วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา 5 ในฐานะเป็นวิวัฒนาการทุกแขนงของสิ่งมีชีวิต

เสาร์ที่ 29 มกราคม 2515
          ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!
            ในการบรรยายครั้งที่ 5 นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการทุกแขนงของสิ่งที่มีชีวิต ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายทบทวน ไปถึงการบรรยายครั้งที่แล้ว ๆ มาด้วย ทุกคราวไป เพื่อให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในทุแง่ทุกมุม
            เราได้เคยกล่าวถึง อิทัปปัจจยาตา ในฐานะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีใครรู้จัก ไม่ถูกนำมากล่าว ถูกมองข้ามพ้นไปบ้าง ยังคงจมอยู่ในพระไตรปิฏก ไม่เป็นที่ปรากฏแม้แก่พุทธบริษัทผู้เรียกตัวเองว่า ผู้สืบอายุพระศาสนาบ้าง ผู้ศึกษาเล่าเรียกและปฏิบัติในศาสนานี้บ้าง; นับว่าเป็นที่น่าสังเวชอยู่
            ในครั้งต่อมาได้พูดถึง อิทัปปัจนจยตา ในฐานะที่เป็นศาสตร์หรือวิชาของโลกว่าในบรรดาศาสตร์และวิชาของโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับกฎที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา; มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะความที่อะไรไม่คงที่ คือความที่มีปัจจัย มีเหตุผลักไสให้เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มันจึงเกิดของใหม่ๆ ขึ้นมาตามลำดับ
            นี่เรียกว่า วิชาทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนแต่บรรยายเรื่องอันเกี่ยวกับอิทัปปัจยตา ทั้งนั้น; ในฐานะที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นการกระทำ เป็นผลของการกระทำ หรือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ให้มันต้องเป็นไปอย่างนั้น
            นี่เรียกว่า มันเป็นความลับอันหนึ่ง ซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่มนุษย์ไม่รู้ว่า เราถูกหลักไสหรือถูกบังคับ ถูกกระทำให้เป็นไป ในลักษณะที่มีอะไรแปลกและใหม่เสมอ : ที่เป็นไปโดยธรรมชาติเองก็มีอยู่มาก ท่ามนุษย์แก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เรื่อย ๆ ไปก็มีอยู่มาก ขอให้สังเกตดูให้ดีในเรื่องนี้
            เรายังได้พูดกันถึง อิทัปปัจจจยตา ในฐานะที่เป็นความรู้สึก ที่เป็นตัวเรา หรือเป็นร่างกาย เลือดเนื้อ ขีวิตของเราในทุกแง่ทุกมุม ว่ามันไม่มีอะไรนอกไปจากสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ร่างกายนี้ก็ดี จิตใจก็ดี ความรู้สึกว่า เป็นตัวเรา เป็นของเรา ทุกคราที่เกิดขึ้นก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนี้ หรือว่าเป็นตัวสิ่งๆ นี้เสียทีเดียว คนเรากระทำทุกอย่างทุกอิริยาบถในทุก ๆ วัน ก็เพราะสิ่งนี้ เพราะการบังคับของสิ่งนี้; เราคิดนึกอะไรแปลก ๆ ออกไป ก็เพราะสิ่งนี้อีกเหมือนกัน เราจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นพระเจ้า คือเป็นผู้ที่บังคับสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไป เช่นให้เกิด เช่นให้ตั้งอยู่ เช่นให้ดับไป ที่เรียกกันว่า พระเจ้าผู้สร้าง พระเจ้าผู้ควบคุม พระเจ้าผู้ทำลาย เลิกล้างเสียเป็นคราว ๆ อย่างนี้เป็นต้น
            วันนี้จะได้กล่าวถึง อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการของทุกแขนงของสิ่งที่มีชีวิต เท่าที่กล่าวมานี้ ก็พอจะมองเห็นได้อย่างหนึ่งแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ก็คือสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นอย่างนั้น : สิ่งที่มีวิวัฒนาการก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา แม้ไม่มีวิวัฒนาการก็ยังเป็นอิทัปปัจจยตา; ฉะนั้นของให้พิจารณากันในแง่นี้
        หัวใจของพุทธศาสนา คือ อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นตัวกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งปวงบ้าง ในฐานะที่เป็นการกระทำตามกฎเกณฑ์ หรือเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้นบ้าง และเป็นผลหรือเป็นปฏิกิริยาขึ้นจากการกระทำนั้นบ้าง  ในโลกนี้เราไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งทั้ง 3 นี้ เราจึงควรจะรู้จักสิ่งเหล่านี้ให้ดี; แต่เราไม่รู้จักเอาเสียเลย
            เปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า ท่านทั้งหลายนั่งอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงตะโกนที่ดังลั่นไปหมดของธรรมชาติว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าเรายังมีรู้สึกต่อข้อเท็จจริงข้อนี้แล้ว ก็เรียกว่าเรายังไม่รู้จักสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นอยากจะขอตักเตือนหรือย้ำกันอยู่เสมอ ว่าเมื่อนั่งอยู่ที่นี่ ทำไมไม่ได้ยินเสียงตะโกนของ อิทัปปัจจยตา คือการร้องบอก ร้องตะโกนว่า : เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น หมายความว่า ท่านจะต้องดูลงไปที่ทุกสิ่ง ที่อยู่รอบตัวเราในเวลานี้ ว่าทุกสิ่งมันกำลังเป็น อิทัปปัจจยตา หรือเป็นไปตามกฎ  อิทัปปัจจยตา
            สมมติว่า ต้นไม้ต้นนี้ มันก็มีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนี้ อย่างที่เรียกว่าไหลเป็นเกลียวไปทีเดียว ถ้าเราเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ ที่กำลังเป็นอยู่แก้ต้นไม้ต้นนี้ เราก็จะเหมือนกันได้ยินมันร้องตะโกนบอกว่าอิทัปปัจจยตา; ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น; คือบอกว่า : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย ฉันคือต้นไม้ต้นนี้ จึงเกิดขึ้น แล้วมันไม่ใช่เพียงเท่านั้น คือมันมีอะไรเกิดขึ้นใหม่เรื่อยในต้นไม้ต้นนั้น แต่ว่าเป็นของละเอียด ต้นไม้ก็บอกอย่างนั้น ใบไม้ทุก ๆ ใบมันก็บอกอย่างนั้น ฉะนั้นคงจะเป็นเสียงที่ดังลั่นเหลือประมาณ ว่าใบไม้ทุกใบก็ร้องตะโกนบอกว่า อิทัปปัจจยตา
            ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือเซลล์ที่มีชีวิตอยู่ในใบไม้ต้นไม้ทุก ๆ เซลล์ ไม่รู้มีปริมาณเท่าไร กำหนดไม่ไหหว แต่ละเซลล์ นั้นก็ต้องตะโกนว่า อิทัปปัจจยตา มันคงจะดังลั่นมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก แต่ทำไมคน หูหนวก เหล่านี้จึงไม่ได้ยิน นี้ก็เพราะความไม่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงหรือมากพอนั้นเองทำให้ไม่ได้ยิน
            เพราะฉะนั้นอย่าเสียใจว่า เป็นเรื่องโง่เขลา หรือว่าถูกด่า; มันควรจะเป็นอย่างนั้นเพราะว่าไม่ได้ยิน ถ้ามีปัญญามีความรอบรู้ในหัวใจพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว จะไปนั่งอยู่ที่ไหน ตรงไหน ก็จะได้ยินเสียงตะโกนว่า อิทัปปัจจยตาสนั่นหวั่นไหวไปหมด; นี้พูดเรื่องต้นไม้ต้นเดียว หรือต้นไม้ไม่รู้ว่ากี่ต้น มันก็เป็นอย่างนี้
            ทีนี้จะไปดูที่ก้อนหิน มันก็เป็นอย่างนั้ เพราะว่าอนาภาคหนึ่ง ของหินห้อนหนึ่ง ๆ มันมีความเปลี่ยนแปลง คือเป็นตัว อิทัปปัจจยตา : เพราะว่ามีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ทำไมก้อนหินแต่ละก้อนเหล่านี้จึงมาตั่งอยู่ที่นี่ได้ ก็เพราะมีเหตุ มีปัจจัย นั่นคือ อิทปัจจยตา; มันเกิดมาเมื่อกี่พันล้านปีมาแล้ว หรือกี่หมื่นล้านปีมาแล้ว จนมันแตกสลายเป็นก้อน จนถูกทำให้มาอยู่ที่นี่ นี้ก็เรียกว่าเพราะมีปัจจัย มันจึงมาตั้งอยู่ที่นี่ นี่มันบอกอย่างนี้ว่า อิทัปปัจจยตา : เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย ฉันจึงมานั่งอยู่ที่นี่  นี้เป็นเรื่องของหินทุก ๆ ก้อน แต่พุทธบริษัทก็ไม่ได้ยิน
            ทีนี้ถ้าจะดูให้ลึกลงไปว่า อนุภาคน้อย ๆ ของก้อนหิน ก็กำลังเป็นอย่างนั้นอยู่ทุกอนุภาค แม้จะแยกออกไปเป็นอณู เป็นปรมาณู ทุก ๆ หน่วยของอณูของปรมาณู มันก็มีความเป็น อิทัปปัจจยตา เต็มที่ของมันในตัวมันเอง ซึ่งมันกำลังเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนอยู่ในตัวปรมาณูหนึ่ง ๆ นั่นเอง นั่นก็คือ อิทัปปัจจยตา แต่ว่ามันเป็นเสียงที่ละเอียดสุขุมลึกซึ้ง ยิ่งไปกว่าธรรมดา ก็เลยไม่ค่อยจะได้ยินยิ่งขึ้น
