วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา 7 ในฐานะพระรัตนตรัย และไตรสิกขา

เสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2515
          ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!
        การบรรยายในครั้งที่ 7 นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะพระรัตนตรัย และไตรสิกขา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว จากใบประกาศกำหนดกาลนั้น
            ตามหัวข้อนี้ คงจะมีท่านทั้งหลาย มากคนด้วยกันเกิดความฉงนว่าพระรัตนตรัยและไตรสิกขา จะตั้งอยู่ในฐานะเป็น อิทัปปปัจจยตา ได้อย่างไร? นี่แหละคือสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปอีก ให้มากให้ลึก ยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งเห็นว่าแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าพระรัตนตรัยและไตรสิกขา ก็ยังไม่พ้นไปจากความเป็น อิทัปปัจจยตาอยู่นั่นเอง
            ถ้าเรามองเห็นลึกซึ้งถึงขนาดนี้ ก็พอจะกล่าวได้ว่า เรามีการเห็น อิทัปปัจจยจา ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาในที่ทั่วไป ในทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างเพียงพอสมกับที่เป็นพุทธบริษัท
            อาตมาขอย้ำ ดังที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีก อยู่ทุกคราวไป ว่ามีความประสงค์อันใหญ่หลวง ในการที่จะให้หัวใจของพุทธศาสนา ในชื่อของคำ ๆ นี้เป็นที่คุ้นเคยแก่เราทั้งหลาย ทั้งในการพูดจา ในการปฏิบัติ แม้ในที่สุดแต่การที่จะพลั้งปากอะไรออกไปก็ควรจะเป็น อิทัปปัจจยตา
            บางคน เมื่อมีอะไรมาสุดุดใจ ก็พลั้งออกไปว่า : พุทโธ่ พุทธถัง อนิจจัง อนัตตา อย่างนี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่ดูมันฟุ้งซ่านอยู่มาก พุทโธ่ ก็พอจะรู้ว่าหมายถึงพระพุทธเจ้า แต่พุทธถัง นี้ไม่รู้ว่าอะไร; นั้นแหละ มันแสดงว่า พูดส่งเดชไป
            อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละคือ อิทัปปัจจยตา แต่ดูเหมือนจะพูดอย่างคล่องปากติดปากไปเสียมากกว่า แต่พอเอาคำว่า อิทัปปัจจยตา มาพลั้งบ้างมันก็ย่อมแสดงได้ดีทีเดียวว่า มันไม่ใช่เรื่องพลั้งปากโดยไม่มีสติสัมปชัญญะ มันเป็นเมืองที่มีสติสัมปชัญญะ จึงจะพูดว่า อิทัปปัจจยตา ออกมาได้
            ดังนั้น ขอให้ดุให้ดี พอมีอะไรเกิดขึ้น ในลักษณะที่เรียกว่า กระทบกระเทือนจิตใจมาก แต่ตัวเองก็ตาม แต่ผู้อื่นก็ตาม เห็นเข้าแล้ว รู้สึกเข้าแล้ว พลั้งออกมาได้ ว่าอิทัปปัจจยตา นั่นแหละจะแสดงว่า เขามีความเป็นพุทธบริษัท เดี๋ยวนี้กลัวว่าจะไปพลั้งปากกันอย่างอื่น ซึ่งไม่แสดงความเป็นพุทธบริษัท ข้อนี้จะต้องนึกกันให้มาก ตลอดจนถึงกับเวลาจะดับจิตลงไป คือจะตายนั่นแหละ ถ้ามันระลึกได้ถึงข้อที่ว่าเป็น อิทัปปัจจยตา แล้วกระทำความหมายของคำว่า อิทัปปัจจยตา อยู่ในใจถ้าปากจะงุบงิบออกมาบ้าง ก็ควรจะว่า อิทัปปัจจยตา
            สิ่งนี้จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ และถ้าจะต้องตายไป ก็จะไม่ใช่ตาย ขอให้ฟังให้ดี ๆ ว่า ถ้าจะต้องตายไป ก็ยังไม่ใช่ตาย เพราะว่าเขารู้อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะว่า อิทัปปัจจยตา : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; คือเมื่อมีความวิปริตของ ดิน น้ำ ลม ไฟ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรก็ตามใจเป็นปัจจัยแล้ว ความแตกสลายแห่งธาตุ แห่งขันธ์มันก็ย่อมมี นี่คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เมื่อรู้สึกอยู่อย่างนี้ คนนั้นก็มิได้ตายแต่เขามองเห็นความที่ สังขารทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือ อิทัปปัจจยตา
            นี้ ในวาระสุดท้าย ก็ยังจะต้องเป็นให้ได้ถึงอย่างนี้ จะได้ไม่ต้องตาย ไม่ต้องพูดถึงตายโหง แม้แต่ตายตามธรรมดา ๆนี้ก็ยังไม่ตาย คือไม่มีความตายในความรู้สึกของบุคคลผู้แจ่มแจ้งอยู่ใน อิทัปปัจจยตา ดังนี้ นี้ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่า เขามีความแจ่มแจ้งในข้อนี้มากเพียงไร แล้วเขายังมีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ลืมไม่เลือนในข้อนี้มากเพียงไร
            ขอให้เราทั้งหลายทุกคน จงมีภาวะแห่งความเป็นพุทธบริษัทของตน ๆ ให้พอถึงขนาดนี้เถิด ไม่ต้องการให้มากไปกว่านี้ แต่ไม่ต้องการให้น้อยไปกว่านี้ เพราะฉะนั้น จึงขอร้องย้ำแล้วย้ำเล่า ว่าให้ช่วยกันทำความคุ้นเคยกับคำ ๆ นี้ และความหมายของคำ ๆ นี้อยู่ตลอดไป เมื่อมีอะไรสะเทือนใจ คำว่า อิทัปปัจจยตาจะต้องผุดขึ้นมาทันที แล้วมันก็จะหยุดสะเทือนใจ จะหยุดรัก หยุดโกรธ หยุดเกลียด หยุดกลัว หยุดอะไรทุกอย่าง กระทั่งหยุดความคิดที่จะเป็นไปเพื่อการเบียดเบียนผู้อื่นเลยไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ไม่เบียดเบียดทั้งผู้อื่น คือไม่มีใครลำบาก นั้นแหละเป็นผลของพระพุทธศาสนา
            ทั้งนั้น ขอให้ทุกคนยินดี ยอมรับเอาคำขอร้องข้อนี้ ว่าขอให้เราทุกคนจงคุ้นเคยต่อธรรมธาตุอันนี้ ธรรมธาตุข้อนี้ คือข้อที่ชื่อ อิทัปปัจจยตา จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงธรรมธาตุนั้น เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านประกาศว่า : ตถาคตเข้าถึง ครั้นเข้าถึงแล้ว ก็บอก ก็สอน ก็ทำให้เป็ฯเหมือนกับหงายของที่คว่ำอยู่ นี่ดูกันให้ดี ๆ ว่า ก่อนนี้ เรื่องนี้ มันเป็นเหมือนของที่คว่ำอยู่ สำหรับพวกเรา เราจงเห็นแก่พระพุทธเจ้าด้วยกันทุกคน ช่วยกันทำให้มันเป็นของที่หงายขึ้นมา
            ของคว่ำ หมายความว่า ไม่ประกฎแจ่มแจ้ง ไม่รู้เรื่องกันเสียเลย ของหงาย มีความหมายว่า เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในทุกแง่ทุกมุม กระทั่งว่าแจ่มแจ้งในการที่จะประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร ให้ได้ผลอย่างไร ได้ผลแล้วก็ยังแจ่มแจ้ง เมื่อเรามีความตั้งใจกันอย่างนี้ เรื่องนี้ก็จะไม่เป็นของลึกลับอีกต่อไป
            เดี๋ยวนี้มาดูกันให้ดีต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ก็คือข้อที่ว่า แม้ว่าเราจะได้เกี่ยวข้องกันอยู่กับ อิทัปปัจจยตา กระทั่งว่า สิ่งที่เรียกว่า ตัวเรา นั้น มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา หมายความว่าเนื้อหนังร่างกายของเรานี้ มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา จิตมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา สิ่งที่เกิดดับอยู่กับจิตใจมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ไม่มีอะไรในคน ๆ หนึ่งที่ไม่เป็น อิทัปปัจจยตา
            อย่างนี้เรียกว่า มันยิ่งกว่าที่จะลูกคลำ มันไม่เพียงแต่เป็นเพียงสิ่งที่เราลูบคลำ แต่มันเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา
        นี่แหละมันจะมากเกิดไปเสียแล้ว เหมือนกับปลาที่ควรถูก ด่า ว่า ปลาอยู่ในน้ำ ไม่เห็นน้ำพ ;เพราะว่าน้ำ มันชิดตาหรือเข้าถึงตาเกินไป จนปลาไม่เห็นน้ำ ขอให้ถือว่า นี้เป็นคำด่าอย่างร้ายแรง สำหรับพุทธบริษัทเรา ถ้าด่าว่าเป็นปลาในลักษณะอย่างนี้ก็ย่อมเรียกว่า มันเป็นคำด่าที่สบประมาทกันไม่มีอะไรเหลือ ขออย่าให้เป็นอย่างนี้ นี้เรียกว่าในภายในร่างกายนี้มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา มีอิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ ที่เป็นภายนอกออกไป มันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา คือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เป็น อิทัปปัจจยตา หมด แม้ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี้จะเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายจะชี้ในภายในโดยเฉพาะ คือกิเลสเกิดขึ้นและเป็นทุกข์ดังนี้ก็ตาม แต่กฎที่ว่า อิทัปปัจจยตา นี้ ใช้ได้ทั่วไปหมดในบรรดาสังขารทั้งหลาย คือสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
            เพราะฉะนั้น จึงมีผู้อธิบายเรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาทนี้กันในทุกแง่ทุกมุม กระทั่งที่ใหญ่กว้างออกไป เช่นว่า ความเปลี่ยนแปลงในโลกสันนิวาสนี้ สมมติว่าจะดูกันตามประวัติศาสตร์ เราก็จะเห็นว่า ตังแต่มีมนุษย์ชาติเกิดขึ้นมาในโลกแล้ว เดี๋ยวก็มีที่ตรงนั้นล่มจมลงไป เดี๋ยวก็มีที่ตรงนั้นโผล่ขึ้นมา เดี๋ยวก็มีที่ตรงนั้นล่มจมลงไป นี้คือส่วนเนื้อแผ่นดิน ตัวโลกก็เป็นอย่างนี้
