฟได้ทำอะไรที่มากไปกว่านั้นได้; มีกฎเกณฑ์ที่ละเอียดลึกซึ้งสำหรับจะทำ จนกระทั่งเขาไปโลกพระจันทร์ได้ แล้อีกไม่เท่าไรในอนาคต การไปโลกพระจันทร์ก็จะเป็นเรื่องง่าย ๆ เล่น ๆ เหมือนกับเรื่องของเด็กอมมือ แต่ว่าเวลานี้มันยังเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้ว ใหญ่โต ลึกซึ้งมาก แต่คอยดูเถอ อีกกี่สิบปี อีกไม่เท่าไร เรื่องไปโลกพระจันทร์นี้ ก็จะเป็นเหมือนกับเรื่องทำตุ๊กตาเล่น
        ทั้งหมดนี้ขอให้มองดูให้ดีว่า เพราะอะไร สรุปแล้วมันอยู่ในคำพูดคำเดียวของพระพุทธเจ้า ว่า อิทัปปัจจยตา เพราะความที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ขอให้นึกดูแต่ว่า แม่ครัวเข้าไปหุงข้าวที่ในครัวนั้น มันก็เนื่องด้วย อิทัปปัจจยตา 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นไปตามลำดับ ๆ ๆ นี้เรียกว่า ที่มันเกี่ยวกับคน ส่วนที่มันไม่เกี่ยวกับคนโดยตรง ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ทังนั้นไปเลย เช่นว่าต้นไม้ที่มันปรากฏอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นผลของ อิทัปปัจจยตา : มันต้องมีดิน มีแผ่นดินเป็นปัจจัยในดินนั้นมันเป็นที่ตั้งที่อาศัยของน้ำ และของาตุที่เป็นอาหารของต้นไม้ แล้วมันยังต้องการน้ำในระดับเท่านั้นเท่านี้ มันต้องการแสงสว่างเท่านั้นเท่านี้ มันจึงจะเป็นต้นไม้ที่งอกขึ้นมาได้ แล้วมันก็เจริญเติบโตขึ้นมาจนเป็นอย่างนี้; ทุกกระเบียดนิ้วเป็นเรื่องของอิทัปปัจจยตา แต่ว่าเราไม่เห็น เพราะว่าเราไม่จำเป็นจะต้องรู้ต้องเห็น เราเห็นว่ามันงอกขึ้นมาก็แล้วกัน ดังนั้นจึงเยกว่า เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งที่ตำตาเราอยู่ทุกหนทุกแห่งทุกเมื่อเชื่อวัน คือสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา นี่สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็ยังเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างโน้นเรื่อยไป
            ถ้าเราจะเชื่อตามที่เขาพูดกันไว้ในหนังสือ ตำราต่าง ๆ ว่า : โลกนี้หลุดออกมาจากดวงอาทิตย์ มาเย็นเป็นโลกนี้ นี้มันก็ไม่พ้นไปจากกฎของ อิทัปปัจจยตา หรือจะเชื่อตามอีกพวกหนึ่งที่ว่า อาศัยอณูที่เป็นกลุ่ม ๆ เป็น nebular หมุนเคว้งหนักเข้า ๆ เข้มข้นจนเป็นก้อนวัตถุ จึงเป็นโลกขึ้นมา อย่างนี้ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา โลกมันจึงมี่ขึ้นมาได้ มีโลกเป็นดวงไฟขึ้นมา แล้วมันไม่อยู่นิ่ง มันหมุนเรื่อยมันก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย จนกระทั่งมันค่อยเย็นลงมา; จนกระทั่งมันเปลี่ยนแปลงจนถึงกับเกิดน้ำ เพราะว่าอากาศจะรวมกันเป็นน้ำนั้น มันก็มีอยู่พร้อมแล้ว เมื่อมีอุณหภูมิพอสมควร มีความหมุนเวียนถูกต้อง มันก็เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าน้ำขึ้นมาในโลกทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นมันเป็นดวงไฟลุกโลง ๆ เดี๋ยวนี้มันเป็นของแข็งเย็น ๆ ที่มีน้ำเพราะมันมีสิ่งหุ้มห่อ เป็นไปน้ำ มีน้ำตกลงมา; เพราะฉะนั้นโลกต้องมีน้ำก่อน จึงจะเริ้มตั้งต้นมีสิ่งที่เรียกว่ามีชีวิตขึ้นมาในน้ำ เป็นชีวิตประเภทพืชบ้าง ชีวิตประเภทสัตว์บ้าง เหล่านี้มันเป็น อิทัปปัจจยตา ทุกกระเบียดนิ้ว ทุก ๆ ลมหายใจเข้าออกหรือว่าทุกเวลาที่มันเปลี่ยนแปลงถี่ยิบ นี้เราเรียกว่ามองดู อิทัปปัจจยตา อย่างทั่วถึงคือทั้งหมด
            ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่า บางอย่างมันไม่จำเป็น เราจะดู อิทัปปัจจยตา เฉพาะแต่ที่มันเกี่ยวกับความทุกข์ของเราก่อน; เหมือนกับที่พระองค์ตรัสว่า สิ่งที่ตถาคตรู้นั้น มันมากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า; สิ่งที่เอามาสอนนี้ เท่ากับใบไม้คำมือเดียว ที่ว่าเท่าใบไม้กำมือเดียวนี้มันจำเป็น เพราะคนมันเป็นทุกข์ เพราะคนมันจะบ้าคนมันจะตายอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องเอาเรื่องนี้มาพูดกันก่อน เพื่อให้รู้จักความดับทุกข์ ข้อนี้เป็นข้อประเสริฐ ดังนั้น อิทัปปัจจยตา ทีทรงเอามาสอนให้เราพึมพำกันอยู่ในใจเสมอนี้มันจึระบุไปยังเรื่องความทุกข์โดยตีรง เช่นว่า อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ถึงกันเรียกว่า สัมผัส ที่นี้พอมีอวิชชาเข้าไปแทรกแซงก็เรียกว่า อวิชชาสัมผัส เพราะอวิชชาสัมผัสเป็นปัจจัย จึงเกิดอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา คือเวทนา ที่เกิดมาจากการสัมผัสด้วยอวิชชา เพราะเวทนาชนิดนี้เป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา คือความอยาก ความต้องการไปด้วยอำนาจของอวิชชาที่มันเจืออยู่ในเวทนา ทีนี้ตัณหาทำให้เกิดอุปทาน ความรู้สึกทำนองเป็นตัวกุ-ของกู อุปาทานก็ให้เกิดภพ กล่าวคือความคิดที่มันเด็ดขาดลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่ากูเป็นอย่างไร ของกูเป็นอย่างไร ทีนี้ภพนี้มันให้เกิดชาติชรา มรณะ โสกะ ฯลฯ ขึ้นมา; คือว่า ชาติ ชรา มรณะ มันมีความหมายขึ้นมา : ก่อนี้ยังไม่มีความหมายอะไร มันอยู่ที่ไหนไม่รู้ พอในจิตเกิดเป็นตัวกู-ของกูแล้ว ความเกิดก็มีความหมาย ความแก่ก็มีความหมาย ความเจ็บไข้ ความตาย ความได้ความเสีย ถูกทำให้มีความหมายขึ้นมาหมด แล้วมันก็เป็นทุกข์ แล้วแต่ว่ามันจะมีอะไรขึ้นมา หรือว่าแล้วแต่จิตมันตะไปยึดถืออะไรเข้า นี่คือความที่สิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น
        ได้แสดงให้เห็นตั้งแต่ทีแรกแล้วว่า ถ้าเป็นทางตา มันก็มีรูปกับตา : ตากับรูปอาศัยกันก็จะเกิดจักษุวิญญาณขึ้น คือวิญญาณทางตา ถ้ามันอาศัยเสียงกับหูมันก็จะเกิดโสตะวิญญาณขึ้น คือวิญญาณทางหู; วิญญาณทางหูก็เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ ถ้าอาศัยกลิ่นกับจมูก มันก็จะเกิดฆานะวิญญาณ คือวิญญาณทางจมูกขึ้นมา ถ้าอาศัยสิ่งที่สัมผัสทางผิวหนังกับผิวกายเข้าด้วยกัน แล้วก็จะเกิดกายะวิญญาณ คือวิญญาณทางผิดกายขึ้นมา ทีนี้ถ้ามีความรู้สึกในใจกับใจอาศัยกัน ก็จะเกิดมโนวิญญาณ คือวิญญาณทางใจ รู้สึกต่อความรู้สึกในภายในขึ้น ก็เรียกว่ามนุษนวิญญาณ วิญญาณทั้ง 6 นี้ เราเรียกว่า วิญญาณ สิ่งทั้ง 3 ประการนี้รวมกันก็คือ สัมผัส; คือ อายตนะข้างนอก อายตนะข้างใน และวิญญาณที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอายตนะนั้น รวมกันเรียกว่าผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้มี เวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน มี ภพ มี ชาติ นี่โดยนัยของการปฏิบัติท่านแสดงปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ คือแสดง อิทัปปัจจยตา ในลักษณะอย่างนี้
