วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา 3 ในฐานะที่เป็น “ตัวเรา” ในทุกความหมาย ทุกอริยบท

เสาร์ที่ 15 มกราคม 2515
          ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย
            การบรรยายวันเสาร์ในครั้งที่ 3 นี่ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็น ตัวเรา ในทุกความหมายในทุกอิริยาบถ ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว
            เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านทั้งหลายก็เห็นกันอยู่ทุกคนว่า เป็นเรื่องที่ไม่เคยฟัง; เป็นเรื่องที่เพิ่งจะเอามาพูดกันได้สัก 2 วันเท่านั้นเอง ดังนั้นมันก็มีความลำบากบ้างในการที่จะเข้าใจ แต่แล้วก็จำเป็นที่จะขอร้องท่านทั้งหลาย ให้พยายาม ให้อดทนในการที่จะทำความเข้าใจ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนา
            สิ่งที่นำมาแสดงในที่นี้ ที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา นั้น แสดงในฐานะที่ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ในชั้นสูงสุด เราได้เคยพูดถึงเรื่องธรรมะที่เป็นหลักสำคัญในพุทธศาสนา ในขั้นที่เรียกว่าเป็นหัวใจ มาโดยลำดับนานมาแล้วและสูงขั้น ๆ ในสถานที่นี้ จนเข้าใจได้ยากยิ่งขึ้น คือลึกซึ่งยิ่งขึ้น และก็เป็นสิ่งที่มีความหมายครอบงำทุกสิ่งหรือหมดทั้งพุทธศาสนายิ่งขึ้น
            การที่รู้ธรรมะในชั้นที่ลึกซึ่งอย่างนี้ ก็คือรู้พุทะศาสนาดีขั้นนั่นเอง ถ้าเข้าใจในคำว่า อิทัปปัจจยตา ก็หมายความว่าเข้าใจเรื่องอื่น ๆ ทุกเรื่อง เช่นเรื่องอริยสัจจ์ เป็นต้น เราพูดกันในฐานะที่เป็น อริยสัจจ์ มันก็มีความหมายไปในทางเป็นอริยสัจจ์; แต่เมื่อแนะหรือชี้ให้ดูสิ่งที่เรียกว่า อริยสัจจ์นั้น ให้ลึกลงไป ให้กว้างออกไป ก็จะเป็นในแง่ของความเป็น อิทัปปัจจยตา; จึงยักมาเรียกกันเสียใหม่ว่า อิทัปปัจจยตา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพื่อให้ย่นย่อมากเข้า แต่ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
            ในการบรรยาย ครั้งที่ 1 ว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานี้ จมเงียบอยู่ในพระไตรปิฎก; ไม่ใช่ไม่มี ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก แม้ในเถรวาทเรา ไม่ใช่ฝ่ายมหายาน แต่แล้วก็ไม่มีใครได้ยิน มันจึงเหมือนกับจมเงียบหายอยู่ในนั้น อย่างนี้ไม่เป็นการสมควรหลายอย่าง แต่ว่าไม่อยากจะพูดแต่เพียงว่า อย่าปล่อยให้สิ่งนี้จมเงียบหายอยู่ในพระไตรปิฎกอีกต่อไป ควรจะเอาออกมาเป็นของที่เปิดเผยแก่คนทั้งปวง ตามความประสงค์ของพระพุทธองค์ ที่ว่า เมื่อตถาคตรู้พร้อมเฉพาะ ถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนี้แล้ว ย่อมบอก บ่อมแสดง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก แจงจง จนเป็นที่เข้าใจแก่คนทั้งปวง
            นี้เป็นพุทธประสงค์ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันทำ ให้สมตามพระพุทะประสงค์ก็คือให้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ออกมาอยู่ในการพูดจาของพุทธบริษัทเป็นประจำวันนั้นเอง หัวใจนี้สันมาก ย่อมาก : เมื่อพูดออกไปคำหนึ่ง เพียง 2 พยางค์ 3 พยางค์ นั้นก็มีความหมายลึกซึ้งหมดทั้งพุทธศาสนา
            ตรงนี้อยากจะขอเตือนว่า มีคนเข้าใจผิดว่า สิ่งนี้มีไว้สำหรับออกชื่อคล้าย ๆ กับท่องมนต์ นั้นแสดงว่ายังไม่เข้าใจ สำหรับบทธรรมะทำนองนี้บทใดก็ตามไม่ได้มีไว้สำหรับท่อง หรือสำหรับเป็นมนต์ แต่มีไว้สำหรับเตือนสติและจะเตือนได้ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจในสิ่งนั้นดีแล้ว
            จะยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุด เช่นคำว่า พุทธโธ คนก็มักจะเข้าใจว่า ถ้าร้องว่า พุทโธ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตกอกตกใจ อย่างนี้ก็พอแล้ว แต่ที่แท้เท่านี้ยังไม่พอ ความมุ่งหมายของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เราจะต้องรู้จัก พระคุณของพระพุทธเจ้าในทุกแง่ทุกมุม จนซึ่งซาบแก่ใจอย่างแท้จริง แล้วจึงสรุปคำพูดและความรู้สึกทั้งหมดนั้น ซึ่งเป็นความหมายอันแท้จริงของเรื่องนี้ เข้ามาไว้ในคำว่า พุทโธ เพียงคำเดียว; เพื่อว่า ถ้าเราพลั้งปากว่า พุทโธ ก็จะได้ระลึกนึกถึงเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า จะไดมีสติในพระพุทธเจ้า อย่างนี้ต่างหา ไม่ใช่สำหรับมาท่อง หรือไม่ใช่มีไว้สำหรับพลั้งปาก เหมือนที่เป็นกันอยู่โดยมาก
            คำกว่า อิทัปปัจจยตา นี่ก็ดี โดยเฉพาะคำว่า ตถตา นี้ก็ดี ไม่ใช่สำหรับเอาไว้พลั้งปาก หรือเอาไว้ท่อง; แต่ต้องเข้าใจอย่างละเอียดลออชัดเจนจริง ๆ ว่ามันอยู่ที่ไหน? มันคืออะไร? มันมีฤทธิ์ มีอำนาจอย่างไร? แล้วจึงจะพูดว่าอิทัปปัจจยตา เช่นเมื่อเห็นสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในลักษณะที่คนเขาร้องห่มร้องไห้กันหรือถึงกับฆ่าตัวตายก็ดี เราก็รู้สึกแต่ว่ามันเป็น อิทัปปัจจยตา จริง ๆ อย่างนี้ก็พอ หรือเมื่อมีคนเขายินดีสนุกสนาน บันเทิง รื่นเริงมัวเมากันมาก; ถ้าเราเห็นความจริงข้อนั้น มันก็จะมีคำพูดสั้น ๆ ว่า อิทัปปัจจยตา อีกเช่นเดียวกัน มันไม่จำกัดเฉพาะเรื่องฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ฝ่ายบ้า หรือฝ่ายดี ฝ่ายสุข หรือฝ่ายทุกข์; มันล้วนแต่เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตา ถ้าเห็นอย่างนี้ จะไม่เกิดความรู้สึกแปลก มันก็ไม่เกิดความยึดมั่น ถือมัน จนถึงกับสะดุ้งหวาดเสียว หรือจนถึงกับหลงใหลมัวเมา; มันก็มีผลดี คือเป็นผู้ที่มีจิตใจ ละอาด สว่าง สงบ อยู่ได้ เพราะการเห็นอิทัปปัจจยตา
        นี้ขอให้ถือว่า มีนไม่ใช่เรื่องสำหรับท่องเป็นมนต์ และก็ไม่ใช่เรื่องสำหรับเพียงพลั้งปากเล่น ว่าพุทโธ ๆ เป็นต้น โดยไม่รู้ว่าอะไร อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา กำลังไม่มีใครรู้จัก อยู่ในลักษณะอย่างนี้ ทีนี้ก็พยายามเอามาอธิบายทำความเข้าใจกันในแง่นั้นแง่นี้ตามลำดับ ในครั้งที่ 2 ก็ได้พูดถึง อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นที่รวบรวม ของวิชา และศาสตร์ทั้งปวง ในโลกทั้งโลก ทุกโลก; ไม่ว่ากฎเกณฑ์อะไร วิชาความรู้หรือศาสตร์ใดในโลก ล้วนแต่เป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา ทั้งนั้น มนุษย์จึงเอามาใช้เป็นประโยชน์ คืออะไร ทำอะไร สร้างอะไร ได้ตามความมุ่งหมาย ส่วนในวันนี้ ก็จะได้กล่าว บรรยายให้เห็นใกล้เข้ามาอีก คือให้มองเห็นที่ตัวเรา ที่สิ่งที่เราเรียกว่าตัวเรา ในทุกความหมายและตัวเรา ในทุกอิริยาบถ
            ตรงนี้จะต้องขอเตือนซ้ำ หรือย้ำให้ระลึกอยู่เสมอว่า คำว่า อิทัปปัจจยานี้หมายถึงความมีกฎเกณฑ์ และตัวกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ก็ได้; หมายถึงการที่มันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือตามที่มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ก็ได้; แล้วก็หมายถึงผลที่มันเกิดขึ้น จากความเป็นไปนั้น ๆ อย่างนี้ก็ได้ เราจะต้องเข้าใจนัย 3 อย่างนี้ไว้เสมอไป แล้วเราจะพูดกันโดยรายละเอียดอย่างไรอย่างหนึ่งมันก็ง่ายเข้า
          นัยที่ 1 : อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎ; เช่นกฎ ปฏิจจสมุปบาท หรือกฎ อริยสัจจ์ หรือกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือกฎอะไรก็ตามในทางศาสนา; หรือว่ากฎในทางฝ่ายวิชาโลก ๆ เรื่องดินฟ้าอากาศ เรื่องความเป็นไปในจักวาลอะไร ที่มันเป็นกฎเกณฑ์อย่างตายตัว ของธรรมดาธรรมชาติที่ตายตัว นั้นก็เรียกว่า กฎ ด้วยเหมือนกัน ตัวกฎอย่างนี้ทั้งหมดนี้ ก็คือ อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎ คือกฎที่มันต้อง เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย
            ทีนี้กฎนี้ มันมีอำนาจเหนือสิ่งใด เราไม่รู้ว่า ใครสร้างกฎนี้ข้นมา จนต้องเรียกว่าไม่มีใครสร้าง คือมันเป็นอยู่เอง; เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตจะเกิดข้น หรือว่าตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้นหรือกฎนั้นมันมีอยู่เสร็จแล้ว และบังคับสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปอยู่ตลอดกาลอย่างส่ำเสมอแล้ว นี่กฎในลักษณะอย่างนี้ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าใครเป็นผู้ตั้งขึ้น และกฎนั้นมันตั้งอยู่เหนือเหตุเหนือปัจจัย : ถ้าเหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ กฎนั้นก็เปลี่ยน ก็เลยเป็นกฎแก้ กฎที่ไม่จริง ถ้าเป็นกฎจริงมันก็ต้องไม่เปลี่ยน; เมื่อไม่เปลี่ยนก็หมายความว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยอะไรไปปรุงแต่งได้
            ดังนั้น อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎนี้ มันหมายถึงกฎที่สิ่งทั้งปลายจะต้องเป็นไปตรมเหตุตามปัจจัย; กฎชนิดนี้ นิยมเรียกกันว่า เป็น อสังขตะ คือสิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง มันก็เป็นของมันอยู่เองได้ จนถึงกับว่าพระพุทธเจ้าท่านยอมรับว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด กฎนี้มันก็มีอยู่แล้ว นี้คือ อิทัปปัจจยตาในฐานะที่อยู่ในรูปของสิ่งที่เป็นตัวกฎที่มีอำนาจเหนือสิ่งใด ๆ