            ทีนี้ ส่วนที่เกี่ยวกับคน เดี๋ยวก็เกิดอาณาจักรนั่นขึ้น เดี๋ยวก็อาณาจักรนั่นล้มไป อาณาจักรนี้เกิดขึ้น อาณาจักรที่ใหญ่โตมโหฬารในประวัติศาสตร์ มันก็มีเกิดขึ้นแล้วก็ล้มไป เหมือนกับลูกคลื่นในมหาสมุทร จึงเรียกว่านี้ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา
            ถ้านักประสัตวิศาสตร์ หันมาศึกษาธรรมะ ก็จะรู้จักได้ดีว่า อิทัปปัจจยตาในประวัติศาสตร์มีอย่างมากมายถึงขนาดนี้ ในส่วนโลกทั้งโลกมันก็เป็นอย่างนี้ ในส่วนบุคคลแต่ละคนมันก็เป็นอย่างนี้ แล้วทำไมจึงไม่มองเห็น ในส่วนที่เป็นอย่างนี้ไปมองเห็นแต่ส่วนที่ทำให้โง่ คือทำให้โกรธบ้าง ให้เกลียดบ้าง ให้รักบ้าง ให้กลัวบ้าง ไม่มองเห็นในส่วนที่ทำให้ใจคอปกติ ไม่ดิ้นรนไปตามอำนาจของกิเลสเหล่านั้น
            นี่ ต้องการจะชี้ในข้อที่ว่า แม้ว่าคนจะลูบคลำสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตาอยู่เป็นปกติ มันก็ยังไม่เห็น อิทัปปัจจยตา ถ้าใช้คำว่าลูบคลำก็น่าจะนึกถึงว่า เอามือหยิบข้าวหรือเปิบข้าวใส่ปากเคี้ยวกินอยู่ทุกวัน ก็ไม่เคยเกิดความรู้สึกว่า นี้คือ อิทัปปัจจยตา มันไปรู้สึกแต่ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย พอไม่อร่อยขึ้นมาก็ไปอาละวาดเอากับคนใช้หรือแม่ครัว แล้วจะเห็น อิทัปปัจจยตา ได้อย่างไร
            ถ้าว่า เปิดข้าวใสปาก แล้วไม่อร่อย แล้วจะพูดออกมาว่า อิทัปปัจจยตาสัคำหนึ่ง จะได้หรือไม่; หรือว่าถ้ามันอร่อยก็จะพูดอย่างเดียวกันอีกว่า อิทัปปัจจยตาล้วนแต่หลอกเราทั้งนั้น; ก็ไม่ต้องรักไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเกลียดอะไร ถ้าต้องการจะแก้ไขหรือปรับปรุงอะไร ก็ทำไปก็แล้วกัน โดยไม่ต้องมีจิตใจที่หวั่นไหวหรือกระทบกระเทือน นี่เพราะอำนาจของการเห็น อิทัปปัจจยตา เรียกว่าไม่ลูบคลำเปล่าหมายความว่า มีจิตใจที่เจาะแทงตลอดลงไปในความจริงของสิ่งนั้น ๆ ว่าลฃ้วนแต่เป็น อิทัปปัจจยตา และเห็น อิทัปปัจจยตา อยู่ตลอดเวลา
            นี่แหละ เราจะต้องพูดกันมากสักหน่อย ในข้อท่า มนุษย์ไม่สนใจในเรื่อง อิทัปปัจจยตา ทั้งที่ตนลูบคลำอยู่เสมอ แล้วก็เป็นไปโดยไม่รู้สึกตัว
            สำหรับข้อที่เป็นไปโดยไม่รู้สึกตัว นี้เห็นได้ง่าย พูดขึ้นแล้วท่านทั้งหลายก็คงจะเห็น เช่นอย่างว่า นักวิทยาศาสตร์อันวิเศษ นักวิทยาศาสตร์สูงสุด ในแง่ไหนก็ตามใจ ในแง่ ฟิสิคส์ เคมี แมคคานิคส์ วิทยาศาสตร์สัมพัทธทฤษฎี หรืออะไรก็สุดแท้ มันล้วนแต่ลูกคลำอยู่แต่กับสิ่งที่เป็น อิทัปปัจจยตาทั้งนั้น วัตถุเคมีก็ยิ่งเป็นอิทัปปัจจยตา มีการเปลี่ยนแปลทางเคมีอยู่อย่างนั้น ตามกฎเกณฑ์อย่างนั้น ทางฟิสิคส์ก็เหมือนกันอย่างนั้น ทางกลไกต่าง ๆ ก็อย่างนั้น คนเหล่านี้รู้จักสิ่งเหล่านี้เฉพาะในแง่ที่ว่า จะใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างไร แล้วเขาก็ใช้มันได้ เช่นว่า เขาไปโลกพระจันทร์ได้ง่าย ๆ เหมือนกับเราจะไปถ่ายอุจจาระที่กลางทุ่งอย่างสมัยโบราณแต่แล้วนักวิทยาศาสตร์ลูบคลำ อิทัปปัจจยตา อยู่ตลอดเวลานั้น ก็หาเห็น อิทัปปัจจยตาไม่
            แม้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่วิเศษยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ยังคงไม่เห็น อิทัปปัจจยตา อยู่นั่นเอง คือไม่เห็นไปในแง่ที่จะทำให้เข่าเฉยได้ คือไม่รัก ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่กลัว ไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่น; แต่นี่มันเห็นไปแต่ในทางที่จะให้ตนได้เปรียบ ในการที่จะเอาเปรียบผู้อื่น
            พวกหมอ พวกแพทย์ ก็ลูบคล้ำอยู่แต่ส่วนของสรีระร่างกาย ผ่าตัดก็ได้เปลี่ยนหัวใจก็ได้ อะไรก็ได้ แต่แล้วมันก็ไม่เห็น อิทัปปัจจยตา คือไม่เห็นในแง่ของ อิทัปปัจจยตา ทัง ๆ ที่ไปทำอยู่กับสิ่งที่เป็น อิทัปปัจจยตา และโดยกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา จึงไม่เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย
            แม้แต่หมอที่ทำคลอดบุตร ก็ไม่เบื่อหน่ายในความเป็นสิ่งปฏิกูล แม้ผู้หญิงที่คลอดบุตร เขาว่าผู้หญิงคลอดบุตรทีแรกร้องว่าเข็ดแล้ว ๆ ไม่คลอดอีกแล้ว ไม่เท่าไรมันก็คลอดอีก นี่เรียกว่า มันไม่ได้เห็นสิ่งนั้นในแง่ของ อิทัปปัจจยตา
            มีอยู่หลายอย่างหลายประการ เช่นว่าพวกสัปเหร่อ เห็นผีก็ไม่มีความหมายอะไร ในเรื่องของ อิทัปปัจจยตา หรือปฏิกูล แม้แต่เพียงเรื่องปฏิกูลก็ยังเห็นไม่ได้แล้วจะไปเห็นอะไรกับ อิทัปปัจจยตา สำหรับพวกสัปเหร่อ
        ภิกษุสามเณรไปป่าช้า ไปบังสุกุล ก็เพื่อไปเอาสตางค์เขามากว่า มันจึงไม่เห็น อิทัปปัจจยตา แม้จะไปเปิดโลงศพดู มันเป็นกันอย่างนี้เสียทั้งหมดทุกประเภทของบุคคล ที่ล้วนแต่ควรจะเห็น อิทัปปัจจยตา
            ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า มันมีอะไรขัดข้องอยู่ที่ตรงไหน ที่ทำให้คนเราไม่เห็น อิทัปปัจจยตา ทั้งที่เกี่ยวข้องลูบคล้ำอยู่กับสิ่งนี้ ถ้าจะพูดโดยสรุปมันก็เพราะเหตุว่า มันมีอวิชชาสัมผัส อย่าที่ได้กล่าวมาแล้ว กล่าวแล้ว ๆ เล่า ๆ กล่าวกันแล้ว กล่าวกันอีกว่า คนในโลกตามธรรมดานี้ สัมผัสสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ด้วยอวิชชาสัมผัส คือไปแตะต้องทุกสิ่งด้วยความโง่ ไม่ได้แตะต้องทุกสิ่งด้วยความฉลาด เป็นอวิชชาสัมผัส ต่อ อิทัปปัจจยตา มันจึงสัมผัสไปแต่ในทางที่จะได้ประโยชน์แก่กิเลส ไม่ได้ประโยชน์แก่โพธิหรือวิชชา จึงได้เรียกว่าเป็นอวิชชาสัมผัส
            เพราะฉะนั้น มันก็สรุปความได้ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่าระวังให้ดีในโลกนี้เต็มไปด้วยอวิชชาสัมผัส เราสัมผัสโลกอยู่ด้วยอวิชชาสัมผัส มันก็ถูกในแง่หลอกลวงไปหมด ไม่ถูกในแง่ของความจริง นี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าเราจะต้องทำความเข้าใจกันในเรื่องของ อิทัปปัจจยตา ให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปทุกที
            หัวข้อที่อยากจะทบทวนอีกสักหน่อยก็คือข้อที่ว่า คำพูดที่เป็นชั้นลึกซึ้งนั้นมันยิ่งมีสิ่งปิดบังมาก เท่ากับความลึกซึ้งของมัน พูดอย่างนี้พูดเหมือนกับพูดอย่างกำปั้นทุบดิน ไม่มีทางผิด เพราะยิ่งลึกมันก็หมายความว่ามันยิ่งมีอะไรบังมาก มันจึงได้จมลึก ฉะนั้น ธรรมะลึกจึงมีอะไรบังมาก ที่ทำให้เห็นได้โดยยาก นี้เป็นธรรมดาของสิ่งที่มีความหมายลึก
        ทีนี้ ยังมีอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ภาษาที่พูด ภาษาที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ มันดิ้นได้ มันกำกวม และขอให้รู้ไว้เถิดว่า คนเรานั้นรู้ภาษาแค่ไหนก็จะรู้ความหมายของสิ่งทั้งปวงเพียงนั้น
            ขอทบทวนอีกทีหนึ่งว่า เรารู้ความหมายของภาษาเท่าไร เราก็จะรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเพียงเท่านั้น เพียงแค่นั้น เราไม่รู้ความหมายของภาษาที่มากไปกว่านั้น; ยิ่งเป็นภาษาที่ลึก มันก็ยิ่งมองเห็นยาก; เพราะว่าแม้เรื่องที่ลึกที่สุดก็ยังต้องใช้ภาษาธรรมดาสำหรับพูดอยู่นั้นเอง
            ทีนี้ เรารู้ภาษาอย่างคนธรรมดา เท่าที่คนธรรมดารู้ รู้ภาษาไทยนี่แหละรู้อย่างเท่าที่คนธรรมดารู้ เราไม่อาจจะรู้ภาษาไทยให้ลึกไปกว่านั้น เพราะว่าเราไม่ได้เอาเรื่องที่ลึกมาพูดกัน บิดามารดาปู่ย่าตายายของเราก็พูดกันแต่ภาษาธรรมดา ๆ ถ้าว่าเราโชคดีมีปู่ย่าตายายรู้ธรรมะลึก พูดภาษาธรรมะลึกมาแต่แรก ๆ แล้ว เราลูกเด็ก ๆ นี้ ก็จะรู้ภาษาถึงขนาดนั้น แล้วก็จะเข้าใจธรรมะขนาดลึกได้ง่าย
            แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เรารู้ภาษาไทยของเราอย่างคนธรรมดา อย่างตามธรรมดา พอเอาภาษาธรรมะอย่างลึกซึ้งมาพูด เราก็เข้าใจอย่างธรรมดา มันจึงผิดได้ เช่นพูดว่าอนัตตา เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาธรรมะเข้ามา มันก็จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทย; พอแปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่าไม่มีตัวตน ความรู้ภาษาตามธรรมดาของเรา มันก็ทำให้เราเข้าใจไปว่าไม่มีอะไรเลย มันก็เลยผิดกันใหญ่
            หรือเมื่อเราได้ยินคำว่ สุญญตา เป็นภาษาบาลี คำนี้แหลว่า ว่าง ความรู้ทางภาษาไทยของเราก็ทำให้เราเข้าใจไปว่า ว่างเหมือนกับท้องฟ้า ไม่มีอะไรเลย แถมมีบางคนไปทำผิดมากกว่านั้น ไปแปลคำว่า สุญญตา ว่า สูญเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย อย่านี้มันก็ยังผิดหนักขึ้นไปอีก
        ภาษาธรรมะที่ยาก มีความหมายอย่างอื่น ครั้นมาถือเอาความหมายตามภาษาของคนธรรมดา มันก็เข้าใจไม่ได้ นี่แหละคำว่า อนัตตา สุญญตา มันเป็นได้อย่างนี้