            ถ้าว่าโดยหลักวิชา ก็จะทรงแสดงว่า เพราะมีวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปันนัย จึงเกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปทาน อุปทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ ภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชารา มรณะ; แล้วความทุกข์ทั้งปวงก็เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ นี้คือ อิทัปปัจจยตา เท่าที่มันเกียวกับมนุษย์อย่างจำเป็นคือความทุกข์ต้องรู้ก่อน แล้วก็ต้องคล่องปากคล่องใจ ดังนั้นจึงตรัสว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมกระทำในใจอยู่เสมอว่า : อิติ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ ฯลฯ อย่างที่ว่ามาแล้ว เมื่อมีสิ่งนี้อยู่ สิ่งนี้ย่อมมี; เพราะความเกิดขึ้น แห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี; เพราะความดับแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับ แต่เดี๋ยวนี้มันยังไม่คล่องปากแก่พวกเรา ดังนั้นจึงขอให้เอาไปท่องสำหรับให้คล่องปากก่อน แล้วต่อไปนี้มันก็จะคล่องใจว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ถ้านึกอะไรไม่ออก ก็นึกถึงเรื่องหุงข้าว ไม้ฟืนทำให้เป็นความร้อนขึ้นมา จนทำให้ข้าสุกกินได้
            ทีนี้ดูต่อไปอีกว่า ทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ย่อมกระทำในใจถึง อิทัปปัจจยตา อยู่เป็นประจำ? นี้เพราะมันมีเรื่องมาก ขอให้คิดดูว่า มันมีเรื่องมาก ถ้าเราท่องหรือถือกันอยู่ว่า : เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น จริง ๆ พอลูกเล็ก ๆ มันเกิดปวดหัวตัวร้อนขึ้นมา เราก็รู้ว่าเราจะไปหาอะไร จะแก้ไขอย่างไร แต่ถ้าเราโง่ไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา พอเด็กตัวเล็ก ๆ มันปวดหัวตัวร้อนขึ้นมา เราก็จะงงไม่รู้ว่า มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร แล้วเราโง่ไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เราก็จะถูกเขาหลอก ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ ไปหาหมอผีมาไล่ผีก็ได้ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเพียง อิทปปัจจยตา : มันปวดหัวตัวร้อน เพราะว่ามันกินอาหารผิดเข้าไป หรือว่ามันไปอยู่กลางแดดมากเกินไป มันแช่น้ำมากเกินไป นี่มันมีลักษณะของ อิทัปปัจจยตา อย่างนี้; เพราะว่ามันไปแช่น้ำนานเกินไป แล้วมันมานอนปวดหัวตัวร้อนอยู่ แต่ถ้าเราท่องอยู่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เราก็แก้ไขได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องโง่ ไปหาหมอผี หาหมอรอน้ำมนต์ หาหมอสะเดาะเคราะห์ หมอต่ออายุ และที่มีการต่ออายุกันบ่อย ๆ นี้ ก็เพราะมันไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา; ที่ต้องเอาเงินไปให้คนเขาช่วยต่ออายุให้ เพราะมันไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา
        ดังนั้นพุทธบริษัทที่เป็นอริวสาวก ในพระศาสนานี้จะไม่ทำอย่างนั้น เพราะท่านรู้ อิทัปปัจจยตา ว่า : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขั้น; โดยไม่ต้องเกี่ยวกับ เทวดา ผีสาง อะไรที่ไหน; มันเกี่ยวกับมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัยอะไรบ้างก็ดูให้มันเห็นว่า มีอะไรเป็นปัจจัย
            ถ้าจะไปพูดว่า เพราะผีสางเป็นปัจจัย มันก็พูดได้ แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ที่แท้มันคือความโง่ของคนนั้น ผีสางจึงเข้ามาเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แต่ถ้าคนนั้นไม่มีอวิชชา คือไม่โง่; ผีสาง เทวดา ก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนเราให้ยุ่งยากลำบากได้เลย ดังนั้นเรื่องผีสางเทวดา เขามีไว้สำหรับคนโง่ ในถิ่นที่ยังโง่ ในยุคในสมัยที่คนมันยังโง่ คือหลายพันปีหลายหมื่นปีมาแล้วก่อนพุทธเจ้าคนต้องพึ่งผีสางเทวดา ทำให้เบาใจไปได้นิดหน่อย แต่แล้วมันก็ไม่แก้ไขอะไรได้ ต่อมาพระพุทะเจ้าเกิดขึ้น ท่านบอกให้ดูว่า อะไรมันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งความทุกข์โดยแท้จริง; ฉะนั้นจึงกลายเป็นบุคคลที่มีหูตาสว่าง รู้สิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริงขึ้นมา
            เรื่องนี้มัยยากลำบากอยู่หน่อยตรงท่าว่า บางทีเขาบอกว่า ผีสางเทวดาเป็นเหตุ แต่พอถึงทีแก้ไข ก็ให้กินั่น กินนี่ ทานั่นทานี่ เอายาให้กิน ทีนี้ถ้าเผอิญมันตรงกันเข้า โรคมันก็หายไป แต่บุญคุณมันไปได้ที่ผีสางเทวดา มันไม่ได้ที่หยูกที่ยาที่เขาเอามาให้กินเข้าไป; นี้มันก็เป็นทางให้สับสน เกี่ยวกับ อิทัปปัจจยตา แต่ว่าหลักของ อิทัปปัจจยตา ยอมให้ใครได้ทั้งนั้น แม้ว่าเหตุปัจจัยนั้นมันอยู่ที่ผีสางจริงๆ มันก็ยังเป็นอิทัปปัจจยตา อยู่นั่นแหละ เราก็ต้องแก้ไขสิ่งที่เกี่ยวกับผีสางนั้น
        แต่ทีนี้ตามข้อเท็จจริงแท้ ๆ มันไม่เป็นอย่างนั้น; มันมีเหตุปัจจัยของมันโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวกับเทวดา เดี๋ยวนี้เขาไปโลกพระจันทร์ได้ เทวดามีส่วนช่วยตรงไหนบ่าง เราจะต้องดูให้ดีว่า ส่วนที่มันเป็นเรื่องจริง มันก็ต้องเป็นเรื่องจริงชนิดที่พิสูจน์ได้ ที่พอจะมองเห็นได้ ถ้ามองเห็นไม่ได้ มันก็ไม่จำเป็นจะต้องไปรู้ไปซี้ก็ได้ มันต้องเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ มีเหตุผลแสดงอยู่ แล้วก็เอามาใช้ให้ถูกต้องตามเรื่องตามราวของเหตุผล ก็จะเป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตานั้น ๆ : จะเป็นเรื่องเจริญขึ้นก็เรื่อง อิทัปปัจจยตา จะเป็นเรื่องเสื่อม ทราม ดับ ตายลวงไปก็เป็นเรื่องของอิทัปปัจจยตา; คือเป็นได้ทั้ง 2 ฝ่าย ดังที่ปฏิจจสมุปบาทนี้มีทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายที่มันจะเกิดขึ้น เป็นทุกข์ ฝ่ายที่มันจะดับทุกข์ลงไป ทั้ง 2 ฝ่ายนี้เป็น อิทัปปัจจยตา เห็นชัดอยู่ว่า เมื่ออวิชชาเป็นปัจจัย ก็ได้ความทุกข์มา; เมื่อความดับของอวิชชามีอยู่ ก็ได้ความดับของความทุกข์; เข้าในบทที่ว่า : เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เมื่อความดับของอวิชชามีได้ ความดับของความทุกข์ก็มีได้ ความดับของความทุกข์มีได้ ก็เพราะความดับของอวิชชา; ทีนี้ความเกิดของความทุกข์ก็มีได้เพราะความเกิดของอวิชชา; ทั้งฝ่ายเกิด ทั้งฝ่ายดับ ก็เป็นเรื่องของ อิทัปปัจจยตา ด้วยกันทั้งนั้น
            เด็ก ๆ คลอดออกมาโตขึ้น ๆ เป็นหนุ่ม เป็นสาว ถึงที่สุด มันก็เป็นเรื่อง อิทัปปัจจยตา ฝ่ายโตขึ้น; ทีนี่มันก็จะแก่ลง ๆ จนเป็นคนแก่ มันก็เป็นอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่มัน แก่ลง ๆ ๆ; ไม่มีอะไร ที่ไม่ใช่ อิทัปปัจจยตา ทีนี้ส่วนโตเกี่ยวกับความทุกข์ ส่วนนั้น สำคัญมาก ต้องรู้จักแก้ไขก่อน; ส่วนนอกนั้นเป็นเรื่องที่รองลงไป เช่นการที่จะทำมาค้าขายหรือว่าจะทำการงานนั่นนี่ ค้นคว้าอะไรมันก็รองลงไป ที่สำคัญก่อนก็คือเรื่องที่จะดับความทุกข์ในจิตใจกันก่อนอย่าให้เกิดความทุกข์เหมือนกับมีนรกเข้าไปอยู่ในจิตใจ อันนี้ต้องสนใจก่อน ทีนี้เมื่อปัญหานี้มันแก้ไขได้หรือพอเป็นไปได้แล้ว ก็สนใจเรื่องจะเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง เลี้ยงอะไรตามเรื่อง