            นี่แหละขอให้คิดดูเถอะว่า ทุกอย่างมันตะโกนคำว่า อิทัปปัจจยตา อยู่ตลอดเวลา จะเป็นต้นไม้ เป็นก้อนหิน เป็นเม็ดกรวด เม็ดทราย เป็นมด เป็นแมลง เป็นสัตว์อะไรต่าง ๆ กระทั่งเป็นคน กระทั่งเนื้อหนังของเรา เลือดเนื้ออะไรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายนี้ มันก็ตะโกนบอกความที่เป็น อิทัปปัจจยตาอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็ยังไม่รู้ว่านั่นคือ อิทัปปัจจยตา อาการแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตามากยิ่งขึ้น และสำหรับมนุษย์จะได้พิจารณา
            นี่เรียกว่า ทุกส่วนของร่างกาย มันก็ตะโกนบอกอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ได้ยินเพราะเราหูหนวก เพราะว่าเราเป็นพุทธบริษัทน้อยเกินไป เป็นไม่ถึงขนาด จึงไม่ได้ยินเสียงตะโกนของ อิทัปปัจจยตา ดังนั้นจึงต้องเอามาว่ากัน ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งซึมซาบอยู่ในใจ จนรู้สึกว่า จนเหลียวไปทางไหน ก็จะเห็นแต่ภาพหรือภาวะของ อิทัปปัจจยตา จะได้ยินแต่เสียงตะโกนของอิทัปปัจจยตา หรือว่าจะได้ดม ได้ลิ้ม ได้สัมผัส มันก็ล้วนแต่สิ่งซึ่งเป็น อิทัปปัจจยตา ถ้ามันเป็นอย่าวงนี้แล้ว ก็หมายความว่า ความที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ถึงขนาดพอที่จะเรียกผู้นั้นได้ว่า เป็นพุทธบริษัทผู้เป็นธรรม เห็นกิเลส เห็นความทุกข์ แล้วก็จักป้องกันหรือกำจัดกิเลสและความทุกข์ ให้น้อยลงไปได้มากที่เดียว
            ในครั้งที่แล้วมา ก็ได้ยกตัวอย่างว่า บางคนก็มีความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตาบ้าง; อิทัปปัจจยตาจริง ๆ ด้วยเหมือกันที่เขารู้; กล่าวคือเมื่อผู้ใดรู้สึกว่า : เอ้า สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้เอง; แล้วก็หายโกรธ หรือหายรัก หายเกลียด หายกลัว นี้เรียกว่าเขาเป็นผู้เห็น อิทัปปัจจยตา; แต่ว่ายังไม่หมด หรือว่าไม่มากพอ ที่จะดับปัญหายุ่งยากนานาประการให้หมดไปได้
        อิทัปปัจจยตา พูดเป็นภาษาคนธรรมดา ก็คือว่า อย่างนั้นเอง!; คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี่  ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น; นี่แหละคือความเป็นอย่างนั้นเอง พูดง่าย ๆ ว่า อย่างนั้นเอง!” อย่างนั้นเอง!” ถ้าใครเห็นอิทัปปัจจยตาจริง คนนั้นมองไปทางไหนจะมีความรู้สึคกขึ้นว่า อย่างนั้นเอง อย่างนั้นเอง หรือว่าเมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้ดม ได้กลิ่น ได้สัมผัสอะไร ก็จะรู้สึกว่า อย่างนั้นเอง แล้วจะไม่โง่ ไม่หลง; ไม่เห็นอะไรเป็นของแปลก เดี๋ยวนี้คนมันโง่ เห็นอะไรเป็นของแปลก มันก็กลัวบ้าง มันก็รักบ้าง มันก็อยากจะซื้อจนเงินมีไม่พอเพราะมันโง่ ไปเห็นว่ามันเป็นของแปลก ไม่เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง
            เหมือนอย่างว่า เมื่อคราวไปโลกพระจันทร์กันครั้งแรก ก็อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอน นั่งจ้อยจอโทรทัศน์ ไม่มีใครเคยรู้สึกสักคนเดียวว่า เรื่องนี้มันก็อย่างนั้นเอง มันก็ไม่แปลกอะไรเลย ต่อเมื่อหลายครั้ง หลายหนเข้าก็พอจะมองเห็นว่า เอ้า มันอย่างนี้เอง แล้วก็เฉยได้ ไม่แปลกไม่ประหลาด ไม่น่าอัศจรรย์
            เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังไม่รู้จัก อิทัปปัจจยตา ในส่งิใด เราจะมีความฉงน สังสัย สนใจ ทีง หรือวิตกกังวลเกียวกับสื่งนั้น ทำให้มีกิเลส เช่นความโลภ ความโรกธ ความหลง ขึ้นมา แล้วก็เกิดความวิตกกังวล อยู่แต่กับสิ่งนั้นตลอดเวลา นอนไม่หลับ เพราะไม่นึกได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ถ้าเห็นว่าเป็นอย่างนั้นเอง มันก็นอนหลับ; จะได้ จะเสีย ก็นอนหลับ; จะได้เงินสักกี่ล้าน ๆ มันก็นอนหลับ จะเสียไปกี่ล้าน ๆ มันก็นอนหลับ; เพราะมันอย่างนั้นเอง เดี๋ยวนี่เสียเงินไปเพียงไม่กี่บาท ก็นอนไม่ค่อยหลับแล้ว ได้มาไม่กี่บาทก็ดีใจจนเนื้อเต้นแล้ว นี้เรียกว่าคนโง่ที่ไม่รู้จัก อิทัปปัจจยตา จึงมี ความคงที่ อยู่ไม่ได้ แต่แท้ที่จริงก็เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น ที่จะเป็นผู้คงที่ได้
            ผู้ที่คงที่เขาเรียกว่า ตาที แปลว่า ผู้คงที่; มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นนที่จะคงที่ได้ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ก็ยังมีการหวั่นไหวอยู่บ้าง เพราะเหตุว่าความเห็นว่า อิทัปปัจจยตา ยังไม่เป็นไปถึงที่สุด; หัวใจของพระพุทธศาสนา ยังไม่ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ผุ้นั้นถึงที่สุด จึงยังมี่ความหวั่นไหว ยิ่งเป็นปุถุชนก็ยิ่งหวั่นไหวมาก เป็นพระอริยเจ้าก็น้อย ๆ; เป็นพระอรหันต์ก็หมดความหวั่นไหวไปตามสิ่งต่าง ๆ เพราะเห็น อิทัปปัจจยตา คือ ความที่มันเป็นอย่างนั้นเอง ที่เรียกว่า ตถตา
            เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจำคำเหล่านี้ไว้ให้ดี ๆ มันจะช่วยได้ในการที่จะมีจติระลึกได้โดยง่ายทันท่วงที ว่า ตถตา ความเป็นอย่างนั้นเอง พวกมหายานเรียกว่า ยู่สี แปลว่า อย่างนั้นเอง ตรงกับคำว่า ตถตา คู่กับคำว่า ยู่ไล้  คือ พระตถาคต หรือบุคคลผู้เป็นอย่างนั้นเอง ถ้า ยู่สี ก็หมายความว่า ธรรมชาติ ธรรมดา หรือสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นอย่างนั้นเอง  ถ้าเรารู้ เห็น เข้าใจ ในส่งิที่เรียกว่า ตถตา คือความเป็นอย่างนั้นเอง มันก็ไม่มีปัญหาอะไร; จนกระทั่งว่า ความเกิดก็อย่างนี้เอง ความเจ็บไข้ก็อย่างนี้เอง ความตายก็อย่างนี้เอง; เราก็ไม่รู้สึกกลัว ไม่รู้สึกวิตกกังวล ถ้ามีโอกาสจะแก้ไขเยียวยา ก็แก้ไขเยียวยาไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ว่า มันอย่างนี้เองมันจึงแก้ไขได้; เมื่อแก้ไขกันถูกตามกฎของเหตุปัจจัย มันก็หายได้ นี่แม้การหายจากความเจ็บไข้ ก็เป็นกฎของ อิทัปปัจจยตา; ความเจ็บก็เป็นกฎของ อิทัปปัจจยตา; ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าว่าจะต้องตาย ก็หัวเราะได้ เพราะว่ามันก็คืออย่างนั้นเอง; เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่าง ๆ ๆ ๆ ตามเหตุ ตามปัจจัยแล้ว แล้วมันก็เป็นอย่างนั้น เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย ของความเจ็บไข้ : ความเจ็บไข้มันก็เกิดขึ้นไม่แปลกอะไร เมื่อมีปัจจัยของความหายเข้ามา มันก็หาย หายเจ็บหายไข้ เมื่อมันถึงที่สุด เนื่องด้วยปัจจัยของความตายมันมีมาก มันก็ต้องแตกสลาย ที่เราเรียกกันว่าตาย
        ทีนี้เราไปดูแต่ผลที่กระทบกระทั่งแก่จิตใจของเร่า จึคงมองเห็นเป็นความเกิดเบ้าง เห็นเป็นความแก่บ้าง เห็นเป็นความตายบ้าง; แต่ที่แท้ทุกอย่างนั้นเป็น อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ถ้าเห็น อิทัปปัจจยตาอย่างนี้ ก็จะเห็นเหมือนกันหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความได้ ความเสีย ความอะไรทุกอย่าง มันเหมือกันหมด คือเป็น อิทัปปัจจยตา แล้วก็ไม่ต้องยินดี ยินร้าย คือไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรหมด
            นี่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ในแง่คำสั่งสอนก็เป็นอย่างนี้ ในแง่ของการปฏิบัติ ก็ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ ในแง่แห่งผลของการปฏิบัติ มันได้ผลเป็นอย่างนี้ คือ ความคงที่ เหมือนกันที่กล่าวมาแล้ว นี้เป็นความคงที่เหลือประมาณ คือว่าจิตไม่เปลี่ยนแปลงเลย เพราะการเห็น อิทัปปัจจยตา ก้อนหินตั้งนิ่ง ๆ อยู่ที่นี่ก็ยังไม่มีความคงที่มากเท่าจิตใจที่เห็นอิทัปปัจจยตา คนมองก้อนหินแล้วก็จะเห็นว่าก้อนหินนี้อยู่นิ่ง ๆ คล้ายกับมันเฉยได้; แต่มันก็ยังไม่นิ่งเท่ากับจิตใจที่เห็น อิทัปปัจจยตา อย่างแท้จริง และถึงที่สุด คือไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง ในก้อนหินนั้นยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ซ่อนเร้นอยู่ แม้ว่าจะดูว่ามันอยู่นิ่ง ๆ
