วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา 4 ในฐานะที่เป็น “พระเจ้า”

เสาร์ที่ 22  มกราคม 2515
        ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!
        การบรรยายเรื่อง อิทัปปัจจยตา ล่วงมาถึงวาระที่ 4  ในวันนี้ และจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็น พระเจ้า ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันดีอยู่แล้ว
        เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็อยากจะทบทวน ความมุ่งหมายของการบรรยายเรื่องนี้ ให้เป็นที่แจ่มแจ้งอยู่ในใจของท่านตลอดไป นับตั้งแต่ข้อที่ว่า เรื่องนี้ซึ่งเป็นหัวใจทั้งหมดของพระพุทธศาสนานั้น จมหรือนอนจมเป็นหมันอยู่ในพระไตรปิฎก หรือในพระบาลี เป็นส่วนที่ไม่เอามาพูดกันทั้งที่เป็นตัวแท้และเป็นหัวใจของพุทธศาสนาด้วย; และเราก็ได้ตั้งใจกันมาแล้วว่า จักยอมเสียเวลาพูดกันแต่เรื่องนี้ อย่างน้อยก็สักหนึ่งภาคของการบรรยาย; ดังที่อาตมาได้ตั้งใจไว้แล้วว่า ตลอดภาคมาฆบูชานี้ จะพูดแต่เรื่องนี้ ซึ่งคงจะเป็นการบรรยายกันกว่า 10  ครั้ง ทั้งนี้มิใช่หวังอะไรอื่น นอกไปจากว่าจะรีบ รีบที่สุดที่จะรีบได้ เพื่อให้เรื่อง อิทัปปัจจยตา มากลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพูดจากันอยู่ทุกวัน และสำหรับจะได้ชื่อว่า พุทธบริษัทนี้ ไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท คือเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้ดังกล่าวแล้ว
            ขอทบทวนต่อไปว่า เรื่องอิทัปปัจจยตา ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท; ไม่มีเรื่องใดที่พระพุทธเจ้าโปรดปรานมากเท่าเรื่องนี้ การออกบวช ก็เพื่อค้นหาเรื่องนี้ แล้วก็ค้นหาเรื่อยไป จนถึงวันที่จะตรัสรู้ก็คือการค้นเรื่องนี้, ตลอดชีวิตของพระองค์ก็ทรงสอนอยู่แต่เรื่องนี้, ถึงวาระที่จะปรินิพพานอยู่หยก ๆ แล้ว ก็ยังพร่ำเป็นคำสุดท้ายถึงเรื่องนี้ คือเรื่อง อิทัปปัจจยตา, -ว่า ขยวยธมฺมา  สงฺขาราดังนี้
            มี เรื่องที่น่าหัวสำหรับคนสมัยนี้ก็ได้ อีกเรื่องหนึ่ง คือว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ในที่เงียบ พระองค์เดียว ก็ทรงกล่าวเรื่องนี้เหมือนกับที่ว่า เราสมัยนี้ร้องเพลงเล่น ผิวปากเล่น; ถึงทีที่พระพุทธองค์จะทรงทำอย่างนั้นบ้าง ท่านทรงสาธยายเรื่อง อิทัปปัจจยตา ซึ่งมีใจความว่า เมื่อตาได้อาศัยรูป ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ; การประจวบแห่งธรรม 3 ประการ นี้ชื่อว่า ผัสสะ; เพราะผัสสะจึงเกิดเวทนา; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน; เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ; เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส : ความทุกข์ทั้งปวงย่อมด้วยอาการอย่างนี้
            เมื่อได้ทรงสาธยายในส่วนเกี่ยวกับตาเสร็จแล้ว ก็ทรงสาธยายในส่วนที่เกี่ยวกับหู ว่าอาศัยเสียงกับหู จึงเกิดโสตะวิญญาณ แล้วก็ไล่ไปอย่างเดียวกันอีกจนครบทั้ง 8 อาการ ในเมื่อนับตามแบบนี้; ซึ่งก็ครบทั้ง 11 อาการ ในเมื่อนับตามแบบปฏิจจสมุปบาท  แบบที่รู้จักกันแพร่หลาย ทรงแจกลูกทำนองนี้จนครบ 6 หมวดแห่งอายตนะ ทำนองเดียวกับเด็กเขาท่องสูตรคุณ
            นี่ขอให้เข้าใจเถอะว่า ไม่มีเรื่องอื่นที่พระพุทธเจ้าจะทรงนำมาท่องเล่นหรือว่าเล่น  หรือว่าคล้ายๆกับว่า ร้องเพลงเล่น มีแต่เรื่อง อิทัปปัจจยตานี้เท่านั้น เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่ามันสำคัญ
        คำว่า อิทัปปัจจยตา คือหัวใจของพุทธศาสนา นั้นยังไม่พอ; เพราะ อิทัปปัจจยตา คือเรื่องของสิ่งทุกสิ่ง  ทุกเรื่องในโลกนี้ ในสากลจักรวาลนี้ มีความสำคัญถึงขนาดนี้; เพราะฉะนั้นในสูตรที่ตรัสไว้ในตอนหลังนี้ อย่างที่พระสงฆ์นำมาสวด เมื่อตะกี้ชั่วเวลา 40 นาทีนี้ มีคำว่า อิทัปปัจจยตา ถึง 22 ครั้ง ท่านที่ไม่ชอบ และฟังไม่ถูก คงจะรำคาญ ที่เมื่อตะกี้นี้สวดสูตรนี้ 40 นาที มีคำว่า อิทัปปัจจยตาถึง 22 ครั้ง; และมีคำสำคัญอื่น ๆ ที่เป็นที่สรุป เช่นคำว่า ธัมมัฏฐิตตา, ธัมมนิยามตา หรือ ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา เป็นต้น ถึงอย่างละ 11 ครั้ง เพราะว่าสูตรนี้เป็นหัวใจทั้งหมดของธรรมะ จึงมีอาการอย่างนี้ เหมือนกับสูตรซึ่งเรียกว่า เป็นบรรทัดฐานก็ได้ มันมีคำย่อ เป็นที่สรุปของเรื่องทั้งหมด  นี้คือความสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่งอยากจะขอร้องให้ท่านทั้งหลาย ทน อดทน แม้จะลำบาก แม้จะรำคาญ ก็ขอให้อดทน เพื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ ในเวลาพอสมควร
            ที่นี้ เราจะต้องรู้สึกให้กว้างออกไปกว่านั้นว่า การที่เราจะเป็นคนมีประโยชน์อยู่ได้ในโลกนี้ ก็ต้องเพราะรู้เรื่องนี้.
            เกี่ยวกับข้อนี้ ขอทบทวนอยู่เสมอ ไม่เกรงใจ ไม่กลัวว่าจะรำคาญ; ว่าทุกคนจะต้องสนใจอยู่เสมอว่า เกิดมาทำไม? ถ้าใครไม่สนใจเรื่องนี้ คนนั้นจะไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้ในการที่เกิดมา หรือจะพูดได้อย่างไม่เกรงใจว่า คนนั้นจักไม่เป็นมนุษย์ เพราะไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม? มันต้องรู้ว่าเกิดมาทำไม? แล้วทำให้ได้สมตามที่ว่ามันเกิดมาทำไม? นั้นจึงจะเป็นมนุษย์ ถ้าไม่รู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา ก็ไม่สามารถจะรู้ว่า เกิดมาทำไม?  และมีอะไรที่เป็นสิ่งที่จะต้องทำและทำให้ได้
            ในตอนนี้ ขอย้ำอยู่เสมอว่า ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน ไม่ยกเว้นบรรพชิตหรือ ฆราวาส จึงรู้ว่า เราเกิดมาจะต้องได้รับประโยชน์ที่เราควรจะพอใจถึงที่สุด ในส่วนตัวเราเอง; และเราเกิดมา เพื่อว่าผู้อื่นจะพลอยได้รับประโยชน์จากการที่มีเราอยู่ในโลกนี้กับเขาคนหนึ่ง นี้คือประโยชน์ส่วนตัวเราและประโยชน์ผู้อื่น; มันเป็น 2 ประโยชน์อยู่  ต่อเมื่อได้ทั้ง 2  ประโยชน์ อย่างนี้แล้ว จึงจะเรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมา
            ทีนี้เรื่องทั้งหลายไม่ว่าประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น ก็ล้วนแต่เนื่องกับความจริงที่ว่ามันเป็นอิทัปปัจจยตา; คำว่า อิทัปปัจจยตา ตามตัวหนังสือก็แปลว่า ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น คนที่ไม่รู้เรื่องจะหาว่าเป็นคำพูดบ้าๆ บอ ๆ เพราะเขาไม่รู้ความหมายที่ลึกซึ้ง ของคำพูดประโยคนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันคำพูดประโยคนี้ว่า เป็นทั้งหมดที่เราจะต้องรู้: ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้นนั่นแหละ มันมีอยู่ทั่วไปทุกแห่งในตัวเรานอกตัวเรา นี้อย่างหนึ่ง; แล้วมันมีอยู่อย่างน่ากลัวที่สุด คือมีอยู่ในฐานะที่เป็นกฎที่ตายตัว เป็นกฎที่มีอำนาจ เป็นกฎที่บังคับให้ทุกสิ่งต้องเป็นอย่างนี้; นี้ก็อย่างหนึ่ง เพราะมันเป็นกระแสแห่งการเป็นไปอย่างนี้ คือการที่สิ่งต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎนั้น, แม้มันก็ยังคงเป็น อิทัปปัจจยตา; แล้วผลที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์อยู่ในทุกวันนี้เป็นความสุขก็ดี เป็นความทุกข์ก็ดี หรือเป็นอะไรก็ได้ ทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวมกันทั้งโลก, ผลอันนั้นก็คือตัว อิทัปปัจจยตา ในบทที่ว่า: ความที่มีสิ่งนี้ ๆ มีอยู่, สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น
            ถ้าเราฟังไม่ถูก มันก็เป็นแต่เพียงคำพูด แล้วฟังดูก็บ้า ๆ บอ ๆ ถ้าพุทธบริษัทคนไหนรู้สึกอย่างนี้แล้ว คนนั้นยังไม่เป็นพุทธบริษัท; เป็นพุทธบริษัทแต่เปลือกบ้าง เป็นพุทธบริษัทแต่ปากบ้าง ถ้าเป็นพุทธบริษัทจริง จะต้องเข้าใจคำนี้ จะต้องซึมซาบความจริงนี้; และจะต้องมีความรู้สึกหวั่นไหวด้วยความสลดสังเวชเบื่อหน่ายในจิตใจอยู่ ตลอดเวลาที่มีสิ่งต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็น อิทัปปัจจยตา ปรากฏขึ้น; แต่ถ้าไม่รู้จักความจริงอันลึกซึ้งนี้ มนก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
            ทีนี้มาถึงวันนี้ ก็อยากจะชี้ให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็น พระเจ้า ท่านทั้งหลายจะต้องทบทวนถึงเรื่องที่พูดมาแล้วแต่วันแรก ๆ ว่า  ครั้งที่ 1 ได้พูดว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แต่ยังจมหายอยู่ในพระไตรปิฎก; ครั้งที่ 2 อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นวิชาหรือศาสตร์ทั้งหลายของสิ่งทั้งปวงในโลก; และครั้งที่ 3 ที่แล้วมา ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา นั้นแหละคือตัวเรา, -ตัวเราเองในทุกความหมาย และในทุกอิริยาบถ; หมายความว่า ตลอดเวลา สิ่งไรที่เราเรียกว่าตัวเราในความหมายไหน ในอิริยาบถไหน ทั้งหมดนั้นคือตัว อิทัปปัจจยตา ทีนี้ในวันนี้ จะได้พูดว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นพระเจ้า ขอให้ตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์
            สำหรับสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า นี้ มันเป็นปัญหามาก มากเหลือที่จะนับ; แต่แล้วมันก็สรุปได้ว่า ปัญหาทั้งหมดนั้น มันเกิดมาจากความโง่ที่ไม่รู้จักพระเจ้า: ไม่รู้จักพระเจ้าเอาเสียเลยก็มี รู้จักพระเจ้าอย่างผิด ๆ ก็มี; หรือบางทีก็แสดงความโง่ออกมาว่า ฉันมีพระเจ้าบ้าง ฉันไม่มีพระเจ้าบ้าง อย่างนั้น อย่างนี้ สำหรับเป็นข้อทุ่มเถียงกัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น สิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า มีได้โดยที่คนเหล่านั้นไม่ต้องรู้สึกก็ได้ พระเจ้าที่ว่านี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมี่สิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎนั่นแหละคือ พระเจ้า ขอให้ตั้งใจสังเกตศึกษาให้ดี ๆ ให้รู้จักสิ่งที่มันได้มีอยู่จริง โดยไม่ต้องเถียงกัน เราจะต้องรู้จักพระเจ้า เราจะต้องเข้าใจพระเจ้า และเราจะต้องมีพระเจ้าด้วย; ส่วนการที่เราจะรู้จักได้อย่างไร? เมื่อไร? นั้น มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา ดังที่กำลังศึกษาอยู่เดี่ยวนี้ เอาละทีนี้เราก็จะพูดถึงคำว่า พระเจ้า พอให้รู้จักว่าสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า นั้นมันคืออะไร?