            ตัวอย่างเท่านี้ ก็น่าจะพอแล้วสำหรับให้ท่านทั้งหลายหลับตาคิดดูว่ามี อิทัปปัจจยตา อยู่ที่ไหนบ้าง? จะมองเห็นได้ว่ามีอยู่ทั่วไปหมดทุกหัวระแหง ทุกเวลานาที ทั้งภายในตัวเรา และภายนอกตัวเรา ภายนอกตัวเรานั้นนับไม่หวาดไม่ไหว นับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลงมา มันเป็นเรื่องที่กำลังหมุนเป็นเกลียวไปตามกฎ อิทัปปัจจยตาทั้งนั้น ทั้งหมดนั้นแม้มากมายมหาศาลก็ยังไม่สำคัญเท่ากับอิทัปปัจจยตาในตัวเรา : เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้นเข้าแล้ว ระวังให้ดี มันจะเกิด อวิชชาสัมผัส คือการสัมผัสด้วยความโง่ด้วยอวิชชา ต่อสิ่งเหล่านั้น แล้วมันจะเป็นทุกข์ ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ ผีสางเทวดาที่ไหน มันมาทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้; แต่เมื่อเราได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ลิ้มรสเป็นต้น ถ้าไปโง่เมื่อไรจะมีความทุกข์เมื่อนั้น
            คำว่าโง่ในทีนี้จะเห็นได้ง่าย ๆ ก็คือว่า โง่ไปหลงรักมันเข้า หลงเกลียดมันเข้า; นี่เรียกว่ามันโง่ ไม่จำเป็นจะต้องไปหลงรัก หลงเกลียด เอาแต่ว่าจัดการลงไปให้ถูกต้องตามที่มันจะเป็นอย่างไร เข้าไปรักก็โง่ เข้าไปเกลียดก็โง่ ระวังให้ดี ! รู้สึกว่าได้ ได้ผลได้กำไรนี้ มันก็โง่ชนิดหนึ่ง รู้สึกว่าขาดทุนเสียหายหมดมันก็เป็นความโง่ชนิดหนึ่ง ความเป็น อิทัปปัจจยตา เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่มีทางที่จะพูดลงไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้ คือว่ามันมีความเป็นปัจจัยปรุงแต่งอยู่อย่างนี้ จึงไม่เรียกว่าคน แล้วก็ไม่เรียกว่าไม่ใช่คน ฉะนันระวังให้ดี ! คำพูดมันหลอก อิทัปปัจจยตา จะไม่เป็นอะไรเลยนอกจาก อิทัปปัจจยตา ถ้าถามว่ามีคนไหม? ก็ตอบว่าไม่ใช่คน ไม่มีคน แต่เป็นอิทัปปัจจยตา ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่คนซิ? ก็จะไม่พูดว่า มีคน หรือว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย แต่จะพูดว่ามีแต่กระแสของอิทัปปัจจยตา
        คนแก่ ๆ เคยฟังเทศนา เรื่อง มิลินทปัญหา เมื่อพระยามิลินท์ถามพระนาคเสนว่า คนนี้ตายแล้วไปเกิดหรือ? พระนาคเสนก็ตอบอย่างนักเลงว่า คนนี้ก็ไม่ใช่ คนอื่นก็ไม่ใช่ หมายความว่ามันเป็น อิทัปปัจจยตา เมื่อคนตายลง คนนี้คนที่ตายนี้ไปเกิดหรือ? ถ้าใครบอกว่าคนนี้แหละที่ไปเกิด คนนั้นมันบ้า พุดอย่างนั้นมันบ้า ถ้าตอบว่าคนอื่นไปเกิด มันก็บ้า บ้าเท่ากัน ไปเกิดเป้นอย่างอื่นมันก็บ้าเท่ากัน ตามกฎเกณฑ์ของพระพุทธเจ้าจะต้องตอบว่า ไม่ใช่คนนี้ แล้วก็ไม่ใช่คนอื่น แล้วที่ตรงกลางนั้นคืออะไร? ก็คือเป็น อิทัปปัจจยตา
            ดังนั้นอย่าพูดว่า มี; อย่าพูดว่า ไม่มี; ที่ถูกนั้นมนอยู่ตรงกลางคือมันเป็น อิทัปปัจจยตา ถ้าเราไปพูดตามอวิชชา เราจะพูดว่า รวยแล้ว จะพูดว่า ขาดทุนฉิบหายหมดแล้ว : เราจะพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความหมายตรงกันข้ามเสมอ; เป็นของที่ตรงกันข้าม ทีนี้ถ้าพูดอย่างลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ต้องพูดอยู่ตรงกลาง ไม่พูดอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือว่าถ้าพูด ก็พูดไปตามเขาพูดส่วนในใจของเรารู้ว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น; เราพูดปากอย่าง ใจอย่าง
        เช่นเราพูดว่า ตัวเรา อย่างนี้ แต่ใจของเรารู้ว่าไม่ใช่ตัวเรา เป็นอิทัปปัจจยตา เท่านั้น ร่างกายจิตใจความรู้สึกคิดนึกนี้ เป็นเพียง อิทัปปัจจยตา; เพราะสิ่งนี้มีอยู่สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; หรือว่าเพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; ทยอยทอยกันไปอย่างนี้เรื่อย นี่เรียกว่าผู้รู้ผู้เห็นอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นจึงไม่กลัวความเจ็บไข้ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวผี ไม่กลัวอะไรที่เขากลัว ๆ กันนั้น; เพราะรู้ อิทัปปัจจยตานี้ จึงรูว่าผีไม่มี  มันก็เลยไม่กลัวผี
        เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นธรรมะในพุทธศาสนา ก็คือเห็น อิทัปปัจจยตา แล้วก็ไม่กลัวตาย เพราะมันไม่มีความตาย ไม่มีความอยู่ที่แท้จริง; มันมีแต่ อิทัปปัจจยตาที่กำลังไหลไป ปรุงแต่งกันไป; มันจึงมีจิตใจที่ไม่กลัวอะไร แล้ไม่อยากได้อะไร ไม่เกลียดอะไร ไม่รักอะไรอยู่ได้ แม้ว่าเรื่องนี้พูดง่าย แต่เห็นยาก เข้าใจยาก ถ้าไม่เชื่อว่ายาก ก็จะต้องอ้าง พระพุทธภาษิต มาให้ได้ฟัง : พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องยาก เรื่องเห็นยาก เข้าใจยาก อะไรที่ยาก ไว้ 2 เรื่อง : ทุทฺทสํ โข ภิกฺขเว เอตํ ฐานํ ยทิทํ อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปาโท ท่านว่าสิ่งนี้ หรือ ฐานะอันนี้เห็นได้ยาก สิ่งนี้คือ อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท; ว่าซ : ทุทฺทสํ โย ภิกฺขเว เอตํ ฐานํ ใช้คำว่า ปฏิจจสมุปาทก็มี ถ้าในที่ใดตรัสไว้ 2 เรื่องพร้อมกัน จะใช้คำว่าปฏิจจสมุปบาทด้วย และอีกอย่างหนึ่งคือ ทุทฺทสํ เอตํ ฐานํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ นิพพานัง;เป็นคำสุดท้าย
            เป็นอันว่า เรื่องที่เห็นยากที่สุด ก็มีอยู่ 2 เรื่อง คืออิทัปปัจจยตาเรื่องหนึ่ง กับนิพพานอีกเรื่องหนึ่ง และน้อยนักที่จะตรัส 2 เรื่องพร้อม ๆ กัน มักตรัสแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่า ที่เราจะชินหูกันที่สุดก็คือเรื่อง นิพพาน : สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตัณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ; เป็นคำพูดที่มันเนื่องกันไปหลาย ๆ คำ แต่ว่าความหมายมันมีอันเดียวคือ นิพพาน นี้ลึกซึ้งเห็นยาก
            ในที่บางแห่งก็ตรัสเฉพาะ อิทัปปัจจยตา อย่างเดียวว่าเป็นเรื่องเห็นยากคือ ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็เรื่องนี้แหละที่พระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย ตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ว่า ป่วยการที่จะไปสอน สอนก็เหนื่อยเปล่า ไม่สอนดีกว่า นี่มันลึกถึงขนาดนี้ เรื่อง อิทัปปัจจยตานี้ และเรื่องนิพะพานนี้ มันลึกถึงขนาดนี้ แต่เผอิญว่าพระพุทธเจ้าท่านมีบารมีที่บ่มมาในทางเมตตากรุณา ฉะนั้นท่านจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ไปในทางที่ว่า ลำบากก็ลำบาก ยอมลำบาก เพราะว่าสัตว์ที่มันไม่โง่เกินไป คือมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย หมายความว่านิสัยสันดานของมันมีความโง่น้อยนี้ มันก็มีอยู่ในโลกนี้ ฉะนั้นจึงทรงสอนเพื่อประโยชน์แก่สัตว์เหล่านี้ ถ้าไม่สอนสัตว์เหล่านี้จะเป็นผู้เสียประโยชน์ คือเสียทีที่เขามีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนเรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท
        พูดมาถึงตอนนี้ ก็อยากจะขอเตือนย้ำให้รำคาญอยู่บ่อย ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าออกบวช ก็ออกด้วยความหวังว่า จะค้นเรื่อง อิทัปปัจจยตา คือค้นว่าทุกข์นี้มาจากอะไร? ดับทุกข์ได้อย่างไร การตั้งปัญหาอย่างนี้ มันคือตั้งปัญหาอิทัปปัจจยตา ว่าเพราะอะไรมี อะไรจึงมี; เพราะอะไรไม่มี อะไรจึงไม่มี ทีนี้พระพุทธเจ้าออกบวช ออกไปจากบ้านจากเมือง ก็เพื่อจะค้นว่า ทุกข์มีเพราะอะไร? ทุกข์จะดับได้เพราะอะไร? ก็แปลว่าท่านออกบวชนี้เพื่อค้น อิทัปปัจจยตา แล้วท่านก็เที่ยวค้นสำนักนั้นสำนักนี้เรื่อยไป ก็ล้วนแต่ค้นเรื่อง อิทัปปัจจยตา; จนกระทั่งคืนที่ท่านตรัสรู้ ก็ทรงพึมพำแต่อิทัปปัจจยตา คือปฏิจจสมุปบาท : ในปฐมยามพิจารณาปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ส่วนมทุทยวาร แล้วก็เปล่งอุทานเสียทีหนึ่ง พอถึงยามที่สองก็ค้นอิทัปปัจจยตา ส่วนนิโรธวาร คือปฏิจจสมุปบาท ส่วนนิโรธวาร สุดยามที่สอง ก็เปล่งอุทานเสียทีหนึ่ง พอถึงยามที่สามก็ค้น อิทัปปัจจยตา ส่วนที่สัมพันธ์กันทั้งฝ่ายสมุทยวารและนิโรธวาร ตรัสรู้แล้วก็เปล่งอุทานออกมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นอุทานที่สามว่า พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาให้สิ้นไป เหมือนอาทิตย์อุทัย กำจัดความมืดฉันนั้น พอดีสว่างขึ้นมา เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยสมบูรณ์ ด้วยการแทงตลอดอิทัปปัจจยตา คือปฏิจจสมุปบาทนี้
        ทีนี้พอท่านตรัสรู้แล้ว พูดดุก็จะน่าหัวว คล้าย ๆ ว่าท่านกลัวจะลืม หรืออย่างไร ท่านกลัวว่ามันจะลืมเลือนไปหรืออย่างไร ที่จริงมันลืมเลือนไม่ได้ เพราะท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ลืมเลือนไม่ได้; แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังพร่ำบ่นพร่ำท่อง อิทัปปัจจยตา นี้ คือพิจารณาทบไปทบมา ทบไปทบมา หลังจากตรัสรู้แล้วอยู่ที่ต้นโพธิ์ หรือที่ต้นไทรอะไรก็ตาม หรือกระทั่งในเรือนแล้ว บริเวณต้นโพธิ์นั้นเป็นสัปดาห์ ๆ พร่ำอยู่แต่เรื่อง อิทัปปัจจยตา จนกว่าจะได้เสด็จออกๆไปจากต้นโพธิ์ ทีนี้เมื่อท่านไปสอนที่ไหน ท่านก็สอนแต่เรื่อง อิทัปปัจจยตา
        แต่เรามันหูหนวก หูใช้การไม่ได้ มันได้ยินเป็นเรื่องอื่น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่อง อิทปัจจยตา ขอให้เข้าใจเถอะว่า พระธรรมคำสอนพระพุทธวจนะถ้าจะประมาณกันว่า 84000 ข้อ 84000 พระธรรมขันธ์ ทุกธรรมขันธ์นี้ ยืนยันว่าทุกธรรมขันธ์ ล้วนแต่สอนเรื่อง อิทัปปัจจยตา ถ้าสอนเรื่องกิเลสมันก็เป็น อิทัปปัจจยตาที่อยู่ในส่วนกิเลส; ถ้าสอนเรื่องความทุกข์มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ที่อยู่ในส่วนความทุกข์ ถ้าสอนเรื่องการปฏิบัติ นี้ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา เพราะปฏิบัติอย่างนี้ผลอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เพราะปฏิบัติอย่างนี้ ผลอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา เรื่องอะไร มันล้วนแต่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ทีนี้ถ้าว่าเกิดเป็นผลขึ้นมาเป็นมรรค ผล นิพพาน นั้น ก็คือ อิทัปปัจจยตา ในส่วนที่เป็นความดับทุกข์ มันไม่มีคำไหน ข้อไหนใน 84000 ข้อ ที่จะไม่ใช่ อิทัปปัจจยตา
        ทีนี้ เราไม่เคยได้ฟังอย่างนี้ เราไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ ทั้งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายอย่างนี้ ว่าให้อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ทำในใจอยู่เสมอ ถึง อิทัปปัจจยตา อาตมาเห็นว่าพวกเราหรือท่านทั้งหลาย ไม่เคยชินต่อคำนี้ ไม่ประสีประสาต่อคำ ๆ นี้ ฉะนั้นอาตมาจึงเอามาพูด เอามาบรรยาย เอามากระทำให้แจ่มแจ้งตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า เมื่อตะกี้ท่านทั้งหลายก็ได้ยินพระสวด ถึงคำที่ควรจะสนใจ ว่า ตํ ตถาคโต อภิสมฺพุชฌติ อภิสเมติ ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะ ถึงพร้อมเฉพาะซึ่งธรรม(คือ อิทัปปปัจจยตา) อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา อภิสเมตฺวา ครั้นรู้แล้วครั้นถึงแล้ว; อาจิกฺขติ เทเสติ ย่อมบอก ย่อมแสดง; ปญฺญเปติ ปฏฺฐเปติ ย่อมบัญญัติขึ้น ย่อมตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น; วิวรติ ย่อมเปิดเผย เหมือนเปิดประตู เปิดของที่ปิด; วิภชติ ย่อมจำแนกแจกแจง คือผ่าแล่งออกไป ให้มันหมดความเป็นก้อนที่เข้าใจยาก ให้มันเป็นส่วนละเอียดย่อยออกไป ให้มันเข้าใจง่าย และคำสุดท้ายว่า : อุตฺตานิกโรติ กระทำให้เหมือนกับการหงายของที่มันคว่ำอยู่ ถ้าของนั้นมันค่ำอยู่ เราไม่รู้ว่าในนั้นมันมีอะไรหือเป็นอะไร ดังนั้นต้องหงายดู นี่การกรำทำของพระพุทธเจ้าเท่าที่พระองค์ตรัสเอง เป็นอย่างนี้
            เมื่อท่านรู้แล้ว ถึงแล้วในเรื่องนี้ ก็บอกกล่าว แล้วก็แสดง แล้วก็บัญญัติแล้วก็ตั้งขึ้นไว้ แล้วก็เปิดให้เห็น แล้วก็จำแนกให้เห็น แล้วก็หงายให้เห็น; เราจึงถือว่าข้อนี้เป็นพระพุทธประสงค์ ที่ต้องการให้เราช่วยกระทำสืบ ๆ กันไป; เมื่อใครรู้แล้วถึงแล้ว ก็ให้ทำอย่างนี้ แก่เพื่อนมนุษย์ต่อไป ถ้ามี่อย่างนั้นมันจะสูญไปมันจะหายไป คือพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าก็จะหายไป เดี๋ยวนี้เราจะช่วยกันสืบศาสนา สืบพรหมจรรย์ จึงขอให้ช่วยกันทำอย่างเดียวกันกับที่พระพุทะเจ้าท่านทำ คือท่านประสงค์ให้ทำ ว่าถ้ารู้เห็นเท่าไร ก็จงช่วยบอกช่วยแสดง ช่วยชี้แจง ช่วยเปิดเผยอย่างที่ว่ามาแล้ว มันก็ควรจะกระทำได้แก่คนที่ยังไม่รู้ หรือว่าลูกเด็ก ๆ มันยังไม่รู้ ก็ช่วยทำให้รู้; รู้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อิทัปปัจจยตา นี้