            แต่ถ้าว่าคน มีจิตใจเห็น อิทัปปัจจยตา ถึงที่สุดแล้ว แม้จะเดินอยู่ แม้จะวิ่งอยู่ ก็เรียกว่า คนอยู่นิ่ง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแก่โจรองคคุลิมาลว่า ฉันหยุดแล้ว; แกไม่หยุด นี่พระพุทธเจ้าหยุด ทั้งที่ทรงเดินอยู่ก็เรียกว่าหยุด; ที่เรียกว่าหยุด เพราะไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องสนใจต้องยึดมั่นถือมั่น คือจิตใจไม่เปลี่ยนแปลงเพราะสิ่งใด ๆ หมด จิตใจมันนิ่งเสมอกันต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง นี่เรียกว่าจิตใจหยุดกระดุกกระดิก หยุดหวั่นไหว หยุดทะเยอทะยาน หยุดเปลี่ยนแปลง หยุดอะไรหมด ใช้คำว่า หยุด ในความหมายที่ลึกซึ้ง เป็นภาษาธรรมะที่สูงสุด หยุดทั้งที่กำลังเดินอยู่; เป็นความหยุดชนิดที่นิ่งกว่าก้อนกินที่อยู่นิ่ง ๆ อย่างนี้
            นี้เราแสดงผลของ อิทัปปัจจยตาว่า เมื่อได้รู้ได้ปฏิบัติถึที่สุดแล้วมันทำให้ คงที่ เมื่อคงที่ มันกึคือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่อะไรหมด ไม่เปลี่ยนแปลง และก็ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกหลายชื่อ นี้เรียกว่าการเป็นอิทัปปัจจยตา คือเห็นสิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น มันทำให้เราเฉยได้
            ฉะนั้นขอให้พยายาม ที่จะเป็นผู้เฉยได้ คือไม่ทุกข์ก็แล้วกัน ส่วนร่างกายนั้น  ก็ทำไปตามเรื่องที่จะต้องทำ แต่จิตใจนั้นเฉยได้ ไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น ถ้าจะหัวเราะก็ได้ เพียงแต่หัวเราะว่ามันจริงแล้ว มันจริงอย่างที่เราคิดคาดไว้แล้ว เชื่อไว้แล้ว; หัวเราะอย่างนี้ก็เรียกว่ายังนิ่งอยู่นั่นแหละ ไม่ใช่หัวเราะเพราะได้ หรือไม่ใช่หัวเราะเพราะอยาก เพราะได้สมประสงค์อะไร แต่หัวเราะเยาะว่า ทุกสิ่งมันเป็นอย่างนี้ คือมันเป็นอย่างที่เรารู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเจ็บไข้เกิดขึ้นก็หัวเราะได้ ความตายมาถึงก็หัวเราะได้; ถ้าไม่มีแรงจะหัวเราะ มันก็หัวเราะอยู่ในใจ แล้วมันก็ดับไป มันก็หมดเรื่องกัน ขอให้ผลของการเห็นอิทัปปัจจยตา จงเป็นไปในลักษณะเช่นที่กล่าวนี้
            เราจะต้องนึกอดสู ต่อเพื่อนมนุษย์ต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าอดสูต่อพุทธบริษัทต่างนิกาย ถ้าหากว่าคนอื่น พวกอื่น ศาสนาอื่น ลัทธิอื่นเขาเฉยได้ แล้วเราเฉยไม่ได้ เรามีความหวั่นไหวไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเกลียด ความกลัว เราเฉยไม่ได้ นี้เราควรจะละอายในข้อที่ว่าเรายังไม่เป็นพุทธบริษัท
            สำหรับการปฏิบัตินั้นเขามีวิธีทำตามแบบอย่างของเขา ส่วนเราก็มีวีทำตามแบบอย่างที่เรามี คือวิธีการเห็น อิทัปปัจจยตา ซึ่งเรากำลังศึกษากันมาเรื่อย ๆ ก็จะทำให้มองเห็นแจ้งต่ออิทัปปัจจยตานั้นจริง ๆ นี่ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจอย่างนี้  แล้วเราก็จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นความทุกข์ยากลำบาก ทั้งส่วนตัว ส่วนรวม ส่วนสังคมได้
          เดี๋ยวนี้เราอยู่ในฐานะที่ว่า แก้ปัญหาของเด็กอมมือก็ยังไม่ได้; ทำไมจะไปแก้ปัญหาของเด็กวัยรุ่น หรือคนแก่หัวหงอกได้ เราแก้ปัญหาของเด็กอมมือก็ยังไม่ได้ ทำไมจะต้องหัวเราะ ทำไมจะต้องร้องไห้ ทำไมจะต้องเป็นอย่างนี้ ๆ; เราก็ยังไม่รู้ แล้วก็แก้ไม่ได้ หรือว่าเด็กอมมือของเรา กำลังจะเติบโตขึ้นมาในลักษณะที่ผิด  หมายความว่าที่จะผิดต่อหลักของธรรมะ แล้วจะต้องเป็นทุกข์ แต่เราก็ยังแก้ไม่ได้ ไม่เท่าไร เราก็จะมีเด็กโต เด็กวัยรุ่น ที่เป็นปัญหามากขึ้นไปกว่านี้ ในโลกนี้ และไม่ว่าประเทศไน ประเทศไหนยิ่งบ้ามาก ประเทศนั้นก็จะยิ่งมีความยุ่งยากเร็วมาก
        พุทธบริษัทไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะมีหลักประกัน คือความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา; เมื่อรู้แล้ว มันทำให้ไม่กล้าปล่อยตัวให้เป็นบ้า มันน่ากลัว มันรู้จักกลัว มันจะรู้จักยังยั้งชั่วใจ รู้จักปกครองตัวเอง ให้อยู่แต่ในกฎเกณฑ์ร่องรอยที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์
            นี้คือทั้งหมดที่ว่า เราจะต้องทบทวนกันอยู่เสมอ ในเรื่องอันเกี่ยวกับ อิทัปปัจจยตา ซึ่งได้พูดกันมาในหลายแง่หลายมุม แล้วก็ยังจะต้องพูดกันอีกต่อไปให้ครบทุกแง่ทุกมุมเท่าที่เห็นว่าควรจะทราบ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่าบ่างคนไม่เหมาะที่จะทราบ ด้วยการมองจากมุมนี้; แต่เหมาะที่จะมองจากมุมอื่นหรือมุมอื่นอีก ดังนั้นอาตมาจึงพยายามที่จะเอามาพูด ให้เป็นโอกาสที่ทุกคนจะมองเห็นได้ในแง่ใดแง่หนึ่ง มุมใดมุมหนึ่ง สำหรับคน ๆหนึ่ง ดังนั้นขอให้ทนฟัง ที่ว่าทนฟังนี้ก็เพราะว่า บางคนอาจจะไม่เหมาะอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็จะรู้สึกว่าไม่ชวนฟัง แต่ว่าเพื่อเห็นแก่ผู้อื่นบ้าง ก็ควรจะทนฟัง เพื่อว่าให้ได้กล่าวกันทุกแง่ทุกมุม เป็นเรื่องสมบูรณ์ได้
            ในวันนี้จะได้กล่าวในแง่มุมที่ว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการในทุกแขนงของสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่ไม่มีชีวิต มันไม่มีความรู้สึก เมื่อไม่มีความรู้สึก ปัญหาก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงกันก็ได้ ถ้าจะพูดก็พูดเพื่อเปรียบเทียบให้รู้จักสิ่งต่าง ๆ ดี สำหรับคน ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีชีวิต และมีความรู้สึกไวมีความรู้สึกสูง มีความรู้สึกลึกซึ้ง จนเกินประมาณไปเสียอีก
          สิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี้มีหลายระดับ นับตั้งแต่ระดับที่เป็นพืชพันธุ์ไม้ เป็นต้นไม้ เป็นหญ้าบอน เป็นตะไคร่ เป็นจุลินทรีย์ไปในที่สุด นี้คือประเภทพืช สูงขึ้นมามันก็เป็นประเภทสัตว์ สัตว์เล็กสัตว์น้อย สัตว์เคลื่อนที่ได้ สัตว์เคลื่อนที่ไม่ได้ กระทั่งมาเป็นสัตว์คน ทีนี้ถ้าสูงขึ้นไปอีกจะเป็นอะไร ?เขาพูดกันว่า(อาตมาก็ไม่เคยเห็น) เป็นเทวดาบ้าง เป็นยักษ์บ้าง เป็นมารบ้าง เป็นพรหมบ้าง ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ก็ถูกนับไว้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีชีวิต ที่สูงขึ้นไปกว่าคน แล้วอาจจะนับสิ่งที่ไม่ใช่คน หรืออมนุษย์ใด ๆ เข้ามาอีกก็ได้ ในฐานะที่ว่า มันก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตกับเขาด้วยเหมือนกัน
            แต่ถ้าเอาสำหรับเรา ที่จะเห็นกันชัด ๆ อยู่แล้ว ก็เอาพืชพันธุ์ไม้นี้อย่างหนึ่งแล้วก็มาถึงสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็มาถึงคน 3 ขั้นนี้ก็พอ ถ้าจะมีเทวดา มาร พรหมอะไรบ้าง ก็มีกันในภาษาจิตใจ คือว่าคนนั้นแหละ ถ้ามีจิตใจดีงามในระดับหนึ่งก็เรียก เทวาดา; หรือถ้าสะอาด ละเอียด ประณีต สุขุมขึ้นไปอีกก็เรียกว่า พรหม เป็นต้น ถ้ามันเกิดบ้าขึ้นมาก ก็เรียกว่ามันเป็น ยักษ์ เป็นมาร เป็นผี เป็นปีศาจ; ก็แล้วแต่จะเรียก รวมแล้ว มันรวมอยู่ได้ในสิ่งที่เรียกว่าคน
            ทีนี้สิ่งที่มีชีวิตที่เป็นต้นไม้นี้ มันต่ำมาก มีความรู้สึกได้น้อยมาก ตื้นมาก ที่เป็นสัตว์ มันก็รู้สึกได้สูงกว่า เร็วกว่า มากกว่า ยิ่งขึ้นไป กระทั่งเป็นคน ซึ่งยิ่งมีความรู้สึกไว เร็ว สูง มากขึ้นทุกทีในเวลานี้ จนจะบังคับตัวเองไม่ได้กันอยู่แล้ว นั่นแหละมีโอกาสที่จะได้เป็นยักษ์ เป็นมาร หรือเป็นพรหม หรือเป็นเทวดาอะไร กันได้ตามใจชอบ คือจิตใจที่กลับกลอกเปลี่ยนแปลได้ไว อย่างนี้นอย่างนี้