            พระเจ้าคืออะไร? เด็กอมมือ หรือคนที่ได้รับคำสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรู้อย่างเด็กอมมือ ก็จะสรุปเอาง่ายๆ ว่า พระเจ้านั้นคืออะไรก็ไม่รู้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนบุคคลที่น่ากลัว หรือว่าเป็นผี หรือว่าเป็นเทวดา หรือว่าเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง; จะว่าเป็นคนก็ไมใช่ จะว่าไม่ใช่คนก็ไม่ใช่ พวกเราในโลกเวลานี้ ทั้งที่เป็นฝรั่ง ทั้งที่เป็นไทย ได้ยินได้ฟังเรื่องพระเจ้า ก็เข้าใจเรื่องพระเจ้ากนในลักษณะอย่างนี้ คือเข้าใจพระเจ้าในฐานะที่เป็นบุคคล มีความรู้สึกเหมือนคน ก็เรียกพระเจ้าอย่างบุคคล หรือ Personal God: นี่รู้จักกันแต่อย่างนี้ พวกหนึ่งก็ว่าดีและนับถือ; พวกหนึ่งก็ว่าไม่เอา; แต่ทั้งสองพวกนั้นยังเข้าใจว่าพระเจ้านี้เป็นเหมือนอย่างกับผีที่น่ากลัวอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแน่ คือคนก็ไม่ใช่ ไม่ใช่คนก็ไม่ใช่  ถ้าใครรู้จักพระเจ้าในลักษณะอย่างนี้ ก็ขอให้ถือว่าเขายังรู้จักพระเจ้าอย่างเด็กอมมือ; พระเจ้าชนิดนั้นก็พลอยเป็นพระเจ้าเด็กอมมือไปด้วย สำหรับคนชนิดนั้น
            ทีนี้เราจะรู้จักพระเจ้าที่แท้จริงกันอย่างไร? ทั้งที่อาตมาก็ได้บอกล่วงหน้าไว้แล้วว่า  พระเจ้าที่แท้จริงก็คือกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น พูดเพียงแค่นี้ฟังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จักคุณสมบัติ ของสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า กันเสียก่อน แล้วเราจึงจะรู้จักตัวพระเจ้าโดยความหมายทั่วไปของทุกศาสนา
            แม้ไม่ใช่ในเรื่องของศาสนา ก็ยังต้องยอมรับว่า พระเจ้านั้นมีหน้าที่สำหรับสร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้น, แล้วก็ควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะลบล้าง หรือเลิกล้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นออกไปเสียให้หมดในบางคราวในบางโอกาส; ดังนั้นจึงเกิดมีพระเจ้าที่ประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติ 3 อย่างนี้เป็นหลักก่อน: สร้างอะไรขึ้นมา ควบคุมสิ่งทั้งหมดนั้นไว้ แล้วก็ยุบหรือเลิกเสียเป็นคราว ๆ เพื่อสร้างใหม่
            ทีนี้ คนเรานั้นมันต่างกันมาก ในความเป็นคนโง่ หรือเป็นคนฉลาด: สำหรับคนโลกต้องพูดให้เป็นตัวตน เป็นบุคคล เหมือนกับเรา เหมือนกับตัวผู้ฟังว่าพระเจ้าก็เป็นคน แล้วก็มีอำนาจสร้าง ควบคุม และทำลาย; เพราะว่าพูดมากไปกว่านี้ หรือว่าพูดผิดไปจากนี้ มันเข้าใจไม่ได้, นี้คือพระเจ้าของเด็กอมมือ
            แต่ถ้าพูดว่า พระเจ้าไม่ใช่คน ซึ่งจะเป็นอะไรก็ยังไม่ทราบ ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ผี ไม่ใช่อะไร ล้วนแต่ยังไม่ทราบ แต่ว่ามันเป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ทำให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น แล้วก็ควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไว้ แล้วก็ทำให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นสลายตัวไปเป็นยุค ๆ เพื่อจะเกิดขึ้นมาใหม่; ถ้าใครยอมับว่าสิ่งนี้มี และมีคุณสมบัติ อย่างนี้ นั้นก็เรียกว่า เขาได้รู้จักพระเจ้าที่ถูกต้องตามความหมาย ทั้งที่ไม่รู้ว่าเป็นคนหรือเป็นผี; แต่ยอมรับว่า มีอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจพอที่จะบันดาลให้สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ให้เป็นไป; แล้วก็ให้สลายไป แล้วก็ให้เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อย่างนี้
            สิ่งนี้ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันในเวลานี้ว่ากฎ คือ กฎของธรรมชาติ เช่นว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดวงดาวทั้งหลายทั้งหมดทุกอย่างในสากลจักรวาลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? กำลังเป็นไปตามกฎอย่างไร? จะสูญหายไปอย่างไร? แล้วจะเกิดใหม่อย่างไร? ด้วยอำนาจของอะไร? กฎนั้นคือพระเจ้า
            สำหรับเด็กอมมือก็ต้องพูดว่า พระเจ้าเป็นคน; บางทีเขียนรูปหนวดยาว ถือไม้เท้าด้วยซ้ำไป; แต่ถ้าว่าโดยกฎนั้น ก็บอกแล้วว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่ผี ไม่ใช่เทวดา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเพียง กฎ หรือ อำนาจ; ไม่ใช่รูปธรรม จึงไม่อาจจะเขียนเป็นรูปร่างได้  พุทธบริษัทเราก็เคยฉลาดถึงอย่างนี้ อย่างหินสลักที่ติดรอบฝาผนังตึกหลังใหญ่นั้น ไม่ยอมทำรูปพระพุทธเจ้า ไม่ยอมทำรูปพระธรรม และไม่ยอมทำรูปพระสงฆ์ด้วย; เพราะเขาถือหลักตายตัวว่า พระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงนั้น แสดงไม่ได้ด้วยรูปภาพ คือไม่มีรูป; แล้วก็ระบุลงไปยังพระธรรมมากกว่า: มากกว่าพระพุทธ มากกว่าพระสงฆ์ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่แสดงไม่ได้ด้วยรูปภาพ เพราะมันไม่มีรูป และธรรมะนั้นคือพระพุทธเจ้า อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่า ใครเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม; ใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นเรา”; นี้คือการที่ไม่เอาร่างกายเป็นประมาณ
            ดังนั้นพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม พระธรรมก็คือสิ่งที่แสดงด้วยรูปด้วยภาพไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงไม่แสดง; เขาถือหลักอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังตะโกนอยู่อย่างนี้ ในหมู่บุคคลผู้รู้สึกอย่างนี้ในประเทศอินเดีย ขอให้จำไว้สั้น ๆว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่แสดงไม่ได้ด้วยรูปภาพ จะเป็นรูปปั้น รูปเขียน รูปอะไร ก็ไม่ได้ทั้งนั้น ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องทิ้งว่างไว้: ตรงนั้นเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระธรรม หรือเป็นพระสงฆ์ก็ตาม; ในภาพนั้นจะต้องทิ้งว่างไว้เฉย ๆ; ส่วนภาพของคนอื่นสิ่งอื่นเขียนได้
            ทีนี้ก็ดูต่อไปว่า พระธรรมนั้นคืออะไร? พระธรรมนั้นคือกฎ เมื่อพูดว่ากฎ นั้นก็ควรจะนึกไปถึงคำว่า ธรรมธาตุ อย่างที่พระสวดเมื่อตะกี้นี้ ที่สวดว่า พระตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุ จักตั้งอยู่แล้วอย่างนั้นเสมอไป; นี่เรียกว่ากฎนั้นจะตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอไป : พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นก็ตาม พระพุทธเจ้าจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ตัวธรรมธาตุซึ่งเป็นกฎนั้น จะต้องอยู่อย่างนั้นเสมอไป คำพูดประโยคนี้ ไม่ใช่ใช้แต่ทางธรรมะในทางพุทธศาสนา มันใช้ได้ทั่วไปหมดแก่บรรดาทุก ๆ สิ่งที่มีกฎ และเป็นไปตามกฎ
            ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายดูให้ดีเถอะ ว่ามันไม่มีอะไร ที่จะอยู่นอกเหนือไปจากกฎเหล่านี้ : บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ คนสมัยนี้รู้จักกันแต่ฝ่ายวัตถุ หรือแม้ที่เป็นพลังงาน ถ้าเขารู้จักสสารทั้งพลังงาน เขาก็ยอมรับว่า มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปตามกฎอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ เราต้องรู้กฎของสิ่งเหล่านั้น เราจึงจะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น
            ยังมี สิ่งที่คนสมัยนี้ไม่รู้ คือพวกนามธรรม คือความเป็นไปในทางนามธรรม ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม แม้สิ่งที่เรียกว่านามธรรมนี้ ก็ยังมีกฎ และต้องเป็นไปตามกฎ ฉะนั้นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี มันมีกฎ และต้องเป็นไปตามกฎ; ส่วนที่เป็นกฎ หรือความที่ต้องเป็นไปตามกฎ นั้นมันเฉียบขาด จนถึงกับต้องเรียกว่า พระเจ้า; เพราะเราไม่มีคำอะไรที่สูงสุด ที่มีค่าพอกันกับที่จะเอามาเรียกมัน จะเรียกสถาบันก็ได้ :  กฎนี้มันเป็นสถาบัน คือมันตั้งตนเองอยู่อย่างเด็ดขาดโดยไม่ต้องมีใครช่วยตั้ง ส่วนสถาบันในเมืองมนุษย์นี้ มนุษย์ช่วยกันตั้งช่วยกันทำจึงเกิดขึ้น; แต่ว่ากฎหรือสถาบันของพระเจ้านั้น พระเจ้าหรือกฎนั้นเองมันตั้งขึ้น คือมันมีอยู่จนเราไม่รู้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร กฎต่างๆ ทางฟิสิคส์ ทางเคมี ทางวัตถุ นี้ก็เหมือนกัน กฎทางจิตใจ คือเกิดกิเลสแล้วเป็นทุกข์นี้ก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วใครตั้งขึ้น ดังนั้นในทางพระคัมภีร์นี้ เขาถือว่าเป็น สิ่งที่เป็นเอง; แล้วยังเรียกว่าเป็น อสังขตะ คือไม่ได้มี่ใครทำขึ้น แล้วใครก็ไปทำไม่ได้ด้วย
            ตรงนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฟัง ก็ขอให้ฟังคำ 2  คำนี้ก่อนว่า อสังขตะ คือสิ่งที่ไม่มีใครได้ทำขึ้น และไม่มีใครอาจจะทำได้; แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็คือ สังขตะ คือสิ่งที่มีอะไร ๆ หรือใครทำขึ้น และเป็นสิ่งที่ทำได้ แตะต้องได้ เปลี่ยนแปลงได้