            พอมาถึงคำว่า ตถตา ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะว่าคำว่า ตถตา มันแปลว่า : อย่างนั้นเอง อย่างนั้นเองโว้ย! อย่างนั้นเอง มันก็ยิ่งอาจจะเข้าใจผิดได้มาก ยิ่งไปกว่าคำว่า อนัตตา หรือว่า สุญญตา ก็เลยเกิดเป็นสองแบบขึ้นมาคืออย่างถูกต้องและอย่างอันธพาล
            ช่วยจำไว้ว่า คำลึกในภาษาธรรมะ ภาษาโลกุตตระนี้ จะเกิดสองความหมายขึ้นมาก คืออย่างถูกต้องและอย่างอันธพาล : อันธะ แปลว่ามือ บอด พละแปลว่า โง่หรืออ่อน รวมกันก็แปลว่ามันโง่อย่างคนตาบอด ประสาอันธพาล; เพราะว่าถูกต้อง มันก็รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร
            บางคนพูดว่า อนัตตา แต่ถือเอาความหมายอย่างอันธพาล แล้วก็เลยหลอกตัวเองโดยเข้าใจผิด; ยิ่งไปกว่านั้นก็ใช้เป็นประโยชน์สำหรับเอาเปรียบผู้อื่นแล้วก็แก้ตัวว่าอนัตตา
            เรื่อง ก็มีทั้งความหมายที่ถูกต้องและความหมายที่เป็นอันธพาล ที่แปลว่า  ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ขึ้นมาแล้วอย่างนี้ มันก็ยังมีความหมายที่ถูกต้อง และมีความหมายที่เป็นอันธพาล : อย่างที่เราเห็นอยู่ เช่นพวกอันธพาลก็ว่าไม่ยึดมั่นถือมัน สำหรับแก้ตัวจะทำความชั่ว หรือทำความอุตริวิตถารอะไรต่าง ๆ ตามที่กิเลสของเขาต้องการ นี่ ความไม่ยึดมั่น มันก็ยังมีฝ่ายที่เป็นอันธพาล และมีฝ่ายที่ถูกต้อง
        ทีนี้คำว่า ตถตา ยิ่งกว้างและยิ่งหลวงมากขึ้นกว่านั้นไปอีก เพราะมันพูดแต่เพียงว่า อย่างนั้นเอง ๆ ถ้าถือเอาความหมายว่า อย่างนั้นเอง ในลักษณะที่เป็น อิทัปปัจจยตา : มันก็ถูก แต่ถ้าถือเอาความหาราย อย่างนั้นเอง ๆ ในทางที่จะปลอบหรือหลอกตัวเอง อย่าให้ไปย่อท้อต่อการที่จะทำไปตามกิเลสแล้ว มันก็เป็นตถตาที่เป็นอันธพาล หนักขึ้นไปอีกเหมือนกัน
            ดังนั้น หลักธรรมที่มีชื่อว่า อนัตตาก็ดี สุญญตาก็ดี ตถตาก็ดี อิทัปปัจจยตาก็ดี ล้วนแต่ลงท่ายว่า ตา ๆ ๆ ๆ นี้ ระหวังให้ดี! มีทั้งที่เป็นความถูกต้องและเป็นอันธพาล
            นี้ไม่ใช่อะไรอื่น เพราะภาษาของเราไม่พอ ภาษาที่เราพูดกันอยู่ตามธรรมดานั้น มันมีไม่พอ มันจึงเป็นอย่างนี้ นี้เราจะต้องรับผิดชอบเอาเอง จะต้องรู้จักระวังเอาเอง : ระวังอย่าให้เอียดไปในทางฝ่ายอันธพาล; ให้ถือเอาความหมายที่ถูกต้อง แล้วก็จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง
            ทีนี้ ถ้ามาเปรียบเทียบดุ ในบรรดาธรรมที่เป็นหัวใจชั้นลึกของพุทธศาสนา ในหลาย ๆ คำก็แล้ว อาตมาเห็นว่า คำว่า อิทัปปัจจยตา นี้ ดีที่สุดคือมันปลอดภัย หรือมันค่อนข้างจะปลอดภัย มันเป็นอันธพาลได้ยาก เพราะมันมีความหมายจำกัดชัดอยู่ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; ไม่ได้กล่าวระบุไปในทางดีหรือทางชั่ว คือเป็นไปได้ทุกอย่าง แล้วมันก็ไม่ได้กล่าวไปในทำนองที่ว่า สุญ หรือว่าง หรือไม่มีอะไร มันแสดงชัดอยู่ว่า : มันมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้พูดไปในทำนองว่า มีตัวตน หรือ ไม่มีตัวตน ก็ดูเอาเองก็แล้วกัน เมื่อมันมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัยแล้ว สิ่งนี้ ๆ จะต้องเกิดขึ้น แกจะเรียกว่ามันมีตัวตน หรือไม่มีตัวตนก็ตามใจแก
        นี้เรียกว่า คำว่า อิทัปปัจจยตา นี้ให้ความปลอดภัยกว่า ดังนั้นจึงขอแนะนำให้สนใจคำ ๆ นี้ให้มากเป็นพิเศษ แล้วก็จะเข้าใจคำว่า อนัตตา สุญญตา ตถตาอะไรได้ถูกต้อง ตรงตามที่เป็นจริง; ไม่มีทางที่จะเป็นอันธพาลไปได้ ถ้าเราถือเอาความหมายของ อิทัปปัจจยตาเป็นหลัก
        ขอให้ช่วยจำไว้ว่า ถ้าเราถือเอาความหมายของ อทัปปัจจยตา เป็นหลักเราจะถือเอาความหมายของคำว่า สุญญตา อนัตตา ตถตา เป็นต้นได้อย่างถูกต้องอย่างไม่มีทางจะเขวไปได้ นี่ขอให้สนใจเรื่อง อิทัปปัจจยตา เป็นพิเศษในข้อที่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยรับประกัน ไม่ให้เราถือเอาความหมายของคำอื่น ซึ่งมันคล้าย ๆ กัน และกำกวมนั้นให้ผิดไปได้
            ทีนี้ สำหรับหลักที่จะเป็นเครื่องวัดหรือทดสอบอะไร มันก็มีอยู่ว่า มันต้องไม่นำไปสู่มิจฉาทิฏฐิ มันป้องกันมิจฉาทิฏฐิ ความหมายของคำว่า อนัตตา สุญญตา ตถตา อะไรก็ตาม ถ้าถูกต้อง มันจะป้องกันการเกิดของมิจฉาทิฏฐิ มันจะไม่นำไปสู่มิจฉาทิฏฐิ
            ถ้าใครพูดว่า ตถตา แล้วเรื่องที่เขาปฏิบัติอยู่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็หมายความว่าเขาเข้าใจ ตถตา ไม่ถภูกต้อง ถ้าเขาเข้าใจ ตถตา ว่าความเป้นอย่างนั้นเอง ถูกต้องแล้ว มันจะไม่นำไปสู่มิจฉาทิฏฐิ; มันจะกลับป้องกันมิจฉาทิฏฐิ
            ความเป็นอย่างนั้นเอง หรือ ตถตา นี้ มันใช้กับคนที่สะเพร่า ไม่ได้; ใช้กับคนที่เห็นแก่ตัว หรือมีกิเลสมากเกินไป ไม่ได้; มันจะแก้ไขความหมายเอาไปใช้ในทางที่เห็นแก่ตัว
            ดังนั้นขอให้ถือว่า ทุกคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้นั้น ท่านมุ่งหมายตรัสแก่บุคคลที่มีความซื่อตรงต่อตัวเอง ถือเอาความจริงเป็นหลักกันทุกคน ซื่อตรงต่อตัวเอง เคารพต่อตัวเอง เอาความซื่อตรงต่อตัวเองเป็นรากฐาน เป็นพื้นฐานเสียก่อน แล้วจึงค่อยตีความหมายของคำว่า ตถตา อนัตตา สุญญตา เป็นต้น; และอย่าให้ผิดไปจากหลักของ อิทัปปัจจยตา ให้ความหมายขอบคำว่า อิทัปปัจจยตา คอยกำกับไว้เสมอ ในการตีความของคำว่ ตถตา หรือสุญญตา หรืออนัตตา
        เมื่อ อิทัปปัจจยตา กำกับอยู่อย่างนี้ ตถตา จะเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้อง สุญญตาจะไม่หมายความว่าสูญเปล่าเหมือนที่เขาพูดกัน มันเพียงแต่ว่างจากส่วนที่ควรยึดถือ มันมีแต่ส่วนที่ไม่ควรยึดถือ จึงเรียกว่ามันว่าง และที่เรียกว่าเป็นอนัตตาก็เพราะว่า มันไม่มีส่วนที่เป็นอัตตาที่แท้จริงที่ตรงไหนได้ มันแล้วแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
            กฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ก็มีประโยชน์อย่างนี้โดยเฉพาะ คือป้องกันการตีความที่ผิด ในหลักของพระพุทธศาสนาที่เป็นชั้นสูงสุดทั้งหลาย ขอให้สังวรระวังในข้อนี้
            ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่อาตมาพยายามเอามาพร่ำพูดกันให้เห็นความสำคัญของการที่เราจะต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายทบทวนดูใน 6 ครั้งที่แล้วมา ก็ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่าทุกอย่าง นั่นนี่ทุกอย่าง เป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา เป็นตัว อิทัปปัจจยตาเสียเอง
            สำหรับวันนี้ ห้าวหาญมาก ถึงกับกล้าพูดว่า แม้พระรัตนตรัย และไตรสิกขา ก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา นี่ฟังดูแล้วคล้ายกับว่า เป็นการจ้วงจาบ แต่ที่จริงมันก็เป็นอย่างนั้น เราจะได้พิจารณากันดูว่า เป็นอย่างไร สำหรับในการบรรยายครั้งนี้ พูดควบกับ 2 เรื่อง คือว่าพระไตรรัตน์และไตรสิกขา ควบกันคราวเดียวกัน 2 เรื่องว่าเป็น อิทัปปัจจยตา ต่อกัน
        เมื่อพูดว่า พระรัตนตรัยกับไตรสิกขา ผู้ที่ศึกษามาแล้วพอสมควร ก็จะเห็นว่า ไตรสิกขานี่แหละเป็นหัวใจของพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยจะเป็นรูปนอกหรือส่วนนอกของไตรสิกขา แต่ความรู้สึกของคนธรรมดาเขาเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอย่าง ๆ ๆ เท่านั้น; นั่นเขาเห็นเพียงภายนอก แต่ในนั้น ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงนั้น มีศีล สมาธิ ปัญญา มีวิมุตติ มีวิมุตติญาณทัสสนะ จะพูดกลับกันอย่างไหนก็ได้ ทั้งสองชุดนี้จะเกี่ยวเนื่องกัน; เป็นปัจจัยแก่กันและกัน : ไตรสิกขาก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมขึ้นมา เพราะว่าพระธรรมนั้น ก็คือไตรสิกขา ทำให้เกิดพระพุทธขึ้นมา ให้เกิดพระสงฆ์ขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเอาธรรมะหรือธรรม 2 หมวดนี้ มาพูดพร้อมกันในคราวเดียวว่า ไตรรัตน์ และไตรสิกขา
            ทีนี้ ก็จะได้ดูกันทีละอย่าง โดยเฉพาะก็คือสิ่งที่เรียกว่า ไตรรัตน์ หรือพระรัตน์ตรัย ว่าเป็น อิทัปปัจจยตา อย่างไร อาตมาจะพูดแต่ลักษณะที่เป็นอยู่อย่างไร เมื่อพูดแล้วท่านทั้งหลายจะเห็นเองว่า สิ่งนี้เป็น อิทัปปัจจยตา อย่างไร
            เมื่อพูดถึงพระรัตนตรัย ก็คือ พระพุทะ พระธรรม พระสงฆ์ ในระหว่างสิ่งทั้ง 3 นี้ มีความเนื่องกันอยู่ในภายใน ความสัมพันธ์กันอยู่ในภายในของสิ่งทั้ง 3 นี้ นี่คือตัวอิทัปปัจจยตา : ความที่สิ่งทั้ง 3 นี้ เป็นปัจจัยแก่กันและกันเนื่องกันอยู่ในภายใน แยกกันไม่ได้ พอแยกก็ล้มละลายหมดไม่มีอะไรเหลือ; ที่อยู่กันมาได้ก็เพราะว่า มันมีอยู่ 3 อย่าง และอาศัยกัน