        ทีนี้ก็จะพูดตัดบทเสียเลยว่า จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต ชนิดต้นไม้ หรือชนิดสัตว์ หรือชนิดคนก็ตาม ล้วนแต่เป็น อิทัปปัจจยตา : ในเนื้อในตัวขจองมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ความคิดของมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา การกรทำพูดจาอะไรของมันก็เป็น อิทัปปัจจยตาไปหมด เช่นจะพูดอะไรออกมาสักคำหนึ่ง มันก็ต้องมีเหตุปัจจัย อย่างนี้ ๆ ๆ ๆ ก่อน มันจึงจะพูด แล้วพูดออกมาอย่างนี้; ส่วนใหญ่ก็คือความคิด เมื่อมีความคิดอย่างไร มันก็พูดออกมาอย่างนั้น ความคิดนั้นมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา เพราะมันมีปัจจัยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้มันคิดอย่างนั้น เช่นมันเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น หรืออะไรก็ตาม ในลักษณะอย่างหนึ่งแล้ว มันก็เกิดเป็นความคิดอย่างหนึ่ง ทีนี้เราก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา ไม่มีที่สิ้นสุด; นี่ คนก็ตาม สัตว์ก็ตาม มันเป็นอย่างนี้
            สำหรับต้นไม้ เรารู้ไม่ได้ว่า มัน มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบถ้วนเหมือนกับคน แต่เรารู้ว่า อย่างน้อย มันก็มีบ้างเหมือนกัน สำหรับรู้สึก เพราะว่ามันต้องการอาหาร มันต้องการแสดงแดด มันต่อสู้ทุกอย่าง เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ นี้คือความเป็น อิทัปปัจจยตา ในชีวิตของต้นไม้หรือว่าในระดับต้นไม้; แปลว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตแล้ว เป็นตัว อิทัปปัจจยตา ซึ่งกำลังเป็นไปตามกฎ และมีผลเกิดขึ้นตามกฎ เรียกว่า มันกำลังเป็นตัว อิทัปปัจจยตา อย่าใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา มันร้องตะโกนอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาแต่เราก็ไม่เคยให้ความสนใจ
            ทีนี้จะดูกันให้ละเอียดลงไป จะเป็นคน หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นต้นไม้ มันก็ยังมีเป็นวัย ๆ : วัยแรกงอก แรกเกิด แรกเติบโต แล้วก็วัยปานกลาง แล้วก็วัยแก่เฒ่าชรา; อย่างที่คนเราเรียกว่า วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ วัยคนแก่ วัยคนชรา นี้หมายความว่า ไม่ว่าในวัยไหนก็ล้วนแต่เป็น อิทัปปัจจยตา
            สิ่งที่เรียกว่า วัย มีคยรมหมายขึ้นมา เพราะสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าไม่มี อิทัปปัจจยตา สิ่งที่เรียกว่าวัยนั้นจะไม่มี เพราะว่าถ้าไม่มี อิทัปัจัจจยตา แล้ว สิ่งทั้งหลายจะคงที่ จะไม่เปลี่ยนแปลง  เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยแก่เฒ่าไปได้ มันมีไม่ได้ แต่เพราะเหตุที่มี อิทัปปัจจยตา เป็นผู้มีอำนาจ ควบคุม บันดาลสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ จึงมีความเปลี่ยนแปลง; แล้วสิ่งที่เรียกว่าวัยบ้าง อายุบ้าง อะไรบ้าง มันก็เกิดขึ้น แล้วก็บัญญัติให้เป็น คนเด็ก คนหนุ่มสาว คนผู้ใหญ่  คนแก่คนเฒ่า  ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าไม่มีทางยกเว้นอีก  ว่าชีวิตที่มีอยู่ชีวิตหนึ่งนั้น ไม่ว่าในวัยไหน จะเป็นวัยก่อนปฏิสนธิ แล้วเจริญเติบโต กระทั่งตายลงไป มันก็เป็น อิทัปปัจจยตาทั้งนั้น
            ทีนี้ อยากจะดูกันอีกนิดหนึ่งว่า ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิต โดยเฉพาะคนนี้เป็นสัตว์ที่มีความรู้ ความสามารถ ความฉลาด ก้าวหน้า มีวิวัตนาการมาก จนมีการศึกษา ส่วนสัตว์ทั้งหลายไม่มีการศึกษา สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามสัญชาติญาณ  แม้ว่าสัตว์บางชนิดจะถูกฝึกฝนให้ฉลาดขึ้นมา ทำอะไรได้แปลก ๆ มันก็ยังเป็นลักษณะของสัญชาตญาณอยู่นั่นเอง คือสัญชาตญาณแห่งความจำได้ ความที่รักจะมีชีวิตอยู่ มันก็ต้องรู้จักต่อสู้ หรือกระทำ เช่นสุนัขรู้จักทำให้ถูกใจเจ้าของนี้มันก็ไม่มีความรู้สึกถึงขนาดว่า จะทำให้ถูกใจเจ้าของ มันรู้สึกแต่เพียงว่า ถ้าทำอย่างนั้นเขาให้กินมากกว่านั้น มันก็ได้กินกมากกว่านั้น มันก็เลยทำไปด้วยสัญชาตญาณ แม้ว่ามันจะฉลาดอยู่มาก ๆ มันก็ยังอาศัยสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ การศึกษาอบรมอย่างมนุษย์ มันยังไม่ถึงขนาดที่จะเรียกอย่างนั้นได้
            ฉะนั้นเราจึงถือว่ามนุษย์เท่านั้น ที่จะทำอะไรได้มากไปกว่าสัญชาตญาณ หรือถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งซึ่งถูกกว่า  ก็คือสัญชาตญาณของมนุษย์ อาจจะเปลี่ยนแปลงไห้มาก ได้ง่าย ได้เร็ว ได้ไกล กว่าสัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงมีความคิดก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงมากและเร็ว เร็วเหลือจะเร็ว เร็วจนเรียกว่ายิ่งกว่าวิ่ง ภายในไม่ถึง 100 ปี มนุษย์ก้าวหน้าในวิชาความรู้ จนถึงกับไปลูกพระจันทร์ได้ แต่ถ้าก้าวหน้าอย่างสัตว์เดรัจฉานแล้ว แม้จะล้าน ๆ ปี มันก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ที่สุนัขก้าวหน้าจนถึงขนาดที่เรียกว่ารู้จักทำให้ข้าวของรักอย่างนี้ ก็ใช้เวลาเป็นร้อยปีพันปีหรือหายพันปี
            นี้ก็เห็นได้ว่า การศึกษานี้ก็มีอำนาจมากโขอยู่ แต่มันจะเอาชนะอิทัปปัจจยตา ได้หรือไม่? ขอให้ตัดบทกันอย่างง่าย ๆ ว่า มันไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะว่าตัวการศึกษานั้นเองมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา อยู่แล้ว; กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พบขึ้นมามันก็ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นมนุษย์จะรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาใหม่ ทำอะไรได้ใหม่มันก็เป็นตัว อิทัปปัจจยตา ไปเสียหมด กระทั่งความรู้ที่จะไปโลกพระจันทร์ได้ มันก็เป็นอิทัปปัจจยตา แม้การกระทำจนไปได้จริง หรือเหยียบลงไปได้จริง มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา อยู่ในตัวมันเอง ฉะนั้น เราจึงเรียกได้ว่า จะมีการศึกษา หรือไม่มีการศึกษาเลย มันก็เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตา ไปหมด เพราะตัวการศึกษาเป็นอิทัปปัจจยตา การที่ไม่มีการศึกษามันก็เป็น อิทัปัจจยตา; เพราะมันมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น มันจึงมีการศึกษาไม่ได้ ดังนั้น จะเอาการศึกษามาเป็นเครื่องลบล้าง อิทัปปัจจยตานั้น ไม่มีช่องทาง แม้แต่ประการใด
          การศึกษาที่มีได้ตามธรรมชาติ เช่นที่มนุษย์คนป่ารู้จักทำบ้านเรือนอะไรนี้ มันเป็นการศึกษาชนิดที่ธรรมชาติบีบบังคับ แต่ทีนี้เราก็มีการศึกษาที่ผิดธรรมชาติ นี่เพราะมนุษย์มันฉลาด มันจึงนั่นนี่ได้เอง จนกระทั่งมันรู้จักคำพูดที่มีความหมาย ทำเสียงให้มีความหมาย ไม่เหมือนกับเสียงสัตว์ กระทั่งมันรู้จักใช้หนังสืออย่างนี้ กระทั่งมันรู้จักวิชาความรู้ที่ทำอะไรให้แปลก ถึงขนาดที่ว่าไปโลกพระจันทร์เป็นต้น ทุกกระเบียดนิ้ว หรือว่าทุก ๆ อณูของความเปลี่ยนแปลงนั้น มันเป็นอิทัปปัจจยตาไปหมด; ซึ่งตัดบทว่าจะมีการศึกษา หรือไม่มีการศึกษา ก็เป็น อิทัปปัจจยตา เหมือนกันหมด; มีอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ยังคงเป็น อิทัปปัจจยตา มีอย่างอันธพาลก็เป็น อิทัปปัจจยตา มีอย่างบัณฑิตก็เป็น อิทัปปัจจยตา
            เป็นอันว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยการศึกษา ชนิดไหนก็ตาม เป็นตัว อิทัปปัจจยตา คือความเป็นไปตามปัจจัย เปลี่ยนแปลวงไปตามปัจจัย เสมอกันไปหมด เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการ อย่าเข้าใจว่าวิวัฒนาการ วิวัฒนาการ เจริญยิ่งขึ้น ๆ ไป แล้วมันจะพ้นจากอำนาจของ อิทัปปัจจยตา เมื่อเจริญไปตามความรู้สึกของมนุษย์ที่ไม่รู้จัก อิทัปปัจจยตา แล้ว มันไม่มีทางที่จะพ้นไปจากอำนาจบีบบังคับของ อิทัปปัจจยาตา
        อาจจะฟังไม่ทัน หรือไม่เข้าใจ ก็จะพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คนที่ไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา นั้น ยิ่งเจริญเท่าไร มันจะยิ่งยื่นคอเข้าไปในบ่วงของ อิทัปปัจจยตามากเข้าเท่านั้น; ก็ให้มันเจริญไปซิ คนที่ไม่รู้ อิทัปปัจจยตา นี้ มันจะก้าวหน้ามันจะเจริญ มันจะค้นคว้าทดทองเท่าไร มันก็จะยิ่งเป็นการยื่นคอเข้าไปในบ่วงของความทุกข์มากยิ่งขึ้นไปอีก; เว้นเสียแต่ว่า เขาจะมาศึกษาเรื่อง อิทัปปัจจยตาให้เข้าใจถูกต้อง แจ่มแจ้งถึงที่สุดนั่นแหละ จึงจะค่อย ๆ ถอยออกมา จากบ่วงหรือหลุม หรือเหว หรืออะไรของ อิทัปปัจจยตา แต่ถ้าความถูกต้องนั้นเป็นไปถึงที่สุดตามระบบของการศึกษา การปฏิบัติแล้ว มันจะไปถึงที่สุดที่จบ ซึ่ง อิทัปปัจจยตา นำไปให้ คือ ความดับสิ้นเชิงแห่งความทุกข์