        ถ้าหากว่าครูเขาจะสอนเด็กในโรงเรียน เรื่องการต้มน้ำให้เป็นไอโดยกาต้มน้ำนี้ ก็ควรสอนกันในแง่ที่ให้เห็น อิทัปปัจจยตา ก็จะเป็นการตังต้นที่ดี ที่เด็กเขาจะได้รู้จักหัวใจของพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้เขาก็สอนโดยทำตัวอย่างให้ดุ ต้มน้ำให้เดือดให้ดู แต่สอนให้รู้แต่เพียงว่า น้ำกลายเป็นไอได้แล้วมันกับเป็นน้ำได้; เท่านี้ก็เรียกว่ายังสอนตื่นเกินไป เป็นวิทยาศาสตร์ของเด็กอมมือของลูกเด็ก ๆ เล็ก ๆ; ยังไม่สมแก่ความเป็นพุทธบริษัท ดังนั้นจะต้องสอนให้รู้ถึงสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา : เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; อย่างนี้เรื่อยไปเพราะมันไม่มีหยุด : เอาน้ำมาต้มให้เดือดเป็นไอ แล้วไอไปไหนเป็นอย่างไรต่อไป นั้นมันก็ทางหนึ่ง แต่มันก็ควรจะรู้ว่า น้ำนี้มาจากไหน มันก็ควรจะถอยหลังไปในทางที่ว่า น้ำนี้มันมาจากไหน มันก็จะเป็น อิทัปปัจจยตา; ถอยหลังไปหาต้นเดิม ต้นเงื่อนที่สุด คือที่ไม่รู้จักจบอีกเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องน้ำเรื่องเดียวนี้ก็เรียนเรื่อง อิทัปปัจจยตา ได้ เด็กนั้นก็กลายเป็นผู้ที่มีเหตุผล อยู่ในอำนาจของเหตุผลชั้นสูงสุดคือชั้น อิทัปปัจจยตา แล้วเขาก็จะเจริญงอกงามไปข้างหน้า จนถึงกับรู้จักสิ่งที่เป็นเหตุและผลที่ลึกซึ้ง ๆ ๆ ที่ยากจะเห็นได้ด้วยตา ก็จะกลายเป็นเรื่องทางจิตใจ คือดับทุกข์ได้
        นี่ขอให้ตังปณิธานกันเสียใหม่ว่า พวกเรานี้จะรวมหัวกันตั้งปณิธานกันใหม่ที่จะทำให้คนในโลกได้รู้สิ่งที่พระพุทะเจ้าท่านทรงประสงค์จะให้รู้ โดยบทว่า; อริยสาวก ในศาสนานี้ ย่อมกระทำในใจอยู่เสมอว่า : เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะการเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น; เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี; เพราะการดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับไป เท่านี้มันจะมีประโยชน์ ทังทางโลกทั้งทางธรรม ทั้งทางอะไรหมด : เด็ก ๆ จะมีเหตุผล จะไม่กลัวผี จะไม่ยึดมั่นทางนั้นทางนี้ จะไม่ยึดมั่นเกินไปในเรื่องอร่อย หรือไม่อร่อย พอเขาได้กินของไม่อร่อยเขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ พอเขาได้กินของอร่อย เขาลิงโลดเป็นบ้าเป็นหลัง อย่างนี้คือมั่นไม่มีความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เสียเลย
            ถ้าว่าเด็ก ๆ ของเรารู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ดี; ใจจะม้า ขึ้น ๆ ลง ๆ เมื่ออร่อยและเมื่อไม่อร่อย เขาจะเห็นเป็นของธรรมดาว่า : เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เพราะใส่น้ำตาลเข้าไป มันจึงหวาน หรือว่าใส่เกลือเข้าไปมันจึงเค็ม แล้วก็รู้อะไร ๆได้อีกหลายอย่าง จนไม่รู้สึกประหลาดอะไรในของที่มันเคยหลง ในสิ่งที่เคยหลง เคยประหลาด เคยงงไปหมดนี้ ก็จะหายโง่ หายหลง หายงง ; มันก็เป็นเนื้อ เป็นตัวขึ้นมาในทางของความเป็นพุทธบริษัท ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คนโง่นั้นมันจะเบิกบานได้อย่างไร จะตื่นได้อย่างไร นี่แหละพวกคนโง่ คนไม่รู้ จะต้องรูอะไร ก็ต้องรู้ อิทัปปัจจยตา
        เอากันอย่างว่า เมื่อรู้ อิทัปปัจจยตา จริง ๆ นี้ มันจะไม่ชี้ขลาด จะมวิ่งหนี จะไม่กลัวตาย มีเจ็บ มีปวด ขึ้นที่เนื้อ ที่หนัง มีนก็จะมองเห็นความเป็น อิทัปปัจจยตา เพราะอย่างนั้น มันจึงเป็นอย่างนั้น; จึงไม่กลัวมากแล้วก็จะไม่กลัวเสียเลย; ถ้าทำได้ดีก็จะไม่กลัวเสียเลย แล้ก็จะแก้ไขเยียวยารักษาไปโดยที่ไม่มีความทุกข์เลย
            คนเราเสียสติ เสียสติแล้วทำอะไรผิด ๆ นี่ก็เพราะมันขาดความรู้ข้อนี้ : มันไปกลัว มันไปหลง มีนไปเห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เดี๋ยวนี้เห็นว่ายังเป็นกันอยู่มากกล้าพุดว่า ยังเป็นกันอยู่มาก ใครพูดว่าไม่เป็น ก็ไม่อยากจะเชื่อ คือเรื่องถือโชคถือลาง เกิดอะไรหล่นลงมาสักนิดหนึ่ง ความคิดก็น้อมไปทางโชคลาง จิ้งจกตกลงมาสักตัวหนึ่งตรงหน้า มันก็ขนลุกขนพอง มันคิดว่ากูจะต้องตายแล้ว นี่มันโง่ถึงขนาดนี้ หรือพอผิดหวังอะไรนิดเดี๋ยวเท่านั้น มันก็สะดุ้ง มันถือเป็นลางร้าย มันจะต้องฉิบหายหมด; นี่มันโง่ โง่กันกว่าเหตุ เพราะมันไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา
        ฉะนั้น อิทัปปัจจยตา จึงเป็นสิ่งที่สูงสุด แล้วก็เป้นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านจะไม่ตรัสอย่างนี้ จะไม่ตรัสอย่างที่ว่านี้ ว่า อริยสาวกในศาสนานี้ ย่อมกระทำในใจอยู่เสมอ ในข้อนี้ คือข่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา แล้วที่พระองค์ทรงเอามาพึมพำ ๆ อยู่บ่อย ๆ มีอยู่ในสูตรบางสูตร ซึ่งคงมีทังอย่างย่อยและอย่างพิสดาร ถ้าอย่างย่อก็คือประโยคสั้น ๆ 4 ประโยคนี้ ถ้าอย่างพิสดารก็คือปฏิจจสมุปบาททั้ง 2 วาระที่ทรงเอามาพึมพำอยู่บ่อย ๆ ส่วนเรานี้ถ้าจะพึมพำกันบ้างมันก็ไปพึมพำเรื่องอื่น เป็นเรื่องละเมอเพ้อฝันไปในเรื่องอื่น มันไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยธรรม ฉะนั้นถ้าจะพูดอะไร จะเพ้ออะไร จะละเมออะไร ก็ขอให้มันเป็นในทางธรรม ถ้าไม่ละเมอ ไม่ต้องเพ้ออย่างนี้ ให้ทำทุกสิ่งด้วยสติสัมปชัญญะ ให้เห็นอยู่ว่าอะไรเป็นอย่างไร ๆ ๆ เท่านั้นเอง : เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย อะไรจึงเกิดขึ้น เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย อะไรจึงดับลง ให้รู้แต่อย่างนี้ จนมันฝันก็ฝันอย่างนี้; จนมันละเมอเอง ก็ละเมออย่างนี้ แม้ที่เป็น ๆ อยู่นี้ ที่ปติอยู่นี้ มันก็รู้แจ่มแจ้งแต่อย่างนี้
        อันนี้เป็นหลักของทุกสิ่งในโลก หรือทุกโลกทั่วทั้งจักวาล แล้วมันก็ดูเอาเองเถอะว่า มันมีอำนาจสักเท่าไร สำหรับสิ่งนี้ โลกเกิดขึ้นก็เพราะสิ่งนี้; หรือว่าอะไรที่เป็นเหตุให้โลกเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้ เพราะ อิทัปปัจจยตา นี้
            ใครอวดดีว่า เขารูว่าโลกมาจากไหน ว่าโลกมาจากดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์มาจากไหน ทังหมดนี้มาจากไหน ถ้ารู้ก็ยอมรับว่ารู้; แต่ในที่สุดก็ไปดุให้ดีเถอะจะเห็นว่ามาจาก อิทัปปัจจยตา ทีนี้คน สัตว์ที่มีชีวิตนี้ มันกระเด็นออกมา เกิดขึ้นมาในโลกเป็นสิ่งที่มีชีวิต มันก็เกิดขึ้นมาจากสภาพที่มันไม่มีชีวิตนี่มันก็เพราะ อิทัปปัจจยตา อีก ถึงเราจะไม่เชื่อพวกฝรั่ง พวกนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เราก็ไม่มีทางจะพูดอย่างอื่นนอกจากจะพูดว่า ก่อนนี้มนุษย์ในโลกไม่มี มนุษย์ไม่เคยมีในโลกนี้มาแต่ก่อน มันเพิ่งมี มีเมื่อไรก็ตามใจ ทีมันมีขึ้นมาได้ก็เพราะอำนาจแห่งอิทัปปัจจยตา แม้จะเชื่อว่า พรหมลงมากินง้วนดินเกิดกิเลสตกค้างอยู่ที่นี่ ก็ตามใจ นั้นก็ อิทัปปัจจยตา หรือจะเชื่ออย่างนักวิทยาศาสตร์ว่า มันเกิดขึ้นมาตามลำดับ ๆ กันมา จนเป็นสิ่งที่มีชีวิตนี้ มันก็ อิทัปปัจจยตา ทีนี้มาเป็นคนขึ้นมาแล้ว ทั้งเนื้อทั้งตัว ก็ล้วนแต่เป็น อิทัปปัจจยตา อีก
            ถ้ามีเวลาว่างบ้าง ก็ไปนั่งพิจารณาดุ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เลือด เนื้อ อาการที่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม; แต่ละอันนี้ มันก็ล้วนเป็น อิทัปปัจจยตา จิตใจที่เป็นความคิด ความนึก ความรู้สึก เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นอะไรก็ตาม ก็เป็นอิทัปปัจจยตา; และเป็นอิทัปปัจจยตารุนแรงยิ่งกว่าที่เป็นรูปกาย; คือส่วนที่เป็นนามหรือเป็นจิตใจนั้น มันเป็น อิทัปปัจนยตารุนแรงรวดเร็วกว่าที่มันเป็นทางเนื้อหนังร่างกาย แต่แล้วมันก็ผสมโรงกันทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจเป็นอิทัปปัจจยตาอื่น ๆ ต่อไปอีก ไม่หยุดความเป็น อิทัปปัจจยตา ทีนี้ ถ้าไม่รู้เท่าต่อสิ่งนี้มันก็จะมีความทุกข์