            ในการสั่งสอนชั้นต้น ๆ ท่านชอบยกอุทาหรณ์ เปรียบว่าเหมือนกับไม้ 3 อันที่อิงกันอยู่ ก็ยืนอยู่ได้ พอปลดออกเสียเพียงอันเดียว มันก็ล้มเสียทั้งหมด นี้เรียกว่าความเนื่องกันในภายใน ความเนื่องกันในภายในอย่างนี้ มีในพระรัตนตรัยพูดเพียงเท่านั้น ท่านทั้งหลายก็พอจะนึกออก
          พระธรรมเป็นสิ่งแรกที่จะต้องนึกถึง พระธรรมนี้ควรจะถือว่าเป็นปฐมเหตุ ศาสนาทุกศาสนาก็มีปัญหาเรื่องปฐมเหตุ อะไรเป็นปฐมเหตุที่ทำให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นและเป็นไป ศาสนาอื่นเขาว่ามีพระเจ้าเป็นปฐมเหตุ พวกเราก็ว่ามีพระรรม พระธรรม เป็นปฐมเหตุ; ถ้อยคำในพระไตรปิฎกก็มีว่า -ธรรมะมี่อยู่ก่อนแล้ว ธมฺโม หเว ปาตุรโหสิ ปุพฺเพ ธรรมะมีอยู่ก่อนแล้วโว้ย! นี่เป็ฯคำของพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาเล่า นี่ปฐมเหตุก็คือธรรมหรือพระธรรม
            ปฐมเหตุนี้ต้องมีอยู่ก่อนสิ่งใดหมด จึงจะเรียกได้ว่าปฐมเหตุ ปฐมเหตุนี้ทำให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไป ๆ ๆ ๆ จนกระทั่งเกิด พุทธะ จนกระทั่งเกิด สังฆะ ถ้าจะถือว่าพระพุทธเกิดเองลอย ๆ นั้นก็ไม่มีใครฟังถูก
            พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นโดยมีเหตุมีปัจจัย จะเกิดขึ้นเองลอย ๆ นี้ มันก็มีไม่ได้ ฉะนั้น ปฐมเหตุก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือพระธรรม
            แต่สิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือพระธรรมนี้มีมาก มีหลายแง่หลายมุม คือมีมากเกินไป : ส่วนที่เห็นเหตุก็มี เป็นผลก็มี; เป็นความรู้ก็มี เป็นการปฏิบัติก็มี แต่ถึงอย่างไรมันก็รวมอยู่ในคำว่า ธรรม
          ธรรม คือสิ่งที่ประหลาดที่สุด ที่อธิบายดวยภาษาธรรมดาไม่หมด อธิบายได้ก็ไม่หมด มันมีส่วนที่เป็นความลึกลับมากมาย จนบางพวกเขาไม่อาจจะเรียกอย่างอื่นได้ เขาจึงเรียกว่าพระเจ้า หรือสิ่งสูงสุด หรือปฐมเหตุ พวกเรานี้ก็เหมือนกัน มันก็ไม่มีทางอื่น นอกจากจะถือเอาว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือพระธรรมนี้เป็นปฐมเหตุให้เกิดสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และมีลักษณะเป็นธรรมธาตุ; ธรรมะ ธา-ตุที่พระสวดเมื่อตะกี้นี้ว่า: สิ่งที่เรียกว่าธรรมธาตุนั้นมันมีอยู่ในตัวมันเอง ตถาคตจะเกิดหรือตถาคตจะไม่เกิด ธรรมธาตุจะมีอยู่แล้วโดยตัวมันเอง
            ธรรมธาตุนี้ก็หลายแง่หลายมุม แล้วแต่จะเล็งกันในแง่ไหน แต่ว่าธรรมธาตุในแง่ไหนก็ตาม ก็คือพระธรรมนั่นแหละ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดพระธรรมก็เป็นอย่างนั้นอยู่ เช่นความเป็นตถตา ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น ความไม่เป็นอย่างอื่น อย่างนี้เป็นต้น มีธรรมเป็นทุกอย่าง จะเป็นเหตุก็ได้ เป็นผลก็ได้ เป็นนิวเคลียสก็ได้ เป็นสิ่งแวดล้อมก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ร่วมอยู่ในคำว่าพระธรรมอย่างเดียว
          ส่วนที่เป็นอิทัปปัจจยตจา ก็มีหน้าที่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเป็นไป ๆๆ จนเกิดพระพุทธเจ้า จนเกิดพระสงค์ขึ้นมาในโลก จนเกิดพระศาสนาขึ้นมาในโลก จนได้มีพวกเรามานั่งเป็นพุทธบริษัทกันอยู่ที่นี่
            ขอให้เข้าใจว่า ที่เรามานั่งกันอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เพราะจะคิดค้าขาย หรือคิดจะทำอะไรอย่างพวกชาวบ้าน เรามานั่งกันที่นี่ในฐานะเป็นพุทธบริษัท เพื่อจะทำความเข้าใจในพุทธศาสนาให้ยิ่งขึ้นไป เกิดพวกพุทธบริษัทกลุ่มหนึ่งมานั่งอยู่ท่านี่ นี้มันมีมูลเหตุมาจากอะไร ขอให้คิดดู มันเป็นเนื้อตัวของ อิทัปปัจจยตา ที่บันดาลมาโดยลำดับ ๆ ๆ ตั้งแต่ปฐมเหตุ ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก เกิดพระสงฆ์ขึ้นในโลก ทำให้เกิดพุทธบริษัทขึ้นในโลก ความต้องการของพุทธบริษัท คือพวกเรานี้ ทำให้เรามานั่งกันอยู่ที่นี่
            นี้มันควรจะมองเห็นปฐมเหตุกันในลักษณะอย่างนี้ นั้นคือพระธรรม เราจึงนึกถึงพระธรรมก่อน เพราะมีอยู่ก่อนสิ่งใดในโลก เหมือนกับคัมภีร์คริสเตียน เขาก็ถือว่า พระเจ้านี้มีอยู่ก่อนสิ่งใดในโลก เราก็ว่าพระธรรมนี้มีอยู่ก่อนสิ่งใดในโลก
            เรื่องถัดมาก็คือเรื่อง พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในแง่ที่เป็นบุคคลเราเรียกว่าพระพุทธเจ้า เดี๋ยวจะไปนึกเสียว่า : ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม เอาพระธรรมกับตถคตเป็นอันเดียวกัน อย่างนี้จะฟังไม่พูด เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงพระพุทธเจ้ากันในลักษณะที่เป็นบุคคล ที่จะตรัสรูธรรม ที่จะพบธรรมธาตุ แล้วจะเปิดเผยธรรมธาตุ
            นี้ก็หมายความว่า พุทธะนี้ คือผู้หรือต้นเหตุอีกอันหนึ่ง ซึ่งทำให้ธรรมหรือพระธรรมปรากฏออกมา พระธรรมไม่ปรากฏแก่จิตใจของมนุษย์ ทั้งที่มีอยู่ในที่ทั่วไป หรือในตัวบุคคลนั้นเอง; แต่พระธรรมนั้นยังไม่ปรากฏแต่จิตใจของมนุษย์ จนกว่าจะเกิดบุคคลชนิดที่เป็นพระพุทธเจ้า
        เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นเพราะพระธรรม เพราะรู้ธรรม ครั้นรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทำให้ธรรมะนี้ปรากฏ จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นเหตุที่ให้ธรรมปรากฏออกมาในโลก ปรากฏขึ้นในโลก แล้วก็แพร่หลายไปในโลก แล้วทำให้มีประโยชน์เกิดขึ้นแก่โลก เพราะการที่ธรรมมีอยู่ในโลก
            ประโยชน์ที่เกิดจากพระธรรมมีขึ้นในโลก คือโลกเต็มไปด้วยประโยชน์ที่สูงสุด จนกระทั่งเกิดพระสงฆ์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ไม่เกิดพระสงฆ์ นี้มันเห็นชัดอยู่ : แต่ว่าถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า พระธรรมก็ไม่ปรากฏ แก่จิตใจของสัตว์ธรรมดา
          พระพุทธเจ้า คือ สัตว์ที่ถึงที่สุดของความเจริญทางจิตใจ คือสิ่งที่เรียกว่าโพธิ คนธรรมดากลายเป็นพระพุทธเจ้าไปดังนี้ ก็เพราะกฎของ อิทัปปัจจยตาที่ให้เป็นถูกธรรม ในลักษณะที่เป็นวิวัฒนาการที่ถูกต้อง; ในโลกนี้จึงเกิดบุคคลชนิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา
        ทีนี้ ก็ดูกันให้ดี พระสงฆ์นี้เล่า ที่ปลีกตัวออกไปได้ ก็มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอน; เกิดพระสงฆ์ขึ้นมา เป็นพระสงฆ์จริงก็เพราะพระธรรมที่ได้รับจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ตรัสว่า เราเสกให้คนเป็นพระสงฆ์ได้ แต่ท่านแนะให้บุคคลประพฤติธรรมจนเป็นอริยบุคคล เป็นอริยสงฆ์ 4 คู่ 8 องค์ อะไรขึ้นมาได้; พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นเพราธรรม ที่ได้รับการชี้แจงจากพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็ได้รับผลของธรรม แล้วได้เผยแพร่ธรรม ได้สืบอายุพระธรรม
            ใครจะพูดคำไหนก็กลายเป็น อิทัปปัจจยตา คำนั้น พระสงฆ์เกิดขึ้นเพราะพระธรรม นั่นแหละคือลักษณะของ อิทัปปัจจยตา คือเพราะบันดาลของพระธรรม หรือจะพูดว่า พระสงฆ์เกิดขึ้นเพราะพระพุทธเจ้า ทำให้บุคคลมีความสว่างไสวเกิดเป็นหมู่คณะนี้ขึ้นมา นี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา คือเพราะพระพุทธเจ้าการได้รับผลของธรรมนี้ มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา การที่เผยแผ่ธรรมะให้กว้างออกไปให้มากออกไป มันก็ไม่ผิดไปจากกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา นี้มันเป็นกฎเจ้านาย เสียเรื่อยไปอย่างนี้
        ที่นี้ สืบอายุพระธรรมไว้ได้ สืบอายุพระศาสนาไว้ได้โดยพระสงฆ์ มันก็มีลักษณะแห่ง อิทัปปัจจยตา อยู่ในการสืบอายุพระศาสนา เพราะมีการสืบจึงมีอยู่เพราะมีการสืบที่ถูกต้อง มันจึงมีอยู่อย่างนี้
            นี่จะเห็นได้ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง 3 อย่างนี้ แยกกันไม่ได้ เหมือนไม้ 3 อัน อยู่ได้ด้วยการที่มีความเนื่องกันในภายใน สัมพันธ์กันในภายในตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา จึงอยู่ได้ เมื่อเราพูดว่าเนื่องกันก็ตาม เมื่อเราพูดว่าสัมพันธ์กันก็ตาม อะไรก็ตาม มันเป็นความหมายของ อิทัปปัจจยตาไปหมด นี้เรียกว่า เราดูกันที่ตัวที่องค์ ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็พบแต่อิทัปปัจจยตา อย่างที่ว่ามานี้
            ทีนี้ เราจะดุกันที่มูลเหตุ : เพราะเหตุใดจึงได้เกิดพระรัตนตรัยขึ้นในโลก? คิดดูให้ดีว่า เหตุใดจึงเกิดมีพระรัตนตรัยขึ้นในโลก เพราะใคร ๆ ก็พูดได้อย่างไม่ผิดว่า ก่อนนี้ก็ไม่มีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลก : และพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกทีหลัง ในลักษณะอย่างไร?