          ความที่ความทุกข์ดับหมด นี่เราเรียกว่า เป็นจุดมุ่งหมายหรือเป็นผลอันหนึ่ง จะถึงได้โดยวิธีใด? ถึงได้ด้วยความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา; แล้วก็ควบคุมให้เป็นไปแต่ในทางที่ว่า มันจะมีอำนาจน้อยลง มีอำนาจน้อยลง คือมีการปรุงแต่งน้อยลง
            พูดอีกทีหนึ่งก็ว่า มันไม่ปรุงแต่งไปในทางที่จะให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง; แต่มันปรุงแต่งไปในทางที่จะให้สิ้นสุด แห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อสิ้นสุดลงที่จุดใด อันนี้ก็เป็นความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ความดับสนิทสิ้นเชิงแห่งความทุกข์ นี่แหละความดับสนิทสิ้นเชิงแห่งความทุกข์ก็มีขึ้นมาได้ตามกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา คือมันต้องมีการกระทำที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์อันนั้น มันจึงจะถึงนิพพานได้
            สิ่งที่เรียกว่า นิพพานนั้นไม่ใช่ตัว อิทัปปัจจยตา แต่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นจุดหมายปลายทางของ อิทัปปัจจยตา; และถึงได้ด้วยการที่จะเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น นิพพานซึ่งเป็นอสังขตธรรมนั้น รวมอยู่ในพวกที่เป็นกฎ; หมายความว่า เป็น ตถตา คือ ความเป็นอย่างนั้น
            อิทัปปัจจยตา ที่เป็น ตถตา นั้น มันมีอยู่ 2 อย่าง พูดอีกทีหนึ่งก็คือ ความเป็นอย่างนั้น นั้นมีอยู่ 2 อย่าง : ความเป็นอย่างนั้น ชนิดที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย นั้นก็มี; ความเป็นอย่างนั้น เช่นนิพพานเป็นต้น; แล้ว ความเป็นอย่างนั้น ชนิดที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเรื่อย จะต้องเป็นความทุกข์ก็มี; อย่างนี้มันเป็นตถตาที่เป็นไปเพื่อความทุกข์ ทีนี้เราก็จะต้องรู้จักให้ดีทั้ง 2 อย่าง แล้วเราก็รู้จักเลือกเอาอย่างที่มันจะเป็นไปเพื่อความหมดทุก ไม่มีทุกข์
            ดังนั้นก็ขอให้ถือว่า ไม่ใช่ของแปลก ทั้งนิพพานและทั้งวัฏฏสงสาร ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดี ก็จะเห็น นิพพานก็สักแต่ว่านิพพาน วัฏฏสงสารก็สักแต่ว่าวัฏฏสงสาร; ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช้สิ่งที่พึ่งยึดมั่นถือมั่น ถ้าไปมองเห็นนิพพานโดยความเป็นสิ่งที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็จะไม่เป็นนิพพานขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็น ตถตา เหมือนกันหมด คือยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จะเป็นตถตาฝ่ายที่เปลี่ยนแปลงก็ตาม  ฝ่ายที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม; มันยึดมั่นถือมั่นไม่ได้
        อย่างนี้เรียกว่าเรารู้เรื่องตถตาชัดเจนถึงที่สุด สามารถที่จะนำชีวิตนี้ไปให้มันพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา แล้วก็อาศัยกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ให้เป็นไปแต่ในทางที่จะดับเสียได้ซึ่งกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา นั่นเอง มันก็ไม่มีอะไรมากกกว่านี้
            ฟังดูมันจึงคล้ายกับพูดวกวนอยู่ที่นี่ เพราะความเป็น อิทัปปัจจยตา นั้นมีหลายแง่หลายมุม หลายเลี้ยว หลายแพร่ง เดินให้ถูกแพร่ง ที่ควรจะเดินมันก็ไปสู่ความดับทุกข์; เมื่อเดินไม่ถูกแพร่งที่ควรจะเดิน มันก็วนเวียนอยี่ที่นี่คือในวงของ อิทัปปัจจยตา ที่เป็นความทุกข์ เพราะความที่ต้องเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย นี้เป็นสิ้งสำคัญ สำหรับสิ่งที่มีชีวิต
            สำหรับวันนี้ เราจะพูดกันแต้เรื่องความเจริญ ความมีความก้าวหน้า หรือวิวัฒนาตาการ ว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการ; เพื่อจะให้เราได้รู้จักสิ่งที่เรยีกว่าวิวัฒนาการ ถึงขนาดที่ว่าจะไปหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า วิวัฒนาการ เมื่อเราไม่หลงใหลในสิ่งที่เรียกว่าวิวัฒนาการของจิต ถ้าจิตมันยังหลงใหลอยู่ในวิวัฒนาการของจิตเอง มันก็ยังไม่เป็นจิตที่มีวิวัฒนาการ เพราะมันยังโง่ ถ้ามันเป็นวิวัฒนาการจริง มันก็ต้องถึงขนาดที่เรียกว่า ไม่ชอบ หรือว่าไม่หลงใหล ไม่บ้า ในเรื่องวิวัฒนาการอีกต่อไป
            เดี๋ยวนี้ทุกคนยังเป็นบ้า ยังหลงในวิวัฒนาการ คือยังอยากจะวิวัฒนาการอยู่เรื่อย สำหรับวิวัฒนาการนี้เป็นตัว อิทัปปัจจยตา อาตมาต้องการจะพูดอย่างนี้ เราไปหลงใหล มันก็โง่ คือเป็นความโลภ เมื่อไม่ได้อย่างใจ ก็เป็นความโกรธ เมื่อยังสงสัยพะวงอยู่ก็เป็นความหลง เมื่อมันไม่พ้นไปจากความโลก ความโกรธ ความหลงแล้ว จะเป็นวิวัฒนาการได้อย่างไร มันก็มีแต่ว่าโลภมากขึ้น โกรธมากขึ้น หลงมากขึ้นเท่านั้นเอง อย่างนี้ไม่ควรเรียกว่าวิวัฒนาการ
            เอาละทีนี้เราจะพูดทางร่างกายกันก่อน : วิวัฒนาการทางกาย ดูให้ดีเราพูดกันมาก มนุษย์ก็ขวนขวายข้นคว้ากันมากในเรื่องวิวัฒนาการ พวกนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา ก็ขวนขวายเรื่องวิวัฒนาการทางวัตถุ จนรู้เรื่องวิวัฒนาการทางวัตถุ เช่นกฎวิวัฒนาการของนักชีววิทยา คือนักวิทยาศาสตร์ เช่น ดาร์วิน หรือเช่นอะไรเหล่านี้เป็นต้น;  เขาก็รู้จักวิวัฒนาการของสิ่งที่มีชีวิตส่วนที่เป็นวัตถุ ว่านับตั้งแต่โลกยังไม่มีอะไร นอกจากเป็นก้อนไฟ หินไฟ หรืออะไร ลุกเป็นไฟอยู่ก้อนหนึ่งเท่านั้น แล้วโลกนี้มันค่อยเปลี่ยนแปลงไป ๆ จนค่อย ๆ มาเป็นโลกที่มนุษย์อยู่ มีอะไรอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ลองคิดดู วิวัฒนาการก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุก่อน พร้อมกันนั้นก็มีเรื่องทางที่ไม่ใช่วัตถุ หรือทางจิตใจซ่อนอยู่ในนั้น; ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นโลกที่ไม่เคยมีต้นไม้ที่มีชีวิต ไม่มีสัตว์ หรือมนุษย์ที่มีชีวิต นี้มันจะมีขึ้นมาอย่างไรได้ ในเมื่อโลกแท้ ๆ ทีแรกนั้น ถือกันว่าเป็นไฟที่เหลวคว้างอยู่อย่างเดียว จนกว่าไฟจะเย็น เป็นหินชนิดหนึ่งไปทั้งก้อนของโลก เรียกว่าหินไฟ หินอิกเนียส หินอะหรก็แล้วแต่จะเรียก และบอกว่าในหินชนิดนั้น มีแร่ธาตุนานาชนิดรวมกันอยู่ในหินชนิดนั้น ฉะนั้นเมื่อล้าน ๆ ปีต่อมา หินที่เย็นแล้วนั้น มันเกิดการเปลี่ยนแปลง จากแสงอาทิตย์บ้าง จากอื่นบ้าง มันสลายตัว เป็นส่วนน้อย ๆ เป็นอณู แล้วมันก็แยกไปตามอณูที่มันหนักต่าง ๆ กัน; ฉะนั้นธาตุต่าง ๆ มันจึงแยกไปรวมกันเป็นพวก ๆ อณูของธาตุที่มันมีน้ำหนักมาก มันก็ไหลไปกองกันอยู่ที่แห่งหนึ่ง อณูของธาตุที่มีน้ำหนักต่างกัน มันก็แยกไปกองอยู่ที่อีกแห่งหนึ่ง ๆ  อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป จนโลกนี้มีธาตุที่ประกอบอยู่ด้วยธาตุเป็นธาตุ ๆ อยู่ที่ส่วนหนึ่ง ๆ ของโลก เช่นมีทองคำ มีดีบุก มีอะไรก็ตามใจ ทุกธาตุที่มันรวมอยู่ในโลกเป็นสาย ๆ ๆ ๆ เป็นกอง ๆ กลุ่ม ๆ อย่างนี้มันไม่เคยมีแล้วมันมีขึ้นมาได้
            อีกทางหนึ่งซึ่งเมื่อความร้อนเหล่านี้มันไม่มีแล้ว ความชื้นมันก็มี ความชื้นมันก็มากขึ้นจนเป็นน้ำ จนมีฝนตก ทั้งแดดทังฝนช่วยกันทำให้โลกนี้เปลี่ยน มันก็เปลี่ยนไป ๆ พอมีน้ำในผิดโลก ความหมักหมมในน้ำก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่าเซลล์ที่มีชีวิต มันก็มาเป็นเซลล์ ที่มีชีวิตมีความรู้สึก สิ่งที่เรียกว่า ใจ หรือธาตุจิตใจ ธาตุมโน ธาตุวิญญาณ ก็เริ่มแสดงตัวออกมา ทีแรกมันไม่ปรากฏ มันไม่รู้จะแสดงได้อย่างไร เพราะมีแต่ไฟลุกเป็นดวงอยู่; เมื่อเย็นแล้ว แล้วก็มีน้ำแล้ว มันจึงจะมีโอกาสที่ให้สิ่งที่เป็นธาตุชีวิต ธาตุความรู้สึกนี้ แสดงตีวออกมาในเซลล์เล็ก ๆ ต่อมาหลาย ๆ เซลล์รวมกันเป็นหน่วยหนึ่ง กระทั่งหลาย ๆ กลุ่มนั้นรวมกันเป็นสัตว์หนึ่ง เป็นต้นไม้ขึ้นมา เป็นสัตว์มีชีวิตขึ้นมา จนเจริญเติบโตเป็นสัตว์เป็นต้นไม้ชนิดที่เห็นอยู่ในเวลานี้