        ฉะนั้น เรารู้ อิทัปปัจจยตา เพื่อจะแก้ไข อิทัปปัจจยตา นี่ฟังดูให้ดีว่า เรารู้ อิทัปปัจจยตา นี้ ก็เพื่อจะแก้ไข อิทัปปัจจยตา ส่วนที่ไม่พึงปรารถนา อิทัปปัจจยตา ส่วนที่จะทำให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นนี้ เราแก้ไขด้วยอิทัปปัจจยตาส่วนที่จะทำให้ความทุกข์ดับลงไป เราก็แสวงหาความรู้หาวิธีปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สั่งสอนไว้อย่างสำเร็จรูป ใช้คำว่า สำเร็จรูป เพราะว่าคนมันโง่เกินไป จะบอกให้มันมากนัก มันก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ทำแต่อย่างนี้เถอะ ทำเท่านี้ ทำอย่างนี้ ทำเท่านี้ เช่นว่า อย่าทำบาป ทำแต่บุญ ทำจิตให้บริสุทธิ์อย่างนี้ มันเป็นสูตรสำเร็จ ที่ไม่ต้องบอก เรื่อง อิทัปปัจจยตา แต่ว่าที่แท้ นั่นแหละคืออิทัปปัจจยตา ส่วนที่มันจะแก้ไขอิทัปปัจจยตาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายความทุกข์ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีอะไร นอกไปจาก อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ ถ้าคนมันลาด ฉลาดมากเข้า จนจะเท่าพระพุทธเจ้าเอง พระพุทธเจ้า ก็บอกว่า ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์โว้ย ! มีแต่อิทัปปัจจยตา แก่จะเรียกส่วนไหนว่าสุข ส่วนไหนว่าทุกข์ก็ตามใจ มันไม่ถูกทั้งนั้น มันมีแต่อิทัปปัจจยตา
            นี่วันนี้ก็ได้พูด ให้มองเห็นในลักษณะ ของอิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์ของความรู้ทั่ว ๆ ไป แล้วมันยังมีต่อไปอีกที่เราจะต้องรู้ คือรู้ความที่พุทธศาสนานี้ มีแต่เรื่อง อิทัปปัจจยตา กันอย่างไรต่อไปอีก; คือรู้ต่อไปว่า : อิทัปปัจจยตา นั่นแหละ คือ มัชฌมาปฏิปทา
        เราเคยได้ยินแต่ว่า อริยมรรคมีองค์แปด : เห็นชอบ ดำริชอบ พูดจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ สิตชอบ สมาธิชอบ ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทานั้น มันเป็นสูตรสำเร็จรูปที่พระพุทธเจ้าท่านทำให้ง่ายสำหรับคนทั่วไป ที่ยังไม่มีปัญญาลึกซึ้ง จึงวางสูตรสำเร็จว่า ให้ปฏิบัติ 8 อย่างนี้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
            ทีนี้สำหรับผุ้ที่ฉลาดมาก ก็ยังมีสูตรอีกมาก โดยเฉพาะสูตรในกลุ่มปฏิจจสมุปบาททีทรงแสดงว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท มัชฌิมาปฏิปทา คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท คือ พูดว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ตามกฎแห่ง ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละ คือมิชฌิมาปฏิปทา สมันอยู่ตรงกลาง มันจะอยู่ตรงกางไปหมด อิทัปปัจจยตา นี้มันไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ แล้วมันก็ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ ถ้าพูดว่าคนมีอยู่จริง ตายแล้วเกิด อย่างนี้เป็นสัตสตทิฏฐิ อย่างนี้มันผิดหลัก อิทัปปัจจยตา เพราะไปถือเสียแล้วว่ามันมีคนอย่างตายตัว มันมีแน่นอนอย่างตายตัวนี้ เป็นสัสสตทิฏฐะ ทีนี้ถ้ามันเข้าใจผิดตรงกันข้าม ว่าว่างเปล่าไม่มีอะไร ตายแล้วก็สูญ เดี๋ยวนี้คนก็ไม่มี นี้เป็นเรื่องไม่มีอย่างมิจฉาทิฏฐิ ก็เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ ที่เป็นอุจเฉททิฏฐินั้นก็ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา มันจะมีแต่เพียงว่า : เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; พูดแต่อย่างนี้ ถ้าถามว่าคนตายแล้วเกิดหรือไม่? ก็บอกว่ามีแต่อิทัปปัจจยตา มันไม่มีคน เมื่อมันไม่มีคน มันมีแต่ อิทัปปัจจยตา ก็อย่างมาตั้งคำถามบ้า ๆ เช่นนี้ เราตอบไม่ถูกโว้ย! มันมีแต่อิทัปปัจจยตา ดังนั้นเราไม่อาจตอบว่าคนตายแล้วเกิด หรือคนตายแล้วไม่เกิด นี้คือความทที่อิทัปปัจจยตาเป็น มัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงกลาง หรือว่าถ้าพูดว่า อิทัปปัจจยตา แล้ว มันก็ไม่ได้แสดงว่า มี หรือว่า ไม่มี ถ้าพูดว่า มี นั้นเป็น สัสสตทิฏฐิ ถ้าพูดว่า ไม่มี มันก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ อิทัปปัจจยตา จะอยู่ตรงกลาง ระหว่างความ มี กับความ ไม่มี แกอยากจะเรียกว่ามีหรือไม่มีก็ตามใจแกซิ แต่ของจริงมันมีอยู่อย่างนี้เท่านั้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; มันจะมีคนได้อย่างไร เพราะมันเปลี่ยนเรื่อย ถ้าอยากจะพูดว่า มี มันก็มีในลักษณะ อิทัปปัจจยตา จะว่า ไม่มี มันก็ไม่ถูก เพราะมันมีอยู่ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในลักษณะของ อิทัปปัจจยตา จะพูดว่า มี โดยส่วนเดียวก็ไม่ถูก พูดว่าไม่มีโดยส่วนเดียวก็ไม่ถูก; จึงต้องพูดว่า : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น แล้วเมื่อมันเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป มันก็คือการ ไหลไปของเหตุ และปัจจัย กับผล; เหตุให้เกิดผล ผลกลายเป็นเหตุ ให้เกิดผล ผลกลายเป็นเหตุให้เกิดผล ผลก็กลายเป็นเหตุ แล้วก็ให้เกิดผล; อย่างนี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นมันจึงอยู่ตรงกลางเรื่อยไป ไม่เอียงไปซ้าย ไม่เอียงไปขวา ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค ไม่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เพราะมันเป็น อิทัปปัจจยตา กระทั่งว่า ที่ถามว่า คนนี้ที่ตายแล้วไปเกิด กับคนที่เกิดขึ้นมา นี้เป็นคนเดียวกนไหม? พระนาคเสนจึงตอบว่า ไม่ใช่คนนั้น และไม่ใช่คนอื่น เพราะมันเป็น อิทัปปัจจยตา
        นี่เป็นตัวอย่างที่ว่า เราจะต้องรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เพื่อว่าเราจะได้เดินอยู่ในมิชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปโง่ ไปหลงในของเป็นคู่ ๆ ของเป็นคู่ ที่รุบุไปยังข้างใดข้างหนึ่งโดยเด็ดขาดนั้นไม่ใช่ อิทัปปัจจยตา; เป็นสิ่งสมมติเท่าที่ อิทัปปัจจยตา ว่าอย่างนั้น; ที่แท้ อิทัปปัจจยตา นั้นจะเป็นอะไรไม่ได้ มันเป็น อิทัปปัจจยตาเท่านั้น ถ้าพูดให้เป็นอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า สมมติ” : ที่พูดว่าบุญว่าบาป อย่างนี้พูดอย่างสมมติ ถ้าพุดว่าเป็น อิทัปปัจจยตา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป มันมีอยู่แต่ว่า : เมื่อมีอย่างนี้ แล้วมันต้องมีอย่างนี้ เมื่อมีอยู่อย่างนี้ มันก็ต้องมีอย่างนี้; แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความสุขจะเกิดขึ้น เขาก็ยังเรียกว่า อิทัปปัจจยตา แต่มันถูกใจคนนั้น หรือถูกใจมนุษย์พวกนั้น มันเลยเรียกกันว่า ความสุข; ที่จริงมันเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นคนที่เห็น อิทัปปัจจยตา ถึงที่สุดก็คือพระอรหันต์ ดังนั้นความหมายของสิ่งที่มันเป็นคู่ ๆ กัน มันเลยหมดไป; พระอรหันต์จึงไม่มีความรู้สึกทีเป็นคู่ ๆ ว่าดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าแพ้ ว่าชนะ ว่าได้ ว่าเสีย ว่านาย ว่าบ่าว อะไรทีเป็นคู่ แม้ตั้ง 100 คู่นี้ จะไม่มีในจิตใจของผู้ที่เห็น อิทัปปัจจยตา