            อิทัปปัจจยตา นัยที่ 2 คือการเป็นไปตามกฎ; กิริยา อาการ หรือภาวะลักษณะ อะไรก็ตาม ที่มันกำลังเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น กิริยาอาการเป็นต้นนั้น ก็ชื่อว่า อิทัปปัจจยตา คือความที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อย่างนี้มีลักษณะต่างกัน คืออย่างหลังนี้ มีลักษณะที่มีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่ง ผลักไสให้เป็นไป ดังนั้น จึงได้แกฝ่ายที่เป็น สังขตธรรม คือธรรมที่มีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา นี้เราก็รู้จักสิ่งเหล่านี้ว่า เป็น อิทัปปัจจยตา ในฐานะ ที่เป็นความเป็นไปตามกฎ หรือตามเหตุ ตามปัจจัย; นี้ก็อย่างหนึ่ง พวกหนึ่ง ไม่เหมือนกับตัวกฎ
          อิทัปปัจจยตา นัยที่ 3 ในฐานะที่เป็นผล; สิ่งที่เป็นผลนี่แหละ คือสิ่งที่มนุษย์ต้องการ หรือว่าเป็นสิ่งที่กระทบกระทั่งมนุษย์มากที่สุด เพราะว่าผลนี้เป็นสุขก็มี เป็นทุกข์ก็มี; เป็นสุขมันก็กระทบกระทั่งไปอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์มันก็กระทบกระทั่งไปอีกอย่างหนึ่ง; แต่แล้วมันก็มีการกระทบกระทั่งแก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์ได้รับความรู้สึก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วแต่กรณี ผลชนิดนี้ ก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า มีเหตุ มีปัจจัย ปรุงแต่ง; มันจึงเป็นพวก สังขตะ ด้วยเหมือนกัน
        แต่โดยเหตุที่ทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ทั้ง สังขตะ และอสังขตะ นี้ มันมี ความเป็นอย่างนั้น เสมอกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกเสียว่า ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น ตถตา ที่อยู่เหนือเหตุ เหนือปัจจัยก็มี ที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยก็มี; แต่มันเหมือนกันตรงที่ว่า มันมี ความเป็นอย่างนั้น ถ้าเรารู้จัก ความเป็นอย่างนั้น หรือ ความที่มันต้องเป็นอย่างนั้น ดีแล้ว เราจะไม่ประหลาดใจในสิ่งใด; ไม่หลงใหลในสิ่งใด ไม่เป็นทาสของสิ่งใด
            เดี๋ยวนี้คนเราก็เป็นทาสของอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความรัก; แล้วก็เกิดเป็นนยักษ์เป็นมารขึ้นมา สำหรับอารมณ์อันเป็นที่ตั้ง แห่งความโกรธหรือความเกลียด; อย่างนี้เรียกว่ามันกระทบกระเทือนมนุษย์ ถึงกับสูญเสียความเป็นมนุษย์ คือใจคอไม่ปกติอย่างมนุษย์ที่ควรจะเป็น
        มนุษย์ควรตจะมีจิตใจสูงพอที่อะไร ๆ กระทบกระทั่งไม่ได้; ให้มนุษย์มีจิตใจปกติ อยู่ในความสงบสุข : สิ่งที่น่ารักก็มายั่วให้รักไม่ได้ สิ่งที่น่าเกลียดก็มายั่วให้เกลียดไม่ได้ สิ่งที่น่ากลัวก็มายั่วให้กลัวไม่ได้ สิ่งที่น่าเศร้าก็มายั่วให้เศร้าไม่ได้ ไม่ว่าอะไรหมดมันมายั่วให้เป็นอย่างไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะเขา รู้จักมันดี; เรียกว่า รู้จัก ถึงธาตุแท้ของมัน รู้จักกำพืดของมัน รู้ความจริงถึงที่สุดของมันว่า : ไม่มีอะไรนอกจากความเป็น อิทัปปัจจยตา คือมันเป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมดา : นี่เรียกว่ามนุษย์คนนั้นเป็นผู้รู้ถึงที่สุด เมื่อเขารู้ถึงที่สุดแล้ว ก็สามารถดำรงจิตใจไว้ อย่างถูกต้องที่สุด เมื่อดำรงไว้ถูกต้องที่สุด ก็ไม่มีทุกข์เลย จึงกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์อันสูงสุดที่มนุษย์ควรได้รับ; สรุปสั้น ๆ ก็คือว่า ไม่รู้จักทุกข์
            จิตใจนี้ไม่รู้จักทุกข์ เพราะว่าได้รู้ความจริง ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์ก็ดี ในฐานะที่มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ก็ดี ในฐานะที่เป็นผลเกิดขึ้นมาจากการเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้นก็ดี; เมื่อจะพูดโดยสมมติก็พูดว่าเรารู้จักหมดกระทั่งถึงพระเจ้า พระเป็นเจ้า : ถ้าจะมีพระเป็นเจ้าผู้สร้าง ผู้ทำลายล้าง ผู้ควบคุม ผู้อะไรกันแล้ว มันก็คือกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา นั่นเอง เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนานี้ ก็มีพระเป็นเจ้าในลักษณะอย่างนี้ ; ไม่ใช้พระเจ้าที่เป็นคนที่มีไว้สำหรับพวกเด็ก ๆ พระเจ้าที่เป็น อิทัปปัจจยตา นี้ไม่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ ไม่เป็นอะไร นอกจากเป็นตัวมันเอง คือเป็น ตถตา ซึ่งสามารถจะบันดาลอะไรได้ทุกอย่างตามกฎเกณฑ์ในตัวมันเอง
        นี่ พิจารณาดูเถอะจะเห็นได้ว่า ไม่มีพระเจ้าชนิดไหน ไม่มีพระเจ้าชนิดไหน จะสูงหรือจะยิ่ง หรือจะเก่งไปกว่าพระเจ้าชนิดนี้ ความเป็นอย่างนี้เรียกว่า ตถตา บางทีก็เรียกกว่า ธรรมธาตุ ธรรมะธา-ตุ; หรือบางทีก็เรียกว่า ธรรม บางทีก็เรียกว่า พระธรรม ฉะนั้นเราจึงพูดได้ว่า ในพุทธศาสนานี้ก็พระธรรมนี่แหละ เป็นพระเจ้าหรือเป็นสิ่งสูงสุด : แม้พระพุทธเจ้าก็เคารพพระธรรม ท่านตรัสของท่านเองว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต เคารพพระธรรม นี่คือความหมายของ อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎสูงสุด
            ทีนี้มาเรียกให้สั้น แต่กินความกว้างก็เรียกว่า ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น แล้วมีความหมายประกอบอีก 2-3 คำ ว่า อวิตถาตา คือความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น; 3 คำนี้เหมือนกัน ขอให้จำไว้ให้ดีว่า ตถตา ความเป็นอย่างนั้นเอง; อวิตถตา ความผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น; อนัญญถตา ความไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากนั้น เมื่อเข้าใจดีแล้วก็จะรวมไว้ในคำ ๆ เดียวว่า ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น พุดภาษาสะดวก ๆ ของเราก็ว่า มันเป็นอย่างนั้นเอง เมื่อผู้ใดเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนมองเห็นว่า มันเป็นอย่างนั้นเอง นั่นแหละ คือคนที่รู้จัก ตถตา นั่นแหละคือคนที่รู้จัก อิทัปปัจจยตา คนนั้นอาจจะไม่เคยได้ยินคำบาลี แต่ในใจของเขาได้เห็นถึงสิ่งซึ่งคำบาลีนั้นหมายถึง คือตถตา หรือ อิทัปปัจจยตา เป็นต้น
        ถ้าเราจะนึกดูให้ดี เราจะเห็นว่า มันมีอยู่เป็นชั้น ๆ หลายชั้น : ชั้นที่ง่าย ๆ พวกเราโดยมากก็จะเห็นอยู่แล้วตามสัดส่วนในชั้นที่มันง่าย เพราะฉะนั้นในบางกรณีเราจึงรู้สึกขึ้นมาได้หรือพูดออกมาได้ว่า : มันเป็นอย่างนั้นเอง อย่าไปสนใจกับมันเลย อย่าไปยินดียินร้ายกับมันเลย มันอย่างนั้นเอง; นี้ก็มีพุดกันอยู่บ่อย ๆ ชาวบ้านก็พูดเป็น นั่นแหละคือตัวแท้ของ ตถตา หรือ อิทัปปัจจยตา ในบางระดับที่บุคคลนั้นได้เห็นแล้ว ทีนี้เราก็มีหน้าที่ที่จะเห็นให้ยิ่งขึ้นไป ๆ ๆ ๆ จนถึงที่สุดจึงจะมาถึง ตถตา ในความหมาย ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมาย
            อย่าได้ลืมเสียว่า พระพุทธเจ้าท่านสรุปเรื่องที่สำคัญทุก ๆ เรื่องไว้ในคำสั้น ๆ คำนี้ ว่า ตถตา เป็นอย่างนั้นเอง บ้าง; หรือว่า ธรรมธาตุ เป็นธาตุแห่งธรรม หรือเป็นธาตุตามธรรมชาติบ้าง; อย่าให้มีอะไรที่เป็นความหมายว่า เป็นตัวตน ตัวกู ตัวเขา ตัวเรา ของเขา ของเรา ของตนอะไรขึ้นมา นั้นเป็นอวิชชาเป็นความโง่ แล้วก็เกิด กิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็เป็นความทุกข์ ถ้าคนเห็นความเป็นอย่างนั้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ความเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็คือไม่โง่ คือไม่มีอวิชชา; แต่ว่ามันมีสิ่งที่ตรงกันข้าม คือวิชชา แสงสว่าง ปัญญา จักษุ มันก็เลยไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์; นี้คือคุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งนี้ในเมื่อเรารู้
            เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ หรือว่ารู้แล้วแต่มันน้อยไป ก็ต้องรู้ให้ถึงที่สุดเพื่อให้ความเป็นพุทธบริษัทของเรา มันรู้จักเลือนชั้นกันเสียบ้าง; แล้วมันก็จะเลื่อนชั้นไปจนถึงชั้นสูงสุด มันก็จบกัน ชั้นสูงสุดก็เรียกว่าชั้นที่จบพรหมจรรย์ ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะต้องศึกษา หรือประพฤติปฏิบัติอีก นี้เรียกว่า ชั้นที่จบพรหมจรรย์; โดยในความก็หมายถึงความเป็นพระอรหันต์ คือเห็น อิทัปปัจจยตา ตถตา ถึงที่สุด ไม่มีเหลือ; ก็เลยสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะทั้งปวง แล้วก็ดับทุกข์ทังปวง นี่เราก็กำลังเรียนตามหลังท่านไป เพื่อให้เรารู้จักเลื่อนขั้นของความเป็นพุทธบริษัท ดังนั้นจึงต้องพูด
        ธรรมะที่เป็น อิทัปปัจจยตา หรือตถตา โดยตรง นี้ก็คือปฏิจจสมุปบาทอย่างที่พระสงฆ์ได้สวดสาธยายจบไปแล้ว เมื่อตะกี้นี้ ในการสวดเพียง 40 นาทีนั้นมันมีคำว่า อิทัปปัจจยตา ตั้ง 22 หน มีคำว่า ตถตา เป็นต้นตั้งอย่างละ 11 หน; ขอให้นึกดูเถอะว่า พระพุทธเจ้า ทรงประสงค์ จะย้ำ จะย้ำ ย้ำแล้วย้ำเล่า ย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องนี้อย่างไร เท่าไร นี้มันคือปฏิจจสมุปบาท และทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทเช่นเรื่องอริยสัจจ์ มันก็คือปฏิจจสมุปบาท
