วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อิทัปปัจจยตา1 ในฐานะของพระพุทธวจนะที่ถูกมองข้าม

เสาร์ที่ 1 มกราคม 2515
          ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย
            วันนี้เป็นวันแรกของการบรรยายวันเสาร์ของปีใหม่ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบกันอยู่แล้วเป็นส่วนมาก ว่าเรามีความมุ่งหมายจะบรรยายหลักพระธรรม ทุกวันเสาร์ ตลอดฤดูแล้ง 9 เดือน จะหยุดแต่เฉพาะฤดูฝน 3 เดือน และเราก็ได้หยุดมาแล้ว 3 เดือน คือเดือน ตุลา ฯ พฤศจิกา ฯ ธันวาฯ นี้ก็ขึ้นปีใหม่เริ่มฤดูแล้ง; ตั้งแต่เดือน มกรา ฯ ไป 9 เดือนนี้ก็จะบรรยายทุกวันเสาร์
[ปรารภวิธีการ จัดการบรรยาย]
            ทีนี้ ความมุ่งหมายของการบรรยายนี้ ก็ได้กล่าวแล้วตั้งแต่ปีก่อน บางคนคงจะยังจำได้ แต่บางคนก็อาจจะลืม และบางคนก็ยังไม่เคยฟัง ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ ก็คือว่าเป็นหน้าที่ ที่เราจะสนองพระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าในการที่จะช่วยกันสืบอายุพระศาสนา และในการที่จะช่วยกันทำความบริสุทธิ์ ความถูกต้องของพระพุทธศาสนาให้ยังคงอยู่ แต่เนื่องจากเรื่องนี้มันมากมาย มันซับซ้อนลึกซึ้ง ดังนี้เราจึงต้องใช้ความพยายามมาก จึงต้องมีการบรรยายกันหลายครั้งหลายหน หรืออาจจะเป็นหลายสิบครั้งหลายสิบหน จนกว่าพวกเราพุทธบริษัทจะมีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง สมกับที่เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง  ไม่เป็นพุทธบริษัทกันแต่ปาก นี้เป็นความมุ่งหมายโดยเฉพาะ ความมุ่งหมายอันใหญ่ยิ่ง ที่ได้มีการบรรยายนี้; จึงมีการบรรยายให้ฟัง แล้วก็มีการเปิดโอกาสให้สอบถาม ซักไซ้ อภิปราย สัมมนา ในหัวข้อนั้น ๆ ที่ได้พุดไปในวันหนึ่ง ๆ ให้เป็นที่แจ่มแจ้ง จนกว่าจะครบถ้วนทุกหัวข้อ ทุกแง่ทุกมุมเพื่อจะทำให้มีพุทธศาสนาที่ถูกต้อง อยู่ในจิตใจของท่านทั้งหลายได้ทุกคน
        ทีนี้ เราก็เลือกเอาสถานที่นี้ ที่ตรงนี้ เพื่อว่าเราจะได้เป็นเกลอกันกับธรรมชาติ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเป็น พระพุทธเจ้าท่านเป็นเกลอกันกับธรรมชาติ เพราะว่าท่านประสูติกลางดิน ท่านตรัสรู้กลางดิน และท่านก็นิพพานกลางดิน แล้วท่านอยู่เป็นส่วนมากกลางดิน วิหารของพระพุทธเจ้าก็พื้นดิน ไม่มียกพื้น; ที่ประทับของพระพุทธเจ้าเป็นพื้นดิน ไม่มียกพื้น; มีเสื่อหญ้า สำหรับลาด อย่างดีก็จะมีเพียงที่เรียกว่าตั่งเตี้ย ๆ ในบางครั้ง ท่านประสูติที่ใต้ต้นไม้ ที่สวนลุมพินีกลางพื้นดิน นี้อย่าลืมเสีย ท่านตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ต้นโพธิ์”; ก่อนนี้มีชื่อว่าต้น อัสสัตถะ เป็นไม้ตระกูลมะเดื่อชนิดหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าไปตรัสรู้ที่ใต้ต้นไม้ต้นนี้เข้า ต้นไม้ต้นนี้ก็ได้เกียรติ ได้ชื่อใหม่ว่า ต้นโพธิ์ โพธิ์ แปลว่า ความรู้ ท่านนั่งตรัสรู้กลางดินที่ริมตลิ่ง ของแม่น้ำกว้าง ๆ สายหนึ่ง ทีนี้เมื่อท่านนิพพาน ก็ใต้ต้นสาละในสวนที่เที่ยวเล่นของพวกมัลละกษัตริย์ กลางดินอีกเหมือนกัน