            สิ่งที่เรียกว่ากฎนี้ กฎธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครไดตั้งขึ้น หรือใครเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือกฎ; นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเรียกว่า พระเจ้า เพราะว่ามีอำนาจที่จะทำให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น แล้วมีอำนาจทำให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามกฎ คือตัวมันเอง ทีนี้สิ่งทั้งหลายนั่นแหละคือตัวสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และเป็นไปตามกฎ มันจึงถูกจัดไว้เป็นพวกที่เรียกว่า สังขตะ คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย อาการอย่างนี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา คือ ความที่ เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น
            ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า ยกตัวกฎเสียอย่างเดียว นอกนั้นเรียกได้ว่าเป็นอิทัปปัจจยตา ในส่วน สังตะ คือสิ่งที่ต้องเป็นไปตากฎ ส่วนตัวกฎเองนั้นก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ได้เหมือนกัน แต่ในฐานะที่เป็นกฎ คือเป็นฝ่าย Subjective ที่จะกระทำต่อสิ่งอื่น เพราะมันมีอำนาจเหนือ  ทีนี้สิ่งที่เป็นไปตามกฎนั้นมันถูกกระทำ ก็เรียกได้ว่าเป็น อิทัปปัจจยตา โดยตรง; เป็นสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎ; หรือแม้ตัวกฎ มันก็คือกฎของสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกความเป็นอย่างนี้ในฐานะที่เป็นกฎ
            อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความที่เมื่อมีสิ่ง ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ถ้าคำนี้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นกฎ นั่นคือพระเจ้า; ถ้าว่าสิ่งนี้ ๆ ที่ต้องเป็นไปตามกฎ นี้คือ สิ่งที่ถูกพระเจ้าสร้างขึ้น, ควบคุมอยู่และให้เป็นไป
            ทีนี้ ก็มีคำพิเศษที่จะต้องเตือนกันอีกสำหรับวันนี้ ทั้งที่เตือนแล้วเตือนเล่า ขอให้จำไว้ให้ดี คือว่า ตถตา หรือ ความเป็นอย่างนั้น อิทัปปัจจยตา: เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; นี้เพราะมันเป็นอย่างนั้น มันจึงถูกเรียก ตถตา ทีนี้ ส่วนตัวกฎเองมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียก ตถตาด้วยเหมือนกัน; เพราะฉะนั้น ตัวพระเจ้าที่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปก็ดี ตัวสิ่งทั้งหลายที่ถูกพระเจ้าบันดาลให้เป็นไปก็ดี เรียกว่า ตถตาเสมอกันหมด
            คำว่า ตถตา แปลว่า ความเป็นอย่างนั้น ฟังดูคล้ายกับคำพูดของคนบ้าคือไม่พูดว่าอะไรเลย นอกจากพูดว่า เป็นอย่างนั้น สำหรับพุทธบริษัทที่ไม่เข้าใจคำนี้ ก็ยังไม่ใช่เป็นพุทธบริษัท แม้จะบวชเรียนเป็นมหาเปรียญ 9  ประโยค ต่อให้ 100 ประโยค 1000 ประโยค ถ้าไม่เข้าคำว่า ความเป็นอย่างนั้น แล้วก็ยังไม่เป็นพุทธบริษัท; สู้ยายแก่ไม่รู้หนังสือตามป่าตามดงคนหนึ่งก็ไม่ได้ ถ้าว่ายายแก่คนนั้นอาจพูดออกมาว่า โอ๊ย! อย่าร้องไห้ร้องห่มไปเลยลูกเอ๋ย ! มันเป็นอย่างนั้นเอง!” ยายแก่คนนี้ชื่อว่าถึงพุทธศาสนายิ่งกว่าพวกท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ ทั้ง ๆ ที่แกไม่รู้จักคำว่า ตถตา คืออะไร แต่พูดได้ว่า อย่าร้องไห้ร้องห่มไปเลย มันเป็นอย่างนั้นเอง!” หรือว่าถูกล็อตเตอรี่แกก็ว่า โอ๊ย! อย่าบ้าไปเลย มันเป็นอย่างนั้นเอง อะไร ๆ ก็มีแต่คำว่า มันเป็นอย่างนั้นเอง: อย่าไปแปลกใจว่า น่ารัก หรือน่าเกลียด; นี่คือผู้ที่รู้จัก อิทัปปัจจยตา; แล้วจะไม่รักอะไร จะไม่เกลียดอะไร จะไม่ขึ้นจะไม่ลง จะไม่ยิน จะไม่ยินร้าย
            ดังนั้นเราก็จะเห็นอยู่ว่า คนแก่ๆ บ้านนอกไม่รู้หนังสือ อยู่ตามป่าตามดงบางทีก็พูดเป็นเหมือนกัน คือพูดว่า อย่าดีใจไปเลย มันอย่างนั้นเอง หรือว่า อย่าร้องไห้ไปเลย มันเป็นอย่างนั้นเอง สมมติว่า พ่อเขาตาย ลูกมันต้อง; แล้วคุณย่าหรือคุณยายก็บอกว่า อย่าร้องไปเลย มันเป็นอย่างนั้นเอง ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่ายายแก่คนนั้นเข้าถึงตัว อิทัปปัจจยตา คือความเป็นอย่างนั้นเอง; ฉะนั้นคำว่า อิทัปปัจจยตา ที่สรุปเหลือเป็นตถตา นี้คือหัวใจของพุทธศาสนา ตถตา แปลว่า อย่างนั้นเอง
            เพราะฉะนั้นถ้าใครเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ฟังอะไร เหลียวไปทางไหน มีความรู้สึกว่า มันอย่างนั้นเอง; ไม่ไปหลงรักหลงเกลียดแล้ว ก็เรียกว่าเขารู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา; ใช้สิ่งที่เรียก อิทัปปัจจยตา ให้เป็นประโยชน์ได้ คือทำให้ตัวเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ไปเป็นทาสของสิ่งที่น่ารัก หรือน่าเกลียดน่ากลัว นี้เราพูดกันถึงคำว่า ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น: ความเป็นอย่างนั้น ที่เป็นตัวกฎ นั้นคือพระเจ้า; ความเป็นอย่างนั้นที่เป็นตัวสิ่งทั้งหลาย ที่ต้องเป็นไปตามกฎนั้น คือสิ่งที่พระเจ้าสร้างและควบคุม
            ฉะนั้นท่านทั้งหลายคิดดูเถอะว่า พระเจ้ามีหรือไม่มี? ถ้าท่านไม่ยอมเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้น แล้วเป็นไปเพราะอำนาจของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ท่านก็ปฏิเสธได้ว่าพระเจ้าไม่มี แต่ถ้าท่านคิดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ปรากฏขึ้น เป็นไปอยู่ และสลายไปในที่สุดนั้น เพราะมีต้นเหตุอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว นี่ก็จะถือได้ว่าต้นเหตุดังที่ว่า นั่นแหละ คือพระเจ้า
            เดี๋ยวนี้เราพุทธบริษัท เชื่อตามคำสอนในพุทธศาสนามาแต่ก่อนอยู่แล้ว มันก็ไปตรงกันพอดี; แต่ถ้าไม่เข้าใจ มันก็เหมือนกับไม่รู้ เหมือนกัน: อย่างหัวใจพุทธศาสนา ที่เรียกว่า คาถาของพระอัสสชิว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น และทรงแสดงความดับของสิ่งนั้น  เพราะหมดเหตุ คาถาที่พระอัสสชิ บอกแก่พระสารีบุตรก่อนมาบวชในพระศาสนานี้ นั้นแหละคือพระอัสสชิได้แสดงถึงสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า ให้แก่อุปติสสะกุลบุตร ที่มาบวชแล้วเป็นพระสารีบุตรในพุทธศาสนา; คือแสดงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มีเหตุเป็นแดนเกิด พระผู้มีพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น และความดับแห่งสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหตุก็หมายความว่า พระพุทธเจ้า ได้แสดง พระเจ้าแล้ว คือเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งทั้งปวง และเหตุที่ทำให้มีความดับไปแห่งสิ่งทั้งปวง; แต่เราไม่เรียกว่าพระเจ้า เราเรียกว่าธรรม ในภาษาบาลีเรียกว่า ธมฺม หรือธมฺมา; ส่วนนาภาษาไทยเราเรียกว่า พระธรรม; เพราะฉะนั้นพระธรรมนั้นแหละ คือพระเจ้า-พระเจ้าในฐานะที่เป็นต้นเหตุ; ส่วนพระธรรมในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ นั้นคือตัวโลกหรือตัวสิ่งทั้งปวง
            นี้มันเป็นเพราะว่าคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ นี้มันใช้ได้แก่สิ่งทกสิ่ง: เป็น Subjective ก็ได้ เป็น Objective ก็ได้ เป็นกรรมก็ได้ เป็นกัตตุ์ก็ได้ เป็นกิริยาอาการก็ได้ เป็นอะไรก็ได้; ใช้คำ ๆ เดียวเพียงคำว่า ธมฺม”;ธมฺม หรือ ธมฺมา มาเป็นภาษาเราว่า พระธรรมดังนั้น พระธรรมในส่วนที่เป็นต้นเหตุของสิ่งทั้งหลาย นี้มีค่าเท่ากันกับ พระเจ้า แล้วสิ่งนั้นก็คือ อิทัปปัจจยตา คือกฎที่เฉียบขาด ไม่มีอะไรต้านทานได้ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึ้งเกิดขึ้น กฎอันนี้ไม่มีใครต้านทานได้ ดังที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้น หรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้น ธรรมธาตุอันนี้เป็นอย่างแล่วอย่างนี้ และไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
            นี่ก็หมายความว่า มีสิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าก็เลิกล้างไม่ได้ ไม่มีใครบังคับได้ คือกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา  นี้เราจะต้องรู้จักมัน ในฐานะที่เป็นพระเจ้าที่แท้จริง; ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ผี ไม่ใช่อะไรหมด; แต่แล้วบุคคลหรือเทวดา หรือผีเหล่านั้นนั่นแหละคือ สิ่งที่จะต้องเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา, คือเป็นสิ่งที่ถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมา อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นตัวกฎ นั่นคือพระเจ้า; แล้วสิ่งที่ต้องเป็นไปตามกฎนี้คือ สิ่งที่พระเจ้าสร้างและควบคุม นี่เราจะต้องรู้จักพระเจ้ากันในลักษณะอย่างนี้ โดยถือเอาความหมายเป็นหลัก ส่วนที่จะเรียกว่าพระเจ้า หรือไม่เรียกว่าพระเจ้านั้น ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่สมมติ แล้วแต่บัญญัติ
            พวกที่เป็นพวกอื่น ใช้ภาษาอย่างอื่น เช่นคำว่า God ในภาษาต่างประเทศ มันก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า พระเจ้า ในภาษาไทยของเรา: ทั้งนี้ก็เพราะมันมีความหมายหลายชั้น คนโง่เข้าใจอย่างหนึ่ง คนไม่สู้จะเข้าใจอย่างหนึ่ง คนฉลาดก็เข้าใจอย่างหนึ่ง เราอย่าเป็นเด็กอมมือ แล้วอวดดี ไปตีความหมายของคำว่า God ในศาสนา เช่นศาสนาคริสเตียนเป็นต้น จะเป็นคนโง่ดักดานยิ่งเข้าไปอีก เพราะว่าถ้าเรารู้จักคำว่า God นั้นถูกต้องแล้ว เราจะพบว่า ตรงกันกับคำว่า พระธรรม ในพระพุทธศาสนา