            เรื่องนี้เคยบอกให้ทราบแล้วที่ตรงนี้เอง บางคนที่เคยฟังก็ยังคงจำได้ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็ได้แกเรื่องอริยสัจจ์ โดยพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ท่านจะทรงแสดงอริยสัจจ์ชนิดที่ใคร ๆ ค้านไม่ได้; แล้วก็ทรงแสดงเป็นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทกับเรื่องอริยสัจจ์นั้น มันเรื่องเดียวกัน
            เพราะฉะนั้น ในที่บางแห่งเมื่อพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงเรื่องอริยสัจจ์ 4 โดยตรงนี้ ท่านเคยเรียกว่า ตถา หรือ ตถตา นี่เอง ตรัสว่า ธรรมที่เป็น ตถา 4 อย่างคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค; บางครั้งที่เรียก ตถา อวิตถา อนัญญถา โดยที่ไม่ต้องเติมคำว่า ตา เข้าไป; ก็เพราะตรัสเรียก ในฐานะเป็นคุณนามของสิ่งซึ่งมีอยู่คือธรรม ว่าธรรมที่เป็นตถา คือธรรมที่เป็นอย่างนั้น ธรรมที่เป็น อวิตถา คือธรรมที่ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น แล้วก็ธรรมที่เป็น อนัญญถา คือธรรมที่ไม่เป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเอาคำนี้มาใช้เป็น นามนาม เสียเอง หมายถึงภาวะนั้น ๆ โดยตรงแล้ว ก็ต้องเติมคำว่า ตา ลงไป; จึงเป็น ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา เป็นต้น
            ดังนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้ยินคำว่า ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา ก็ตาม หรือได้ยินแต่เพียงว่า ตถา อวิตถา อนัญญถา ก็ตาม ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันไม่ใช่ 2 เรื่อง 3 เรื่อง ในสังยุตตนิกาย ส่วนนิทานวรรคก็มีคำว่า ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา อิทัปปัจจยตา; แต่ในมหาวารวรรค ซึ่งเป็นเรื่อง อริยสัจจ์ นั้น พระพุทธเจ้าท่านใช้คำเรียกว่า ตถา อวิตถา อนัญญถา ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคชั้นหลังต่อมาก็ใช้เหล่านี้; แล้วคัมภีร์ชั้นหลังเขาหมด คือคัมภีร์อภิธรรมพวกคัมภีร์ กถาวัตถุ ก็ยืมคำเหล่านี้จากในสุตตันตะนี้ไปพูด ดังนั้นในคัมภีร์ กถาวัตถุก็เต็มไปด้วยคำ ตถา อวิตถา อนัญญถา บ้าง ตถตา อนัญญถตาบ้างเหมือนกัน มีอยู่ทั่วไป แต่เราก็ไม่เคยได้ยิน เพราะว่าเราไม่สนใจ; แล้วคนแต่ก่อน ครูบาอาจารย์แต่ก่อน ก็ไม่ชอบเอาข้อความเหล่านี้มาพูดให้ฟัง หรือแนะให้เราไปดูเอง; ไม่รู้ว่าเพราะเหตุไร ก็ไม่ต้องวินิจฉัย แต่เดียวนี้มันเป็นหน้าที่ของเราเองแล้วที่เราจะต้องรู้จะต้องช่วยกัน ทำกันและกันให้รู้ ฉะนั้นจึงเอามาพูด มาขอร้องให้กำหนด จดจำ นี่ความสำคัญของ สิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่ย่อลงแล้วเหลือแต่ ตถตา นี้มันเป็นอย่างนี้
        ทีนี้ที่ว่า จะให้มองดู อิทัปปัจจยตา ที่อยู่ในฐานะที่เป็น ตัวเรา ในทุกความหมายและทุกอิริยาบถนี้ มันก็มีเรื่องละเอียดอยู่ แม้ว่าเป็นเรื่องที่จะได้เคยพูดมาบ้างแล้วแต่ก่อน มันก็ไม่เคยเอ่ยถึงคำนี้ คือได้เคยพูดกันถึงเรื่องความเกิดชนิดพิเศษ คือเกิดทางจิตใจมาแล้วหลายครั้งหลายหน ในเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท แต่ไม่เคยเอ่ยถึงคำว่า อิทัปปัจจยตา นี้ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านผู้ฟังทุกคน ทบทาวนลงไปถึงเรื่อง ชาติ ความเกิดที่เกิดทางจิตใจ ที่ไม่ต้องเกิดจากท้องแม่ ที่เคยพูดมาหลายครั้งหลายหนนั่นแหละ มาทำความเข้าใจกันใหม่; ถ้ารู้จักคำว่า  ชาติ ชนิดนั้นก็จะมองเห็น อิทัปปัจจยตา ที่นั่น เมื่อใดเกิดความรู้สึกเป็นตัวเรา เป็นตัวกู ในความหมายเป็นชาติ; เกิดแล้วอย่างนี้ นั่นคือ อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้มันลำบากที่ว่า ในภาษาไทยเรานี้คำว่า เกิด หรือ ชาติ นี้มันมี 2 ชนิด ช่วยจำไว้ให้ดีว่า สิ่งที่เรียกว่า ชาติ ชา-ติ ความเกิดนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือเกิดทางกาย ทางเนื้อหนัง ทางวัตถุ นี้ชนิดหนึ่ง เราจะเรียกกันสัน ๆ ว่า เกิดทางกายหรือทางรูป ทีนี้ชาติอีกชนิดหนึ่ง เกิดทางจิตใจ หรือทางนาม ก็คือเกิดแห่งความรู้สึกคิดนึกว่าตัวกูทีหนึ่ง ๆ; มันเป็น 2 ชาติ กันอยู่อย่างนี้ เราจะต้องพิจารณาดูให้ดี จนรู้ว่า 2 ชาตินี้ ชาติไหนร้ายกาจ ชาติไหนมีอันตรายร้ายกาจมาก ขอให้คอยฟัง แต่ชาติทั้ง 2 ชนิดนี้ ก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา ด้วยกัน 2 ชนิด
            เราดูกันในเรื่องชาติ ชนิดที่เป็นทางกาย หรือทางวัตถุ ทางรูปกันก่อน นี้หมายถึงเนื้อหนังร่างกาย ชาติอย่างนี้ มีทีเดียวสำหรับคน ๆ หนึ่ง เกิดมาจากท้องแม่ ใครอายุเท่าไร ก็นับถอยหลังลงไปเท่านั้นปี เกิดจากท้องแม่วันแรกนั้นเรียกว่า ชาติ ร้องแง ๆ ขึ้นมา เพราะมันเสร็จกันแล้ว นี่เรื่องชาติในทางร่างกาย; แล้วก็อยู่ไปจนกว่าจะเข้าโลง นี้เอาเนื้อหนังรายกายเป็นหลัก แต่ชาติอย่างนี้มันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา ในพระบาลีก็มีตรัสว่า อาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด เจริญเติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกขนมสด; นี่พูดอย่างธรรมดา ๆ อย่างนี้ หมายความว่าต้องอาศัยการอยู่ร่วมของบิดามารดาถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา แม่จึงจะตั้งครรภ์แล้วจึงจะคลอดออกมาได้ ความอยู่ร่วมของบิดามารดาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ท่านจะอยู่ร่วมกันด้วยอำนาจ ของกิเลสตัณหา หรือด้วยสติสัมปชัญญะรู้สึกผิดชอบชั่วดี ต้องการจะสืบพืชพันธุ์หรืออะไรก็สุดแท้ ทั้งหมดนั้นมันเป็น อิทัปปัจจยตาทั้งนั้น ต้องการด้วยกิเลส มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ต้องการด้วยสติปัญญา มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา มันพ้นไปไม่ได้ บิดามารดาต้องการบุตร มันก็เป็นเรื่องของ อิทัปปัจจยตา; บิดามารดาไม่ได้ต้องการบุตร เกิดออกมาเป็นผลพลอยได้ มันก็เป็นเรื่องของอิทัปปัจจยตา ดังนั้นการเกิดทางเนื้อหนังของเด็กนี้ก็เป็นอิทัปปัจจยตา ทีนี้เกิดออกมาแล้วมันก็ต้องเติบโต มาเป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ทุกอาการนี้มันเป็น อิทัปปัจจยตา แต่ว่าทั้งหมดนี้มันยังเนื่องกันอยู่กับฝ่ายร่างกาย หรือฝ่ายรูปธรรม มันไม่น่ากลัว ไม่น่าอันตราย ไม่ทำอันตรายจิตใจมากนัก เว้นเสียแต่ว่ามันจะเกิดด้วยความเกิดอีกชนิหนึ่ง คือความเกิดทางนามธรรม ทางจิตใจนั้น
            ถ้าเกิดในทางนามธรรม ทางจิตใจ ว่าตัวเราว่าของเรา ว่าตัวกุ ว่าของกูขึ้นมาแล้ว ความทุกข์ทางร่างกายทางเนื้อหนัง ก็จะเป็นทุกข์อย่างยิ่งขึ้นมาทันที ฉะนั้นระวังให้ดี อย่าให้มันเกิดชนิดที่เกิดทางจิตใจ ที่เกิดได้วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้งกี่สิบครั้ง คือเกิดทางจิตใจ เป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวกู ของกูขึ้นมาครั้งหนึ่ง นี้เรียกว่าเกิดครั้งหนึ่ง
            ทีนี้เราก็ต้องพิจารณากันถึงชาติชนิดที่ 2 คือ ชาติทางนามธรรม ทางจิตใจ ที่เป็นตัวร้ายนี้ให้ดี ๆ กันต่อไปอีก สำหรับการเกิดทางวัตถุ ทางกายนั้นเด็กคลอดออกมาจากท้องแม่ตามธรรมชาติแท้ ๆ ก็เป็น อิทัปปัจจยจา เป็นไปตามธรรมชาติแท้ ๆ แล้วก็มีครั้งเดียว ทีนี้เด็กเกิดมาแล้วทางรูปกาย ทางร่างกายเกิดเสร็จแล้ว ต่อไปนี้ก็จะมี่แต่เกิดทางนามธรรม หรือทางจิตใจ แต่พระพุทะเจ้าท่านได้ตรัสไว้ชัดเจน ในมหาตัณหาสังขยสูตรเป็นต้น ว่าเด็กนั้นจะต้องโต พอที่จะรู้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า กามคุณ”; เด็กนั้นจะต้องโตพอที่จะรู้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันจึงจะสามารถเกิดชนิดที่ 2 ได้ พระพุทธเจ้าท่ารนก็ไม่ได้ตรัสไว้ว่าอายุกี่ปี; แต่ท่านก็คงจะหมายความว่ามันเป็นเด็กที่เดียงสาในทางกามคุณ ตอนแรกที่รู้จักเล่นทรายตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นเรื่อน้อย อย่างนี้อยู่ ตอนนี้ยังไม่เกิด แล้วต่อมามันรู้จกความหมายของความเอร็ดอร่อยทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส ที่จะเป็นไปในทางกามคุณนี้; ตอนนี้มันจึงจะเกิด; ก็คือว่าเด็กนั้นได้รับสุขเวทนาเป็นต้น แล้วก็ยึดมั่นในเวทนานั้นด้วยอุปาทาน มันเกิดความอยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้ แล้วก็ยึดมั่นในสิ่งที่มันอยาก; มันจึงเกิดความรู้สึกว่า กู : กูต้องได้ กูต้องเอาให้ได้ กูอร่อย หรือกูสูญเสียของอร่อยไป ถ้าความรู้สึกว่าเป็นกูอย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นกล่าวได้ว่าเด็กคนนั้น รู้จักเกิดชนิดที่ 2 แล้ว คือเกิดทางนามธรรมหรือทางจิตแล้ว; หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่พระสวดกันเมื่อตะกี้นี้ เริ่มมีปรากฏในจิตใจของเด็กแล้ว คือมีอวิชชา มีตัณหา มีอุปาทาน เป็นกับเขาแล้ว จะเป็นวันไหนเป็นวันตั้งต้น ก็บอกยาก แต่ถ้าว่ามันเกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นตัณหา อุปทานได้ แม้ในระดับน้อย ๆ มันก็เป็น ปฏิจจสมุปบาท แล้ว : เด็กคนนี้รู้จักเกิดชนิดที่ 2 แล้ว คือเกิดทางจิตใจ