            ดังนั้นจึงถือว่ามันเป็นที่รวมของวิชา ทังฝ่ายที่จะโง่ และฝ่ายที่จะฉลาด วิชาของคนโง่ก็ขึ้นอยู่กับคนที่ไม่รู้ อิทัปปัจจยตา วิชาของคนฉลาดก็ขึ้นอยู่กับความรู้อิทัปปัจจยตา ถ้ารู้ อิทัปปัจจยตา ถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ พ้นความเป็นอะไรไปเสียเลย ถ้าไม่รู้มันก็ไปจมอยู่ในของที่เป็นคู่ ๆ เดี๋ยวยินดี เดี๋ยวยินร้าย เดี๋ยวเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวเป็นสัตว์สวรรค์; นั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวก็เกิดเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวก็เกิดเป็นเทวดาในกามาวจรอย่างนั้น; นั่นเพราะไม่รู้ อิทัปปัจจยตา พวกเทวดายิ่งไม่รู้เพราะว่าเทวดากำลังบ้ากันใหญ่ คือหลงใหลในเรื่องทิพยสมบัติอะไรที่มันยั่วใจ อย่างนี้ยิ่งไม่รู้ อิทัปปัจจยตา
            ฉะนั้นจึงมีเรื่องเล่าว่า พอเทวดาจะจุติ เทวดาองค์หนึ่งแกจะต้องจุติ แกก็มีปัญหาขึ้นว่าจะไปไหนดี? เพื่อนเทวดาทั้งหลายก็ว่าต้องไปสู่สุคติซิ เทวดาองค์ที่จะต้องจุตินั้นก็ถามว่า สุคติที่ไหนเล่า? เพื่อนเทวดาก็ว่าเราไม่รู้ ทีนี้เทวดาที่ลาด ๆ หรือพระอินทร์เองที่ทราบก็บอกว่า ในมนุษยโลกเป็นสุคติสำหรับพวกเทวดา เพราะว่าในมนุษยโลกนั้นมีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระสงฆ์ มีการทำให้รู้เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์; ฉะนั้นในมนุษย์โลก เป็นสุคติ ของเทวดา เทวดานั้นก็ว่า เอ้า ! ตกลงเราจะจุติไปเกิดในมนุษยโลก ซึ่งเป็นสุคตินี้ ที่พวกเทวดาเขาปรารภกันอยู่อย่างนี้ เพราะว่าไม่รู้ อิทัปปัจจยตา จึงหลงในเรื่องการมาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ว่าดีกว่าคนอื่น เป็นสุขกว่าคนอื่น นี่มันจะยกหูชูหางแล้ว ไม่ต้องสงสัย ถ้าไม่รู้ อิทัปปัจจยตาแล้ว มันจะต้องคิดว่าดีกว่าคนอื่น เรื่อยไป หรือถ้ามันแพ้ขึ้นมาจริง ๆ มันก็น้อยใจว่ากูเลวกว่าคนอื่น มันก็เป็นทุกข์อยู่นั้นแหละ เพราะมันผิดหลักของอิทัปปัจจยตา; จะว่ามันดีหรือชั่วไปไม่ได้ นอกจากเป็นอิทัปปัจจยตา ทีนี้เราไปว่าเขาเอง สมมติเอาเอง ว่าดี ว่าชั่ว ว่าแพ้ ว่าชนะ มันก็เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น : คิดเอามันก็ยังได้ ถูกเพื่อนเขาหลอกมันก็ยังสบายใจได้ นี่คือเรื่องที่ไม่รู้อิทัปปัจจยตา ดังนั้น มันจึงไม่มีทางที่จะดับทุกข์อย่างแท้จริงได้
            เอาละทีนี้ ถ้าหากว่าเรามีสติปัญญากันอยู่บ่าง หรือจะต้องจัดว่า เราเป็นพวกที่มีสติปัญญากันอยู่บ้าง ก็อย่าเป็นพวก ปทะปรมะ เป็นอาหารของเต่า ปลา ใต้น้ำไปเสียหมด; ถ้ามีสติปัญญากันอยู่บ้าง ก็จะต้องเข้าใจเรื่องนี้ หากพอจะเข้าใจเรื่องได้ก็ควรจะเข้าใจเรื่องนี้ คือเรื่อง อิทัปปัจจยตา นี้ ว่าวชาความรู้ชนิดไหนเรื่องโลกก็ตาม เรื่องธรรมก็ตาม วิชานั้นก็จะต้องเกี่ยวกับ อิทัปปัจจยตา การที่จะบัญญัติเป็นศาสตร์ทั่งหลายในโลกนี้ จะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรศาสตร์ ไม่ว่าศาสตร์อะไรในโลกนี่ เนื้อแท้ของมันตั้งรากฐานอยู่บน อิทัปปัจจยตา มันจึงจะสำเร็จได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว
            แต่เดี๋ยวนี้ อิทัปปัจจยตา ในโลกนี้มันสำเร็จผลไปในทางเห็นแก่ตัว คนในโลกนี้มันดีแต่เห็นแก่ตัว : เห็นแก่ตัวได้ดี เห็นแก่ตัวได้เก่ง มากยิ่งขึ้นทุกที่เพราะฉะนั้นจึงได้เบียดเบียนกัน ทะเลาวิวาทกัน ทะเลาะกันจนไม่มีเวลาอยู่เป็นสุขเพราะว่าเขามี อิทัปปัจจยตา ไม่ถูกตามเรื่องราวของ อิทัปปัจจยตา เนื่องจากไม่รู้อิทัปปัจจยตา แต่มันต้องเป็นไปตามอำนาจแห่ง อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นมันจึงมีแต่อิทัปปัจจยตาส่วนที่จะให้เกิดความทุกข์ มาครอบงำคนในโลกในสมัยนี้ในเวลานี้; ดังนั้นเขาจึงรักที่จะเบียดเบียนกัน คนในโลกเวลานี้มีความรักที่จะเอาเปรียบกันให้มากที่สุด จะเบียดเยนกันให้มากที่สุด ให้ตัวได้เป็นผู้ชนะเหนือคนทั้งหลายทั้งหมด นี่ อิทัปปัจจยตา ของเขามันมุ่งไปในทางนี้ มันก็ต้องเป็น อิทัปปัจจยตาทางนี้ ไม่เป็นอื่น
            อิทัปปัจจยตา จะเป็น อิทัปปัจจยตา เสมอ หากแต่ว่ามันมีให้ทุกแบบ : จะไปตกนรกก็ได้ จะไปสวรรค์ก็ได้ จะเลิกเสียให้หมด ไปนิพพานก็ได้ หรือว่าจะอยู่กันในโลกนี้ด้วยการเบียดเบียนให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ นี่ก็เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา และเป็นไปได้จริง ๆ ฉะนั้นเราต้องรู้ อิทัปปัจจยตา ส่วนที่จะมาแก้ไขอิทัปปัจจยตา ที่ไม่พึ่งปรารถนา อิทัปปัจจยตา ในทางที่ควรปรารถนามานั้น ต้องเข้าใจจะได้ใช้แก้ไข อิทัปปัจจยตา ส่วนที่ไม่พึงปรารถนา คือความทุกข์ เรารู้อิทัปปัจจยตาในส่วนที่ไม่ทุกข์ แต่อย่าไปหลงยึดมั่นถือมั่นวิเศษวิโส เป็นของกู อะไรขึ้นมาอีก; มันเป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้ไม่ทุกข์ แล้วก็เอามาถือเป็นหลักไว้ อย่างนี้ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้
            เพราะเหตุผลอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อริยสาวกในศาสนานี้ ย่อมกระทำในใจอยู่เสมอว่า เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี่ ๆ จึงเกิดขึ้น เมื่อพระอริยสาวกทำใจในอยู่อย่างนี้ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ความไม่มีทุกข์จะปรากฏอยู่แทนเพราะเมื่อทำอย่างนี้ ๆ มันไม่หลง ไม่อะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอะไร โดยประการทั้งปวง เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่เป็นทุกข์ มันไม่มีจิตใจชนิดที่ขึ้นลง เป็นกิเลสมันก็ไม่มีความทุกข์; พอลืมอันนี้มันก็เป็นทุกข์ได้ทันที ดังนั้นต้องมีสติให้ดีคุมสติไว้ให้ดี อย่าได้ไปหลงเรื่องคู่ ๆ เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องหญิง เรื่องชาย เรื่องอะไรเหล่านี้; แต่ให้มันมีลักษณะเป็น อิทัปปัจจยตา ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น ว่าเราว่าเของเรา อยู่เรื่อยไป
            ในวันนี้ก็กล่าวได้แต่เพียงว่า อิทัปปัจจยตา ที่เป็นข้อสรุป บทสรุปของความรู้ทังหมด ไม่ว่าความรู้ชนิดไหน : ชนิดจะนำโลกไปลงนรก หรือว่าจะนำโลกไปสวรรค์ หรือว่าจะนำโลกนี้ไปให้ถึงนิพพาน คือหมดความทุกข์ ฉะนั้นขอให้ทุกคนจำคำนี้ไว้ให้แม่นยำ การบรรยายครั้งที่ 2 ก็ไม่หวังอะไรมากไปกว่า ที่จะให้ทุกคนจำคำนี้ไว้ให้แม่นยำ คือคำว่า อิทัปปัจจยตา