            อย่างคัมภีร์โยฮันของพวกคริสเตียนบรรทัดแรกว่า : แรกเริ่มเดิมทีเดียวมี word,  word คือ Light, คือ แสงสว่างแล้ว  The Light นั่นแหละคือ God: คิดดูซิ! ตัว Light ที่แปลว่าแสงสว่างนี้ พอไปตีความเป็นแสงสว่างนี้เข้ามันก็ผิด; ที่แท้แล้วมันไม่ใช่แสงสว่างอย่างนี้ เขาใช้คำว่า WORD แรกเริ่มเดิมทีมีสิ่งที่เรียกว่า The Word(ที่แปลว่าคำพูดนั่นแหละ)ก่อน; The WORD นั่นคือ The Light, The Light นั่นคือ God นี่ถ้าเราไปถือตามตัวหนังสือที่เด็ก ๆ เรียนในโรงเรียนอะไร มันผิดหมด : word แปลว่าคำพูด Light แปลว่าแสงสว่าง God ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่คัมภีร์ของเขากล่าวว่า The Word มีอยู่ก่อนสิ่งใดทั้งหมด; The Word  นั่นคือ The Light The Light นั่นคือ God นี้เป็นคัมภีร์ชั้นหลังที่เขาเขียนขึ้นใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเยซูที่เรียกว่าคัมภีร์ใหม่ ส่วนคัมภีร์เก่ามีว่าวันแรกทีเดียวพระเจ้าสร้าง The Light ขึ้นมาก่อน ต่อวันที่ 4   จึงจะสร้างดวงอาทิตย์ สร้างดวงจันทร์ พวกคนโง่มันก็หาว่า บ้าแล้ว! สร้าง The Light ในวันที่ 1  วันที่ 4 จึงสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์; แต่มันคือกฎที่จะทำให้เกิดดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ นี้มันอาจจะเกิดจากการแปลภาษาฮิบรู ทีแรกผิด; แปลภาษากรีก เป็นภาษาอังกฤษผิดไว้ก็ได้ เพราะคัมภีร์มันเดินมาอย่างนั้น; แต่ขอให้รู้ว่า ที่มาแปลคำว่า The Light กันว่าแสงสว่างนั้น สิ่งนี้มีอยู่ก่อนสิ่งอื่นใด พระเจ้าสร้างไว้แต่วันที่ 1; วันที่ 4 จึงสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก็แปลว่า The Light นี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจที่จะสร้างสิ่งต่างๆ นี้เป็นข้อความที่มีในคัมภีร์เก่า
        ทีนี้ พอมาถึงคัมภีร์ใหม่ ที่เกี่ยวกับพระเยซู แรกเริ่มเดิมทีมี THE WORD คือมี พระคำ พระคำคือ The light คือแสงสว่าง; The Light เองคือ God.. The Word นั่นแหละคือ กฎ คือว่า Word ที่แปลว่าคำพูดนั้น คือคำพูดที่เป็นกฎ; แล้วพูดโดยใคร? ก็พูดโดยกฎนั่นแหละ แล้ว THE WORD คำพูดหรือพระโองการนั้น คือ The Ligh; The Light นี่คือ Source ของสิ่งทั้งหลาย
            ตัวอย่างทางวัตถุ : ทางรูปธรรมทางวัตถุนี้ เราถือว่าแสงสว่างมาจากดวงอาทิตย์ แต่แสงสว่างจะมาจากอะไรก็ตาม มันก็เป็นต้นเหตุของสิ่งทั้งปวง นี่ทางวัตถุมันเป็นอย่างนี้ แม้ในวิชาฟิสิคส์เคมีใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ ก็ยังพูดอย่างนี้ว่า The Light นั้นคือ Source ของสิ่งทั้งปวง; แต่อย่าลืมว่า เขาพูดกันไว้เป็นพัน ๆปีแล้ว ว่า The Light นั่นคือ God ซึ่งเป็นต้นเหตุของสิ่งทั้งปวงตั้งขึ้นแล้วงอกงามไป ทีนี้  The Word นั่นคือกฎ หรือโองการ ที่มันมีอำนาจเหนือสิ่งใด หนังสือที่พวกคริสเตียนเขาพิมพ์ เดิมเขาแปลคำว่า THE WORD นี้ว่า พระคำ อาตมาบอกว่าเห็นจะไม่ถูก; เมื่อไปพูดกันที่เชียงใหม่ บอกว่าสิ่งนี้ในพุทธศาสนาเรียกว่า พระธรรม ไม่ใช่พระคำ ถ้าเป็นพระคำ มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะมันเป็นเพียงคำพูด; พระธรรมในฐานะที่เป็นกฎ เป็นคำพูดก็ได้ แต่ต้องเป็นคำพูดของสิ่งที่เป็นกฎ แต่ทีนี้เขากลับเข้าใจว่า เป็นคำพูดของบุคคลไปเสีย อย่างนี้มันไม่ถูก และต่อมาเห็นเขาแก้ คือแปลคำว่า The word ในหนังสือของเขาเป็น พระธรรม หมด; ที่เคยแปลประโยค At the beginning the word was นั้น WORD คำนั้นเดี๋ยวนี้บางสำนักเขาแปลว่า พระธรรมแล้ว เขาไม่แปลว่า พระคำอย่างเดิม คือเขาเห็นด้วยกับที่อาตมาไปบอกว่า พระคำ นั่นคือกฎ
            นี่ศาสนาคริสเตียนกล่าวไว้ชัดว่า ทีแรกทีเดียวมี The Word หรือ The Light ไม่ใช่คน ไม่ใช่ผี ไม่เทวดา นั่นแหละคือ God; God นั่นคือกฎ; กฎนี่คือกฎแห่งอิทัปปัจจยตา ฉะนั้นอิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎ จึงตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นพระเจ้าผู้สร้างสิ่งทั้งปวง
            ทีนี้สำหรับสิ่งทั้งปวงที่ถูกพระเจ้าสร้างมานั้น ทางฝ่ายคริสเตียนเขาก็ยังมีพูดว่า พระเจ้าคือสิ่งทั้งปวง : จะเป็นกฎ หรือสิ่งที่เป็นไปตามกฎ ก็เรียกว่าสิ่งทั้งปวง พระเจ้ารวมอยู่ในสิ่งทั้งปวงเสียด้วย เราก็เลยว่า ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่พระเจ้าสร้างหรือเป็นไปตามกฎของพระเจ้าก็คือสิ่งทั้งปวงด้วย; ก็พอดีตรงกับคำในพุทธศาสนา คือคำว่า ธรรมะ หรือ ธมฺมา นี้ ซึ่งใช้ได้กับสิ่งทั้งปวงทุกสิ่ง ทั้งที่เป็นตัวกฎ และตัวสิ่งที่เป็นไปตามกฎ คือทั้งฝ่าย อสังขตะ และฝ่าย สังขตะ นั่นเอง ฉะนั้นคำว่า ธรรมะ หรือพระธรรมในพุทธศาสนา ก็ยิ่งตรงกับคำว่า God ในเมื่อให้ความหมายว่า God คือสิ่งทั้งปวง คือทั้งผู้สร้างและสิ่งที่ถูกสร้าง
            นี่เราจะเห็นได้ว่า โดยเนื้อความ โดยใจความ โดยข้อเท็จจริงนั้น อิทัปปัจจยตา คือ พระเจ้า อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎ นี่ก็คือสิ่งทั้งปวง ที่นับรวมอยู่ในพระเจ้าด้วย; ทางฝ่ายคริสเตียนเขาก็ว่าอย่างนั้น ว่า พระเจ้า คือทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร ทีนี้ พระธรรม ก็คือทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเหมือนกัน จะเป็นสังขตธรรม หรืออสังขตธรรม ก็คือทุกสิ่ง; มันก็เลยตรงกันอย่างนี้ นี้คือ พระเจ้าอิทัปปัจจยตา
            คิดดูที่ว่า จะเป็นคนโง่ หรือจะฉลาดเท่าไร ในการที่จะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นสิ่งทั้งปวง; เป็นพระเจ้าก็ได้ เป็นสิ่งที่ถูกพระเจ้าสร้างก็ได้ แล้วท่านก็ลองคิดดูทีว่า พระเจ้ามีหรือไม่มี ทำไมมานั่งอยู่ที่นี่? ทุกคนทำไมมานั่งอยู่ที่นี่? มาจากไหน? ใครสร้างมา? ถ้าตอบอย่างพุทธบริษัทก็ตอบว่า อิทัปปัจจยตา, หรือว่าพ่อแม่ที่เพิ่งสร้างมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ ก็ อิทัปปัจจยตา เพราะพ่อแม่นั้นก็คือตัวอิทัปปัจจยตา อาการที่สร้างมาก็คือ อิทัปปัจจยตา ไม่ว่าจะมองกันในแง่ไหนก็ตาม มนุษย์ทุกคนนี้ อิทัปปัจจยตา สร้างขึ้นมา แล้วควบคุมเอาไว้ แล้วก็จะยุบเลิกเมื่อถึงคราวที่ควรจะยุบเลิกเป็นคราว ๆ ไป; คือ พระเจ้า อิทัปปัจจยตา มีหน้าที่สร้างขึ้นมา แล้วควบคุมไว้ตลอดเวลา แล้วก็จะยุบเลิกให้สลายไปเป็นคราว ๆ แล้วก็เพื่อสร้างใหม่ เพื่อเกิดใหม่ นี่คิดดูซิว่า เรามีพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้า?
            ฉะนั้นอาตมาจึงเห็นว่า พวกที่ว่าไม่มีพระเจ้านั้น มันหลับหูหลับตาพูด; แม้พูดก็พูดอย่างเด็ก ๆ มันต้องพูดอย่างยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ว่าถ้ามีสิ่งใดที่ทำหน้าที่สร้าง ควบคุม และยุบเลิกเป็นคราว ๆ สิ่งนั้นเรียกว่า พระเจ้า ส่วนเราก็เรียกว่า พระธรรม : ในวงพุทธบริษัทนี้จะเรียกว่า พระธรรม ;ส่วนหนึ่งเป็น อสังขตะ คือเป็นตัวกฎ ส่วนหนึ่งเป็น สังขตะ คือส่วนที่ต้องเป็นไปตามกฎ
            ทีนี้ก็จะพูดสักนิดหนึ่งว่า เราเคยถือสับสนปนเปกันหมด : คำว่า พระเจ้า ในภาษาไทยก็ดี คำว่า God ในภาษาโน้นก็ดี พระเจ้าในภาษาไทยนี้ชั่วสมัยกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นแหละ หมายถึงพระพุทธเจ้า นี่ฟังให้ดี ว่าตามข้อเท็จจริง พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้า แต่ภาษาพูดในภาษาไทยเรา ที่ใช้พูดกันอยู่นี่ในประเทศไทย ชั่วแค่สมัยอยุธยานี้ คำว่า พระเจ้า นี้ ใช้เล็งถึงพระพุทธเจ้า เช่นในกฎหมายตราสามดวงบทหนึ่งว่า ภิกษุนั้นอย่ารับมรดกเลย เพราะว่าท่านเป็นลูกพระเจ้าแล้ว นี่ฟังดูซิ กฎหมายนั้นว่า : ภิกษุนั้นอย่าได้รับมรดกเลย หรือว่า อย่าได้ถือสิทธิอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกฎหมายเลย นี่เพราะว่าท่านเป็นลูกพระเจ้าเสียแล้ว คือท่านบวชในพุทธศาสนานี้ ก็เรียกว่า เป็นลูกพระเจ้า ทั้งนั้น นี้ภาษาไทยคนไทยเรียงเอง ไม่ใช่พวกฝรั่งมาเรียงกฎหมายเหล่านี้ให้ ฉะนั้นชั่วกี่ปีนี้ คำว่าพระเจ้าหมายถึงพระพุทธเจ้า ยังมีความหมายอย่างอื่นอีก
            ดังนั้น อย่าเอาแน่นอนกับตัวหนังสือที่ใช้พูดจา ที่มนุษย์บัญญัติ เฉพาะครั้งเฉพาะคราว; ต้องเอาความหมายอันแท้จริง ว่าสิ่งใดเป็นกฎอยู่ในตัวมันเอง ไม่มีใครสร้างขึ้น แล้วไม่เชื่อฟังใคร แล้วบันดาลให้สิ่งทั้งหลายเป็นไป คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั้นแหละคือ พระเจ้าที่แท้จริง ใครจะเรียกว่าอะไรก็ตามใจ: จะเรียกว่าพระธรรม หรือเรียก God หรืออะไรก็ตามใจ แต่สิ่งนั้นมันมีอยู่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า : สิ่งนี้มีอยู่; ตถาคตจะเกิดหรือตถาคตจะไม่เกิด สิ่งนี้มีอยู่คือ ตถตา คือ อวิตถตา คือ อนัญญถตา คือ อิทัปปัจจยตา สิ่งนี้คือ ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น; สิ่งนี้คือ อวิตถตา คือ ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น; สิ่งนี้คือ อนัญญถตา คือ ความไม่เป็นอย่างอื่น; สิ่งนี้คือ อิทัปปัจจยตา คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น
            ถ้าท่านฟังให้ดี กำหนดให้ดี เมื่อตะกี้นี้พระได้สวดคำๆ นี้ ถึง 11 เที่ยว คือคำว่า ตถตา อวิตถตา เป็นต้นนี้ ตถตา มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วอวิตถตา มันไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนี้ อนัญญถตา ไม่เป็นอย่างอื่น อิทัปปัจจยตา คือเมื่อมีปัจจัยอย่างนี้ ๆ สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้นตามกฎ แม้แต่กฎวิทยาศาสตร์ เมื่อมันมีเหตุอย่างนี้ ผลมันก็จะต้องเกิดขึ้นตามสมควรแก่กฎนั้น