            นี้ขอเตือนว่า ถ้ามีแต่พระธรรม ยังไม่เรียกว่า พระรัตนตรัยนะ ถ้าเรียกว่าพระรัตนตรัย ต้องครบทั้ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
            เหตุที่ทำให้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลก พูดอย่างที่ไม่ต้องกลัวผิด คือกำปั้นทุบดินแล้วไม่มีผิด ว่ามันเพราะ อิทัปปัจจยตา เพราะอำนาจของ อิทัปปัจจยตา พระรัตนตรัยจึงได้เกิดขึ้นในโลก
            ดูกันไปซิ! ดุกันไปทีละอย่าง ว่าโลกในสมัยแรกที่สุด ที่มนุษย์ยังไม่มีโลกในสมัยที่มนุษย์ยังไม่มี หรือว่าไม่มีสิ่งที่มีชีวิตเลยก็ได้; แล้วโดยกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ทำให้เกิดสิ่งที่มีชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นสัตว์เซลล์เดียว เป็นสัตว์หลายเซลล์ เป็นประเภทพืช ประเภทสัตว์ขึ้นมา นี่คือกฎของ อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ ก็มาถึงสัตว์ที่มีชีวิต มันมีสัตว์ขึ้นมาในโลกนี้แล้ว กระทั่งว่ามันมีคนขึ้นมาในโลกนี้แล้ว แต่มีคนในระดับที่เหมือนสัตว์ คนที่ยังไม่รู้อะไร ยังครึ่งคนครึ่งสัตว์ หรือยังเหมือนสัตว์
            นี่โลกในสมัยนั้น มันรู้จักแต่เรื่องทางวัตถุ ที่มันเป็นได้เพียงเท่านี้ มันก็เพราะกฎเกณฑ์ อิทัปปัจจยตา มันมีเพียงเท่านี้ มันทำได้เพียงเท่านี้ โลกวิวัฒนาการมาได้เพียงแค่ว่า มีสิ่งที่มีชีวิตเป็นสัตว์หรือมีคนชนิดที่ยังคล้ายสัตว์ รู้จักแต่วัตถุ
            ช่วยหลับตานึกกันสักหน่อยว่า ในสมัยนู้น สมัยที่โลกมีแต่คนที่ยังคล้ายสัตว์ เขาไม่มีความรู้เรื่องจิตใจ รู้แต่เรื่องทางวัตถุ เหมือนวัวควายในทุ่งนาเวลานี้ จะรู้แต่เรื่องทางวัตถุ หญ้ากินเข้าไป หรืออะไรก็ทำลงไป มันก็เป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น เรื่องจิตใจยังไม่มี นี่โลกในสมัยที่รู้จักแต่วัตถุเพราะ อิทัปปัจจยตา มันทำได้เพียงเท่านั้น มันมีเพียงเท่านั้น
            ด้วยอำนาจของ อิทัปปัจจยตา มันไม่ยอมให้หยุด มนบันดาลให้ดิ้นรนวนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอีก มันก็มาถึงสมัยที่โลกได้เปลี่ยนมาเป็นโลกอีกระดับหนึ่ง คือมาถึงสมัยที่มนุษย์หรือคนนี่ จะทนทำอย่างสัตว์อยู่ไม่ได้อีกต่อไป ขอให้มองดูให้ดีว่ามันมีคนทีแรก แต่มันยังทำอย่างสัตว์ ครั้นมาถึงสมัยหนึ่ง คนพวกนั้นมันทนไม่ได้ ที่จะทำอย่างสัตว์อยู่อย่างนั้น มันจึงเปลี่ยนแปลง ๆ ๆ มาทำอะไรผิดไปจากสัตว์
            นี่ก็คือ อิทัปปัจจยตา ทำให้เกิดกฎหมายขึ้นมา กฎหรือระเบียบขึ้นมาในหมู่สัตว์เล่านั้น กระทั่งเกิดศีลธรรมขึ้นมาในหมู่คนเหล่านั้น นี่ไปอ่านเรื่องกำเนิดของธรรมศาสตร์ของศีลธรรมของกฎหมายดู ว่ามันมีความเจริญขึ้นมา ในลักษณะที่จะปล่อยไปเหมือนเดิมไม่ได้ จึงสมมติพระเจ้าสมมติราช คนแรกขึ้นมาในโลก มีกฎเกณฑ์อย่างนั้น มีกฎเกณฑ์อย่างนี้ ในชั้นที่เรียกว่า Primitive กันนั่นแหละ มันก็มีมนุษย์ที่ทนอยู่ไม่ได้ที่จะอยู่ตามเดิม มันเปลี่ยนมาถึงขนาดที่จะต้องมีความรู้ทางกฎหมาย ทางศีลธรรม แล้วมันก็ดีขึ้น ๆ ๆ โดยกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา
            ต่อมาก็มาถึงสมัยที่สูงขึ้นไปอีก ก็สมัยที่โลกหรือคนในโลกไม่อาจจะพอใจอยู่ได้เพียงแค่ผลของศีลธรรมหรือกฎหมาย นี้หมายความว่า ทีแรกนั้นเขาพอใจอย่างยิ่งในผลของศีลธรรมและกฎหมาย ยกมือท่วมหัว ร้องตะโกนว่าราชา ๆ ๆ ๆ นี้ นี้ถือเอาตามข้อความในพระบาลีทีฆนิกาย
        คำว่า ราชา เกิดขึ้นเพราะประชาชนพอใจ ในความสงบสุขที่ได้รับจากกฎเกณฑ์ที่บุคคลนั้นได้ช่วยตั้งขึ้นและรักษา คำว่า ราชา ราชา นี้แปลว่า พอใจ ๆ ยินดี พอใจ ร้องตะโกนว่า ยินดี พอใจ นั้นแหละเป็นภาษาบาลีว่า ราชา คำแรกหลุดออกมา เรียกคนนั้นว่า ราชา เพราะเขาทำความพอใจให้ถึงที่สุด
            ต่อมา มนุษย์ไม่อาจจะพออยู่เพียงแค่ผลของศีลธรรม หรือกฎหมายมันจึงเกิดมนุษย์อุตริดิ้นรนต่อไปอีก ไปหาสิ่งที่จะให้เกิดผลดีในทางสันติสุข สงบสุขในจิตใจที่ยิ่งไปกว่าผลทีกฎหมายหรือศีลธรรมจะช่วยบันดาลให้ได้ นี้มันจึงเกิดสิ่งที่สูงกว่านั้นขึ้นมา คือธรรมะที่สูงไปกว่าศีลธรรมและกฎหมาย คือความเป็นสุขที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุ ไม่ต้องอาศัยการเนื่องด้วยสังคม ไม่ต้องอาศัยของนอก ๆ อย่างนั้น แต่เป็นความสุขที่อาศัยเรื่องทางจิตใจ อันลึกซึ้งอย่างยิ่ง คือเกิดสิงที่เรียกว่า ฌาน หรือวิปัสสนาขึ้นมา
            การปฏิบัติทางจิตใจเพื่อให้จิตสงบเย็นแน่วแน่ไป นี้เรียกว่า ฌาน; ส่วนการค้นคว้าที่ให้รู้แจ้งในความจริงต่าง ๆ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เรียกว่า วิปัสสนา
            ทีนี้ คนก็มาสนใจความสุข ที่สูงไปกว่าที่จะได้รับจากวัตถุ หรือจากกฎเกณฑ์ หรือจากศีลธรรม มาสนใจความสุขที่จะได้จากฌาน หรือจากวิปัสสนาค้นคว้าในเรื่องนี้มากขึ้น ๆ ๆ ในระยะหนึ่ง วิปัสสนาก็เป็นไปถึงที่สุด เกิดบุคคลประเภทปัจเจกพุทธะ หรือพระปัจเจกพุทธเจ้าขึ้นมาก่อน ได้รับประโยชน์สุขสูงสุดเป็นนิพพานเหมือนกัน แต่ไม่ทำหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับผู้อื่น ไม่สอนผู้อื่นเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
            นี่พระรัตนตรัยยังไม่เกิด การที่เกิดแต่พระปัจเจกพุทธนี้ เรียกว่าพระรัตนตรัยยังไม่เกิด; แต่ก็ได้เกิดประปัจเจกพุทะขึ้นมาแล้ว ตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ของมนุษย์ที่ไม่พอใจแต่เพียงผลของศีลธรรมหรือกฎหมาย มันมีความผลักดันอย่างยิ่งในภายใน ที่ทำให้มนุษย์ทนอยู่ไม่ได้
            ทีนี้ต่อมา ตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา อีกเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดบุคคลประเภท สัมมาสัมพุทธะ ขึ้นมาในโลก นี้ก็ไม่ต้องอธิบาย ก็มี พระธรรม พระสงฆ์ติดตามมา; พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีขึ้นจนครบถ้วนบริบูรณ์ทั้ง 3 อย่าง เรียกว่ามีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ปรากฏแล้วในโลกนี้ด้วยอำนาจของอิทัปปัจจยตา ที่มันผลักดันอยู่ภายในแห่งจิตใจของมนุษย์ ต้องการสิ่งที่ดีกว่า จริงกว้า ประเสริฐกว่า ไม่มีหยุด หมันจึงได้เกิดสิ่งที่ประเสริฐที่สุดขึ้นมาในโลกนี้เรียกว่ามันเป็นไปตามความผลักดันแห่งกฎ อิทัปปัจจยตา
            กฎเกณฑ์อันนี้ควรจะเรียกว่า พระเจ้าในพุทธศาสนา บันดาลให้สิ่งต่างเกิดขึ้นและเป็นไป ในศาสนาไหนก็ตาม ถ้ามีพระเจ้าจริง ต้องมีความหมายอย่างนี้ ถ้ามีพระเจ้าอย่างเป็นบุคคลอย่างนั้นอย่างนี้ นั้นเป็นพระเจ้าสำหรับลูกเด็ก หรือคนแก่ที่มีความรู้สึกอย่างลูกเด็ก ๆ มีพระเจ้าอย่างเป็นบุคล คือว่าพระเจ้าอย่างที่เขาพูดกันนั่นแหละ นั้นพระเจ้าสำหรับลูกเด็ก ๆ อย่าเอามาปนกันกับพระเจ้า อิทัปปัจจยตา
        พระเจ้า อิทัปปัจจยตา เป็นพระเจ้าจริง สร้างสิ่งทั้งหลายได้จริง ควบคุมสิ่งทั้งหลายได้จริง ทำลายสิ่งทังหลายได้จริง เรียกว่าวิวัฒนาการของสิ่งทั้งหลายทางกายก็ดี ทางใจก็ดี เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ซึ่งควรเรียกว่าพระเจ้า
            นี่เรียกว่ามีความสูงสุดขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้ ขนาดมีพระรัตนตรัยในโลกนี้ เพราะอำนาจของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นอาตมาจึงระบุว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นพระรัตนตรัย อย่างน้อยก็โดยกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา และความเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น มันก็คือเป็นตัว อิทัปปัจจยตา อยู่ในตัว ทำให้เกิดภาวะสูงสุดขึ้นในหมู่มนุษย์ พ้นจากความเป็นทาส คำนี้ฟังไม่ค่อยไพเราะ แต่เป็นความจริงอย่างยิ่ง :  ก่อนนี้เราเป็นทาส เป็นขี้ข้า เป็นทาส เดี่ยวนี้เราหลุดพ้นจากความเป็นทาส เพราะการเกิดขึ้นแห่งพระรัตนตรัย
            ขอให้มองดุกันง่าย ๆ ทั่ว ๆ ไป สิ่งที่มีชีวิตทังหลายเป็นทาสของอวัยวะแห่งกามราคะ อวัยวะแห่งการสืบพันธ์ก็ตาม อวัยวะแห่งกามราคะก็ตาม เป็นนายเป็นพระเจ้าเหนือสัตว์ที่มีชีวิต นี่สัตว์ทังหลายเหล่านั้นเป็นทาสของอวัยวะแห่งกามราคะ ต่อเมื่อรู้ธรรมะ อิทัปปัจจยตา ถึงที่สุดอย่างพระพุทุเจ้าสอนจึงจะเป็นไทพ้นไปจากความเป็นทาสของอวัยวะแห่งกามราคะ จะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรืออะไรก็ตามใจ ซึ่งล้วนแต่เป็นอวัยวะที่จะให้ตกเป็นทาสแห่งกามราคะ