            ฉะนั้นขอท้าว่า ให้ไปดูกันไปแง่ไหน เหลี่ยมไหน อย่างไรก็ตาม มันยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา รุนแรงมากขึ้นไปอีก คือ เป็น อิทัปปัจจยตา ถึงขนาดที่ว่า ดวงไฟที่ลุกโพลง ๆ อยู่นั้น มากลายเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นต้นไม้ เป็นอะไร อย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ที่นี้; มานั่นกันอยู่ที่นี่ ซึ่งเมื่อก่อนนี้มันไม่มี มีแต่โลกซึ่งกำลังลุกเป็นไฟ
          ถ้า อิทัปปัจจยตา ไม่เก่งจริง มันไม่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้; ฉะนั้นขอให้มองดูกันในแง่นี้ ว่าวิวัฒนาการในส่วนวัตถุนี้ ก็คือ อิทัปปัจจยตาตามการาค้นคว้า ตามการศึกษา ความรู้ ของนักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยารวมกันทั้งหมด ที่ยกเกียรติยศแก่ชาลส์ ดาร์วิน ว่าเป็นหัวโจกในวิชาแจนงนี้ นี้เรียกว่า พูดกันตามจริง พูดกันด้วยวิทยาศาสตร์ ที่มีวัตถุพิสูจน์ได้ ร่างกายมันก็วิวัฒนาการมาในลักษณะนี้ จนกระทั่งเป็นฐานที่ตั้ง สำหรับให้สิ่งที่เรียกว่า จิตหรือนามธรรมนั้ร มีโอกาสแสดงตัวออกมาได้ เป็นชีวิตที่มีความรู้สึกได้ เป็นต้นไม้เป็นสัตว์ เป็นคน; เกินกว่านั้นก็เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นอะไรไปทางจิตใจ
            ถึงแม้บางศาสนาไม่เชื่ออย่างนั้น โดยเฉพาะศาสนาคริสเตียนที่ถือว่ามีพระเจ้า เชื่อพระเจ้า เขาเก็ไม่เชื่ออย่างที่ดาร์วินว่า เพราะมันเสียหายแก่หลักของพระศาสนาที่พูดว่า พระเจ้าต่างหากเป็นผู้สร้างมนุษย์ สร้างสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งมนุษย์; ไม่ใช่เป็นเองอย่างนั้น เรามีตุ๊กตาปั้นอยู่ตัวหนึ่ง เป็นรูปลิงเอาหัวกระโลกมนุษย์มาพิจารณาดู แล้วลิงตัวนี้ก็นั่งอยู่บนกองหนังสือชีววิทยากองสูงเชียว นี่พวกศาสนาเขาเยาะเย้ยดาร์วิน; คือไม่ยอมเชื่อว่า มนุษย์วิวัฒนาการมาจากดวงไฟ ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากไฟลุกโพลง ๆ อยู่
            แต่ถึงอย่างไรก็ดี ที่เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างนั้น มันก็ยังพูดไปตามวิธีที่ให้เห็นว่า เมื่อก่อนนี้มนุษย์ก็ไม่มี แล้วพระเจ้าก็บันดาลให้มี นี้มันพูดอย่างภาษาสมมติ ภาษาอุปมา เรียกว่าภาษาคนพูด มันก็พูดอย่างคน สร้างเหมือนปั้นตุ๊กตา ภาษาอย่างนั้นต้องตีความ หมายความว่ายอมรับว่า มีสิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งมีอำนาจมากที่จะทำให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าศาสนาไหนจะบัญญัติพระเจ้า หรือบัญญัติอะไร มันก็ไม่พ้นไปจาก ลักษณาการของ อิทัปปัจจยตา
            อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วแต่วันก่อนว่า ตัวพระเจ้าเองนั้น ก็คือ ตัวกฎ อิทัปปัจจยตา การที่พระเจ้าทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา เพราะมันมีการสร้างมีการทำให้เป็นไป ให้มีการเปลี่ยนแปลง;  มันเป็น อิทัปปัจจยตาไปหมด ลัทธิดาร์วินก็เป็น อิทัปปัจจยตา ลัทธิศาสนาที่มีพระเจ้าก็เป็น อิทัปปัจจยตาอย่างเต็มที่ด้วยกันทั้งนั้น
            แม้พุทธศาสนาเราก็ยอมรับข้อเท็จจริงอันนั้น ด้วยการบัญญัติคำว่า อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสคำว่า อิทัปปัจจยตา ขึ้นมาในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา มันก็คือทั้งหมดนั้น คือ เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นธรรมของพระเจ้า ไม่มีทางจะผิด นี่ขอให้ช่วยเข้าใจกันไว้อย่างนี้ว่าคำตรัสของพระพุทธเจ้าไม่มีทางผิด ทนต่อการพิสูจน์ทุกยุคทุกสมัย ทุกแง่ทุกมุมก็คือคำว่า อิทัปปัจจยตา
            นี่แหละ เมื่อพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ในทางวัตถุ หรือทางร่างกาย วิวัฒนาการทั้งหลายของสิ่งเหล่านั้นก็คือ อิทัปปัจจยตา ดูง่าย ๆ ที่ว่า เนื้อหนังของคนสมัยนี้ นี่ลองคลำเนื้อหนังของตัวเองดู กับเนื้อหนังของคนสมัยหิน ของมนุษย์สมัยหินที่ยังมีขนเต็มตัว ยังอยู่ตามโคนไม้ตามถ้ำ ไปคลำดู มันผิดกันมาก มันมีความกระด้าง ความนุ่มนวลอะไรต่างกันมาก ยิ่งคนสมัยนี้ที่ไม่เคยถูกลมถูแดด แล้วยังมีการกระทำต่อผิวหนังที่เรียกว่าประเทืองผิวหรืออะไรอย่างนี้ ด้วยอาหารการกินด้วยการลูบไล้ต่าง ๆ มันมีผิวหนังที่ผิดกันมาก ทั้งที่ว่าคนเหล่านี้มันก็มีเชื้อสายเหล่ากอมาจากคนป่าสมัยโน้น นี่ความเปลี่ยนแปลงมันมีอย่างนี้เอง
            ดังนั้นอย่าเข้าใจว่า เป็นคนละเรื่อง; มันมีเรื่องเดียวคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ถ้าคนป่าสมัยโน้นมาลูบคลำเนื้อหนังของคนสมัยนี้ มันจะคิดว่า เป็นสัตว์อีกชนิหนึ่ง เป็นเทวดา เป็นอะไรก็ไม่รู้ ดูการเป็นอยู่ของคนสมัยนี้ คนป่าเหล่านั้นตะต้องคิดว่า พวกเราธรรมดา ๆ นี้ เป็นเทวดากินอาหารกันอย่างไร มีเครื่องมือเครื่องใช้ออย่างไร แม้แต่ห้องส้วมห้องน้ำอย่างไร แต่งเนื้อแต่งตัว เครื่องนุ่งห่มอย่างไร ย้อนไปดูซิ พวกคนป่าเหล่านั้นเขากินอย่างไร เขานอนอย่างไร เขาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะอย่างไร มันไม่มีอะไร แล้วมันตรากตรำอยู่ด้วยลม แดด ฝน จนผิวหนังมันแข็งกระด้าง แทบจะยิงไม่เข้าแล้ว มันก็จะต้องนึกว่าอย่างคนเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นเทวดา บางทีจะเกิดเป็นเทวดาขั้นแรกขึ้นมาที่มนุษย์สมัยนี้; แล้วมนุษย์สมัยนี้ยังหวังที่จะมีเทวดาอย่างชนิดอื่นอีก รวมความว่า วิวัฒนาการทั้งหมดทั้งสิ้นในทางวัตถุเนื้อหนังร่างกายนี้คือตัว อิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งอื่น
            ทีนี้ดูทางจิตใจ มันก็มีวิวัฒนาการ จากความที่ไม่รู้ดีรู้ชั่ว แล้วก็มายึดดียึดชั่ว คือรู้ดีรู้ชั่วหรับจะยึด แล้วก็มารู้สำหรับที่จะไม่ยึด : มีอยู่ 3 ชนิด เท่านั้นแหละ ในส่วนที่เกี่ยวกับจิตใจนี้ วิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์อันดับแรก แม้จะขึ้นมาจากสัตว์แล้ว ก็ยังไม่รู้ดีรู้ชั่ว; มันยังเพิ่งมาจากสัตว์หยก ๆ ยังไม่มีการบัญญัติว่าอะไรดี อะไรชั่ว ยังไม่มีการบัญญัติว่านุ่งผ้าหรือไม่นุ่งผ้า เพราะฉะนั้นคนสมัยนั้น จึงไม่มีคำว่านุ่งผ้า หรือไม่นุ่งผ้า มันก็ปล่อยไปตามสะดวก แล้วมันจะรู้ดีรู้ชั่วได้อย่างไร
            นี้ตามคัมภีร์ขอวงพวกคริสเตียน บรรยายเรื่อวงนี้ไว้ให้เข้าใจได้ง่ายมาก มันต้องถึงขนาดที่เรียกว่าได้กินผลไม้อะไรชนิดหนึ่ง มันจึงจะรู้จักว่า  เอ้า ไม่ได้นุ่งผ้า เกิดความแตกต่างระหว่างการนุ่งผ้ากับไม่นุ่งผ้า เกิดความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย เกิดความแตกต่างระหว่างความดีกับความชั่วในที่สุด ระดับแรกไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว มันจึงเหมือนกัน ดีหรือชั่วไม่รู้ เมื่อไม่รู้ว่าดีหรือไม่รู้ว่าชั่วมันก็เลยมีแต่สิ่งเดียวที่เหมือนกัน
            ต่อมามนุษย์รู้ว่ามีดีกับชั่ว มีเป็น 2 อย่าง พอวิวัฒนาการถึงขนาดหรือถึงระดับหนึ่ง ซึ่งให้รู้จักดี รู้จักชั่ว อย่างพวกศาสนาคริสเตียนเขาว่า กินผลไม้ต้นนั้นเข้าไปแล้ว แต่มันไม่รู้จักดีรู้จักชั่ว อย่างถูกต้อง หรือถึงที่สุด เป็นของได้รู้ใหม่ มันก็เลยรู้สำหรับยึดถือเรื่องดีเรื่องชั่ว ก็เลยติดตฃดีกันเป็นการใหญ่ ตำหนิติเตียนเรื่องชั่วกันเป็นการใหญ่ ยกย่องสรรเสริญเรื่องดีกันเป็นการใหญ่นี่เรียกว่า ติดดี ติดชั่ว
            มันจะเป็นอย่างนี้อยู่พักหนึ่งยุคหนึ่ง จนกว่าจะเกิดคนลาดอย่างพระพุทธเจ้าหรือทำนองพระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว  ว่า โอ๊ย นี้ไม่ไหว จะมาติดดี ติดชั่วแบบนี้จิตใจยังไม่เป็นสุขได้ ยังไม่สงบระงับได้ มันจึงรู้จักดีชั่วนี้สูงขึ้นไป จนถึงขนาดที่เรียกว่าไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นจิตระดับที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องดี เรื่องชั่ว;  เป็นจิตอยู่เหนือดี-เหนือชั่ว