            ทีนี้ เราก็ควรจะศึกษาเรื่องการเกิดทางจิตใจนี้ กันให้เป็นเป็นที่เข้าใจกันต่อไป : จะเข้าใจเรื่องการเกิดทางจิตใจ มันก็ต้องรู้จักการเกิดขึ้นแห่งสิ่งที่เรียกว่า จิตชนิดนี้ จิตชนิดนี้ไม่ใช่จิตตามธรรมชาติธรรมดา ที่ไม่มีกิเลส จิตชนิดนี้หมายถึงว่าจิตที่มันจะมีกิเลส หรือมีกิเลส เด็กเกิดมาจากท้องแม่ หรือว่าอยู่ในท้องแม่มันก็มีจิต คลอดออกมาเป็นเด็ก ๆ ยังไม่รู้จักกิเลสมันก็มีจิต; แต่จิตชนิดนั้นยังไม่ใช่จิตชนิดนี้; พูดแล้วก็น่าหัวว สำหรับจิตชนิดที่เราจะพูดนี้ คือจิตชนิดที่มันงอกงามออกไปจนเป็นความรู้สึก ที่เป็น ตัวกู-ของกู
            ถ้าจะรู้เรื่องนี้ดี มันก็ต้องรู้ไปถึงว่า จิตตามธรรมดานั้นเขาเรียกว่า ภวังคจิต คือสิ่งที่มีชีวิต มันก็ต้องมีจิตประเภทภวังคจิต; แต่ไม่ได้นึก ไม่ได้คิดชนิดที่จะเป็นกิเลส ทีนี้พอมันมีอะไร เข้ามาเกี่ยวข้อง ทางตา ทางหู เป็นต้น จิตธรรมดานั้น มันก็เปลี่ยนเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ที่มากำหนดสิ่งเหล่านี้ คือละสภาพตามธรรมดาตามปกติ มาเป็นจิตที่จะกำหนดอารมณ์เหล่านี้ ถ้าอย่างนี้เขาไม่เรียกว่า ภวังคจิตแล้ว เขาเรียกว่า สมันนาหารจิตบ้าง อาวัชชนจิตบ้าง คือจิตที่มันมาจดเข้าที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ; นี้มันไม่ใช่ภวังคจิต แต่มันเป็นจิตที่ลุกขึ้นมาตะครุบเอาอารมณ์ เช่นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น เขาเยกว่า สมันนาหารจิตว ส่วนจิตที่มันกำหนดเหนียวไปตามอารมณ์เรียกว่า อาวัชชนจิต ถ้าภาษาบาลีจำยากจะจำไว้ในภาษาไทยก็ได้ว่า จิตที่มันลุกขึ้นมาตะครุบเอาอารมณ์ ตลอดเวลาเหล่านั้นมันประกอบอยู่ด้วยอวิชชา คือไม่รู้ คือปราศจากความรู้; ข้อนี้จำไว้ให้แม่น ๆ ว่าจิตของบุคคลที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่ได้ถูกอบรมในธรรมะของพระอริยเจ้านั้น จิตนั้นมันปราศจากวิชชา มันไม่มีวิชชา ไม่มีความรู้; เพราะฉะนั้นจึงถือว่ามันมีอวิชชา ความไม่รู้ อยู่โดยปริยายไป
            เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างที่เราฟังทีแรกสะดุ้ง คือท่านเรียกว่า กุมารน้อย ๆ นี้ยังไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ชนิดที่จะทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้นได้ นี้หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าวิชชา คือความรู้ที่ทำให้กิเลสเกิดข้นไม่ได้ แล้วหลุดพ้นจากกิเลสกรณีนั้น ด้วยอำนาจจิต หรือด้วยอำนาจปัญญาก็ตาม; นี่วิมุตติอย่างนี้ เด็กน้อย ๆ นั้นไม่รู้ หนุ่ม ๆ สาวๆ ก็ไม่รู้; มันก็อยู่ในพวกที่ไม่รู้ เป็นความไม่รู้ประจำอยู่ ดังนั้นพอจิตมันไปตะครุบเอาอารมณ์อะไรเข้า มันก็มี อวิชชา นั้นติดไปด้วย คือความรู้นั้นจะเกิดที่จิตแล้วจิตที่ปราศจากความรู้ ไปตะครุบเอาความรู้สึกที่เกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ก็เกิดอาการที่เรียกว่า สัมผัสอารมณ์นั้นด้วยอวิชชา เรียกว่า อวิชชาสัมผัส สัมผัสด้วยอวิชชา
        ทีนี้ก็ควรจะรู้เรื่อง สัมผัส กันบ้าง สิ่งที่เรียกว่า สัมผัส นี้ ก็มีเป็น 2 อย่าง หรือเป็น 2 ชั้น มันอาจจะเกินควรที่จะรู้ หรือว่าอยู่ในลักษณะที่ควรที่จะรู้ก็ลองคิดเอาเอง ตัดสินเอาเองว่า เรื่องสัมผัส 2 ชนิดนี้มันเป็นของเกินหรือไม่เกิน; เมื่อเราเห็นรูปด้วยตา ตามองไปเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้านี้ ตาเห็นรูปนั้น อย่างนี้เขาเรียกว่า สัมผัสแรก คือสัมผัสด้วยการกระทบทางตาเป็นต้น สัมผัสเพียงเท่านี้ยังไม่เกิดเรื่อง คือว่ามันเพียงแต่ว่าตาสัมผัสกับรูปเท่านั้น เรียกเป็นบาลีว่า ปฏิฆะสัมผัส คือสัมผัสแห่งการกระทบ : ตากระทบรูป อย่างเดี๋ยวนี้ ทุกคนก็ลืมตาอยู่ หันหน้าไปทางไหน มันก็เห็นรูปเหล่านั้น รูปต้นไม้ รูปก้อนหิน รูปคน รูปอะไรต่าง ๆ นี้; ตาสัมผัสสิ่งที่เรียกว่ารูป นั้นเป็นเพียง ปฏิฆะสัมผัส สัมผัสด้วยการกระทบ; นี้ยังไม่เป็นไร ทีนี้พอมันเห็นรูปแล้ว รูปนั้นสวยหรือไม่สวย เช่น รูปหญิง รูปชาย สวยไม่สวย อะไรอย่างนี้ มันมีการสัมผัสชั้นที่ 2 คือทีนี้ใจล้วน ๆ เข้าไปสัมผัสความสวยหรือความไม่สวยของรูปที่เห็นนั้น
            ขอให้รู้จักแยกกันให้ดีนะ ว่าการสัมผัสทีหลังนี้มันไม่ได้ไปสัมผัสที่ตัวรูปนั้น แต่จิตมันสัมผัสที่ ความหมาย หรือ คุณค่า ของสิ่งที่เห็นนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่า ปฏิฆะสัมผัส ไม่ได้สัมผัสด้วยการกระทบ; แต่จะเรียกว่า อธิวจนะสัมผัส สัมผัสด้วยเหตุสักว่าชื่อ; สัมผัสชนิดสักว่าเรียกชื่อ คือว่าใจไม่ได้ไปสัมผัสเข้าที่รูปนั้น แต่สัมผัสเข้าที่ความหมายของรูปเป็นต้นนั้น ที่ลูกตามมันได้สัมผัสไปทีหนึ่งแล้ว
            นี่ เดี๋ยวจะยุ่งกันหมด ฟังให้ดี ๆ ว่าตาสัมผัสรูปภายนอกเข้าแล้ว นี้เป็นปฏิฆะสัมผัส; จากปฏิฆะสัมผัสนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกสวยไม่สวย หญิงหรือชาย น่ารักหรือไม่น่ารัก มีความหมายในของนั้นขึ้นมาแล้ว จิตจะสัมผัสลวงไปที่สิ่งนี้ ซึ่งเรียกว่า สัญญาบ้าง เวทนาบ้าง; นี้เป็นมโนสัมผัสล้วน ๆ ไม่ใช่จักษุสัมผัสแล้ว ระวังให้ดี มันเป็นมโนสัมผัสแล้ว : มโนสัมผัสที่ไปสัมผัสสิ่งที่จักขุสัมผัสได้ทำไปแล้ว
            สัมผัสทีหลังนี้เรียกว่า อธิวจนะสัมผัส นี้คือตัวร้าย ตัวที่จะทำให้เกิดความทุกข์ เพราะตอนนี้จิตหรือมโนนี้ มันสัมผัสสิ่งนั้น ๆ ด้วยอวิชชา มันปราศจากวิชชา มันมีอวิชชา มันก็เลยสัมผัสรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง ฯลฯ ซึ่งตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ฯลฯ ได้สัมผัสมาแล้ว เป็นสัญญา เป็นเวทนาอะไรขึ้นมา; นี้เรียกว่า อธิวจนะสัมผัส มันเป็นการสัมผัสของจิตใจ จึงไม่เรียกว่า สัมผัสแห่งการกระทบ แต่เรียกว่าสัมผัสสักว่าคำพูด สักว่าเรียกชื่อ แต่สักว่าเรียกชื่อนี้กลับร้าย ร้ายว่าตัวสัมผัสด้วยการกระทำเสียอีก
            นี้เป็นเรื่องสัมผัสที่มีอยู่ในพระบาลี ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เรามันพุดกันแต่เรื่อง สัมผัส ๆ เฉย ๆ ก็เป็นเหตุให้ไม่รู้ว่า มันมีอะไรกี่อย่างแล้วสัมผัสชนิดไหนที่มันทำอันตราย ที่มันทำให้เกิดความทุกข์
            เดี๋ยวนี้เราก็สรุปความได้ว่า สัมผัสด้วยอวิชชา เป็นการสัมผัสของมโนต่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดมาจาก อายตนะ ทั้ง 5 ข้างนอกได้สัมผัสแล้ว เช่นตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเยง จมูกสัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส ผิวหนังสัมผัสกับสิ่งที่มาถูกผิวหนัง นี่มันกระทบโดยตรง อย่างนี้เขาเรียกว่ากระทบโดยตรง; ทีนี้หลังจากสัมผัสทั้ง 5 อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง มันกระทบกันแล้วนั้น จิตมันยังจะทำการสัมผัสลวงไปยังคุณค่าหรือความหมายที่เกิดมาจากการกระทบด้วยอายตนะ 5 นั้นอีกทีหนึ่ง; สัมผัสที่ 2 นี้เรียกว่า อธิวจนะสัมผัส สัมผัสนี้แหละคือ สัมผัสที่จะผสมอยู่ด้วยอวิชชาได้เต็มที่ เมื่ออวิชชาสัมผัสแล้ว อะไร ๆ มันก็จะเป็นไปตามทางของอวิชชาทั้งสิ้น กรณีมโนกับธรรมารมณ์นั้น กรรมวิธีแห่งสัมผัสก็ทำนองเดียวกัน; หากแต่ละเอียดอ่อน กว่ากันมาก เท่านั้น
            สัมผัสด้วยอวิชชามันก็ให้เกิดเวทนา; เวทนานั้นมันก็เป็นเวทนาที่เจืออยู่ด้วยอวิชชา มันก็ให้เกิดตัณหา คือความอยากด้วยอวิชชา มันให้เกิดอุปาทานยึดมั่นด้วยอวิชชา มันให้เกิดภพ คือสำเร็จด้วยเป็นนั่นนี่ จนรู้สึกว่าตัวกู-ของกูขั้นด้วยอวิชชา; แล้วมันเกิดเป็นตัวกูของอวิชชา เป็นชาติขึ้นมา พอชาติชนิดนี้เกิดขึ้น สิ่งต่าง ๆ จะเป็นความทุกข์ : ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความได้ ความเสีย จะเป็นทุกข์หมด; ต้องเกิดสิ่งที่เรียกว่า ชาติ ชนิดนี้กันเสียก่อน
            ฉะนั้นขอให้นึกไปถึงข้อที่ว่า : ชาติปจฺจยา ฯลฯ : เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีชาติเป็นปัจจัย สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น หรือไม่ได้มี ทีนี้ ชาติชนิดนี้คือชาติที่เป็นความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู นี้มันเพิ่งเกิดมาจากอวิชชา นับตั้งแต่เมื่อมันสัมผัสสิ่งภายนอกเข้าแล้ว ก่อนนั้นก็ไม่เกิด; อวิชชาไม่มี อวิชชาไม่ปรากฏ ไม่เกิดตัวกู-ของกูที่ไหน
            อย่าเข้าใจว่า อวิชชาเกิดอยู่ตลอดเวลา หรือตัวกู-ของกู เกิดอยู่ในจิตใจตลอดเวลา; อวิชชาก็เพิ่งเกิด แล้วตัวกู-ของกู ก็เพิ่งเกิดตาม อวิชชาแม้ว่ามันจะเป็นความไม่รู้ ซึ่งเหมือนมีอยู่ในจิตใจของคน แต่ก็ไม่ถือว่ามันเกิด ถือว่ามันเกิดต่อเมื่อทำหน้าที่ คือมันทำหน้าที่
            ฉะนั้นเมื่อมีการสัมผัสทางอายตนะแล้ว มีการสัมผัสทางมโน คืออายตนะภายในอีกทีหนึ่ง; ตอนนี้ อวิชชา คือสภาพที่มันว่างจากความรู้ ไม่มีความรู้นั้น มันจะผสมโรง ให้การสัมผัสนั้นปรุงให้เกิดเป็นผลชนิดที่ทำอันตรายแก่คน ดังนั้น เมื่อใดมีการสัมผัสครบบริบูรณ์ทั้ง 2 ชั้นนี้แล้ว เมื่อนั้นจะเกิดกระแส ปฏิจจสมุปบาท ในตอนที่จะเป็นตัวกู-ของกู; คือพอสัมผัสด้วยอวิชชาแล้ว มันก็มีเวทนา รู้สึกเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้ารู้สึกเป็นสุข มันก็เกิดกิเลสประเภท โลภะ หรือ ราคะ ถ้าไม่รู้สึกเป็นสุข คือเป็นทุกข์ มันก็เกิดกิเลสประเภท โทสะ หรือโกธะ ถ้ามันยังไม่สุข ไม่ทุกข์ มันก็เกิดกิเลสประเภท โมหะ ฉะนั้นเวทนาที่รับเอามาด้วย อวิชชา แล้วต้องเกิดกิเลสทั้งนั้น