            ทีนี้ ก็พ้นจากความเป็นทาสของความที่ต้องโกรธ ความที่พอมีอะไรมาให้โกรธ เราก็ต้องโกรธ เราโกรธเป็น โกรธเก่ง โกรธง่าย โกรธได้ง่าย ๆ นี้เราเป็นทาสของความเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เดี๋ยวนี้เราก็พ้นจากความเป็นทาส เพราะการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระพุทธเจ้า
            ทีนี้เราพ้นจากความเป็นทาสของความกลัว เรากลัวตาย จะเข้าโลงอยู่แล้ว ก็ยังกลัวตาย นี่ไปดูก็แล้วกัน เด็ก ๆ ก็กลัวตาย อะไรก็กลัวตาย เป็นทาสของความกลัว เดี๋ยวนี้ก็พ้นจากความเป็นทาส เป็นไท คือไม่กลั้ว
            ด้วยอำนาจของความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ทำไม่ให้กลัวสิ่งใด จะเป็นความตาย หรือยิ่งไปกว่าความตาย หรืออะไรก็ตามใจ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวแล้ว นี่เมื่อรู้จักตัว อิทัปปัจจยตา ถึงที่สุด มันพ้นจากความเป็นทาส แต่เป็นไท พ้นจากความเป็นทาสของความโง่ ความหลง ความพะวง ความสงสัย ความยึดมั่นถือมั่น ก่อนนี้เราเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เราเป็นไท เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทำให้รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา
            ลองคิดดูซิ พ้นจากความเป็นทาสของอวัยวะแห่งกามราคะอย่างเดียวเท่านั้น ก็วิเศษประเสริฐแสนที่จะกล่าว แต่คนไม่ชอบ คนทั่วไปในโลก สัตว์ทั่วไปในโลก ไม่ชอบที่จะพ้นจากความเป็นทาสของอวัยวะแห่งกามราคะเป็นต้น นี้มันจึงเป็นทาสของกามราคะ หรือเป็นทาสของการสืบพันธุ์ หรือเป็นทาสของความยุ่งยากลำบากต่าง ๆ มันต้องการด้วยความโง่ ด้วยอวิชชาสัมผัสต่ออารมณ์เหล่านั้น แล้วมันก็สมัครเป็นทาส ไม่ต้องการเป็นไท อย่างนี้ อิทัปปัจจยตา ฝ่ายตรงกันข้ามมันช่วยให้สำเร็จ คือเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดทุกข์แน่นอนเด็ดขาดเหมือนกัน มันช่วยให้สำเร็จตามนั้น ให้ได้เป็นทุกข์
            ทีนี้ถ้าว่า เราได้รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ดี แจ่มแจ้ง แท้จริง มันกลับเป็นตรงกันข้าม คืออิทัปปัจจยตา ในส่วนที่จะช่วยให้ชนะต่อสิ่งที่จะทำให้เป็นทุกข์ นี่คนธรรมดาเขาไม่ชอบ เขาต้องการเป็นทาส เป็นทาสของอารมณ์ เป็นทาสของความโลก ความโกรธ ความหลง เขาสมัครอย่างนั้น แต่ว่าความรู้ที่แท้จริงนั้นมันตำไปสู่ความเป็นไท
            นี้ลองคิดดุก็แล้วกดัน ว่าได้พ้นจากความเป็นทาสของอารมณ์เหล่านี้ มันเป็นเรื่องบ้าหรือเรื่องดี นี่ขออภัยที่ว่าพูดตรง ๆ อย่างนี้เพื่อประหยัดเวลา ว่าพ้นจากความเป็นทาสของกิเลสตัณหานี้ มันเป็นเรื่องบ้าหรือเรื่องดี ถ้าเป็นเรื่องดี ทำไมจึงไม่ทำกัน เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นเรื่องที่ หลงเอาเรื่องบ้าเป็นเรื่องดี มันเป็นเรื่องดีของคนบ้า มันควรจะให้กลายเป็นเรื่องดีของคนดี มันเป็นเรื่องต่ำหรือว่าเป็นเรื่องสูง มันก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ
            ถ้ามันรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา มันก็รู้เรื่องสูงอย่างถูกต้อง ถ้ามันรู้อิทัปปัจจยตา ไม่ดี มันก็เอาเรื่องต่ำมาเป็นเรื่องสูง แล้วก็สมัครเป็นทาส ทีนี้เราต้องการให้เป็นไปในทางที่ดี ถูกต้องหรือควรจะเป็น มันก็ต้องเป็นไปในทางที่ว่ามันจะดับทุกข์ได้ ไม่เป็นทาส แต่เป็นไท : ต้องการจะเอาชนะความทุกข์ให้ได้ตามกฎเกณฑ์นี้ นี้ก็คือการช่วยเหลือของไตรสิกขา
        อิทัปปัจจยตา ในฝ่ายดี ฝ่ายถูกนั้น เราจะเรียกว่าไตรสิกขา พอเรามีไตรสิกขา ก็หมายความว่า เรามีเรื่องของอิทัปปัจจยตา ฝ่ายที่ดีแท้ ไม่หลงเอาผิดเป็นถูก เอาชั่วเป็นดี เหมือนปุถุชนทัวไป : ก็เลยต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขากันอีกเรื่องหนึ่ง ตามหัวข้อที่ว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นพระรัตนตรัยและเป็นไตรสิกขา
            พอมาถึงเรื่อง ไตรสิกขา ก็อยากจะขอให้ระลึกถึงคำที่พูดไปหยด ๆ นี้ว่า ไตรสิกขาที่เป้นความก้าวหน้าความเจริญนี้ มันก็เกิดขึ้นจากการทนอยู่ไม่ได้ ในการที่จะทนอยู่ในสิ่งที่ต่ำทราม เราทนอยู่ไม่ได้อีกต่อไป ในการที่จะทนอยู่ในสิ่งที่มีนต่ำทราม เพราะความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา หรือกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตาอีกนั่นเอง ที่มันทำให้เราทนอยู่ไม่ได้ ที่จะทนอยู่ในสิ่งที่เลว ๆ หรือต่ำ ๆ หรือเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขา คือระเบียบปฏิบัติสำหรับปลดเปลื้องเสียจากความทุกข์นี้มันก็มีขึ้นมา แต่มันก็คือกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ส่วนหนึ่งอีกนั่นเอง
        ลำดับแรกเราได้รับความทุกข์ แล้วเราไม่ยอมทน เราคิดจะแก้ไข ทีนี้ลำดับ 2 เราเห็นว่า มันยังมีความสุขที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เราก็ไม่ยอมหยุด เราก็ก้าวหน้า นี่ขอให้มองดุให้ดี ๆ ว่า มันต้องเป็นมาอย่างนี้ มนต้องเดินมาอย่างนี้ ในขั้นแรกเราต้องเห็นว่า เท่าที่มันเป็นอยู่นั้น มนทนไม่ได้ มันเป็นความทุกข์ มันทนไม่ได้และไม่ยอมทน จึงค้นคว้า ๆ และแก้ไข ๆ พอปัญหาหรือความทุกข์ในระดับนั้นหมดไป หรือพอทนได้ เราก็เกิดมารู้ในลำดับต่อไปลำดับที่ 2 ว่า มันยังมีที่ดีกว่านั้นอีก คือสูงไปกว่านั้นอีก ฉะนั้นเราจึงค้นคว้าต่อไป แก้ไขต่อไป ไม่ยอมหยุด เราก็เลยถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านเรียก
            ท่านไม่ได้เรียกอะไรมากมาย วิเศษวิเสโสเหมือนพวกเราอยากจะเรียก; ท่านเรียกว่า : อนฺโต ทุกฺขสฺส ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์; เท่านั้นพอ อย่าไปพูดถึงความสุขสวรรค์วิมาน มันจะบ้าหนักขึ้นไปอีก อย่าลืมว่าเราไม่ยอมทนอยู่ในปัญหายุ่งยากลำบาก แล้วต่อมาเรารู้ว่า ยังมีดีกว่านั้นอีก ที่สูงไปกว่านั้นอีก เราก็ทำจนถึงที่สุด แล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าดับทุกข์หรือสิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นพระนิพพานมีความหมายเพียงเท่านี้ อย่าไปเข้าใจผิด ๆ ให้มันมากไปกว่านี้
            นี่แหละคือการที่สัตว์ในโลกดิ้นรนค้นคว้า แก้ไข จนเกิดบุคลประเภทพระพุทธเจ้า ฟังดูคล้าย ๆ กับว่าเรื่องนิดเดียว แต่เรื่องมันมาก ต้องมีมาเป็นลำดับ ๆ ๆ ๆ ไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ มาเป็นลำดับ ๆๆจนเกิดพระพุทธเจ้า ช่วยทำให้ทุกคนเพื่อรวมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันนี้ พ้นจากทุกข์ได้ หรือดับทุกข์ได้
            ตรงนี้อยากจะพูดเป็นสิ่งที่พิเศษสักหน่อยว่า สิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญา นี้ มันก็เคยมีในระดับต่ำ ๆ มาก่อน ไม่ถึงกับทำให้บรรลุนิพพานได้ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า ไตรสิกขา นี้จะต้องมีมากแล้วก่อนพระพุทธเจ้าเกิด แต่เป็นไตรสิกขาชนิดที่ต่ำ ๆ มีศีล สมาธิ มีปัญญา ครบทั้ง 3 อย่าง แต่ว่ายังต่ำอยู่ ต่อเมื่อเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะถึงที่สุด แล้วมันจึงเกิดผลที่สูงสุดและแท้จริง คือนิพพาน
            เพราะฉะนั้น คนหรือครูบาอาจารย์ก่อนพระพุทธเจ้า ก็ได้พบหลัก 3 ประการนี้ เพราะว่าหลัก 3 ประการนี้ มันเป็นของสากลตามธรรมชาติ อิทัปปัจจยตา ตามธรรมชาติ บีบบังคับให้เกิดขึ้นมาในความรู้สึกได้
            ขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ โดยเข้าใจคำ 3 คำนี้ให้ดี ว่ากฎของไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ มันเป็นความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ยอมหยุดในการที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีขึ้นไป นั่นแหละเรียกว่าวิวัฒนาการทางจิตใจ ทางวิญญาณ
            พอเอ่ยถึง วิวัฒนาการ มันก็กลายเป็นเรื่อง อิทัปปัจจยตา ไปทันที ไม่มีอะไรวิวัฒนาการได้โดยปราศจาก อิทัปปัจจยตา ทีนี้ตามความรู้สึกของสัญชาตญาณที่ขวนขวายจะพบสิ่งที่พอใจนี้ หรือดับทุกข์ได้เป็นที่พอใจนี้ มันทำให้ไม่หยุด มันก็พบได้ในที่สุด แม้ว่าจะเคยพบสิ่งผิด ๆมาตั้งหลายครั้งหลายหน ก่อนแต่จะพบสิ่งที่ถูก ฉะนั้นจึงมีศาสดานานาชนิด สอนอย่างนั้น สอนอย่างนี้ สอนอย่างโน้น เหลือซากอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ แต่พระพุทธเจ้าท่านไปของท่านอย่างถูกต้องเรื่อยไปจนถึงที่สุด มันก็เหมือนกับว่ามาเสริมยอดให้แก่ไตรสิกขาที่เขาค้นพบเพียงครึ่ง ๆ กลาง ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ที่ว่าเราเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