            เดี๋ยวนี้มนุษย์เราในโลกนี้ทำอะไรได้มาก : ไปโลกพระจันทร์ได้ไปไหนก็ได้ เพราะรู้จักใช้กฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา แม้แต่จะทำไร่ ทำนาง่ายๆ อยู่ที่นี่ ก็ต้องรู้จักกฎเกณฑ์เรื่อง อิทัปปัจจยตา ข้าวจึงจะงาม จะเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ก็ต้องรู้กฎเกณฑ์เรื่อง อิทัปปัจจยตา มันจึงจะไม่ตาย มันจึงจะเอาไปขายได้ดี มันไม่มีอะไรที่จะไม่เกี่ยวข้องกับกฎอิทัปปัจจยตา! มันสำคัญมากถึงขนาดนี้จึงเรียกว่า พระเจ้า แล้วมีความจำเป็นแก่เรามาก ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกเหตุการณ์ ทุกวัย ทุกเพศ เพราะว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มีเวลาที่มันต่าง ๆ กัน เวลาที่เราทำอะไรอยู่ หรืออิริยาบถไหน ทำอะไรอยู่ มันก็ล้วนแต่อยู่ใต้อำนาจ อำนาจของ อิทัปปัจจยตา ซึ่งเราจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของมัน : เราจะไปอาบน้ำ ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลของการอาบน้ำเลย เราจะเข้าไปในส้วมไปในถาน ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา; มิฉะนั้นจะเกิดอันตราย ไม่ได้ผลไม่ได้ประโยชน์ นี่ สิ่งที่ต่ำที่สุด ที่เลวที่สุดอย่างนี้แล้ว ก็ยังจะต้องถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ พระเจ้า คือ อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นเวลาที่เรา จะกิน จะนอน จะยืน จะเดิน จะหลับ จะอะไร ทุก ๆ เวลา จะต้องถูกต้องตามกฎเกณฑ์นี้ เพราะว่า พระเจ้า องค์นี้ควบคุมเราอยู่ทุกเวลา แล้วก็ทุกสถานที่
            พวกเราที่เป็นพุทธบริษัท ก็จะเคยได้ยินได้ฟังเรื่อง กรรม : เมื่อทำกรรมแล้ว จะหนีผลของกรรมไปที่ไหน ไม่พ้น ไม่มีทางพ้น เพราะว่ากรรมหรือ พระเจ้ากรรม นั้นอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง : ให้ไปอยู่ในเหวหรือในใต้สมุทร หรือไปอยู่ที่ไหนก็ตามใจ จะไม่พ้นจากอำนาจของกรรม นั่นแหละ พระเจ้ากรรม มันเป็นอย่างนั้นเอง
            ที่นี้ ในการงานที่เราทำ แต่ละคนมันก็ต่างกัน ๆ แล้วแต่ใครมีหน้าที่อย่างไร ในโลกนี้ ล้วนแต่มี อิทัปปัจจยตา เฉพาะหน้าที่ของตน: จะเป็นเพศหญิงเพศชายก็ตาม จะเป็นวัยเด็ก วัยหนุ่ม วัยคนแก่ ก็ตาม พระเจ้านี้จะตามไปควบคุมอยู่ตลอดเวลา ในที่ทุกหนทุกแห่ง
        เอาหละทีนี้แม้ว่าตัวกฎที่บังคับให้สิ่งต่างๆเป็นไป มันก็คือ อิทัปปัจจยตา ตัวสิ่งที่ต้องเป็นไปตามกฎ ก็คือ อิทัปปัจจยตา ทีนี้ตัวผลที่จะเกิดขึ้นมา ก็ยังคงเป็น อิทัปปัจจยตา เพราะว่าผลที่เกิดขึ้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา แต่ว่าอยู่ในฐานะที่เป็นผล; และถ้าเล็งถึงจุดหมายปลายทาง มันก็คือผลที่มนุษย์ควรจะได้รับอย่างเป็นที่น่าพอใจที่สุด
            ถ้าพูดอย่างคริสเตียน หรือศาสนาที่มีพระเจ้า เขาก็ว่า ในที่สุดเราจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับพระเจ้า นั่นแหละเป็นจุดหมายปลายทางของเขาคือพระเจ้า พระเจ้าเป็นจุดหมายปลายทางของพวกที่ถือพระเจ้า เพื่อเขาจะเข้าไปเป็นพระเจ้าเสียเลย; แล้วเขาจะไม่ต้องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด หรือถูกพระเจ้ากระทำให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไป เรียกว่า จุดหมายปลายทางคือพระเจ้า
            ทีนี้ จุดหมายปลายทางของพุทธบริษัท คือ นิพพาน คือเข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับกฎของ อิทัปปัจจยตา  ไม่ต้องถูกสร้างอีกต่อไป ถ้าพระเจ้าเป็นจุดหมายปลายทาง ในพุทธศาสนานี้ก็มี นิพพานเป็นพระเจ้า
            อาตมาเคยเขียนเคยพูดไปว่านิพพานนั้นคือพระเจ้าในพุทธศาสนา หรือพระเจ้านั้น คือนิพพานในพุทธศาสนา นักศึกษาชนิดเด็กอมมือบางคนเขาหัวเราะ แล้วเขาเขียนค้าน อย่างนี้เป็นต้น เพราะเขาไม่ฟังให้ดีว่าพระเจ้าคืออะไร : พระเจ้าในฐานะที่เป็นกฎ พระเจ้าในฐานะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามกฎและพระเจ้าในฐานะที่เป็นผลอันสุดท้าย เป็นจุดหมายปลายทาง; พระเจ้าเป็นตั้ง 3 อย่าง อย่างนี้ ทีนี้ไปดูกันแต่พระเจ้าอย่างของเด็กอมมือ ไม่รู้ว่าเป็นผีหรือเป็นคน หรือเทวดา; คือรู้จักแต่ Personal God เท่านั้น ไม่รู้จักพระเจ้าที่เป็นสภาวธรรม; เขาก็เลยพูดออกมาอย่างนั้นได้ โดยถือเอาตัวหนังสือเป็นหลัก ถือเอาความรู้ที่เขาสอนเด็ก ๆ นั้นเป็นหลัก เพราะเหตุฉะนั้นเราทุกคนจะต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตา เพื่ออย่าให้โง่เหมือนนักศึกษาประเภทนั้น ว่านิพพานไม่ใช่พระเจ้า หรือพระเจ้าไม่ใช่นิพพานเป็นต้น
            เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนสรุปความว่าอิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎก็มี คือสังขตธรรมทั้งหลายที่เป็นกฎ; แล้วอิทัปปัจจยตา ในฐานะที่ต้องเป็นไปตามกฎก็มี คือสิ่งทั้งปวงที่เป็นสังขตะ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎ; แล้วพระเจ้าคือจุดหมายปลายทางที่ เราจะต้องเข้าถึง แล้วเป็นอันเดียวกัน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป; นี่คือ นิพพาน
            นิพพาน ซึ่งที่แท้ก็เป็นสภาวะผลของ อิทัปปัจจยตาฝ่ายดับ ในฐานะที่ว่าเป็นอนันตะ มีความเป็นกฎชนิดหนึ่ง ซึ่งมันตรงกันข้ามจากการที่จะต้องเวียนว่ายต่อไป มันจะกลับไปสู่สภาพ อสังขตะ ในที่สุด เรื่องมันก็เกือบจะคล้าย หรือคล้าย ๆ กับพวกที่ถือพระเจ้า: เขาพูดเป็นอุปมาว่า มีพระเจ้า หรือมีปรมาตมัน หรือ บรมอัตตาตัวใหญ่นั้น แล้วก็แบ่งย่อยออกมาเป็นตัวเล็ก ๆ สำหรับเวียนว่ายไปในวัฏฏสงสารจนฉลาดพอ แล้วก็จะสลายกลับไปหารกราก อันเป็นที่มาดั้งเดิม คือปรมาตมันอีก; อย่างนี้พวกเวทานตะ เขาว่า; คือพวกศาสนากลุ่มฮินดู เขาว่า
            แต่เราจะมองดูให้ดีแล้ว มันมีสิ่งเดียวเท่านั้น คือมันมีแต่ อิทัปปัจจยตา สิ่งเดียวเท่านั้น เรื่องมันแล้วแต่ว่าเราจะมองดู อิทัปปัจจยตา ในเหลี่ยมไหน แง่ไหน มุมไหน : ถ้าดู อิทัปปัจจยตา ในแง่ที่ว่า เป็นผู้สร้าง มันก็คือพระเจ้าผู้สร้าง; อิทัปปัจจยตาในแง่เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง มันก็คือเป็นสิ่งทั้งปวง ที่ถูกสร้าง; อิทัปปัจจยตา ในแง่ที่เป็นผลอันสุดท้าย จุดปลายทางที่จะต้องเข้าถึง มันก็คือสิ่งที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร กล่าวคือ การจบลงของ อิทัปปัจจยตา นี้ มันก็คือ นิพพาน ในพุทธศาสนา
            นี่แหละ ถ้าเราถืออย่างอุปมานั้น มันก็เป็นไปนานตลอดหลาย ๆ กัปป์ หลาย ๆ กัลป์ แต่ถ้าเราจะถือให้ใกล้ที่สุด ที่เป็นจริงอยู่ เดี๋ยวนี้ : เมื่อไรเราทำผิดต่อกฎ อิทัปปัจจยตา เรามีความทุกข์; พอเราทำถูกกฎ อิทัปปัจจยตา เราก็ไม่มีความทุกข์ แต่ว่าทั้งสุข และทั้งทุกข์นั้น ก็ล้วนแต่เป็น อิทัปปัจจยตา มันแล้วแต่ว่าจะเป็น อิทัปปัจจยตา ในแง่ไหน หรือมุมไหน : เราไปแตะต้องกับ อิทัปปัจจยตา ในส่วนที่มันเป็นของทนยาก มันก็ต้องเป็นทุกข์; แต่ถ้าเราไปแตะต้องกับอิทัปปัจจยตา ที่ไม่ต้องทน ที่สบายดี มันก็เป็นสุข;  แต่แล้วก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา อยู่นั่นเอง; ดังนั้นควรเลื่อนขึ้นไปยัง อิทัปปัจจยตาส่วนที่ไม่ต้องสุขไม่ต้องทุกข์ เสียดีกว่า นั้นคือเรื่องนิพพาน อันเป็นสิ่งที่จะปรากฏออกมาเมื่อ อิทัปปัจจยตา ส่วนนิโรธวารเป็นไปถึงที่สุด
            ข้อที่เกี่ยวกับพระเจ้า อยากจะกล่าวอีกนิดหนึ่งว่า เมื่อตะกี้พูดถึงคำว่า พระเจ้า ในภาษาไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาษากฎหมาย: พระเจ้าคือ พระพุทธเจ้า; อย่างนี้ไม่เอานะ คือว่าไม่ใช่เป็น พระเจ้า ที่ถูกต้อง ตามหลักของธรรมะนี้ ความถูกต้องตามหลักของธรรมะนี้ พระเจ้าคือสิ่งที่ต้องสามารถสร้าง ควบคุม และยุบเลิก; นั่นแหละคือพระเจ้าจริง ซึ่งไทยเราเรียกว่า พระเจ้า พวกฝรั่งเรียก God พวกอินเดียเขาเรียกว่า อิศฺวระ หรือ อิศวร; ภาษาลาลีมีคำว่า อิสฺสร ตรงเป็นคำเดียวกับคำว่า อิศฺวระ ใน สันสกฤต  แต่พอบอกว่าอิศฺวระคือพระอิศวร เราก็ให้ความหมายไปอย่างหนึ่ง พอพูดว่า อิสระ ในภาษาไทยก็หมดความหมายไปเลย : อิสรภาพ เสรีภาพ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของประชาธิปไตย หรือว่า อิสรชน คนผู้เป็นนายอะไร ๆ ก็ตาม มันไม่มีความหมายแห่งคำว่าพระเจ้า
            ที่จริงคำว่า อิสฺสร นั่นแหละ คือความหมายของคำว่า พระเจ้า : อิศฺวระ หรือว่า อิสฺสร ก็ตาม แปลว่า เป็นอิสระ คือใครทำอะไรไม่ได้ คำว่า อิสระ นั่นอย่าไปถือเอาความหมายที่ต่ำ ๆ ให้ถือความหมายว่า อะไรทำไม่ได้ ใครทำอะไรไม่ได้ จึงจะเรียกว่า อิสระ ถ้าเป็นอย่างนั้น นั่นแหละคือพระเจ้า ดังนั้นในภาษาบาลีมีอยู่หลายแห่งเหมือนกันที่ใช้คำว่า อิสฺสร ในความหมายที่ตรงกับคำว่าพระเจ้าในฝ่ายอื่น