            ทบทวนอีกทีหนึ่งว่า : ถ้าเกิดสุขเวทนา ก็เกิดกิเลสประเภท ราคะ หรือโลภะ ถ้าสมมติว่าเป็นทุกขเวทนา มันก็เกิดกิเลสประเภท โทสะ หรือโกธะ ถ้าเป็นเวทนา ที่ไม่จักว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ มันก็เกิดกิเลสประเภท โมหะ; มันมีไว้เป็นคู่กันพร้อมหมด
            ฉะนั้น เวทนาที่มาจากอวิชชา เพราะว่าสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชา มันก็ได้เวทนาชนิดที่มาจากอวิชชา; เวทนานี้มนก็ให้เกิด กิเลส โลภ โกรธ หลง อย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้เราไม่เรียกว่า โลภ โกรธ หลง เราเรียกว่า ตัณหา เป็นความอยาก : ถ้ารักก็อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะเป็น; ถ้าเกลียดก็อยากจะตีให้ตาย; นี่เกิดเป็นกามะตัณหา ภวะตัณหา วิภวะตัณหา ขึ้นมาทำนองนี้
            จิตรู้สึกอยาก ในความรู้สึกอยากนั้น มีความหมายแห่งตัวตน เมื่อจิตไม่รู้สึกอยากด้วยอวิชชา จิตนั้นไม่มีความรู้สึกที่เป็นความหมายแห่งตัวตน นี้เป็นกฎง่าย ๆ ตามธรรมชาติ พวกฝรั่งก็รู้ ในหนังสือที่ฝรั่งเขียนปรัชญาเรื่องเกี่ยวกับตัวตนนี้ เช่น ปรัชญา ของนักปรัชญาชื่อ เดสกาตส์ คนฝรั่งเศสนี้ เขาว่า เพราะฉันคิดได้ ฉันจึงมีอยู่ นี้ก็ถูกของเข่า เป็นภาษาลาตินว่า cogito ergo sumฉันคิดได้ ดังนั้นฉันมีอยู่
        ขอให้เข้าใจตรงนี้ให้ดี ๆ ว่า เพราะฉันรู้สึกว่าฉันอยาก ฉันต้องการอันนี้; ตัวความรู้สึกว่า ฉันอยาก ฉันต้องการนี้ เพิ่งมีเมื่อได้เกิดความอยากขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดมีตัณหาคือความอยากข้นมา แล้วสิ่งนี้มันก่อปฏิสนธิเป็นตัวกูขึ้นมา; พออยากแล้วก็ยึดมั่นในสิ่งที่อยากด้วยอุปทานอย่างนี้ ปกิสนธินี้มันเข้าข้นขึ้นมาแล้ว มันตั้งครรภ์แล้ว มันเป็นภพเป็นชาติ มันก็เบิกบานเป็นตัวกู-ของกูเต็มที่แล้ว ดังนั้นอย่าได้คิดว่า ตัวกู นี้มันเป็นของจริงจัง แล้วก็มีอยู่ตลอดเวลา : มันเพิ่งมีรเมื่อ อวิชชา ทำให้เกิดความอยาก
        เมื่อมีการสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชา มีเวทนามาจากอวิชชา มันก็อยากด้วยอวิชชา ในความอยากด้วยอวิชชานั้น มีความรู้สึกอยู่ส่วนหนึ่ง ที่เป็นความรู้สึกแห่งตัวกู ถ้ามีอะไรเนื่องด้วยตัวกูมันก็เป็นของกู มันจึงมีทั้งตัวกู มีทั้งของกู อยากเพื่อตัวกุ อยากเพื่อของกู อะไรก็ตาม มันมีด้วยความรู้สึกซึ่งมีความหมายเป็นตัวกูขึ้นมาเดี๋ยวนี่หยก ๆ; นี่เรียกว่าเกิด
            ฉะนั้น เดี๋ยวก็เกิดเพราะอาศัยอารมณ์ทางตา เดี๋ยวก็เกิดเพราะอาศัยอารมณ์ทางหู ฯลฯ ที่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องมันไม่เกิด
            นี่ขอทบทวนอยู่เสมอว่า เหลือบตาไปดูซิ ทางไหนก็ได้; ถ้าอวิชชาไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตาเห็นรูปแล้ว มันก็เลิกกัน ได้ยินเสียงนกร้อง โดยมากเราก็ไม่ได้สนใจอะไร ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทานอะไร มันก็เลิกกันไป จมูกได้กลิ่นก็เหมือนกัน ได้กลิ่นอะไรมันก็แล้วไปอย่างนั้นแหละ; แต่ถ้ามันเป็นกรณีที่มันจะเกิดตัวกู-ของกู มันไม่แล้วไปอย่างนี้ พอเห็นรูปนี้มันนึก ๆ ๆ ไปจนเป็นได้เป็นเสีย เป็นประโยชน์ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้จนเกิดกิเลส หรือว่าได้ยินนกร้องนี้ ถ้าเขาเป็นคนหลงในนก หรือหลงในเสียงนก หรือมันคิดจะจับนกไปขายหรืออะไรทำนองนี้ มันก็ไม่ใช่เฉย ๆ แล้ว มันไม่ใช่ว่าเกิดแล้วดับไปเฉย ๆ มันจะมีความรู้สึกที่อยาก ที่ยึดถือ ที่ต้องการ
            เพราะฉะนั้นการได้ยินนกร้องนั้น มันก็ทำให้เกิดตัวกุได้เหมือนกัน เช่นมันจะดักจะจับไปขายอย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าเรานั่งอยู่ที่นี่ได้ยินนกร้องแล้วมันก็เลิกกัน มันก็ไม่มีอะไรต่อไปจากนั้น; เพราะว่าไม่ได้สัมผัสเสียงนกนั้นด้วยอวิชชา คือความโง่ ความหลงอะไร; มันเหมือนกับไม่ได้สัมผัสอยู่นั่นแหละ
        นี่ระวังให้ดี สัมผัสที่หนึ่งยังไม่มีอันตราย เป็นเพียงกระทบทางอายตนะล้วน ๆ เรียกว่าปฏิฆะสัมผัส พอถึงสัมผัสที่ 2 เป็น อธิวจนะสัมผัส นี่ต้องระวัง; เป็นขณะที่ว่าอวิชชาจะผสมโรง แล้วก็จะเกิดเวทนา แล้วก็จะเกิดตัณหา เกิดอุปาทานแล้วก็จะเกิดตัวกู-ของกู
        ฉะนั้นขอให้มองให้เห็นชัดว่า ตัวกู-ของกูนี้ เพิ่งเกิดที่นี่ เดี๋ยวนี้; ทั้งหมดนี้โดยหลักแห่ง อิทัปปัจจยตา อย่างยิ่งอย่างสูงสุด มันเกิดจากการกระทบทางอายตนะข้างนอก แล้วเกิดการกระทบทางอธิวจนะสัมผัสข้างใน แล้วมันก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพเกิดชาติ คือเกิดตัวกูเต็มที่ นี้เรียกว่าเกิดในทางจิต หรือเกิดในทางนามธรรม นี่คือตัวเรา; ตัวเราในทางจิต ตัวเราในทางนามธรรม ที่เกิดง่ายเกิดเร็วเกิดได้บ่อย ๆ; กว่าจะตายมันเกิดนับไม่ถ้วน ตัวเราทางร่างกาย ทางเนื้อหนังนั้น เกิดจากท้องแม่ทีเดียวแล้วเลิกกัน รอไปกว่าจะเข้าโลง ฉะนั้นมันครั้งเดียวเลิกกัน มันเกิดได้ทีเดียวเท่านั้น แต่เกิดทางนามธรรม ทางจิต ทางกิเลส นี้จะเกิดได้มากมาย วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้ง กี่สิบครั้งแล้วแต่กรณี
            สัมผัสครั้งแรก เป็นสัมผัสของอายตนะล้วน ๆ นั้น ภาษาอภิธรรมเขาเรียกว่า สัมผัสหยาบ; สัญญาหยาบ เวทนาหยาบ เรียกว่า โอฬาริกา ทีนี้สัมผัสครั้งที่สองด้วยมโนล้วน ๆ นี้ ละเอียดประณีต เรียกว่า สุขุมา ถ้าเราไปฟังพระสวดอภิธรรมงานศพนี้ จะได้ยินคำว่า : โอฬาริกา วา สุขุมา วา หีนา วา ปณิตา วา นี้ คำว่าโอฬาริกา วา ของสัญญา ของเวทนา ของอะไรนี้ คือว่าสัมผัสสักว่าสัมผัสข้างนอกเป็นปฏิฆะสัมผัส นี้มันหยาบกระด้าง แล้วก็ยังไม่มีความหมาย; แต่พอมโนเข้าไปสัมผัสเอาความหมายของสัมผัสที่แรกนี้ มันก็เป็นของละเอียดประณีต จนต้องเรียกว่า สักแต่ว่าชื่อ คืออธิวจนะนี้เป็นสักแต่ว่าชื่อ มันไม่เป็นก้อนเป็นดุ้นอะไร; สัมผัสนี้ สัญญานี้ เวทนานี้ มันสุขุมา คือประณีต และที่สุขุมานี้ป้องกันลำบาก เพราะมันละเอียด มันประณีต มันควบคุมยาก มันเห็นยาก มันเข้าใจยาก; ส่วนโอฬาริกานั้นมันคล้าย ๆ ก้อนหิน ก้อนดิน เหมือนกับเอาก้อนหินขว้างเข้าที่ต้นไม้ดังโผง อย่างนี้มันก็เป็นสัมผัสหยาบ เพราะมันเป็นเรื่องปฏิฆะสัมผัส แต่ถ้าเอาความหมายที่ได้มาจากนั้น จิตใจเข้าไปสัมผัสรู้ นี้จะกลายเป็นสัมผัสละเอียด แล้วจะเข้าใจยาก แล้วจะเกิดสัมผัสได้ไม่ทันรู้
            ทีนี้ตัวเรา เกิดเมื่อไรคิดดูซิ : ตามกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา ตัวเราชนิดที่สอง ชาติชนิดที่สอง เกิดเมื่ออายตนะภายในสัมผัสอายตนะภายนอก แล้วก็เกิดวิญญาณขึ้นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้; อายตนะภายใน ภายนอก วิญญาณ รวมกันแล้ว เกิดผลอะไรขึ้นมา จิตก็ไปรับเอา อย่างนี้จึงจะเรียกว่าสัมผัสที่แท้จริง; ไม่ใช่กระทบกันระหว่างของข้างนอกเสียแล้ว สัมผัสนี้มันแท้จริงแล้ว้ เพราะว่ากระทบด้วยจิตใจแล้ว กระทบถึงใจด้วยใจแล้ว; แล้วมันประกอบอยู่ด้วยอวิชชา แล้วมันก็เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน; ในความรู้สึกนั้นจะมีตัวฉัน มีตัวกู
            ที่มันเป็นได้อย่างนี้ ละเอียดอย่างนี้  ซับซ้อนอย่างนี้ เนื่องกันเป็นสายอย่างนี้ นี้ความเป็น อิทัปัจจยตา : ถ้าเกิดจากท้องแม่ก็เป็นอิทัปปัจจยตาไปตามแบบของร่างกาย เนื้อหนัง; ถ้าเกิดจาก อวิชชา อย่างนี้ก็เป็นอิทัปปัจจยตา ไปตามแบบของกิเลส ของจิตใจของนามธรรม เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ตัวเราชนิดไหนก็ตามก็เป็นอิทัปปัจจยตา : ตัวเราที่เกิดมาจากท้องแม่ก็อิทัปปัจจยตา ตัวเราที่เกิดจากนามธรรม จากอวิชชานี้ก็อิทัปปัจจยตา ตัวเรามี 2 ความหมายเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ตัวเรา ในทุกความหมาย เป็นอิทัปปัจจยตา; อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นตัวเราทุกความหมาย
            ทีนี้ เราควรจะเข้าใจตัวเราชนิดหลังนี้ การเกิดชนิดหลังนี้กันให้ละเอียดขึ้นไปอีกสักหน่อยหนึ่ง คือคำว่า ชาตินั่นเอง คำว่าชาติ ชา-ติ นี้เกิดจากท้องแม่ก็ได้ เกิดจากกิเลสอวิชชานี้ก็ได้ ชนิดหลังนี้เกิดจากอวิชชา เกิดจากกิเลส เกิดจากนามธรรม เป็นตัวกู-ของกู ในความรู้สึก ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในมหาตัณหาสังขยสูตร อีกเหมือนกันว่า : ยา เวทนาสุ นนฺทิ แปลว่า ความเพลินใดในเวทนาทั้งหลาย; ตทุปานานํ ความเพลินนั้นแหละคือ อุปาทาน ตสฺส อุปาทานปจจยา ภโว เพราะอุปาทานแห่งความเพลินนั้นเป็นปัจจัย ภพจึงเกิดขึ้น
        ฟังดูซิ ! นันทิโต ในเวทนาทั้งหลาย นั้น คืออุปาทาน เมื่อใดมีเวทนา คือทุกขเวทนา สุขเวทนา อุทุกขมสุขเวทนา ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เราก็มีความรู้สึก พอใจ เพลิดเพลินในเวทนานั้น โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง ถ้าว่ามันเป็นทุกข์เวทนา มันก็ไปเพลินโกรธ เพลินเกลียด อยู่นั้นแหละ; ถ้าเป็นสุขเวทนามันก็ไปเพลินรัก เพลินหลงใหลอยู่นั่นแหละ; ก็เรียกว่า นันทิ ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเข้าไปเพลินในเวทนานั้น นั่นแหละคือตัวอุปาทาน; และอุปาทานนั่นแหละให้เกิดภพ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า ภพ เกิดที่นั่น เดี๋ยวนั้น เวลานั้น คือเมื่อจิตไปเพลิดเพลินในเวทนานั้น ไม่ใช่มีภพต่อเมื่อเข้าโลง แล้วจึงจะมีภพ; ไม่ใช่; มันเกิดที่นี่เดี๋ยวนี้ คือเมือใดมีเวทนา แล้วมีความเพลินในเวทนานั้น ความเพลินนั้นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานนั้นเป็นปัจจัยจึงมีภพ; พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนี้