            เอาละทีนี้จะขอร้องสักนิดหนึ่งว่า ช่วยสังเกตกำหนดจดจำให้ดี ๆ ในความหมายของคำ 3 คำนี้ คือไตรสิกขานี้ คือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ 3 คำ
            คำว่า ศีล นั้น อย่าหลับหูหลับตา ทำจิตใจแคบ ๆ พูดแต่ว่า : ปาณาติปาตา อะไรอย่างนั้น นั่นมันเป็นศีลของลูกเด็ก ๆ ที่เห็นและพูดตามที่ผู้ใหญ่สอน คำว่า ศีล นั้นต้องจำกัดความลงไปว่า ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ทางกาย ทางวาจา ทั้งส่วนตัวและส่วนสังคม กาย วาจาของเราเป็นไปอย่างถูกต้อง ทั้งทางส่วนตัวและสังคม นี้คือการบัญญัติหรือจำกัดความทั้งหมดของคำว่าศีล ไปค้นเอาเถอะ ศีลกี่สิบข้อ ร้อยข้อ พันข้อ หรือว่ามันจะมีสักกี่แสนข้อก็ตามใจ คำว่าศีลจะต้องมีความหมายเพียงเท่านี้ คือ กาย วาจาที่เป็นไปอย่าถูกต้อง ทั้งเพื่อส่วนตัว และเพื่อสังคม
            ดังนั้นทุกคนตั้งศีลได้เอง และจะถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตั้ง ถ้าถือหลักอันนี้; นี่พูดอย่างนี้คล้ายกับจ้วงจาบพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นความจริงที่สุดเพราะพระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายอย่างนี้ในการบัญญัติศีล ทีนี้เมื่อเราทำตรงความมุ่งหมายของท่าน สิ่งที่เราบัญญัติขึ้นมา ก็เหมือนกันกับที่ท่านบัญญัติ; ฉะนั้นเราอาจจะมีศีลของเราได้ และเป็นศีลจริงด้วย และมีกันจริง ๆ ด้วย ไม่ใช่มีแต่ปาณาติปาตา เหมือนนกแก้วนกขนทอง ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น
            พูดว่า ศีล แต่มันแก้ไม่มีศีล รักษาศีลจนตาย ก็ไม่เคยมีศีล เพราะว่าไม่เข้าถึงใจความอันสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าศีล คือความถูกต้องทางกาย ทางวาจาทั้งเพื่อส่วนตัวและส่วนสังคม
            ทีนี้ คนเข่าก็จะแย้งว่า อย่างไรเรียกว่าถูกต้อง? รู้ได้เองหรือ?  บอกว่ารู้ซิ ถ้ามันไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตัวเองก็ไม่เดือดร้อน นั่นแหละคือถูกต้อง อย่าไปหยังให้ใครมาช่วยบอกช่วยชี้ว่าถูกต้องเรารู้ของเราเองว่า นี่มันไม่ทำอันตรายใคร ไม่ทำอันตรายตัวเรา และไม่ทำอันตรายผู้อื่น นั่นแหละคือถูกต้อง; ฉะนั้น กาย วาจา ที่ไม่ทำอันตรายตัวเราเอง ไม่ทำอันตรายผู้อื่นด้วย นั่นคือถูกต้อง และก็เป็นศีลเท่านั้น
            ทีนี้ ก็มาถึงสมาธิ สมาธิคือความมีจิตใจที่อบรมดีแล้ว คือมีสมรรถภาพแล้วก็พร้อมที่จะมีความสุขตามธรรมชาติ : จิตใจที่อบรมดีแล้ว เท่านี้ก็พอ สมาธิพูดแต่เพียงว่า จิตใจที่อบรมดีแล้ว เท่านี้แหละพอ; แต่ต้องประกันไว้อีกหน่อยว่ามันจะไม่ผิดไปได้ ก็คือว่า มีสมรรถภาพในการที่จะทำหน้าที่ของมัน แล้วก็พร้อมที่จะมีความสุขตามธรรมชาติ
        ขอให้มองดูว่า เราอบรมจิตใจนี้ อบรมท่าไหนก็ตามใจเถอะ การอบรมจิตใจโดยหลักของสมาธินี้ คืออบรมให้มันมีสมรรถภาพ เมื่อมันมีสมาธิแล้วมันก็กลายเป็นจิตใจที่มีสมรรถภาพ ที่จะทำการงาน ทำหน้าที่ทางจิตใจได้ถึงที่สุดแล้วพร้อมกันนั้น มันมีการได้รับความสุขตามธรรมชาติ ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จะมีความสุขอยู่ในจิตใจที่เป็นสมาธิ ได้เองตามธรรมชาติ
        ฉะนั้น ผลที่ได้มันจึงเกิดเป็น 2 อย่าง คือ จิตใจที่มีสมรรถภาพ และจิตใจที่มีความสุข อยู่ได้ตามธรรมชาติ ถ้ามีจิตใจอย่างนี้ เรียกว่ามีสมาธิ มีความเป็นสมาธิในจิตใจนั้น
            ลองคิดดู มันเป็นของสากลหรือไม่สากล? มันต้องการกันแต่พวกพุทธบริษัทหรือว่าคนทั้งโลกก็ต้องการ? จิตใจชนิดนี้มันต้องการกันแต่พวกเรา หรือคนทั้งโลกเขาก็ต้องการ? จะเห็นว่าคนทั้งโลกก็ต้องการ เพราะเหตุไร? เพราะธรรมชาติมันกำหนดไว้อย่างนั้น; เพราะว่า อิทัปปัจจยตา กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมันผลักมาแต่ในทางอย่างนี้ มันจึงต้องการเหมือนกันทุกคน แต่แล้วไปทำผิดทำเขวเสียเอง จนเกิดแตกแยกกัน
            ทีนี้ มาถึง ปัญญา สิ่งที่เรียกปัญญานี้ ก็แปลว่า ความรอบรู้-รอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ จำกัดว่า รอบรู้ แต่ในสิ่งที่ควรรู้ แล้วก็อย่างเพียงพอ แล้วก็สำหรับมนุษย์ ที่แรกต้องพูดว่า ความรอบรู้ หมายความว่า มันไม่ใช่อย่างเดียว จึงใช้คำว่า รอบรู้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจำกัดไว้ว่า เฉพาะสิ่งที่ควรรู้ อย่าให้มันเลยเถิดไป ถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ก็ได้
            เดี๋ยวนี้มนุษย์เป็นโรคร้ายกาจ คืออยากจะรู้แต่สิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ ส่วนสิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้กลับไม่รู้ และไม่อยากรู้ นี่แหละมนุษย์จึงมีความทุกข์ลำบาก เดือดร้อนยิ่งขึ้นทุกที ไปขวนขวายในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ มากกว่าในสิ่งที่ควรจะรู้ ทีนี้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ก็ต้องรู้ชนิดที่เรียกว่าเพียงพอ อย่าให้มันขาด ต้องเพียงพอสำหรับใคร? ก็เพียงพอสำหรับมนุษย์ ถ้ามันจะมีสัตว์ที่สูงกว่ามนุษย์ช่างหัวมัน เพราะว่าเราเป็นมนุษย์เท่านั้น เรารู้เท่าที่มันเพียงพอแก่ความเป็นมนุษย์แล้วก็พอแล้ว เรียกว่าปัญญาในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านก็รู้เท่านี้ แต่ว่าท่านรู้หมดทุกอย่างที่ควรรู้; ที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ ท่านก็ไม่ต้องรู้เหมือนกัน
            ข้อนี้เคยมีปัญหาที่ถามกันขึ้น แล้วก็ตอบไม่ได้ คือปัญหาว่าพระพุทธเจ้าร.ทุกอย่างรู้จนกระทั่งว่าอะไรก็รู้ทั้งนั้นแหล เอามาพูดจีนเดี๋ยวนี้ได้ไหม? เอามาขับรถยนต์เดี๋ยวนี้ได้ไหม? มันก็เลยตอบไม่ได้ เพราะว่าความหมายของคำว่า สัพพัญญู ของพระพุทธเจ้านั้น ที่มียืนยันในที่หลายแห่งว่า มันเป้นความรู้เกี่ยวกับความดับทุกข์เท่านั้น ที่พระองค์รู้หมด และรู้แล้ว รู้เสร็จแล้ว รู้หมดแล้ว เฉพาะที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ในทุกแง่ ทุกมุม ทุกชนิด ทุกประเภท ของสัตว์คือรู้เผื่อสัตว์ทั้งหลายด้วย; มันจะเป็นสัตว์ชนิดไหนประเภทไหน พระพุทธองค์รู้แทนให้หมดได้ แล้วมาสอนได้ นี้เรียกว่า สัพพัญญู แปลว่ารู้ทุกอย่าง ที่มนุษย์ควรจะรู้อย่างเพียงพอสำหรับความเป็นมนุษย์ ที่นี้ถ้านอกไปจากนั้น ก็ไม่ทรงสนใจจะรู้; หรือถ้านอกไปจากนั้นอีก ท่านก็ยังไม่รู้ คือยังต้องเรียน; แต่ว่าถ้ามันเป็นกรณีที่เกี่ยวกับความดับทุกข์แล้ว ทรงเป็นสัพพัญญูแน่; สรรเพชญ์หรือสัพพัญญู นี่คำเดียวกัน; สรรเพชญก็เป็นคำเดียวกับสัพพัญญู ซึ่งแปลว่า รู้ทั้งหมด
            ลองคิดกันดูว่า ธรรมชาติผลักไสคนเรามาตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา จนต้อง มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้นมันทนอยู่ไม่ได้; มันทนอยู่ไม่ได้ตามปกติทามนุษย์ไม่ยอม ทน จม อยู่ในสิ่งที่ไม่สูงสุด คือมันรู้ว่ายังมีสิ่งที่ดีกว่านี้; เพราะว่า ถ้ามันยังไม่สูงสุด ไม่เท่าไรมันก็เบื่อหรือจืดชืด มันต้องไปจนถึงสิ่งสูงสุดมันจึงจะพอใจ
            นี่แหละความบีบคันของธรรมชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา แล้วเป็นของสากกลแก่ทุกคนในโลก ไม่เฉพาะพุทธบริษัท คนทุกคนในโลก เขาก็ต้องการจะมีความถูกต้องทางกาย วาจา ทั้งเพื่อตนและเพื่อผู้อื่น นี่เป็น ศาสนาสากล แล้ว! และมีนจิตใจที่มีสมรรถภาพ และมีความสุข นี่ก็สากกลอีกแล้ว! ไม่เฉพาะพุทธศาสนา; และ รอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้อย่างเพียงพอสำหรับมนุษย์ นี้ก็สากลอีกแล้ว! ฉะนั้นไม่ต้องมีใครมาพูด มาบอก มาตั้งพุทธศาสนานั้น; เพราะเป็นความจริงของสากล ของสากลสัตว์ตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา ซึ่งมันผลักมา ๆ ๆ ๆ ไม่ให้มันหยุดอยู่แค่นั้น จนมาถึงสิ่งสูงสุดนี้
            เราโชคดีที่ว่า มีพระพุทธเจ้าช่วยรวบรัด จัดระเบียบหมวดหมู่ จัดหลักเกณฑ์อันนี้ ให้มันง่าย เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ยื่นให้แก่ทุกคนอย่างง่าย ๆ อย่างชัดเจน อย่างนี้ก็เรียกว่ามีบุญที่เราได้พบพระพุทธศาสนา
        ถ้าว่า พูดอย่างที่พูดมาแล้วนั้น มันหลายคำพูด; อยากจะสรุปให้สั้นด้วยคำสำคัญเพียง 3 คำ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจกันนัก ว่า ศีล คือ บริสุทธิ์ ทางกาย วาจา นี้หญ้าปากคอก พูดมาแล้วไม่ใครสนใจ เพราะว่ารู้อยู่แล้ว แต่กลัวว่าจะไม่รู้ความหมาย ศีลคือบริสุทธิ์ทางกาย ทางวาจา บริสุทธิ์ นี้กินความถึงความถูกต้อง ถึคงความเหมาะสม ถึงอะไรหมด บริสุทธิ์ทางกายวาจา สมาธิ คือ ความบริสุทธิ์ทางใจ ปัญญา คือ ความบริสุทธิ์ทางทิฏฐิความคิดเห็น