            ทีนี้ ในบางถิ่นบางยุค ที่วัฒนธรรมอินเดียสาขานี้เข้ามา เขาสอนให้ประชาชนทั้งประเทศถือว่า พระราชาเป็นพระอิศวร : ให้พระราชาเป็นพระเจ้าไปเลย; ให้พระราชาที่เป็นคน ๆ นั่นแหละ ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นพระเจ้าหรือตัวแทนเป็นอย่างน้อย อย่างปราสาทนครวัดที่ประเทศเขมรนี้ เขาเข้าใจกันว่าสร้างขึ้นเพื่ออุทิศ แก่พระเจ้าที่เป็นคน ทั้งนั้นคือพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งก็เป็นพระเจ้า เขาก็สร้างเพื่อพระเจ้าองค์นั้นแหละ นี้เป็นความยุ่งยากลำบากของภาษา บางถิ่นและบางยุคพระราชานั่นแหละคือพระอิศวร หรือพระเจ้า นี้ก็ยังแสดงความหมายอย่างต่ำ ๆทางโลก ๆ เพราะว่าพระราชาเป็นอิสระตามความหมายของโลก คือพระราชาสามารถจะบันดาลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ตามชอบใจเหมือนกับพระเจ้า นี้คือสมัยราชาธิปไตยถึงที่สด ถ้าในวัฒนธรรมอย่างนั้นแล้ว พระราชานี้ก็เป็นพระเจ้าแบบหนึ่งคือแบบฝ่ายชาวโลก ๆ นี้เอง
            นี้เราก็จะเห็นได้ว่า พระเจ้านี้คือสิ่งที่มีความหมายหลายอย่าง แต่ว่าอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ต้องกลัว; มีความหมายว่าน่ากลัว และต้องกลัว ถ้าเกี่ยวกับพระเจ้าจริง ๆแล้ว น่ากลัว และต้องกลัว คือต้องเชื่อฟัง ต้องทำตาม พระเจ้า อิทัปปัจจยตา มีกฎเกณฑ์ไว้อย่างไร ทุกคนต้องเชื่อและทำตาม; ไม่อย่างนั้นจะฉิบหายเอง จะเดือดร้อน; จะทำเล่นๆ กับพระเจ้า อิทัปปัจจยตาไม่ได้ :  จะต้องรู้จัก จะต้องกลัว จะต้องเชื่อฟัง ส่วนสิ่งที่เรากลัวกันเดี๋ยวนี้ เรากลัวไม่มีสตางค์ใช้มากกว่าพระเจ้าใช่ไหม? นี่พูดกันตามจริง พูดไม่ต้องอ้อมค้อมว่าทุกคนนี้กลัวไม่มีสตางค์ใช้มากกว่าที่จะกลัวพระเจ้า; นี้ก็เพราะว่าไม่รู้จักพระเจ้า ที่จริงเมื่อพระเจ้าจะลงโทษเราแล้ว จะลงโทษมากกว่าสภาพที่เราไม่มีสตางค์ใช้เสียอีก ลองไปทำผิดให้จัง ๆ กับพระเจ้าคือ อิทัปปัจจยตา เข้าซี มันจะยิ่งกว่าตาย มัจจะฉิบหาย หรือยิ่งกว่าตาย; ฉะนั้นพระเจ้าคือสิ่งที่น่ากลัว และต้องกลัว ทีนี้เราจะทำอย่างไร? ก็ต้องรู้จักเท่านั้นแหละ แล้วก็ทำให้ถูกต้อง จนได้รับสิ่งที่เรียกว่า การคุ้มครองของพระเจ้า
        ถ้าเรารู้จักกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา อย่างที่สวดนี้ดี คือปฏิจจสมุปบาทนี้ดีแล้ว เราไม่มีทางที่จะทำผิด ไม่มีทางที่จะทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาได้เลย นั้นแหละคือ การคุ้มครองของพระเจ้าอิทัปปัจจยตา เมื่อเรารู้จักมันแล้วเราไปกลัวมัน แล้วก็ทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของมัน พระเจ้านั้นก็คุ้มครองเราเท่านั้นแหละ เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท อย่างที่สวดเมื่อตะกี้นี้
            เราควรจะมองเห็นอีกสักนิดหนึ่งว่า สำหรับการคุ้มครองของพระเจ้านี้เป็นการคุ้มครองที่ดีที่สุดยิ่งกว่าการคุ้มครองใดๆ ความคุ้มครองของพ่อแม่ที่รักเราที่สุด ก็ยังไม่เท่ากับการคุ้มครองของพระเจ้า การคุ้มครองของเจ้านาย หรือของผีของเทวดา ของอะไรก็ตาม ถ้ามันมี มันไม่จริงจังเท่ากับกาคุ้มครองของพระเจ้าชนิดที่แท้จริง โดยเฉพาะคือพระเจ้า อิทัปปัจจยตา : รู้จักแล้ว กลัวแล้ว ทำตามแล้ว เชื่อฟังแล้ว จะคุ้มครองไม่ให้มีความทุกข์ได้เลย ความโลภจะเกิดขึ้นในใจไม่ได้ ความโกรธจะเกิดขึ้นในใจไม่ได้ ความหลงจะเกิดขึ้นในใจไม่ได้ ความโง่ก็เกิดขึ้นในใจไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่มีความยินดียินร้าย ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีอะไร แต่จะอยู่เหนือทุกสิ่งไปหมด; นี้คือคามคุ้มครองของพระเจ้าอิทัปปัจจยตาที่เราเข้าใจดี เรารู้จักดี
            ดังนั้นเราหวังกันอยู่ว่า เราจะกระทำให้ถูกต้องตามกฎของพระเจ้าข้อหนึ่ง และอีกข้อหนึ่งเรา จะเป็นอันเดียวกันกับพระเจ้าเสียเลย คือเราขอเป็นพระเจ้าเสียด้วยเลย ในชั้นแรกเราจะเป็นพระเจ้าเลยไม่ได้ เราก็เป็นไปตามกฎของพระเจ้า จนถึงที่สุด คือรู้จักสิ่งนี้ดี รู้จักกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลายทั้งหลายทั้งปวงดีว่าเป็น อิทัปปัจจยตาว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น มีเท่านั้นเอง แล้วก็เกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่นตามหลักของพุทธศาสนา เรียกว่าความไม่ยึดมั่นถือมันสิ่งใด โดยความเป็นตัวกู หรือเป็นของกู ไม่ถือ ไม่โง่ ไม่หลง ว่าสิ่งใดเป็นตัวตน และเป็นของตน ก็เกิดว่าจากตัวตน ว่างจากของตน ก็เลยเป็นพระเจ้าแบบอสังขตะ คือเป็น อิทัปปัจจยตา แบบที่นำไปสู่อสังขตะ คือมีอะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป จิตใจนี้มันหลุดพ้น มันอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นจากความเหนี่ยวรั้งของสิ่งทั้งปวง นี้ก็คือเป็นพระเจ้าเสียเอง
        ทีแรก เราลงทุนทำไปให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้า จนหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง ก็เลยเป็นพระเจ้าเสียเอง แล้วจะมีปัญหาอะไร มันก็อย่าเหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว เหนือแพ้เหนือชนะ เหนือไปทั้งหมดเลย ไม่ว่าคู่ไหน มันอยู่เหนือไปหมด นี่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในขั้นสุดท้ายคือปฏิบัติตามกฎนี้ จนหลุดพ้นออกไปจากสิ่งทั้งปวงได้เรียกว่าอยู่รวมกันกับพระเจ้า
            ฉะนั้นขอให้สังเกตให้ดี ว่า พระจ้านี้คือ อิทัปปัจจยตา: อิทัปปัจจยตา นี้คือพระเจ้า อย่าไปพูดตามภาษาเด็ก ๆ เราเป็นคนโตหัวหงอกแล้ว มีปริญญายาวเป็นหางแล้ว ก็ยังพูดว่าพระเจ้านี้เป็นผีหรือเป็นเทวดา หรือเป็นอะไรที่น่ากลัว อย่างที่เขาเขียนรูปภาพให้เด็กกลัว พระเจ้าเพียงเท่านั้น ก็ไม่น่ากลัว มันมีอะไรไม่มากกว่าคนสักกี่มากน้อย แล้วพระเจ้าอย่างนั้น มีกิเลส เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวรัก อย่างนี้เป็นพระเจ้าไม่ได้ ทีนี้เรามารู้จักพระเจ้า อิทัปปัจจยตา ให้ถูกต้อง ก็จะรู้จักพระเจ้าที่แท้จริง ซึ่งที่แท้มันเป็นอันเดียวกัน อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎนั้น คือพระเจ้าผู้สร้าง อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่สิ่งทั้งปวงที่ต้องเป็นไปตามกฎนั้น นี้พระเจ้าคือสิ่งทั้งปวง อิทัปปัจจยตา ที่ปฏิบัติดีแล้วจนไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้วนี้ จะเป็นพระเจ้าที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนทุกคน ออกมาจากพระเจ้า แล้วกลับไปหาพระเจ้า : พูดอย่างนั้นก็ได้ มันก็มีลัทธิที่เขาพูดกันอย่างนั้น
            แต่ในพุทธศาสนาเรา มีพระธรรมส่วนหนึ่งซึ่งสร้างเรามา ให้เกิดเป็นรูปเป็นนาม เวียนว่ายไปในวัฏฏสงสาร จนมันหายโง่ มันฉลาดขึ้นแล้ว มันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร มันก็หยุดความเป็นธรรม ประเภทว่ายเวียน ในที่สุดก็เข้าถึงธรรมประเภทที่เป็นนิพพาน คือไม่ว่ายเวียน เรื่องมันก็คล้ายๆ กับว่า ออกมาจากพระเจ้าแล้ว ก็กลับไปหาพระเจ้า; แต่นี้เรียกว่า พูดโดยอุปมา
            ให้รู้จักพระเจ้าให้ดีๆเถอะ มันมีอย่างน้อย 3 ส่วนอย่างนี้ : พระเจ้าผู้สร้าง, พระเจ้าที่เป็นสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วพระเจ้าที่เป็นจุดหมายปลายทาง แต่ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมะในพุทธศาสนาแล้วง่ายที่สุด คือธรรมะในฐานะเป็นเหตุสร้างสิ่งทั้งปวง หรือเป็นตัวกฎเช่นกฎอิทัปปัจจยตา ที่อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ก็เรียกว่าธรรมประเภทหนึ่งเป็นพวกอสังขตะ; แล้วที่ถูกสร้างก็เป็นพวกสังขตะ; แล้วจุดหมายปลายทางนี้ กลับเป็นอสังขตะอีก คือจะไม่ถูกสร้างอีกต่อไป ความรู้เรื่อง อิทัปปัจจยตา และการปฏิบัติตามกฎของ อิทัปปัจจยตา จนถึงที่สุดแล้ว มันได้ผลอย่างนี้
            พุทธบริษัทเราจะต้องรู้เรื่องนี้ แล้วก็ต้องเอาชนะให้ได้ด้วย คือว่าเอาชนะให้ได้ในการที่จะไม่ต้องเป็นไปตามกฎชนิดที่ทำให้มีความทุกข์ แต่ให้เป็นไปตามกฎชนิดที่จะออกมาจากทุกข์ จนพ้นทุกข์ จนเหนือทุกข์ จนว่าไปไม่มีตัวตน พอเป็นสุญญตา เป็นอนัตตาแล้ว พระเจ้าอย่างไหนก็สร้างไม่ได้ พระเจ้าชนิดไหน ๆ มันก็สร้างคน ๆนี้ให้เป็นคนขึ้นมาไม่ได้ เพราะมันรู้และอยู่เหนือกฎของการที่จะเวียนว่ายอีกต่อไป ก็เรียก สุญญตา หรือ อนัตตา ถ้าจิตเข้าถึงความจริงขั้นสุญญตา ขั้นอนัตตาแล้ว จะอยู่เหนือการสร้างของพระเจ้า แล้วก็จะเป็นพระเจ้าเสียเอง
            ทีนี้ เราจะต้องพูดถึงการปฏิบัติกันบ้าง ว่าจะปฏิบัติต่อพระเจ้านี้อย่างไร? ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่สมบูรณ์ หรือมันจะไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าจะพูดว่าปฏิบัติต่อพระเจ้าอย่างไร ก็ต้องนึกถึงที่เคยพูดกันมาแต่วันก่อน ๆ ว่าอิทัปปัจจยตานั้นอยู่ในฐานะเป็นอะไร ที่ไหน ได้บ้าง นี้ก็ต้องทบทวนว่า ที่นอกกายเราก็มี อิทัปปัจจยตา ที่เป็นกายเราก็มี และอิทัปปัจจยตา ที่เป็นจิตซึ่งไม่ใช่กายก็มี อิทัปปัจจจยตา ในความเป็นอนันตะ คือไม่ใช่ที่ไหน ไม่ใช่เมื่ออะไร นั้นก็มีเป็นอนันตะ
            ข้อที่ 1 อิทัปปัจจยตานอกกายเรา : ก็พูดกันแล้วว่า ก้อนหินนี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ตามกฎเกณฑ์ ของกฎของธรรมชาติ หรือกฎพระเจ้า หรือกฎอิทัปปัจจยตา มันสร้างขึ้นมา เมื่อกี่พันล้านปีแล้วก็ไม่รู้ บัดนี้มันจึงมาปรากฏเป็นก้อนหินก้อนนี้ เป็นต้นไม้ เป็นก้อนดิน ก้อนกรวด ก้อนหิน ทุกอย่างในโลกที่เป็นสสารในโลกนี้ในรูปต่าง ๆกัน บัญญัติไปตามความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเนื้อที่ นี่จึงเป็นรูปร่างต่างๆมากมาย นอกตัวเรานี้ก็ล้วนแต่เป็นตัว อิทัปปัจจยตาที่กำลังเป็นไปตามกฎ เพราะฉะนั้นในสิ่งนั้นมันมีทั้งกฎ และมีทั้งตัวสิ่งที่ต้องเป็นไปตามกฎ นี่ก็แปลว่าก้อนหินนี้เป็น อิทัปปัจจยตา นอกตัวเรา ซึ่งเราก็ต้องรู้จักว่านี้คือ อิทัปปัจจยตา ที่อยู่นอกตัวเรา