        ทีนี้ ภวปจฺจยา ชาติ : เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย ชาติ ความเกิด จึงมี นี่คือความเกิด ชาติชนิดที่สองคือเกิดตัวกู ของกูเร่า ๆ อยู่; เป็นตัวกุ เป็นของกุเต้นเร่า ๆ อยู่; นี้เรียกว่าชาติ
        ต้องมีชาติอย่างนี้เสียก่อน จึงจะมีความทุกข์ต่อไปได้ ถ้าชาติคือตัวกูนี้ไม่มีแล้ว ชรา มรณะ ก็ไม่มี มีไม่ได้ แม้จะมีก็ไม่มีความหมายอะไร ทั้งที่เราชรา หรือแก่ เจ็บไข้อยู่ทึกวัน มันก็ไม่มีความหมายอะไร จนกว่า ชาติ ว่า ตัวกู-ของกูนี้จะเกิดขึ้นในใจเสียก่อน มันจึงจะไปกลัวควา มเจ็บ กลัวความไข้ กลัวความตาย แล้วก็มีปัญหาเรื่องความเจ็บ ความตายขึ้นมา
            ช่วยจำไว้ให้ดี ๆ ว่าความทุกข์ที่เรียกว่า ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปยาส อะไรต่าง ๆ นานาสารพัดอย่างนั้นมันไม่มีความหมาย จนกว่าว่าเมื่อไรมันเกิดชาติชนิดที่เป็น ตัวกู นี้เสียก่อน คือ ตัวกู ที่มาจากภพ มาจากอุปาทาน มาจากตัณหา มาจากเวทนา เพราะฉะนั้นเมื่อใดมีเวทนาเพราะอวิชชา มีเวทนาด้วยอวิชชา ในอวิชชา เมื่อนั้นก็จะมีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ แล้วก็มีชาติที่ตรงนั้นเอง พอมีชาติมีตัวกูแล้วเดี๋ยวก็จะได้มีความทุกข์รอบด้าน : นึกถึงสิ่งนั้นก็ทุกข์ นึกถึงสิ่งนี้ก็ทุกข์ ได้มาก็ทุกข์ เมียไปก็ทุกข์ มันทุกข์ไปหมด ถ้ามันเกิดสิ่งที่เรียกว่าชาติชนิดนี้ขึ้นมา คือชาติชนิดที่สอง คือชาติทางนามธรรมที่เกิดเป็นตัวกู-ของกูนี้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า กองทุกข์ทังมวล มีได้ด้วยอาการอย่างนี้
        นี้เรียกว่า ชาติทางจิตใจ เกิดจากกิเลส; เกิดจากพ่อ แม่ คืออวิชชาตัณหา; ถ้า ชาติทางร่างกาย เกิดจากพ่อแม่จริง ๆ พ่อแม่ที่เป็นคน แต่ถ้าเป็นชาติทางจิตใจทางนามธรรมที่จะเป็นทุกข์นี้ เกิดจากพ่อแม่อีกชนิดหนึ่งคือ อวิชชาตัณหา; นั้นแหละเป็นพ่อแม่ที่จะเกิดตัวกู-ของกู มาต้นเร่า ๆ อยู่ นี่การเกิดชาติ เกิด ได้อย่างนี้ ในลักษณะอย่างนี้ เป็นลำดับอย่างนี้ แน่นอนมันคงอย่างนี้ นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา คือความเป็น อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ จะพูดกันถึงสูตร อีกสักสฦตรหนึ่ง เพื่อให้มันเข้าใจชัดยิ่งขึ้นไปอีก ในสูตรนี้จะใช้คำว่า : อายตึ ปุนพฺภวาภินิพฺพติติ; มันชัดดีว่า การเกิดขึ้นใหม่ต่อไป อายตึ แปลว่าต่อไป ปุนพฺภว ภพใหม่ อภินิพฺพตฺติ เกิดขึ้นกะทันหัน เกิดในภพใหม่ต่อไปหมายความว่าอย่างไร คอยฟังซิ; คือไม่ต้องรอต่อเข้าโลงแล้ว หมายความว่าที่นี่ ที่ตรงนี้
            ทีนี้จะมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปได้อย่างไร? พระบาลีนิทานสังยุตต์มีว่า : ยญฺจ ภิกฺขเว เจเตติ ยญฺจ ปกปฺเปติ ยญฺจ อนุเสติ; อารมฺมณเมติ โหติ วิญฺญาณสฺส ฐิติยา; อารมฺมเณ สติ ปติฏฺฐา วิญฺญาณสฺส โหติ; ตสฺมึ ปติฏฺฐิเต วิญฺญาเณ วิรุฬฺเห อายตึ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ โหติ ใจความก็มีสั้นเท่านี้ที่เป็นบาลี ทีนี้ความหมายมีว่า ยญฺจ ภิกฺขเว เจเตติ ยณฺจ ปกปฺเปติ ยญฺจ อนุเสติฯลฯ –“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าจิตคิดซึ่งอารมณ์อะไร สำเร็จความคิดในอารมณ์อะไร ฝังตัวเข้าไปในอารมณ์อะไร อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์เพื่อความตั่งอยู่แห่งวิญญาณ ฟังให้ดีว่า จิตคิดซึ่งอารมณ์อะไร เจเตติ แล้วก็จิตปกปฺเปติ มันสำเร็จความคิดความใคร่ได้ในอารมณ์อะไร; แล้ว ยญฺจ อนุเสติ จิต มันฝังตัวเข้าไป หรือไปตามนอน อยู่ในอารมณ์อะไร; อารมณ์นั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อความตังอยู่แห่งวิญญาณ วิญญาณในที่นี้หมายถึง มโนวิญญาณ ที่จะทำหน้าที่ อธิวจนะสัมผัส อย่างที่สอง อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ นี้ดูจะงง ๆ กันไปหมด
            ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า จิตมันคิดเข้าไปที่อารมณ์อะไร มันสำเร็จ ตามความคิดได้ในอารมณ์อะไร แล้วมันก็ฝังตัวเข้าไปอยู่ในอารมณ์อะไร; อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์เพื่อความตังอยู่ได้แห่งวิญญาณ คือมโนวิญญาณที่จะทำหน้าที่ แบบ อธิวจนะสัมผัส อารมฺมเณ สติ ปติฏฺฐา วิญฺญาณสฺส โหติ เมื่ออารมณ์เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งวิญญาณมีอยู่แล้ว ที่ตั้งที่อาศัยแห่งวิญญาณย่อมมี; ตสฺมึ ปติฏฺเฐ วิญฺญาเณ วิรุฬฺเห เมื่อวิญญาณมีที่ตั้งที่อาศัยเจริญงอกงามแล้ว; อายตึ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ โหติ การเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปย่อมี คือมีที่ตรงนั้นเอง อารมณ์นั้น ๆ กลายเป็นอารมณ์เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่ออารมณ์ชนิดนั้นมีที่ตั้งที่อาศัย วิญญาณย่อมมี; เมื่อวิญญาณได้ที่ตั้งที่อาศัย จนเจริญงอกงามอย่างนั้นแล้ว การเกิดในภพใหม่ต่อไปย่อมมี คือมีที่ตรงนั้น
        ภพใหม่ในที่นี้ คือภพ ใน ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็จะเกิดชาติ คือตัวกู-ของกู ทีนี้เมื่อภพใหม่ต่อไปมีแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยชาติ ชารา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปยาส ก็มีที่ตั้งที่อาศัย แล้วก็มีขึ้นมา
        ทีนี้ถ้าว่าจิตมันไม่คิดตามอารมณ์อะไร มันไม่สำเร็จตามความคิดในอารมณ์อะไร มันไม่ฝังตัวเข้าไปในอารมณ์อะไร อารมณ์นั้นไม่เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งวิญญาณ; วิญญาณไม่มีที่ตั้งที่อาศัยไม่งอกงาม ตลอดเวลานั้นการเกิดในภพใหม่ไม่มี
            นี่เรานั่งอยู่ตั้งชั่วโมง ยังไม่เกิดอารมณ์ สำหรับจะเกิดเป็นภพใหม่ เป็นตัวกูอันใหม่ แต่ถ้าเราเผลอไปเมื่อไร จิตมันไปฝังลงไปในอารมณ์อะไร มันก็มีที่ตั้งให้เกิดภพใหม่ คือเกิดตัวกูครั้งที่สอง ตัวกูครั้งที่สาม ตัวกูครั้งที่สี่เรื่อยไป นั้นเรียกว่าเกิดใหม่ เป็นภพใหม่ต่อไป; เกิดได้ทุกครั้งที่มันเผลอไป จิตมันไปคิดไปสำเร็จความคิด มันไปฝังตัวลงไป คือไปตามนอนในอารมณ์ใดเมื่อใด เมื่อนั้นก็มีอาการเกิดขึ้น แห่งภพใหม่
        การเกิดขึ้นแห่งภพใหม่นี้ก็เรียกว่า ตัวกูที่ 1 ตัวกูที่ 2 ตัวกุที่ 3 ฯลฯ ของวันนี้ วันนี้เกิดตัวกูกี่ตัว มันก็เกิดภพใหม่เท่านั้น แต่ทุกชนิดทุกครั้งนั้นก็เป็นอิทัปปัจจยตา ตัวเราชนิดนี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา ไม่มีอื่น ไม่ใช่ผีสางเทวดา ไม่ใช่วิญญาณมาจากไหน ไม่ใช่มาจากโลกอื่น หรือโลกไหน; มันกระทบกันด้วยอำนาจของ อิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ปรุงเป็นความคิดขึ้นมาโดยไม่รู้สึก; ไม่มีทางที่จะให้รู้สึก แต่เมื่อเป็นตัวกู-เป็นของกู แล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ นี้เรียกว่า การเกิดในภพใหม่ มาเป็นตัวเรามาเป็นอะไร นี้คือ อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้บาลีนี้ยังมีว่า จะเรียกว่า การเกิดใหม่ ในภพใหม่ต่อไป ก็ได้; จะเรียกว่า การก้าวลงแห่งนามรูป ก็ได้ นามรูป สฺส อวกฺกนฺติ บางทีก็เรียกว่า นะติ แปลว่า เครื่องนำไปสู่ภพ เมื่อเราเผลอไปอย่างนี้ จะเกิด นะติ คือเครื่องนำไปสูภพคือภพใหม่ นั้นเอง เมื่อเผลออย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าการเกิดในภพใหม่ต่อไปก็ได้ การก้าวลงแห่งนามรูปใหม่ก็ได้ เกิดสิ่งที่จะนำไปสู่ภพใหม่คือนะติ ก็ได้ ซึ่งได้แก่ตัณหานั้นเอง เมื่อนะติ หรือตัณหานี้มีแล้ว มันก็จะต้องเกิดตัวกู-ของกูจนได้ นี้มันก็ไปพบกันเข้ากับความทุกข์อย่างเดียวกัน
            ดังนั้นการได้อัตตภาพนี้ มันก็มีการได้อัตตภาพใหม่อย่างนี้เรื่อย มีเรื่อยไปทุกคราวที่โง่ ที่เผลอ ด้วยอำนาจของ อวิชชา; นี้จะเรียกว่าการได้อัตตภาพก็ได้ อตฺตภาโว คืออัตตภาพ อตฺตภาวลาโภ การได้ซึ่งอัตตภาพ ดังนั้น จะเรียกว่า ความเกิดก็ได้ จะเรียกว่าการบังเกิดภพใหม่ต่อไปก็ได้ จะเรียกว่าการก้าวลงแห่งนามรูปใหม่ก็ได้
        ทีเรียกว่า การได้อัตตภาพนี้ ยิ่งง่ายมาก ยิ่งเห็นได้ง่ายมากในพุทธภาษิต : พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยํ โข ภิกฺขเว กามยมาโน ตชฺชํ อตฺตภาวํ อภินิพฺพตฺเตติ ปุญฺญภาคิยํ วา อปุญฺญภาคิยํ วา อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว กามานํ วิปาโก ใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคล(หมายถึงจิต) ใคร่อยู่ในกามใด(มีความใคร่อยู่ในกามารมณ์ใด) เขาย่อมยังอัตตภาพให้เกิดขึ้นจากอารมณ์นั่นจากกามนั้น : หัวใจใคร่อยู่ด้วยกามกิเลส ในกามคุณใด เขาย่อมสร้างอัตตภาพขึ้นมาได้ใหม่จากกามคุณนั้น