        พวกนักธรรมที่สอนกันในโรงเรียน สอนอย่างสะเพราะ ๆ ไม่บอกถึงหลักเกณฑ์อันนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดเพทศิรินทร์ ท่านยึดหลักเกณฑ์อันนี้มั่นคงที่สุด; ท่านพูดเตือนอยู่แต่หลักเกณฑ์ 3 ข้อนี้ ท่านพูดสอน โดยเฉพาะอันที่ 3 คือทางทิฏฐิ ซึ่งคนทั่วไปมันจะเห็นเสียว่า ถ้าบริสุทธิ์ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้วจะเอาอะไรกันอีกเล่า มันหมดแล้ว; นั่นแหละมันสะเพร่า มันยังมีอยู่อีกทางหนึ่ง คือทางสติ ปัญญา
            บริสุทธิ์ทางกาย ทางวาจา นี้ คือไม่ทำผิดทางกายทางวาจา ไม่ต้องอิบายเข้าใจกันได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาในเรื่องนี้
            บริสุทธิ์ทางจิตนั้น หมายความว่าจิตกำลังไม่มีกิเลสนิวรณ์รบกวนเท่านั้น แต่ยังมีความเห็นผิดเกิดเมื่อไรก็ได้ เราทำจิตให้เป็นสมาธิ นั้นมันเพียงแต่ว่ากิเลสประเภทนิวรณ์ไม่รบกวน จิตบริสุทธิ์จากนิวรณ์ แล้ก็สบายอยู่ แต่ทิฏฐิหรือสติปัญญานั้นยังไม่ถูกก็ได พูดแล่วก็น่าหัววว่า สติปัญญานั้นยับไม่ถูกก็ได้ คือสติปัญญามันยังผิด มันยังเฉโกอยู่ก็มี
            ฉะนั้นต้องมีรความถูกต้องหรือบริสุทธิ์ทางทิฏฐิอีกครั้งหนึ่ง คือความเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อต้องถูกต้องอีกที จิตบริสุทธิ์เพียงแต่ว่านิวรณ์ไม่รบกวนเท่านั้น บางที่ไปนั่งตรงทีสบาย ๆ ตรงไหนสักแห่งหนึ่ง จิตก็บริสุทธิ์แล้ว ไม่มีนิวรณ์รบกวนแล้ว; แต่ทางความเชื่อทางทิฏฐิ ทางสติปัญญายังใช้ไม่ได้ จนกว่าเมื่อใดจะเห็นอิทัปปัจจยตา เมื่อนั้นทางทิกฐิจึงจะถูกต้องหรือบริสุทธิ์
            ลำพังศีลทำให้เราเห็น อิทัปปัจจยตา ไม่ได้ ลำพังสมาธิก็ยังทำให้เห็นไม่ได้ จะต้องมีปัญญาจึงจะเห็น อิทัปปัจจยา คำว่าสติปัญญามันมีความหมายกำกวม ถ้าสติปัญญาจริงตามแบบของพระอริยเจ้าแล้วใช้ได้ แต่ถ้าเป็นสติปัญญาของคนธรรมดาที่ว่าเป็นยอดสติปัญญา นี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะเป็นไปในทางเฉโก
            เดี๋ยวนี้ก็มีคำพูดที่ทำให้แบ่งแยกออกไปชัด ๆ ซึ่งอาตมาก็เคยแนะให้หลาย ๆคนสังเกตในข้อนี้ว่า เราจะต้องแบ่งระบบเกียวแก่มนุษย์ทังหมดนี้ออกเป็น 3 ชั้น : ว่าทาง physical ทางเนื้อหนังร่างกายนี้ชั้นหนึ่ง แล้วก็ทาง mental คือระบบจิตใจที่เกี่ยวกับประสาทนั้นชั้นหนึ่ง แล้วก็ทาง spiritual คือทางสิตปัญญาแท้ ๆนั้นอีกชั้นหนึ่ง แล้ก็ให้สังเกตว่า เรามีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ 3 ชัน อย่างนี้ ทางกายก็ไปหาหมดธรรมดา ทางจิตก็ไปหาโรงพยาบาลโรคจิต แต่ถ้าทางวิญญาณ ทางปัญญาทางทิฏฐินี้แล้ว ต้องไปหาพระพุทธเจ้า โรงพยาบาลอื่นรักษาไม่หาย
            ถ้าพูดว่า ความสุข ก็ต้องมี 3 อีกนั่นแหละ : ความสุขทางกายมันก็คือเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ความสุขทางจิตก็เพียงว่าจิตเป็นสมาธิ กิเลสไม่รบกวน แต่ถ้าเป็นความสุขในทาง spiritual ทางวิญญาณแล้ว ต้องหมดกิเลสเท่านั้น คำ 3 คำนี้ในตำหรับ ตำรา หรือคนพวกอื่นเขาจะใช้กันอย่างอื่นก็ได้ ไม่เหมือนที่อาตมากำลังพูดก็เลยต้องพูดว่า นี้เราบัญญัติเฉพาะในกรณีนี้ เพื่อให้เราเข้าใจง่าย เลยเรียกว่า ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณ ที่นั่งอยู่ที่นี่ไม่เป็นโรคทางกาย ไม่เป็นโรคทางจิต ไม่ต้องไปโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ แต่เป็นโรคทางวิญญาณซึ่งต้องมาหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า มาหาโรงละครของพระพุทธเจ้าหรือโรงพยาบาลทางจิตทางวิญญาณ ซึ่งได้พยายามจัดขึ้นที่สวนโมกข์นี้
            อย่างนี้ปัญหา ทางกาย กับปัญหา ไม่มี แต่ปัญหา ทางวิญญาณ ตามความหมายพิเศษในคำนี้ยังเหลืออยู่ คือทิฏฐิยังไม่บริสุทธิ์ กายเราบริสุทธิ์แล้วจิตบริสุทธิ์แล้ว แต่ทิฏฐิยังไม่บริสุทธิ์ ยังยึดมั่นถือมั่นนี่ยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่รู้จักอิทัปปัจจยตานี้ยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่รู้จักตถตา คือความเป็นอย่างนั้น จนมันหลอกลวงเราได้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า เรายังต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา กันต่อไป จนกว่าจะมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิต และทางทิฐ
        ขอให้พวกที่เรียนนักธรรม สอนนักธรรม ช่วยเอาไปวางกฎเกณฑ์กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง ว่าศีลจะให้เกิดความบริสุทธิ์ทางกาย วาจา สมาธิจะให้เกิดความบริสุทธิ์ทางใจ ปัญญาจะให้เกิดความบริสุทธิ์ทางทิฏฐิ ทิฏฐินั้นไม่ใช่ใจ แต่เป็นสิ่งที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ ฉะนั้นเราต้องมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ในลักษณะอย่างนี้เรารู้จักความหมายที่จำกัดไว้ตายตัวอย่างนี้แล้ว เราบัญญัติเอาเองได้ ว่าอย่างไรเป็นศีล อย่างไรเป็นสมาธิ อย่างไรเป็นปัญญา ฉะนั้นในลักษณะท่าเป็นสากล ทุกคนรับได้ทั้งโลกเลย ว่าศีลคือถูกต้องทางกาย วาจา
            นี่พอดี พอดีจะหมดเวลา ก็จะขอย้ำเฉพาะหัวข้อว่ ศีลคือถูกต้องบริสุทธิ์ทางกายวาจา สมาธิคือความถูกต้องบริสุทธิ์ทางจิตหรือทางใจ ส่วนปัญญานั้นบริสุทธิ์ทางทิฏฐิ เมื่อได้อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าครบ แล้วเป็นสากล ทุกคนที่ไม่บ้าบอแล้วจะชอบ; พอบอกให้เข้าใจว่า อย่าง ๆ ๆ แล้วเขาจะชอบ และ 3 อย่างนี้ไม่ซ้ำกัน ไม่เหมือนกัน
            ฉะนั้นขอพูดอย่างหยาบคายว่า ขอให้พวกคนโง่ ๆ นี้ รู้จักไตรสิกขาให้ถูกต้องกันเสียทีเถิด นี่ออกจะหยาบคายที่พูดอย่างนี้ แต่ว่าขอให้พวกคนโง่ ๆ นี้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขาให้ถูกต้องกันเสียเถิด มันยังไม่ถูกสำหรับที่แล้วมา คือต้องรูว่าจำเป็นแก่มนุษย์ทุกคนจริง ๆ เพราะตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา มันต้องการอย่างนั้นแล้วมันผลักไสมาอย่างนั้น จนมาอยู่ในสภาพอย่างนี้; แล้ว ไตรสิกขานี้คือ ตัวอิทัปปัจจยตา ที่จะเป็นที่พึ่งได้
        รวมความแล้ว มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ในข้อที่ว่า มันเป็นความผลักดันของธรรมชาติ ของกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาตามลำดับ ๆ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขา โดยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แล้วสืบกันมาโดยพระสงฆ์ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นธรรมะที่คุ้มครองโลก
        ถ้ามองส่วนภายในแคบ ๆ ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นพื้นฐานของปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องตัดรากเหง้าของความทุกข์ นี้คือ อิทัปปัจจยตา ในระหว่าง 3 สิ่งนี้ ถ้าพูดถอยหลังก็พูดว่า : ดับทุกข์เพราะปัญญา ปัญญามีก็เพราะ สมาธิ สมาธิมีก็เพราะศีล; ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เลยเหมือนกับไม้ 3 ขา อย่างเดียวกันอีก; เอาอันใดอันหนึ่งออกเสียไม่ได้ มันจะต้องอาศัยกันไป มีนจึคงจะเป็นไปได้; หรือว่าถ้ามีปัญญาอย่างเดียวมันต้องคุมศีลสมาธิไว้อยู่ในอำนาจได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม้ 3 ขา ในฐานะเป็นเหตุดับทุกข์ ทำให้เกิดวิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะในฐานะที่เป็นผล คือความดับทุกข์โดยตรง ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา ที่ว่าเมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น : เราจะดูที่ศีล สมาธิ ปัญญา ก็พอจะพบกฎเกณฑ์อันนี้ เราจะดูที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็พบกฎเกณฑ์อันนี้ เราจะดูพร้อมกันทั้งพระไตรรัตน์แลพะไตรสิกขา มันก็พบกฎเกณฑ์อันนี้
            ดังนั้นอาตมาจึงพยายามที่จะขอร้องให้พิจารณาให้ดี จนให้เห็นว่า อิทัปัจจยตา นั้นก็อยู่ในฐานะแห่งพระรัตนตรัยและไตรสิกขา โดยข้อความอย่างที่กล่าวมาในวันนี้ เพื่อชี้ในแง่หนึ่งมุหนึ่งเท่านั้นเอง เพื่อจะได้รู้กันทุกแง่ทุกมุมในโอกาสต่อ ๆ ไป

          บัดนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลายสวดพระบาลีที่เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจ ในการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน อีกวาระหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น