          ข้อที่ 2 อิทัปปัจจยตา ที่อยู่ที่รูปกาย หรือรูปธรรมของเรานี้ ที่ว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อะไรก็ตามที นี่มันมาอยู่ในตัวเราแล้ว แต่มันเป็นฝ่ายรูปธรรม มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา เพราะว่าร่างกายนี้ทีแรกมันก็มิได้มี มันอาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยอาหาร ข้าวสุก ขนมสด จนมาเป็นอย่างนี้ นี้คือส่วนร่างกาย; มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ที่เนื่องอยู่กับกาย หรือในกายนี้ มันก็มีกฎเกณฑ์ของมันโดยเฉพาะ
          ข้อที่ 3 ลึกเข้าไปกว่านั้น คือส่วนจิต จิตคือความคิด : เมื่อตาเห็นรูป จิตชนิดหนึ่งรู้ว่ารูปอะไร แล้วก็มีความหมายอย่างไร ยินดียินร้าย เป็นรูปสวย รูปไม่สวย ก็เกิดความรักขึ้นมา เกิดความอยากขึ้นมา แล้วกระทำไปตามความอยากนั้น; ได้มาก็ดีใจบ้าไปพักหนึ่ง ไม่ได้เสียใจเป็นทุกข์ ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเรื่องฝ่ายจิต; ทั้งหมดนั้นเป็น อิทัปปัจจยตา ที่เกี่ยวกับจิตหรือมีอยู่ในจิต
            นี่เราจึงได้ : อิทัปปัจจยตา นอกกายเรา อิทัปปัจจยตา ในกายเรา และ อิทัปปัจจยตา ในจิตของเรา เป็น 3 ชั้นแล้ว
        ทีนี้ ชั้นสุดท้ายนั้นมันพิเศษ มันเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเวลา ไม่เกี่ยวกับการกินเนื้อที่ ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กันในระหว่างเวลากับเนื้อที่ อย่างนี้เรียกว่าอนันตะ; แม้นั้นมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นกฎ เราก็ต้องรู้จักมัน
            ทีนี้ เราก็ดูมันทีละอย่างว่า อิทัปปัจจยตา นอกกายเรา ในกายเรา ในจิตเรา และในอันนตะนั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร? ถ้าพูดอย่าง นักเลง นี่ขอใช้คำค่อนข้างจะโสกโดกว่า นักเลง สำหรับนักเลงพุทธบริษัทนั้น สิ่งแรกที่จะต้องมาก่อน ก็คือว่า ต้องรู้จักมัน อะไรก็ตามที่เราจะไปเกี่ยวข้องกับมัน เราต้องรู้จักมัน ใช้คำว่า อภิญฺญาย อภิญญเญยฺย ต้องรู้จักมัน อภิญฺญาย เพื่อให้รู้จักมัน แล้วก็รู้จักมันให้ได้ อิทัปปัจจยตานอกกาย-ก็ต้องรู้จักมัน อิทัปปัจจยตาในกายนี้-ก็ต้องรู้จักมัน แล้วก็รู้จักมันให้ได้ อิทัปปัจจยตาใจจิตนี้-ก็ต้องรู้จักมัน อิทัปปัจจยตา ในอนันตะทั้งหมด-ก็ต้องรู้จักมัน ดังนั้นข้อแรกจะต้องมีคำว่า ต้องรู้จักมัน ไม่เช่นนั้นโง่ และไม่ใช่เป็นพุทธบริษัท เพราะว่าคำว่า พุทธะ- พุทธะ นี้แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จงจำไว้อย่างนี้
        ฉะนั้นกฎแห่งธรรมทั้งหลาย ขั้นแรกจะต้องมีคำว่า อภิญญาย บ้าง ปริญญาย บ้าง เพื่อจะรู้จักมันเสียก่อนว่ามันเป็นอะไร เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จึงสอนกันแต่เพียงว่า อะไรเป็นอะไร? อะไรคืออะไร? อะไรเป็นอย่างไร? เท่านั้นแหละ คือรู้จักมันให้ได้เสียก่อน
            ทีนี้พอรู้จักมันแล้ว เราก็ปฏิบัติต่อมันให้ถูก : อิทัปปัจจยตา นอกกาย จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร เช่นก้อนหินก้อนนี้จะเอาไว้ดูมันเล่นสวย ๆ ก็ได้ แต่ไม่ต้องไปเป็นทุกข์กับมัน หรือว่า อิทัปปัจจยตา ก้อนหินนี้จะใช้ให้เป็นประโยชน์อะไรก็ได้ เอาซิ! จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในแง่ไหนก็ได้; กระทั่งว่าจะเอาไปบดไปป่นเป็นวัตถุ ใช้เป็นประโยชน์ทางเคมีทางอะไรก็ได้ หรือจะใช้เป็นวัตถุศิลปะอย่างนี้ก็ได้ นี้เรียกว่าเราต้องปฏิบัติต่อมัน ให้มันเหมาะสมในฐานะที่มันเป็นอย่างนี้
            รวมความว่าดูเล่นสนุกก็ได้ ใช้เป็นประโยชน์ก็ได้ แต่ว่าผลสุดท้ายอย่าให้เกิดความยินดียินร้ายกับมัน มันจะเป็นอย่างไร จะได้หรือไม่ได้ตามที่ต้องการ ผลสุดท้ายต้องไม่ทำให้เกิดความยินดียินร้ายแก่เราได้ นี่สิ่งนอกกายทั้งหลายเราจะต้องทำอย่างนี้ทั้งนั้น คือรู้จักมัน แล้วก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ หรือว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์โดยตรง จะเอาไว้ดูเล่นสนุก ๆ ก็ได้
        ทีนี้ อิทัปปัจจยตา ที่มันเข้ามาถึงในกาย คือเลือดเนื้อร่างกายนี้เราก็ต้องรู้จักมัน ว่ามันเป็นอย่างไรก่อนเหมือนกัน แล้วทีนี้เราก็มีหน้าที่ว่า ต้องบริหารมันให้ถูกวิธี เดี๋ยวนี้พวกเราบริหารไม่ถูกวิธี จึงเป็นโรคความดันโลหิตสูงบ้าง เป็นโรคเบาหวานบ้าง เป็นโรคกระเพาะบ้าง เป็นโรคหัวใจบ้าง นับตั้งต้นตั้งแต่นอนไม่ค่อยหลับเป็นต้น เพราะเราโง่ในเรื่องนี้ บริหารมันไม่ถูกวิธีของ อิทัปปัจจยตาที่มันมาเป็นร่างกายนี้ จะเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เอ็น เนื้อ อะไรก็ตามใจนั้นรู้กันอยู่แล้ว นอกจากบริหารให้ถูกวิธีแล้วยังต้องใช้เป็นวัตถุแห่งการศึกษาต่อไป, เราจะต้องรู้จักมันให้ดี บริหารมันให้ถูกวิธี แล้วก็ใช้เป็นวัตถุสำหรับศึกษาต่อไป เพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้นไป สูงขึ้นไปกว่านั้น แต่แล้วมันก็ไปจบลงที่คำว่า อย่ายินดี ยินร้ายกับมัน เช่นเดียวกับสิ่งภายนอก ก็อย่าไปยินดียินร้ายกับมัน; ในร่างกายนี้ก็อย่าไปยินดียินร้ายกับมัน ในที่สุดจะทำอะไรก็ทำไป จะทำอะไรก็ทำไป แต่ว่าจิตใจอย่าไป เกิด ยินดียินร้ายกับมัน; ต้องการประโยชน์อย่างไรก็ทำอย่างนั้น จะบริหาร จะสร้างสมรรถภาพ หรือจะทำอะไรก็ตามใจ ก็ทำไป แต่ อย่าให้เกิดความยินดียินร้ายกับมัน มิฉะนั้นมันจะเป็นทุกข์ มันจะกัดเอา! (ใช้คำที่จำง่ายๆ) ไปทำกับมันไม่ถูกวิธี แล้วมันจะกัดเอาทั้งนั้น คือจะทำให้มีความทุกข์
            ทีนี้ ก็มาถึง อิทัปปัจจยตา ที่ลึกเข้าไปอีกถึงจิตใจ : จิตใจของเรามีอยู่ 2 ส่วนประกอบกัน เรียกกันว่าจิตอย่างหนึ่ง เจตสิกอีกอย่างหนึ่ง จิตนี้ก็หมายถึงตัวที่จะเป็นตัวคิด ตัวที่ทำหน้าที่คิด ส่วนเจตสิกนั้นหมายถึงตัวความรู้สึกที่จะมาประกอบกันให้เกิดความคิด รวมแล้วก็เรียกว่า จิต ว่า ใจ ว่า มโน ว่าอะไรก็แล้วแต่จะเรียก แต่มันเป็นเรื่องจิต แล้วเป็นไปตามกฎของมันเอง ในฐานะที่เป็นอิทัปปัจจยตา ชนิดหนึ่ง เรื่องเมื่อตะกี้ได้ยกตัวอย่างให้ฟังแล้วว่า เมื่อตาเห็นรูปเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปทาน เกิดกิเลส เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่ามันคืออะไร? ต้องรู้จักมันเสียก่อนว่า มันคืออะไร? มีลักษณะอย่างไร? มีความเป็นไปอย่างไร จนกระทั่งรู้ว่า ปล่อยไปตามเรื่องไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าจิตนี้ ปล่อยไปตามเรื่องไม่ได้ เพราะว่าต้นทุนเดิมของเรา คือความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไร เป็นอะไร; ถ้าปล่อยไปตามเรื่อง ก็คือปล่อยไปตามความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นจึงต้องศึกษาให้รู้ว่า ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะควบคุมมันอย่างเพียงพอให้ถูกต้องตามเรื่องของมันแล้ว ในที่สุดมันก็จะไปเกิดความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง แล้วจะร้อนเป็นไฟทั้งนั้น ฉะนั้นเราต้องรู้ว่า มันเป็นอะไร? มันเป็นอย่างไร? แล้วเราก็ป้องกันอย่าให้ร้อนเป็นไฟอย่างนั้น
            พอมาถึงระบบจิต หรือว่าโรคทางจิตนี้แล้ว ก็จะต้องนึกถึง คำว่า ป้องกัน ไว้ให้มาก เพราะว่าการแก้ไขจะไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เราจะต้องเรียนพุทธศาสนาให้รู้ เพื่อจะใช้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส; แล้วก็จะไม่เป็นทุกข์ถ้ามันเกิดกิเลสแล้วมันเป็นทุกข์ แม้ความเจ็บไข้นี้ก็เหมือนกัน เราถือระบบป้องกันดีกว่ารักษาแก้ไข ดูเหมือนจะพูดกันอยู่ทั่วๆ ไปในทุก ๆ กรณี ไม่ว่าอะไร ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ! นี่คนโบราณพูดอย่างนั้นว่า ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้ไข เพราะว่าเมื่อถึงขนาดที่ต้องแก้ไขแล้ว มันแย่ แล้ว ดังนั้นป้องกันไว้ อย่าให้มันเกิดขึ้น
            เรื่องเกี่ยวกับกิเลสเป็นอย่างนี้ มันมีหลักใหญ่ ๆ อยู่อย่างนี้ ศึกษาให้รู้ก็จะรู้ป้องกัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเอง ที่จะไม่ให้เกิดกิเลส แล้วฝึกฝนในการที่จะมีสติสัมปชัญญะให้เพียงพอ แล้วก็ไม่เกิดกิเลส เราก็สบาย ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นทุกข์ ใครช่วยไม่ได้ เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ลงโทษเสียเอง คิดดูซิ! เมื่อพระเจ้าเป็นผู้ลงโทษเสียเอง แล้วใครจะช่วยได้ มันก็มีวิธีว่าอย่าทำให้ผิดกฎเกณฑ์อันนี้ พระเจ้าจะไม่ลงโทษ นี้คือป้องกัน