            นี่ฟังถูก หรือไม่ฟังถูก ที่ว่ากามยมาโน-ใคร่อยู่ นี้เป็นกิลเลสกามคือกิเลสที่เป็นตัวกาม ที่เป็นตัวให้ใคร่ แล้วมันใครอยู่ซึ่งวัตถุกามใด มันจะสร้างอัตตภาพขึ้นมาใหม่จากกามนั้นได้; ปุญฺญภาคิยํ วา เป็นส่วนแห่งบุญก็มี อุปญฺญภาคิยํ วา เป็นส่วนแห่งบาปก็มี อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว กามานํ วิปาโก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือผลอันสุกวิเศษที่มาจากกามทั้งหลาย
            ผลอันสุกวิเศษที่ออกมาจากกามนี้คือ อัตตภาพใหม่ : พอจิตนี้ใคร่ในกามใด มันเปลี่ยนสภาพจิต เปลี่ยนสภาพตัวบุคคลนั้นไปเป็นอย่างอื่น เพราะนั้นจึงชื่อว่าได้อัตตภาพใหม่ที่ตรงนั้นเอง ตรงที่นั่งนั่นเอง; บางทีในนาทีนั้นเอง เข่าเปลี่ยนอัตตภาพจนไปได้อัตตภาพใหม่; เป็นอัตตภาพที่เป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี
            พูดภาษาชาวบ้านธรรมดาก็ว่า จิตคิดเป็นบุญ มันก็เกิดเป็นคนมีบุญ จิตคิดเป็นบาป มันก็เกิดเป็นคนมีบาป ที่ตรงนั้นเอง; นี่เรียกว่าได้อัตตภาพใหม่ในความหมายนี้
            ทีนี้ มันไม่ใช่เพียงแต่กามอย่างเดียว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ยํ โข ภิกขเว เวทยมาโน ฯลฯ –“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! บุคคลเสวยเวทนาใดอยู่ เขาย่อมยังอัตตภาพให้เกิดขึ้นมาเฉพาะจากเวทนานั้น เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญบ้าง เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบาปบ้าง; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้คือวิบากแห่งเวทนาทั้งหลาย นี่อย่าทำเล่นกับเวทนา นี้คือวิบากแห่งเวทนา หมายความว่า เวทนาให้เกิดวิบากเป็นอัตตภาพขึ้นมาใหม่ที่นี่เดี๋ยวนี้ เป็นอัตตภาพบุญบ้างเป็นอัตตภาพบาปบ้าง
        แล้วก็ต้องนึกถึงเวทนาที่พูดกันเมื่อตะกี้นี้ คือเวทืนาที่เกิดมาจาก อธิวจนะสัมผัส ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เป็นอวิชชาสัมผัส ซึ่งได้พูดมาละเอียดแล้ว; แล้วก็นึกถึงเวทนานั้น เมื่อใดบุคคลเสวยเวทนาชนิดนั้น เข่าย่อมได้อัตตภาพใหม่เขาย่อมทำอัตตภาพใหม่ให้เกิดขึ้นจากเวทนานัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี่แหละคือวิบาก(ผลที่สุกงอม) ออกมาจากเวทนาทั้งหลาย
            ทีนี้เรื่องต่อไป ก็เหมือนกันอีก แต่ใช้คำว่า อาสวะ : ยํ โข ภิกฺขเว อวิชฺชาคโต ฯลฯ –“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลถึงแล้วซึ่งอวิชชา(คือประกอบอยู่ด้วยอวิชชาป ในเพราะอาสวะโต เขาย่อมยังอัตตภาพให้เกิดจาก อาสวะนั้น เป็นอัตตภาพอันเป็นบุญบ้าง; เป็นอัตตภาพอันมิใช่บุญบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือวิบาก(ผลที่เกิด) ออกมาจากอาสวะทั้งหลาย
            ทีนี้สิ่งที่เรียกว่า อาสวะ นี้เคยพูดให้ฟังหลายหนแล้ว แต่ดุจะไม่ค่อยสนใจกันว่า มันคืออะไร; ไปเข้าใจผิดกันเสียว่า เป็นสิ่งที่นอนนิ่งอยู่ในสันดาน ไม่เกิด ไม่ดับ; นั้นมันเป็น สัสสตทิฏฐิ ถ้าอนุญาตให้พูดตามใจ ก็จะพูดว่านั้นมันบ้า นั้นมันบ้าที่สุดที่ไปพูดว่า อาสวะ นั้นนอนนิ่งอยู่ในสันดาน เป็นของเที่ยงไม่เกิดไม่ดับ นอนรอคอยอยู่ในสันดาน ได้อารมณ์ก็ลุกดขึ้นมา; อย่างนั้นไม่ถูก
          อาสวะ คือสิ่งที่เกิดดับ และเพิ่งเกิดเหมือนกัน มันเกิดเพิ่มเรื่อย มีอาการหมักหมม พร้อมที่จะดันออก พอเรารักที่หนึ่ง มันก็เกิด ราคานุสัยประเภทราคะ; สำหรับสะสม หมักหมมเป็น กามาสวะ หรือ อาสวะประเภทราคะ; นี่มันสะสมความเคยชิน ที่จะรัก พอโกรธทีหนึ่งมันก็เพิ่มความเคยชินที่จะโกรธคือปฏิฆานุสัยทีหนึ่ง ทีนี้ความเคยชินนี้มันหมักหมมหนาเข้า ๆ มันก็เก่งเข้าที่จะเกิด; หรือว่า เมื่อลังเลสงสัยไม่แน่ใจว่าจะโกรธหรือรัก คือไม่แน่ว่าสุขหรือทุกข์นี้ ก็จะเพิ่มอวิชชานุสัย เพื่อประโยชน์แก่อวิชชาสวะ ถ้าเป็นอารมณ์สุขน่ารัก เกิดหมักหมมกามาสวะ เพิ่มกิเลสประเภทที่จะให้รัก เพิ่มความเคยชินให้แก่กิเลสประเภทที่จะรักนั้นไหลออกง่ายขึ้น; ถ้าพบอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เวทนาที่เป็นทุกข์ มันจะเกิดหมักหมม ปฏิฆานุสัยที่จะไหลออกมาเป็นความโกรธง่ายขึ้น ถ้ามันได้อารมณ์ที่ไม่แน่ว่าเป็นสุขหรือทุกข์ มันก็จะเพิ่มอวิชชานุสัยหมักหมม อาสวะประเภทให้เกิดกิเลสที่ไม่ใช่รักหรือเกลียดนั้น; นี้คือพวกอาสวะ แยกออกมาได้จากเรื่องกามหรือเวทนา ซึ่งพูดไว้ในวงจำกัด; ล้วนแต่ให้เกิดอัตตภาพได้ด้วยกันทั้งนั้น
            ทีนี้ ถ้าคนมีอวิชชา อวิชฺชาคโต คือประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ไปแล้วด้วยอำนาจของอวิชชา ก็นำไปสู่อาสวะได้; อวิชชานำเขาไปสู่ อาสวะ คือความเคยชินหมักหมมที่จะเกิดกิเลสชนิดไหน เขาก็จะยังอัตตภาพ ให้เกิดขึ้นจากอาสวะนั้น ๆ เป็นอัตตภาพที่มีส่วนแห่งบุญบ้าง เป็นอัตตภาพที่มีส่วนแห่งบาปบ้าง สรุปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี่คือวิบาก(ผล) ของอาสวะทั้งหลาย
        เมื่อคนมันเข้าไปรู้สึกอยู่ในกาม ในเวทนา ในอาสวะ; นั้นมันก็สร้างอัตตภาพใหม่ทันทีที่นั่นเดี๋ยวนั้น นี้คืออัตตภาพแบบนามธรรมแบบทางจิต ฉะนั้นวันหนึ่ง ๆ คนสร้างอัตตภาพใหม่ได้มากมาย คือเกิดเป็นชาติ เป็นตัวกู-ของกูได้มากมาย; แต่เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่า อัตตภาพ แทนที่จะเรียกว่าการเกิดหรือการก้าวลงสู่ความเกิด; หรือแทนที่จะเรียกอย่างอื่นก็เรียกว่า อัตตภาพ; ได้อัตตภาพ คือภาวะแห่งอัตตา ภาวะแห่งอัตตา คือภาวะแห่งตัวตน; ภาวะแห่งตัวตนคือภาวะแห่งตัวกู อัตตภาโว คือภาวะแห่งตัวกู
            อัตตภาพ หรือภาวะแห่งตัวกุมันเกิดได้ วันหนึ่งหลาย ๆ หน เพราะเข้าไปเสวยกามอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง เข้าไปเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง เพราะโง่เข้าไปหาอาสวะอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง; นี่เรียกว่าได้อัตตภาพใหม่ วันหนึ่งหลาย ๆ หน; อย่างนี้แหละคือตัวเรา; นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงความรู้สึกคิดนึกว่า เป็นตัวเป็นตน ตัวเราในสภาพนี้คือ อิทัปปัจจยตา อย่างยิ่ง ทุก ๆ ส่วนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์
            นี่แหละขอให้จำไว้ให้ดีว่า เมื่อใดมันมีอวิชชาเข้มาเกี่ยวข้อง กับการสัมผัสของมนุษย์เรา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางอะไรก็ตาม มันจะเกิดสัมผัสภายใน ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส ยึดถือเอาความหมาย แห่งเวทนานั้น ๆ แล้วมันก็สร้างชาติ สร้างอัตตภาพ สร้างการเกิดใหม่ สร้างตัวกู สร้างอะไรขึ้นมาที่นั่น เดี๋ยวนั้นทันที; แล้วแต่จะเรียกอย่างไหน นี่เรียกว่า ตัวเราในทุกความหมาย แต่ที่แท้ก็คือ อิทัปปัจจยตา
        ทีนี้ ในทุกอิริยาบถ นี่ขอเพิ่มเติมสักหน่อยว่า ในทุกอิริยาบถ หมายความว่า เรามีการเป็นอยู่ด้วยการเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า อิริยาบถ อิริยาบถใด เวลาใดเราเคลื่อนไหวชีวิตร่างกายอยู่ด้วยจิตที่ยังไม่มีกิเลส มันก็เป็นเรื่องของร่างกายล้วน ๆ; เช่นเราไปกินข้า อาบน้ำ ไปถาน ไปอะไรก็ตาม ไปตามธรรมดาอย่างนี้ นี้ไม่มีกิเลส คือหมายถึงว่าในกรณีที่ไม่มีกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้อง : เราเดิน เรานั่ง เรายืน เราทำอะไรอยู่เป็นประจำวัน เวลาที่เราไม่มีกิเลส มีอิริยาบถต่าง ๆ อยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน นี่ก็คือ อิทัปปัจจยตาตามแบบของรูปธรรมนามธรรมที่ยังไม่มีกิเลส; แต่มันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา; แต่ว่ากิเลสมันยังไม่ได้เกิดเท่านั้น
            ทีนี้ในเวลาใดกิเลสมันเกิด มันทำให้เราอยู่นิ่งไม่ได้ มันก็ยืน เดิน นั่ง นอน ไปตามเรื่องตามราว ที่เต็มอยู่ด้วยกิเลส ง่วนหมกมุ่น กลัดกลุ้มอยู่ด้วยกิเลส ทุก ๆ อิริยาบถ มันก็คือ อิทัปปัจจยตา
            พวกหนึ่ง มันเคลื่อนไหวอยู่ด้วยจิตล้วน ๆ ไม่ได้มีกิเลส; พวกหนึ่งเคลื่อนไหววุ่นวายอยู่ ด้วยจิตที่มีกิเลส; อิริยาบถของคนเรามีเท่านี้
        ก็ลองถามตัวเองดุว่า เดี๋ยวนี้นั่งอยู่ที่นี่ นั่งอยู่ด้วยกิเลส หรือนั่งอยู่ด้วยความว่างจากกิเลส; แต่ว่านั่งทั้ง 2 นั่นนี้ ก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา มีเหตุมีปัจจัยทำให้นั่งอยู่ที่นี่ นั่งอยู่ด้วยกิเลส หรือนั่งอยู่โดยไม่มีกิเลส : จะยืน จะเดิน จะนอน จะหลับ จะตื่น จะกิน จะอาบ จะถ่าย จะเป็นอิริยาบถไหนก็ตามเถอะ มันเป็น อิทัปปัจจยตาทั้งนั้นเลย มีอยู่แต่ว่า อิทัปปัจจยตา ที่เต็มไปด้วยกิเลส หรือว่า อิทัปปัจจยตาที่เป็นสักแต่ว่าตามธรรมชาติ นี่ขอให้นึกกันอย่างนี้ คือให้มองเห็นอย่างนี้ เพื่อจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ก็มี่เรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะพูดเสียเลย ก็คือ เรื่องกรรม ถ้าเรามีกิเลสมันก็ทำกรรม; ถ้าทำกรรมก็มีผลกรรม ถ้าจิตมีกิเลสมันก็ทำกรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ถ้ามีการทำกรรม มันก็มีวิบากคือผลกรรม กิเลสก็เป็นอิทัปปัจจยตา กรรมก็เป็น อิทัปปัจจยตา ผลกรรมก็เป็น อิทัปปัจจยตา แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร โดยที่ไม่มีกรรม หรือไม่มีผลกรรม เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า อัตตภาพร่างกายนี้ นามรูปนี้ เป็นกรรมเก่า”; ท่านจะหมายความว่าอย่างไรก็สุดแท้ แต่มีคำตรัสว่า นี้คือกรรมเก่า; มันก็คือผลของกรรมเก่า อย่างน้อยมันก็เป็นผลของกรรมเก่า นับเนื่องอยู่ในกระแสแห่งกรรม เรามามีร่างกายมีชีวิตมานั่งอยู่ที่นี่ นามรูปนี้เป็นกรรมเก่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น; มันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา ทีนี้เมื่อเรามีกิเลส ก็เป็นอิทัปปัจจยตา เราทำกรรมใหม่ก็เป็น อิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ให้ได้ผล เป็นคนชนิดที่ทำกรรมเสร็จแล้ว มาอยู่ในรูปนี้อีก หรือเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตามสมควร มันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตาอีก
            ทีนี้ เมื่อไร ทำกรรม เมื่อไรเรียกว่าทำกรรม? เมื่อไรมีอวิชชา เมื่อนั้นทำกรรม เมื่อใดอวิชชาเกิด เมื่อนั้นทำกรรม ถ้าจิตอยู่เฉย ๆ ไม่มีอวิชชาเกิดขึ้นมาก็ยังไม่ได้ทำกรรม; พออวิชชาเกิดเมื่อนั้นทำกรรม เมื่อไรอวิชชาเกิด? ก็เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น เกิดสัมผัสแล้ว จิตรับเอาความหาของสัมผัสเป็นอธิวจนะสัมผัสประกอบด้วยอวิชชา เพราะปราศจากความรู้; เมื่อนั้นเรียกว่าอวิชชาเกิดแล้วแก่บุคลนั้น; บุคคลนั้นเป็น อวิชิชาคโต ผู้ไปด้วยอวิชชา มันเป็นอันเดียวกับอวิชชาไป พระพุทธเจ้าตรัสในข้อนี้ว่า :-
        อวิชฺชาคโต ภิกฺขเว ปุริสปุคฺคโล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษบุคคลผู้ไปแล้วด้วยอวิชชา;
            ปุญฺญญฺเจ สงฺขารํ อภิสงฺขโรติ ย่อมปรุแต่งซึ่งสังขาร อันเป็นบุญ;
            ปุญฺญูปคํ โหติ วิญฺญาณํ วิญญาณของเขาก็เป็นวิญญาณที่เข้าไปแล้วสู่บุญ;
            อปุญฺญญฺเจ สงฺขารํ อภิสงฺขโรติ ย่อมปรุงแต่งสังขารอันมิใช่บุญ;
            อปุญฺญูปคํ โหติ วิญิญาณํ เมื่อนั้นวิญญาณของเขาก็เป็นวิญญาณที่เข้าไปแล้วสู่อบุญ;
            อเนญฺชญฺเจ สงฺขารํ อภิสงฺขโรติ ย่อมปรุงแต่งซึ่งสังขารอันเป็น อเนญชา;
            อเนญฺชูปคํ โหติ วิญฺญาณํ เมื่อนั้นวิญญาณของเขาก็เป็นวิญญาณที่เข้าไปแล้วสู่อเนญชา;
             ผลของกรรมนี้แบ่งเป็น 3 อย่าง คือบุญ อย่างหนึ่ง อบุญ อย่างหนึ่ง แล้วอเนญชา อย่างหนึ่ง บุญก็อย่างที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว อบุญก็คือบาป ส่วนอเนญชานั้นเกินกว่าที่จะเรียกว่าบุญ; สิ่งนี้หมายถึงภาวะแห่งอรูปาวจรภูมิ หรืออากิญจัญญายตนะทั้งหลาย คือจิตที่ไม่หวั่นไหวอยู่ด้วยอำนาจของบาปบุญ ในขั้นสูง; แต่ว่ามิใช่ว่าไม่หวั่นไหวอยู่เพราะหมดกิเลส มันไม่หมดกิเลส แต่มันไม่หวั่นไหลอยู่ในสภาพหนึ่ง ได้เหมือนกัน; มีนไม่หวั่นไหว เพราะอำนาจของสมาบัติยึดเอาไว้; อย่างนี้จัดให้สูงกว่าบุญ เรียกว่าเป็นอเนญชา
            ทีนี้คนเราทำกรรมวนเวียนอยู่แต่ใน 3 อย่างนี้ สร้างสังขาร เครื่องปรุงแต่งที่เป็นไปทางฝ่ายบุญบ้าง ฝ่ายบาปบ้าง ฝ่ายอเนญชาบ้าง เมื่อใดเขาปรุงแต่งสังขารฝ่ายบุญ เมื่อนั้นวิญญาณของเขาเข้าไปแล้วสู่บุญ คือเป็นบุญ หรือดีไปแล้วทันที
            นี่ขอให้นึกถึงข้อที่ว่า อาตมาพูดหลายครั่งหลายหนไม่มีใครเชื่อว่าพอทำดีก็ดีเท่านั้น พอทำชั่วก็ชั่วเท่านั้น พอทำดีก็ดีเท่านั้น ไม่ต้องรอสักอึดใจเดียวเลย นี่พระพุทะภาษิตนี้มีอยู่เป็นหลัก พอเขาปรุงแต่งสังขารอันเป็นบุญ วิญญาณของเขาก็เข้าไปสู่บุญ ทันควันที่นั่น ทันควันเลย นั้นเราจึงพูดว่าพอทำดีมันก็ดีเท่านั้นแหละ พอทำชั่วมันก็ชั่วเท่านั้นแหละ; ทำดีมันจึงได้ดีจริง ทำชั่วมันจึงได้ชั่วจริง
            แต่ทีนี้พวกคนงกเงินนั้น มันว่าเอาเอง ว่าเสียใหม่ว่าต่อเมื่อได้เงินโน่นจึงจะดี เมื่อทำบุญได้เงิน ได้วิมานนั้นจึงจะดี : แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอย่างนั้น; พอปรุงแต่งสังขารที่เป็นบุญ มันก็บุญทันที ปรุงแต่งสังขารที่เป็นบาป มันก็เป็นบาปทันที ฉะนั้นถ้าใครอยากจะเชื่อว่า พอทำดีมันก็ดี พอทำชั่วมันก็ชั่วแล้วก็จะเชื่อพระพุทธภาษิตนี้ ที่ตรัสไว้อย่างนี้
            แต่แม้ว่ามันจะแน่นอนอย่างนี้ จริงอย่างนี้ มันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา; บุญก็ อิทัปปัจจยตา บาปก็ อิทัปปัจจยตา อเนญชาก็ อิทัปปัจจยตา กิเลสที่เป็ฯเหตุให้ทำกรรม ก็เป็นอิทัปปัจจยตา ตัวกรรมเองก็เป็น อิทัปปัจจยตา ผลกรรมก็เป็น อิทัปปัจจยตา; เอามาพวงกันทั้ง 3 อย่าง ก็ยังเป็นอิทัปปัจจยตา คืออิทัปปัจจยตาในขั้นปฏิจจสมุปบาท
            ทีนี้ก็มีข้อที่ต้องระวังอยู่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสวว่า สิ่งที่เรียกว่า อวิชชา นั้นมันอาจจะเกิดได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทะเจ้าได้ตรัสว่า : อิเมสุ อานนฺท ธมฺเมสุ อิวชฺชา อนุปติตา ดูก่อนอานนท์ ! อวิชชานี้ย่อมตกตามในธรรมเหล่านี้ (ที่ให้เกิดอุปาทาน) : สิ่งทังหลายทั้งปวง เหล่าใด ที่ให้เกิดอุปาทานได้ อวิชชาจะคอยติดต้อยห้อยรมอยู่ที่นั่น คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่น่ารักก็ตาม ไม่น่ารักก็ตาม นี้เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน
            ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้; อวิชฺชา อนุปติตา : อวิชชาคอยติดตาม คอยตกตาม พลัดตกตาม; อนุปติตา แปลว่าตกตามคือพลัดตกลงไปในนั้น; อวิชชาจะตกตามอยู่ในธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน
            ในโลกทั้งหมดนี้ ลองคิดดุซิ มันไม่มีอะไร นอกจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ไม่ว่าอะไรสักอย่างเดียวในโลกนี้ กี่ร้อยอย่าง พันอย่างหมื่นอย่าง แสนอย่าง ล้านอย่าง นับไม่ไหว ทุกอย่างเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน; ในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด อวิชฺชา อนุปติตา ดูเถอะมันก็ไม่มีอะไรนอกจากว่า มันจะมีแต่อิทัปปัจจยตา : อิวชชา เข้าไปที่ไหน ก็ อิทัปปัจจยราที่นั่น !
        ทีนี้ทุกสิ่งที่มันเป็นเหยื่อของอวิชชานี้ มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา อยู่เองแล้ว คือเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป สังขารทั้งหลายเป็น อิทัปปัจจยตา สิ่งใดเป็น อิทัปปัจจยตา สิ่งนั้นก็เป็น ตถตา ในฝ่ายสังขตธรรม คือฝ่ายที่มีเหตุ มีปัจจัย
            นี่จึงเห็นว่า ในตัวคนเรา มีการกระทำที่เป็นกรรม บุญก็ตาม บาปก็ตาม อเนญชาก็ตาม เราก็มีกรรมเหล่านี้อยู่ทุกอิริยาบถแห่งเจตนา : ไม่บุญก็บาป ไม่บาปก็ อเนญชา มันก็เลยมีทุกอิริยาบถ; มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ในความหมายใดความหมายหนึ่ง
            เพราะฉะนั้นหวังว่า เท่าที่พูดมาหลายครั้งหลายหนนี้ คงจะทำให้เกิดความเข้าใจลาง ๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว สำหรับความหมายของคำว่า อิทัปปัจจยตา”; แม้จะไม่เข้าใจ แจ่มแจ้งชัดเจน แจ่มใสเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เคยฟังมามากก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะเริ่มเข้าใจความหมายหรือลักษณะอาการอะไรของอิทัปปัจจยตาขึ้นมาลาง ๆ แล้ว เพราะว่าเราได้พูดกันถึง 3 ครั้งแล้วเกี่ยวกับเรื่อง อิทัปปัจจยตา ลองนับดู อาตมาได้เอ่ยคำว่า อิทัปปัจจยตา มากี่ร้อยครั้งแล้ว จะถึงพันครั้งแล้ววกระมัง พูดกันคราวนี้ได้พูดคำว่า อิทัปปัจจยตา เกือบถึง 1,000 ครั้ง; ฉะนั้นจึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความเข้าใจลาง ๆ กันขั้นมาบ้างแล้วในเรื่อง อิทัปปัจจยตา ซึ่งแปลว่า ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; ใช้ได้แก่สิ่งทุกสิ่งทั้งที่เป็นรูปเป็นนาม ทั้งที่เป็นกิเลส เป็นกรรม เป็นวิบาก ทั้งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย หรือเป็นผล ไม่มีอะไรที่จะอยู่นอกออกไปจากกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา มันเป็นกฎอันหนึ่ง มันมีการเป็นไปตามกฎอันนั้น แล้วมันมีการได้ผล ที่เป็นไปตามกฎนั้น; นี่คือตัวเรา ตัวคนตัวเราที่กำลัง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เคลื่อนไหว เวียนวายอยู่ทุกอิริยาบถ นี้คือกระแสแห่ง อิทัปปัจจยตา
        ถ้ามองเห็นแล้ว จะรู้สึกว่าไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน มีแต่ธรรมชาติ ซึ่ง ตถตา ความเป็นอย่างนั้นเอง อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ไม่เป็นไปโดยความเป็นไปอย่างอื่น อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ก็ต้องเกิดขึ้น; อย่างนี้เรื่อยไป นี้เป็น ธมฺมฏฐิตตา คือการตั้งอยู่แห่งธรรมดา นี้เป็น ธมฺมนิยามตา คือความเป็นกฎตายตัวของธรรมดา นี้เป็น ธมฺมธาตุ คือเป็นธาตุแท้แห่งธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว; นี้คือ อิทัปปัจจยตา
            ขอให้นำไปคิด ไปนึก ไปพิจารณาคำพูดคำนี้ แล้วก็จะรู้จักพระพุทะศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป นี้คือ อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็ฯตัวเราในทุกความหมาย และทุกอิริยาบถ นี้เป็นการบรรยายที่พอสมควรแก่เวลาแล้ว

            ขอยุติการบรรยายไว้ ให้พระคุณเจ้าทั้งปลาย สวดคณสาะยายต่อท้ายธรรมบรรยายนี้ ในวาระต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น