            เราจึงได้ครบเป็น 3 ระดับในทางจิตใจ ที่มีวิวัฒนาการว่า ครั้งแรกที่สุด ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว นี่ขึ้นหนึ่ง และครั้นยุคต่อมาก็ ยึดดี ยึดชั่ว และยุคต่อมาก็เรียกว่า เหนือดีเหนือชั่ว อยู่เหนือดี เหนือชั่ว ไม่ยึดทั้งดี ทั้งชั่ว นี่เป็นอิสระรอดพ้นออกไป เป็นนิพพาน พ้นจากการบีบคั้นของ อิทัปปัจจยตา เมื่อยังไม่รู้ดีรู้ชั่ว มันก็มี อิทัปปัจจยตา บีบคั้นอยู่แบบหนึ่ง ตามกฎเกณฑ์อันนั้น ทีนี้ พอไปยึดดียึดชั่ว นี้คือ อิทัปปัจจยตา ที่สวยงามที่หลอกลวงที่สุด หลอกลวงให้ยึดดี ยึดชั่ว แต่ก็ต้องเรียกว่า วิวัฒนาการเหมือนกัน เพราะมันสูงกว่า ทีนี้ด้วยอำนาจบีบคั้น ของ อิทัปปัจจยตา ทำให้คนทนทุกข์ทรมานทรกรรมอยู่เรื่อง ๆ ไป นาน ๆ เข้า มันก็รู้ว่าไม่ไหว จึงไปรู้เรื่องกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ประเภทที่จะช่วยให้ขึ้นไปจนเหนือดี-เหนือชั่ว คือถึงนิพพานหรืออะไรทำนองนั้น แล้วแต่เราจะเรียกกัน ตามระบบของศาสนาหนึ่ง ๆ
            นี่วิวัฒนาการอย่างนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่จิตใจของมนุษย์ จะเรียกว่า โดยธรรมชาติก็ได้ โดยพระเจ้าก็ได้ เพราะมันมีผลอย่างเดียวกัน วิวัฒนาการโดยธรรมชาติ มันก็คือ อิทัปปัจจยตา วิวัฒนาการโดยพระเจ้ามันก็คือ อิทัปปัจจยตา เพราะได้แสดงให้เห็นแต่วันก่อนแล้วว่า พระเจ้าคืออะไร แนวทางจิตใจของมนุษย์ได้วิวัฒนาการไปเป็นขั้น ๆ ตามกฎเกณฑ์ของ  อิทัปปัจจยตา
            ขอให้หมดความสงสัยเสียทีเถิดว่า ความเจริญวิวัฒนาการในทางจิตนั้นก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา; ต้องทำให้ถูกทาง ต้องควบคุมให้ถูกทาง คือให้เป็นไปในทางที่จะอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น; อย่าให้เป็นเรื่องความยึดมั่นถือมันมากขึ้น
        ทีนี้ ดูทางสติปัญญาที่สูงขึ้นไปอีก คำว่า จิตใจ ในที่นี้เราหมายถคงสิ่งที่มีสมรรถภาพในการคิดนึกรู้สึก หรือทำงานทางจิตใจ; ส่วนสติปัญญารนั้นไม่ใช่จิตใจ ไม่ใช่ตัวจิตใจ แต่เป็นสิ่งที่จิตในอาจจะรู้สึกได้ รู้สึกได้ทางจิตใจ หรือว่าต้องเกี่ยวกันอยู่กับจิตใจ มันก็มีทางที่จะวิวัฒนาการของมันได้เองอีกทางหนึ่ง คือทางสติปัญญา นี่มันเป็นการศึกษาโดยแท้จริงขอบมนุษย์ที่ทำให้มีสติปัญญา มันแยกออกได้จากจิตใจ : เราอบรมจิตใจ ไปในทางให้มีสติปัญญาก็ได้ เราอบรมจิตใจไปในทางให้ไม่มีสติปัญญาก็ได้ ฉะนั้นจึงถือว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เดินทางเดียวกัน
            แต่การที่เราจะอบรมสติปัญญา ก็ต้องอบรมผ่านโดยทางจิตใจ หรือว่าการเป็นอยุ่ทั้งหมด รวมทั้งร่างกาย ด้วยชีวิตทั้งหมดนี้; มีการศึกษาให้รุ้ แล้วมีการปฏิบัติให้จริงไปตามที่รู้ ก็เกิดแสงสว่างอันใหม่ขึ้นมาในจิตใจ ซึ่งจะทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงได้ด้วย หรือว่าสามารถจะทำให้จิตใจไม่ต้องเป็นทุกข์ แม้ว่าลำพังกาย ตัวร่างกาย ตัวจิตใจล้วน ๆ มันจะเป็น อิทัปปัจจยตา ที่มันเปลี่ยนแปลงและเป็นทุกข์อยู่ตามธรรมชาติ แต่ถ้ามีสติปัญญาที่วัฒนาการสูงพอ มันก็จะช่วยแก้ไข เพื่อว่าจิตใจนั้น จะไม่วิวัฒนาการไปในทางที่จะเป็นทุกข์; มันจะวิวัฒนาการไปในทางที่ไม่ทุกข์ ไม่มีทุกข์ยิ่งขึ้น หรือทุกข์ไม่เป็น
            ฉะนั้นสติปัญญาสูงสุด มันก็หมายความว่า จิตใจนั้นได้รับการอบรมถึงที่สุด พลายเป็นจิตใจที่สูงขึ้นไปด้วย แต่ความสามารถหรือสมรรถภาพ หรือตัวจรติงนั้นมันอยู่ทีสติปัญญา เขาจึงมีวิธีการ อบรมสติปัญญา ไว้โดยเฉพาะต่างหากคือทำให้รู้แจ้ง การอบรมจิตใจให้มีสมรรถภาพล้วน ๆ นั้นเรียกว่า อบรมจิต เป็นวิวัฒนาการของจิตลบ้วน ๆ ให้มีกำลังใจสูงจนถึงเหาะเหินเดินอากาศ แสดงฤทธิ์แสดงปาฏิหาริย์ได้ อย่างนั้นเรียกว่าอบรมจิตใจให้มีสมรรถภาพตามแบบของจิตใจล้วน ๆ แต่ไม่มีสติปัญญา ดังนั้นพวกยักษ์พวกมารก็เหาะได้ แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผล
            ทีนี้พระอริยเจ้าไม่ต้องเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่มีปัญญาบรรลุมรรคผลจนดับทุกข์ ทำนิพพานให้ปรากฏได้ เพราะฉะนั้นเราจึงถือว่า จิตใจ นั้นมิใช่สิ่งเดียวกับที่เรียกว่าสติปัญญา ด้วยเหตุนี้มันจึงมีแนวหรือสายของวิวัฒนตาการของมันเอง แต่แล้วในที่สุด วิวัฒนาการของสติปัญญานี้ ก็ไม่พ้นไปจาก อิทัปปัจจยตา ยังคงเป็นตัว อิทัปปัจจยตา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ว่าเพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น อย่างนี้เรื่อยไป ไม่มีอะไรนอกไปจากกฎนี้
            ฉะนั้นขอให้ถือว่า อิทัปปัจจยตา เป้นทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่า วิวัฒนาการ : วิวัฒนาการทางวัตถุ ทางกายก็ดี ทางจิตก็ดี ทางสติปัญญาก็ดี ล้วนแต่เป็น อิทัปปัจจยตา ที่เรียกว่า ความเป็นอย่างนั้นเอง  ไม่มีอะไรที่จะวิเศษวิเสโส ไม่มีอะไรที่จะควรยึดมั่นถือมั่น คือเป็นอย่างนั้นเอง-อย่างนั้นเอง
            ฉะนั้นขอให้จับหลักเกณฑ์อันนี้ แล้วก็ไปใคร่ครวญให้ดี ๆ ว่ายิ่งดูลึกเข้าไป ก็ยิ่งพบแต่ อิทัปปัจจยตา ดูผิว ๆ เผิน ๆ ก็พบแต่ อิทัปปัจจยตาอย่างง่าย ๆ อย่างธรรมดา ๆ ยิ่งดูลึกลงไปก็ยิ่งพบ อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่ลึกลงไป หรือจะดูที่วัตถุคือสิ่งที่มีชีวิต เช่นสสารต่าง ๆ ที่ยังไม่มีชีวิต ยังไม่เป็นเซลล์ที่มีชีวิต นี้เป็นก็มีแต่ปรมาณู มีอณูที่ไม่มีชีวิต มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ไม่หยุดอยู่ ไม่คงที่
        ทีนี้วัตถุที่มีชีวิต แต่ยังมิได้ประกอบกันเป็นกลุ่มเป็นกาย เช่นเซลล์หนึ่ง ๆ ที่มันจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ของโลก ที่ยังไม่มีชีวิต แล้วในโลกนี้มีน้ำ มีความหมักหมมในน้ำ ทำให้เกิดเป็นเซลล์ที่มีชีวิตหนึ่ง ๆ ขึ้นมา เรียกว่าสัตว์เซลล์เดียว มีชีวิตในเซลล์เดียว อย่างนี้มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา แต่อย่างนี้ยังไม่เรียกว่ากาย เซลล์นั้นยังไม่เรียกว่ากาย; เพราะคำว่า กาย แปลว่าหมู่
            ถ้าใครยังไม่ทราบก็จงทราบเสียเดี๋ยวนี้ว่า คำว่า กายะ หรือกายนั้น แปลว่า หมู่ หรือกลุ่ม; ตัวหนังสือแท้ ๆ แปลว่ากลุ่มหรือหมู่ และเด่ยวนี่มันเป้นกลุ่มของวัตถุ กลุ่มของเซลล์ นี้เรียกว่ากาย; ถ้ากลุ่มของสิ่งอื่นๆ ก็เรียกว่ากายเหมือนกันเช่น ผัสสะกาโย-กลุ่มแห่งผัสสะ; เวทนากาโย-กลุ่มแห่งเวทนา เป็นต้น
        นี้หมายความว่า กลุ่มแห่งผัสสะหลายๆชนิด : ผัสสะทางตา ทางหู ทางลิ้น ฯลฯ รวมกันเรียกว่ากลุ่มแห่งผัสสะเรียกว่าผัสสะกาโย หรือผัสสะกาย; หรือว่าเวทนากาโย : เวทนาทางตา ทางหู ก็เรียกว่าเวทนากาย คือกลุ่มแห่งเวทนา; เรียกรวมหมดว่านามกาย คือกลุ่มแห่งนามธรรมม -กลุ่มแห่งสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือจิต คำว่ากายแปลว่าหมู่; เช่นเรียกว่ายกพหลพลกายไปรบไปรากันนี้ พลกายแปลว่าหมู่แห่งคน; กายแปลว่าหมู่ ทีนี้ร่างกายเรานี้ก็แปลว่าหมู่ คือหมู่แห่งขันธ์แห่งธาตุแห่งอายตนะ หมู่แห่งดิน น้ำ ลม ไฟ หมู่แห่งธาตุทั้ง 6 รวมกันเข้า เราเรียกว่ากาย คำว่ากาย แปลว่า หมุ่
            ทีนี้ ในสมัยที่ในโลกนี้มีแต่สัตว์เซลล์เดียว ยังไม่รวมกันเป็นหมู่ เป็นหลายเซลล์ ไม่ก่อเป็นรูปเป็นร่าง เป็นอะไรขึ้นมา มันก็มีอยู่ยุคหนึ่ง คือยังไม่มีกาย; แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา เท่ากัน ต่อมาเซลล์เหล่านั้นเกิดรวมกันเข้าหลาย ๆ เซลล์เป็นหนึ่งหมู่ และหลาย ๆ หมู่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มีชีวิต จนกระทั่งมันมีมากมาย นับไม่ถ้วน เป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมา; หรือว่าเป็นต้นไม้ เป็นเปลือก เป็นใบ เป็นแก่น เป็นอะไรขึ้นมา นี่มันเป็นกายแล้วเดี๋ยวนี้ เป็นกายโดยสมบูรณ์ เป็นกายของต้นไม้ เป็นกายของสัตว์ ของมนุษย์