            พอมาถึงตรงนี้ อยากจะขอแถมไว้ด้วย ว่า สำหรับเรื่องศึกษา ธรรมะ ธรรโม ที่มานั่งอยู่ที่นี่ก็เหมือนกัน ต้องการจะศึกษา ธรรมะ ธรรโมนี้ ขอให้ระวังให้ดี ขอให้เป็นไปในแง่การป้องกันยิ่งกว่าการแก้ไข ถ้าปล่อยให้จิตใจวิตกกังวล ไม่มีธรรมะที่จะใช้ป้องกันนานพอสมควรแล้ว มันจะเกิดโรคชนิดที่ธรรมะก็ช่วยแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะโรคที่มันทำให้เสียสติไปเสียตั้งแต่ทีแรก เช่นเป็นลมล้มลงเป็นอัมพาตอย่างนี้ ธรรมะจะช่วยอะไรไม่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีป้องกันที่ว่าเราจะต้องไม่เป็นลมล้มลงเป็นอัมพาต คือเราจะรักษาจิตใจให้ถูกระบบของธรรมะอยู่เสมอ จะไม่เป็นโรคเส้นประสาทได้เป็นอันขาด คนไหนเป็นโรคประสาท ก็ให้ตราหน้าได้เลยว่า มันเป็นคนไม่รู้ธรรมะ มันทำตัวเองให้นอนหลับไม่ได้ ก็ตราหน้าได้เลยว่า ไม่ใช่พุทธบริษัทที่ถูกต้อง เป็นพุทธบริษัทแต่เปลือก หรือแต่ปากอีกตามเคย ดังนั้นพระเณรก็ดี ถ้าเป็นโรคประสาทแล้ว มันไม่ใช่พระเณรที่ถูกต้องในพุทธศาสนา อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ถ้าเป็นโรคประสาทแล้ว ไม่เป็นพุทธบริษัทในพุทธศาสนา เพราะว่าได้ทำผิดมากเกินไปในสิ่งที่พุทธศาสนาได้สอนไว้ นี้คือความยึดมั่นถือมั่น ความวิตกกังวลในสิ่งต่างๆมีมากเกินไป จนเป็นโรคเส้นประสาท  ฉะนั้นในอัตราเดียวกัน จะเป็นโรคเบาหวานบ้าง โรคความดันสูงบ้าง โรคหัวใจบ้าง โรคกระเพาะบ้าง อาตมากล้าท้าว่า แม้แต่โรคกระเพาะนั่นแหละ มันมาจากความวิตกกังวลนานเข้าๆ พอแก้ไขความวิตกกังวลได้ โรคกระเพาะมันก็หายไปเอง ไม่ต้องกินยาก็ได้ นี้คือระบบของการป้องกันแทนการแก้ไข
            ขอให้ศึกษา ธรรมะในลักษณะ ป้องกัน จะทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนาทำอะไรก็ตามใจ ต้องเป็นไปในระบบป้องกัน เพราะถ้ามันลงป่วยทางวิญญาณแล้ว ธรรมะก็ช่วยไม่ได้ เพราะมันเสียสติ เสียสัมปชัญญะ คนนอนเป็นอัมพาตอยู่นี้จะไปพูดอะไรรู้เรื่อง; หรือว่าถ้าเป็นโรคเส้นประสาทมากแล้ว จะไปพูดอะไรกันรู้เรื่อง มันช่วยไม่ได้ แม้จะช่วยได้ก็ลำบากมาก ต้องกินเวลามาก ฉะนั้นขอให้เห็นความสำคัญของการป้องกันว่าสำคัญยิ่งกว่าการแก้ไข ค่าของการป้องกันมันจะมีตั้ง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าของการแก้ไขจะเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ นี่ ถ้าถือหลักอย่างนี้ก็จะได้ประโยชน์ดี สำหรับจะต่อต้านกับ พระเจ้า คือ อิทัปปัจจยตาในหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ แล้วหน้าที่ที่มันชัด ๆ ก็คือว่า อิทัปปัจจยตา ตัวที่เรียกว่าอวิชชานั่นแหละ ตัวนั้นต้องฆ่ามันเสีย ต้องฆ่าอวิชชานั้นเสีย คือความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องพยายามฆ่ามันเสียเรื่อย ๆ ไป; นั่นแหละเป็นการป้องกัน ให้มีอาการที่เรียกว่า อยู่ดี มีชีวิตอยู่ดีหรือถูกต้องเสมอไป แล้วในที่สุดมันก็จะไปจบลงที่ว่าอย่ายินดี ยินร้ายกับมัน ความรู้สึกอะไรที่เกิดขึ้นในใจเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ก็อย่ายินดียินร้ายกับมัน พอไปยินดีสิ่งที่น่ายินดี ไปยินร้ายสิ่งที่น่ายินร้าย มันก็คืออวิชชา; เราก็กลายเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ไปในที่สุด ฉะนั้นเพื่อจะให้แน่นอนก็ว่า ต้องมีผลเป็นความไม่ยินดียินร้ายเสมอ; นี่ขอให้จำไว้อย่างนี้
            นี่เราพูดถึง อิทัปปัจจยตา นอกกาย ในกาย แล้วก็ในจิต ว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติกันอย่างนี้ คือว่ารู้จักมัน แล้วทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับมัน แล้วก็เฉยไม่ต้องยินดียินร้าย
            ทีนี้ อิทัปปัจจยตาที่ดูประหลาดๆ อันได้แก่ อิทัปปัจจยตาใน อนันตะ นอกเหนือไปจากเวลาหรือเนื้อที่ ร่างกายจิตใจ อะไรทั้งหมดนี้ มันเป็นกฎอิทัปปัจจยตานั้นมันเป็นพระเจ้า; ก็ต้องรู้จักมันอีกนั่นแหละ คำแรกก็ต้องรู้จักมัน แล้วคำสุดท้าย ก็ต้องไม่ยินดียินร้ายเหมือนกัน ส่วนคำกลางนี้คือการปฏิบัติในฐานะที่มันเป็นพระเจ้า ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือว่าอย่าไปปฏิบัติให้ผิดก็แล้วกัน; ที่ไม่ผิดนั้นแหละคือถูกต้อง ฉะนั้นเราเคารพต่อกฎเกณฑ์อันนี้ ซื่อตรงต่อกฎเกณฑ์อันนี้ รักษากฎเกณฑ์อันนี้ให้ดี ๆ แล้วก็จะไม่มีความทุกข์
            ทีนี้ถ้าถามว่าเมื่อไร? เวลาเหลือนิดหน่อยนี้ จะอธิบายสักนิดว่า เมื่อไรที่จะปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ให้ถูกต้อง? เมื่อพูดถึงสิ่งที่มันอยู่นอกกาย ในกาย ในจิตนี้มันเนื่องกันทั้งนั้นแหละ : จิตมันรู้สึกต่อสิ่งที่อยู่ข้างนอก จิตนี้มันก็อาศัยกาย ทั้งจิตทั้งกายรวมกันรู้สึกอะไรได้ก็รู้สึกต่อสิ่งข้างนอก เพราะมันสัมพันธ์กัน เมื่อใดมันมีความสัมพันธ์กัน เมื่อนั้นแหละระวังให้ดีเถอะจะเกิดเรื่อง คือเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อร่างกายได้สัมผัสทางผิหนัง เมื่อจิตได้รับอารมณ์อะไรมาสำหรับรูสึก ทั้ง 6 อย่างนี้ คือ เมื่อสิ่งข้างใน มันพบกันกับสิ่งข้างนอก นั้นแหละเป็นเวลาที่ต้องระวังที่สุด : กิเลสและความทุกข์เกิดขึ้นตอนนี้ทั้งนั้น เป็นคนโง่เห็นรูป! เป็นคนโง่ฟังเสียง ! เป็นคนโง่ดมกลิ่น ! เป็นคนโง่ลิ้มรส ! ฯลฯ เหล่านี้จะต้องมีกิเลสและมีความทุกข์ ฉะนั้นจะต้องระวังว่าเมื่อมีการกระทบทางอายตนะใดอายตนะหนึ่งแล้วอย่าได้โง่ ! คือให้มีสติสัมปชัญญะไว้เสมอไป เมื่อตากระทบรูป เป็นต้นนี้ ถ้าถามว่าเมื่อไร? ก็ต้องตอบอย่างนี้ เพราะว่าเวลาอันตรายของมัน มันอยู่ตรงที่เมื่อมันสัมผัสระหว่างข้างในกับข้างนอก
          อิทัปปัจจยตา ที่เกี่ยวกับอันตะ นั้น อยู่เหนือเวลา อยู่เหนือพื้นที่ไม่มี Relativity ระหว่าง Time and Space อย่างนี้มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา  คือเมื่อรู้ว่ามันมีอยู่อย่างเป็นกฎ เราก็พยายามที่ว่า จะดำรงตัวอยู่ให้ถูกต้องตามกฎเฉพาะที่มันมาเกี่ยวข้องกับเรา; ทำได้เพียงเท่านี้ชื่อว่าทำได้ถูกหมด ที่ว่า หมด นั้นมันวัดไม่ไหว มันมากมายเหลือเกิน มันเป็นอนันตะ คือวัดไม่ได้คำนวณไม่ได้ ทั้งทางเนื้อที่และทั้งทางเวลา แต่ว่าเมื่อเราทำถูก แม้เพียงขณะที่เราเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ  เท่านั้นแหละ มันจะเป็นการถูกหมด ถูกหมดทั้งอนันตะ ซึ่งวัดไม่ได้ ฉะนั้นไม่ต้องพูดอะไรในส่วนนี้ก็ได้ พูดแต่ว่า ทำให้ถูกต้องในเมื่อตากระทบรูป หูได้ ฟังเสียง เป็นต้น นี้คือ อิทัปปัจจยตา นอกกาย ในกาย ในจิต และในอนันตะ นี้คือพระเจ้า
        เอาละจะจบแล้ว ก็ขอแสดงอานิสงส์นิดหน่อย ว่า อิทัปปัจจยตา ในฐานะที่เป็นพระเจ้า นี้เป็นพระเจ้าที่แท้จริง พุทธบริษัทก็มี พวกไหนก็มี; หมายความว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตแล้วต้องมี แล้วพระเจ้าชนิดนี้ใช้ได้แก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรใช้แก่พวกวัตถุนิยม คือกรรมการ และนายทุน ทั้งพวก คอมมิวนิสต์ และไม่ใช่คอมมิวนิสต์ การที่เอาพระเจ้าโง่ๆ บ้า ๆ บอๆ ไปให้พวกคอมมิวนิสต์ มันก็ไม่รับซิ ลองเป็นพระเจ้าที่แท้จริงอย่างนี้ไปให้ แม้พวกคอมมิวนิสต์ก็จะต้องรับ พวกกรรมกรก็จะต้องรับ พวกนายทุนก็จะต้องรับ เพราะว่าเมื่อเขาศึกษาดีอยู่แล้ว เขาจะเห็นชัดว่า เอ้า ! นี้มันเป็นพระเจ้าที่แท้จริงของธรรมชาติ : จะไปโลกพระจันทร์ได้ ก็เพราะรู้จักพระเจ้าองค์นี้ ทำปรมาณูใส่กันได้ โยนระเบิดใส่กันได้ ก็เพราะรู้จักพระเจ้าข้อนี้ คอมมิวนิสต์ก็รู้ดี; ฉะนั้นจึงยอมรับพระเจ้าตัวนี้คือ อิทัปปัจจยตา พวกคอมมิวนิสต์ก็มีพระเจ้าได้ ถ้าพระเจ้านั้นมันพระเจ้าจริง
        เดี๋ยวนี้ทั้งพวกกรรมกร ทั้งพวกนายทุน ก็ล้วนไม่มีพระเจ้าด้วยกันทั้งสองฝ่าย มันบอกว่าพระเจ้าตายแล้ว พระเจ้าไม่มี มัวพูดกันแต่อย่างนี้ ฉะนั้นเราช่วยกันแสดงพระเจ้าที่จริงที่มีอยู่จริง แก่พวกกรรมกรด้วย แก่พวกนายทุนด้วย พอต่างฝ่ายต่างมีพระเจ้าแล้ว มันก็กลัวพระเจ้าองค์นี้ แล้วมันจะหยุดรบกันได้ระหว่างพวกนายทุนกับพวกกรรมกร การรบกันระหว่างลัทธิที่ถือลัทธิกรรมกรกับถือลัทธินายทุนนี้ จะมีพระเจ้าเข้ามาช่วย ห้ามให้เลิกความเห็นแก่ตัว เลิกบูชาวัตถุกันเสียที ว่ามันเป็นความทุกข์; มีพระเจ้ากันเสียที !
        แล้วประโยคสุดท้าย ก็มีความสำคัญว่า พระเจ้าที่นี่และเดี๋ยวนี้ ! เข้าถึงพระเจ้าต่อตายแล้ว มันก็โง่ตามเดิม !  ยิ่งพระเจ้าต่ออีกหลายชาติหลายสิบชาติแล้วยิ่งโง่หลายเท่า เพราะว่าพระเจ้าอยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ และในที่ทุกหนทุกแห่ง เหมือนได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า อิทัปปัจจยตา นี้ นอกกายตรงนั้น ในกายตรงนี้ ในจิตตรงนี้ ในอนันตะทั้งหมดนี้ ก็ล้วนเวลานี้ ไม่ใช่เวลาอื่น ไม่ใช่หลังจากตายแล้ว
          ต้องรู้จักพระเจ้าที่แท้จริงอย่างนี้ และจัดการกับพระเจ้าเหล่านี้ให้ถูกต้อง แล้วปัญหาก็จะหมดไป นี่คือประโยชน์ของการรู้จัก อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นพระเจ้าที่แท้จริง ที่ไม่มีปัญหา ที่ไม่ต้องสงสัย มีคำอธิบายเป็นหัวข้อย่อๆ พอเป็นทางสังเกตพิจารณาเหมือนอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น
            หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้เอาไปพินิจพิจารณา ใช้ประโยชน์ให้ได้ให้มากที่สุด ตามที่จะทำได้ ให้สมกับที่ว่า นับถือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว แม้ท่านจะ ร้องเพลงเล่น ขออภัยใช้คำอย่างนี้ ท่านก็ร้องเพลงเรื่องนี้คือ อิทัปปัจจยตา

การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลา ให้พระคุณเจ้าทั้งหลายสวดปิดท้ายธรรมบรรยาต่อไป
(คัดลอกจากหนังสือ  อิทัปปัจจยตา โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า 94-128 ;14-17 มี.ค 49)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น