            หรือถ้าให้ดีกว่านั้น ก็ให้จำไว้ทั้งพวง : คำพุดที่เราพูดติกันไปทั้งพวกอย่างนี้ก็มีในภาษาไทย คือคำที่มันใช้แทนกันได้ สำหรับภาษาบาลี พระพุทธเจ้าท่านก็ตรีสคำที่มันเนื่องกันเป็นพวก ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรในภาษาไทย เรียกเอาเองว่าสมุหวลี สมุหวลี คือวลีที่ต้องเนื่องกันไป ฝรั่งเขาเรียก collective phase คือ phase ที่ตามธรรมดามันจะพูดเนื่องกันเป็นพวง; ภาษาอังกฤษมีน้อย ภาษาบาลีมีมาก เช่นว่า : สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏิสิสฺสคโค ตณฺทุกฺขโย วิรโค นิโรโธ นิพฺพานํ; นี้พูดตังหลายคำนี้ ทีแท้หมายถึงนิพพานคำเดียว ภูเขาเลากานี้มันก็หมายถึงภูเขาเท่านั้น คำเหล่านั้นมันเป็นคำแทน ใช้แทนกันได้
            ทีนี้สำหรับคำว่า  อิทัปปัจจยตา นี้มีคำที่พวงกันเป็น พวงวลี วลีพวงเป็นพวงนี้ว่า : ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา อทัปปัจจยตา; นี้ 4 คำแล้ว; นี่มันเหมือนกันโดยเนื้อความแต่ว่าคำมันต่างกัน ตถตา ความเป็นอย่างนั้น อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ความไม่เป็นอย่างอื่น อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น นี้ก็คือพวงหนึ่งมี 4 คำ ทีนี้พวงที่จะพลอยพวงเข้ามาในพวงนี้ ก็ยังมี เช่นคำว่า ธัมมัฏฐิตตา การตั้งอยู่ตามธรรมดา ธัมมนิยามตา ความเป็นกฎของธรรมดา แล้วก็เลยออกไปถึง สุญญตา ความเป็นของว่าง อนัตตตา ความเป็นของไม่มีตัวตน; นี้ล้วนแต่ลงคำว่า ตา-ตา-ตา- ด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้คำอื่นที่มันไม่ลงด้วยคำว่า ตา มันมีอีกมากเช่น ยถาปจฺจยํ เป็นไปตามปัจจัย ธาตุมตฺตํ เป็นสักว่าธาตุเท่านั้นหามีตัวตนไม่; นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา ด้วยเหมือนกัน แต่คำพูดมันไกลออกไป ๆ
            ถ้าเราเอาคำที่ใกล้ที่สุด ก็คือคำว่า ตถตา ความเป็นอย่างนั้น อวิตถตา ไม่พ้นไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ความเป็นอย่างอื่นไปได้ อิทัปปัจจยตา ความที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกภาวะ อย่างนี้ว่า ธัมมธาตุ; ธรรม ธา-ตุ ทรงย้ำว่า พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นก็ตาม พระพุทธเจ้า จะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุอันนี้มันมีอยู่แล้วตลอดเวลา; ฉะนั้นอิทัปปัจจยตา ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต คือไม่มีเกิด ไม่มีดับ อิทัปปัจจยตา จะต้องไม่มีเกิด ไม่มีดับ มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องดับ ฉะนั้น พระพุทะเจ้าจะเกิดขึ้น มันก็มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้า จะไม่เกิดขึ้น มันก็มีอยู่แล้ว; นี่พระพุทธเจ้าท่านจึงย้ำอยู่เสมอว่า : อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนยาตา; เลยไปถึง ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท; ไปจบที่คำว่า ปฏิจจสมุปปาโท ถ้าเราชอบคำว่าปฏิจจสมุปบาท ก็ให้รู้เถอะว่า นั่นแหละคือ อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา นั้นคือปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น พระพุทะเจ้าจะเกิดขึ้น หรือพระพุทะเจ้าจะไม่เกิดขึ้น ปฏิจจสมุปบาทมันก็มีอยู่ มีอยู่แล้ว และมีอยู่ตลอดไป เราได้ยินได้ฟังกันแต่เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา; ธรรมนิยามสูตร ที่นำมาสวด สวดแต่เรื่องอนัจจัง ทุกขัง อนัตตา สพฺเพ สงฺขารา อนฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา; มันเป็นธัมมะนิยามตา ธัมมัฏฐิตตา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด สังขารทั้งปวงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ได้ยินแต่อย่างนั้น ส่วนที่สำคัญกว่าหรือพิสดารกว่ามากกว่าสูตรนี้ ไม่เคยได้ยิน
            นี่เราจะโทษ ปู่ ย่า ตา ยาย ว่าทำไมไม่เอามาให้ลูกหลานได้ยิน มันก็อย่าไปโทษเลย เพราะว่าปู่ย่าตายาย ก็คงจะเห็นว่าลูกหลานมันคงฟังไม่รู้เรื่อง ดังนั้นเอาแต่ที่ง่าย ๆ ตื้น ๆ มาให้ได้ยินได้ฟังก่อน ทีนี้พอตกมาถึงสมัยพวกเรานี่ มันไม่ควรจะเป็นลูกหลานที่ตื้น ๆ แบบนั้นอยู่ต่อไป มันควรจะดีขึ้นบ้าง มันจึงควรจะเขยิบไปให้รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นหัวใจทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป็นตัวทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป็นตัวความจริงในสากลจักรวาล วิชาความรู้ทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่าศาสตร์ไหน แขนงไหน ย่อมขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ของอิทัปปัจจยตา ทั้งนั้น นี้คือความมุ่งหมาย ของการบรรยายในครั้งที่ 2 นี้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายหมดความเป็นห่วง หมดความสงสัย หมดความลังเล กันเสียที ว่ามันไม่มีอะไร นอกไปจากอิทัปปัจจยตา ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ดี มันก็จะลำบาก; ถ้ารู้เรื่องนี้ดี มันก็จะง่ายในการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน
        ถ้าเขาถามว่า บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ยากหรือง่าย? เราก็ตอบอย่างอิทัปปัจจยตา ถ้าไปตอบว่ายากก็ บ้า”! ตอบว่ง่ายมันก็ บ้า”! ถ้าตอบว่าตามแต่ อิทัปปัจจยตา นี้มัน ถูกต้องที่สุด ถึงกระนั้นก็ยังมีวีที่เหมาะสำหรับคนขนาดนั้น สำหรับคนขนาดนี้ ซึ่งสติ ปัญญา อินทรีย์ ความสามารถ อะไร ๆ มันไม่เท่ากัน; มันก็อิทัปปัจจยตา กันเป็นระดับ ๆ ไป ขอให้ฝากความแน่ใจความหวัง ความอะไรไว้กับ อิทัปปัจจยตา : พยายามทำให้ถูกเรื่องราว แล้วมันก็จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในการที่เราจะดับทุกข์ได้สิ้นเชิงโดยไม่ยาก จะดับทุกข์ได้ในเวลาอันสมควร ก่อนแต่ จะเขาโลง
            นี่คือ ประโยชน์ของการรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา สำหรับจะได้ปฏิบัติ ชนิดที่ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป ด้วยอำนาจของกฎเกณฑ์อันเดียวกัน ความทุกข์และความดับทุกข์ มันเป็นกฎเกณฑ์อันเดียวกัน มันเนื่องกันอยู่ เป็นอันเดียวกัน คือ อิทัปปัจจยตา; แล้วแต่จะเลือกเอาฝ่ายไหน

อาตมาขอยุติการบรรยายวันนี้เพียงเท่านี้ ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลาย สวดต่อท้ายธรรมบรรยายนี้ต่อไป
(คัดลอกจากหนังสือ  อิทัปปัจจยตา โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า 30-58 ;14-29 เม.ย 49)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น