        อย่างนี้ก็อย่างแปลกประหลาด มันก็อย่างนั้นเอง มันเท่ากันกับพวกเซลล์เดียว คือมันยังเป็น อิทัปปัจจยตา เท่าเดิมอยู่นั่นเอง แต่มันมีวิวัฒนาการมาก มันจะมากเท่าไร มันก็แค่ อิทัปปัจจยตา ต้นไม้มันเคลื่อนที่ไม่ได้ ต่อมามันมาถึงสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ก็เรียกว่าสัตว์ อย่างเลวก็สัตว์เดรัจฉาน อย่างดีก็สัตว์มนุษย์ แต่มันก็ค่า อิทัปปัจจยตา อย่าตีราคาให้มันมากไปกว่านั้น อย่าไปยกมือท่วมหัวบูชาว่ามันวิเศษสูงสุดอะไร มันคือ อิทัปปัจจยขา ที่หลอกลวงมากขึ้น ไม่มีอะไร
        ดังนั้นต่อให้เป็นเทวดา มันก็แค่ อิทัปปัจจยตาเท่านั้นแหละ; ให้เป็นพรหม เทวดาชั้นสะอาดบริสุทธิ์ มันก็แค่ อิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นแม้แต่สิ่งใด; คือว่าไม่มีสิ่งใดที่วครยึดมั่น เพราะว่ามันเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา หรือถ้าเรียกให้กว้างก็เรียกว่า ตถตา คือมันอย่างนั้นเอง
            นี่ทางกาย และทางจิต ทางสติปัญญา 3 ทางนี้ มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า อัญญมัญญปัจจัยแก่กันและกัน อัญญะมัญญะ แปลว่า แก่กันและกัน; อัญญะแปลว่าอื่น; อัญญะมัญญะ แปลว่าอื่นและอื่น คือคนหนึ่งกับคนหนึ่ง ซึ่งเราพูดเป็นไทยว่า แก่กันและกัน วิวัฒนาการทางกาย ก็เป็น อัญญะมัญญะปัจจัย แก่วิวัฒนาการทางจิต วิวัฒนาการทางจิตก็เป็นอัญญะมัญญะปัจจัยแก่วิวัฒนาการทางกาย; แล้วมันก็เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย แก่วิวัฒนการทางสติปัญญา; วิวัฒนาการทางสติปัญญา ก็เป็นอัญญะมัญญะปัจจัยแก่วิวัฒนาการทางกายและทางจิต
            เมื่อสวดศพจะได้ยินคำว่า อัญญะมัญญะปัจจโย ทุกที่ที่สวดศพ; ก็แปลว่าเขาบอกว่า อัญญะมัญญะปัจจโย นั้นคือสิ่งที่มันจะต้องอาศัยกันและกัน จึงจะเป็นไปได้ กายก็ต้องอาศัยจิต จิตก็ต้องอาศัยสติปัญญา สติปัญญาก็ต้องอาศัยจิต จิตก็ต้องอาศัยกาย กายก็ต้องอาศัยจิต อย่างนี้ มันจะต้องอาศัยซี่งกันและกันอย่างนี้; นี้ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตาคือความที่มันเป็นไปตามลำพังไม่ได้; มันไปไม่รอด มันต้องเนื่องสัมพันธ์กัน อาศัยซึ่งกันและกันเป็น อิทัปปัจจยตา
        ทีเท่าที่พูดมานี้ ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเหลือแล้ว : มันเป็นการปิดหมดทุกช่องทุกทางแล้ว ไม่มีอะไรรอดออกไปได้จากอำนาจของอิทัปปัจจยตา แม้ว่ามนุษย์จะได้เข้าไปทำความพยายามเหมือนกับจะแก้ไข เหมือนกับจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์อันนี้; แต่แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ ยิ่งเข้าไปแก้ไข มันยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา หนักขึ้น ไม่เชื่อลองดู ไมใช่ว่าเป็นหมอแล้ว จะไปแก้ไขความตายได้ ยิ่งไปแก้ไขเข้า มันก็ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา เพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่ง
            ฉะนั้น รู้ว่ามันเป็นอย่างไรแล้วก็มีจิตใจที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นมึง เป็นกู เป็นอะไร ต้องไม่มี; เห็นว่าเป็น อิทัปปัจจยตา เสมอกัน เพราะฉะนั้นมีความรักใคร เอ็นดู เมตตาปรานีกันดีกว่าที่ว่าจะเป็นศัตรูกัน
        สำหรับเรื่องในพุทธศาสนานั้น ต้องการจะพูดเฉพาะแต่สิ่งที่มันจำเป็นโดยด่วน ซึ่งได้แก่ความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นเรื่องอิทัปปัจจยตาจึงมุ่งหมายเฉพาะแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับที่พระสงฆ์ได้สวดสาธยายเมื่อตะกี้นี้
            ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไร? ปฏิจจสมุปบาทคือ ความที่อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ เรื่อยไปจนถึงทุกข์ นี่คือปฏิจจสมุปบาทจนเกิดทุกข์ นี้คือ อิทัปปัจจยตา ที่ต้องรู้ก่อน ที่จำเป็นที่สุด ที่ด่วนที่สุด สำหรับที่จะต้องรู้ก่อน; ถ้าไม่อย่างนั้นจะเสียทีที่เกิดมา ชั่วที่เกิดมาไม่กี่ปี มันก็จะแตกตายทำลายขันธ์ไปเสียก่อน ถ้าไม่ได้รู้เรื่องนี้ มันก็เท่ากับว่า เกิดมาเป็นทุกข์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
          ถ้าไปเกิดรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา เข้ามันหายโง่ แล้วมันไม่มีทุกข์แล้วมันหัวเราะเยาะความทุกข์ หัวเราะความตาย หัวเราะเยาะไปทุกอย่างที่เป็นอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา กลายเป็นสิ่งสำหรับให้หัวเราะ คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นช่วยจำปฏิจจสมุปบาทไว้ให้ดี ๆ วันหลังจะพูดกันอย่างละเอียดเรื่อย ๆ ไป และก็เคยพูดมาแล้วด้วย อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป ฯลฯ
          มันจะมี ปฏิจจสมุปบาท ทุกคราที่เราโง่ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายได้สัมผัสผิวหนัง หรือเมื่อจิตได้อารมณ์อะไรมารู้สึก 6 ประการนี้ 6 เวลานี้ ถ้าเราโง่แล้ว ปฏิจจสมุปบาทจะโผล่ขึ้นมาทันทีสำหรับเป็นทุกข์ นี้คือ อิทัปปัจจยตา ที่ร้ายกาจ ที่จะทำให้เกิดความทุกข์ จึงต้องรู้ก่อนเรื่องใดหมด และต้องรับปฏิบัติให้ได้ก่อนเรื่องใดหมด; จะเอาไว้พูดกันละเอียดทีหลังเป็นแง่ ๆ เป็นมุม ๆ ไป
            ในทีนี้วันนี้โดยสรุปแล้ว ต้องการจะพูดแต่เพียงว่า อย่าไปบูชาวิวัฒนาการในฐานะเป็นของประเสริฐเลิศลอยอะไร มันจะโง่มากขึ้นไปอีก มันจะไปหลงใหลในสิ่งที่ธรรมดาไม่เป็นความทุกข์ ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เช่นอะไรออกมาใหม่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อ ไม่จำเป็นจะต้องใช้ ไม่จำเป็นแก่ชีวิต ก็อย่าไปซื้อมัน แต่ถ้ามันโง่ในเรื่องของใหม่ของแปลง ก้าวหน้าวิวัฒนาการ มันก็อุตส่าห์เสียเงินไปซื้อ ให้เปลืองค่าข้าวสารของลูก ของครอบครัว; นี้มันโง่ถึงขนาดนี้ก็ได้
            ถ้าเรารู้เรื่องว่า วิวัฒนาการนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า อิทัปปัจจยตา เขาคิดอะไรขึ้นมาได้ เราจะดูเล่นก็ได้ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อมันมา เว้นแต่ว่าจะเอามาทำประโยชน์อะไรได้จริง ๆ เป็นการค้าเป็นการอะไรอย่างนั้น มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าหลงเที่ยวไปซื้อเอามาไว้ให้อิ่มใจ ให้รู้สึกว่ามีอะไรดี ๆ กับเขา อย่างนี้แล้วมันก็เรียกว่าไม่ฉลาดเลย หรือพูดอีกทีหนึ่งก็ว่า ถูกอิทัปปัจจยตา นี้มันหลอกเอา  มันไม่หลอกเฉย ๆ มันจะกัดเอาให้เจ็บปวด นี้เราอย่าได้เห่อ อย่าได้หลง ในเรื่องที่ว่า มันแปลก มันมีอะไรแปลก ๆ มันมีอะไรก้าวหน้าแปลก ๆ เราจะดูก็ได้แต่ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อมันมา หรือว่าเราจะพลอยดูกับคนอื่นก็ได้ เพื่อการศึกษาว่า นี่มันก็ไม่มีอะไร นอกจากบ้ามากไปกว่าเดิมนิดหน่อย
            นี่เรียกว่า เราอยู่ในโลกด้วยชัยชนะ ไม่โง่ เพราะรู้ อิทัปปัจจยตา ไม่ตื่นเต้นไปม่หวั่นไหว ไปตามสิ่งใดหรือใคร ๆ ในโลกอันวุ่นวาย ข้อนี้มันสำคัญหรือไม่สำคัญ ไปคิดดูเองเถิด ความไม่ตื่นเต้นก็คือ ไม่ทึ่ง ไม่สนใจ ไม่ตื่นเต้น ไม่หวั่นไหว คือไม่หวาด ไม่กลัว ไม่อะไร ไปตามสิ่งใด หรือบุคคลใดๆ ในโลก อันแสนจะวุ่นวายมากขึ้น
            นี่มันจะช่วยได้มันจะไม่กลัวอะไรหมด มันไม่ต้องกลัวอะไรหมด; ที่เขากลัวกันนั่นเราก็จะหัวเราะเยาะได้; มันจะทำอะไรกันอีกต่อไปเราก็หัวเราเยาะเพราะความตายเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา ถึคงคราวตายก็ตายอย่างหัวเราะ ไม่ต้องกลัว ขอให้มีสติปัญญาต่อ อิทัปปัจจยตา ให้มากและเพียงพออยู่เสมอ เราก็จะรอดตัวได้
            หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งในวันนี้ว่า วิวัฒนาการทั้งหลายเป็นเพียง อิทัปปัจจยตา; ก็จะคุ้มกันกับที่อุตส่าห์มานั่งฟัง และอาตมาก็อุตส่าห์มานั่งพูด

ขอยุติกันทีสำหรับวันนี้ ให้พระคุณเจ้าทั้งหลายสวดคณะสาธยายบทพระธรรมต่อไป

(คัดลอกจากหนังสือ  อิทัปปัจจยตา โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า 129-159;27-31 มี.ค 49)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น