            ถ้าพูดกันอย่างสรุปความก็ว่า เกิดกลางดิน ตายกลางดิน เป็นพระพุทธเจ้ากลางดิน สอนคนอื่นตามกลางดิน : ท่านเป็นเกลอกับธรรมชาติอย่างนี้ พวกเราทะเยอทะยานอยากจะได้อยู่บนตึก บนวิมาน มันเดินกันคนละทาง ฉะนั้นจึงต้องมานั่งกลางดินกันที่นี่ ให้เป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า ว่าท่านเกิดกลางดิน ท่านตายกลางดิน เราจะได้ไม่ลืมตัว ฉะนั้นขอให้รู้สึก โดยประจักษ์แก่ใจว่า นั่งกลางดินได้บุญมากกว่านั่งบนอะไร ๆ มันได้เป็นเกลอกับธรรมชาติ คือแผ่นดิน แล้วก็ต้นไม้ พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ ท่านเป็นเกลอกับธรรมชาติถึงขนาดนี้ นี่เราพยายามเป็นอยู่ให้เหมือนท่าน ความคิดนึกในจิตใจ มันก็จะเกิดได้ง่าย ในทางที่มันคล้าย ๆ กัน ฉะนั้นขอให้พอใจหรือยินดีเป็นพิเศษ ในการที่ได้นั่งกลางดินอย่างที่กำลังนั่นอยู่ที่นี่ เพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้า
            ทีนี้ทำไมจึงเลือกเอาเวลานี้ เวลา 11 โมงครึ่ง? เพราะว่ามันเป็นเวลาที่ง่วงนอน เป็นเวลาที่รับประทานเข้าไปมาก แล้วก็ง่วงนอน อาตมาก็เลือกเอาเวลานี้ เพราะมันเป็นเวลาที่มี่ประโยชน์เพื่อจะได้ต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า ถีนะมิทธะ; ถีนะมิทธะ ความง่วง ความซึมเซา ความง่วงนอน ความมันซา ความละเหี่ย; ต้องการจะให้ท่านทั้งหลาย ได้มีโอกาสรับประทานอิ่มแล้ว มานั่งง่วงนอนซึมเซา เป็นความรู้สักเกิดขึ้นมาในใจแล้วต่อสู้ให้ชนะได้ เหมือนพระพุทธเจ้าต่อสู้จนชนะมาร มารคือ อวิชชา ความไม่รู้ คลอดลูกออกมาเป็นถีนะมิทธะ ถ้าขจัดถีนะมิทธะไม่ได้เป็นอันว่าจิตนี้ไม่แจ่มใจ ดังนั้นการเจริญสมาธิ ต้องกำจัดนิวรณ์ 5 ประการ คือ กามะฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา; ฟังดุให้ดีว่าใน 5 อย่างนั้นมันมีถีนะมิทธะ อยู่ด้วย ถ้าผุ้ใดใจอ่อนแอ จนถึงขนาดที่ต่อสู้ พีนะมิทธะไม่ได้แล้ว ย่อมแสดงว่าจิตใจของคนนั้นยังอ่อนแอ ยังไม่แข็งกล้าพอที่จะรู้ธรรมะได้ ฉะนั้นขอให้เราทุกคนพยายามต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า ถีนะมิทธะ; รับประทานมาก ๆ แล้ว เสร็จใหม่ ๆ มันเกิดง่าย มันเกิดมาก จึงเลือกเอาเวลานี้ ว่าจะได้ต่อสู้กับ ถีนะมิทธะเต็มที่ ฉะนั้นก็คอยจับตาดุซึ่งกันและกันก็แล้วกัน ว่าใครนั่งสับประหงกบ้าง นั่นคือมี ถีนะมิทธะ ถ้าคนนั้นยังนั่งสัปหงกก็แปลว่าคนนั้นยังมี ถีนะมิทธะจิตใจนั้นยังไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดี ที่จะเป็นจิตใจที่แจ่มใสหรือเข้มแข็งพอที่จะรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ฉะนั้นขอให้ถือว่า ถีนะมิทธะ เป็นศัตรูอันร้ายกาจ ลึกซึ้ง กิเลสทั้งหลายมันเนื่องกันหมด : ถ้ามีกิเลสประเภท ถีนะมิทธะ แล้ว ไม่ต้องสงสัยกิเลสประเภทอื่นก็ย่อมมี ถ้ากำจัดกิเลสอันนี้ ซึ่งกำจัดได้ยากนี้ได้ กิเลสอันอื่นก็เป็นอันว่าจะต้องกำจัดได้
            ทีนี้ ขออภัยสักหน่อยที่ว่าจะเล่าเรื่องส่วนตัว เมื่ออาตมาไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปอยู่ที่วัด ๆ หนึ่ง วัดนี้มีระเบียบมาแต่โบราณกาล ฉันเช้า 7 โมงครึ่งเศษ ๆ พอเสร็จฉันเช้า 8 โมงลงโบสถ์ ทำวัตรเช้า ก็คิดดูซิฉันข้าวใหม่ ๆ 8 โมง ไปทำวัตรเช้า เราก็ได้มีโอกาสนั่งดูว่า ใครมันสับประหงกบ้าง แต่อาตมาขอยืนยันด้วยเกียรติยศเวลานี้ว่า ไม่เคยแพ้เลย มีแต่ได้นั่งหัวเราะคนที่สัปหงกตัวเองไม่เคยสัปหงก ทีนี้ถ้าว่าเป็นวันอุโบสถคือวันพระ กฎของวัดมีว่าฉันเพลเวลา 11 น. เศษ ๆ  ก็เสร็จจวน ๆ 12 น พอถึง 12 น. นั้น ไปอยู่กันในโบสถ์หมดแล้ว พอนาฬิกาในโบสถ์ตีเป๋งนี้ เขาผลักประตูดังโครมลั่นกลอนดังโครมทั้งประตูโบสถ์และประตูวิหารคดไม่ให้ใครเข้ามาแล้ว แล้วก็ลงอุโบสถเวลา 12 นาฬิกา เที่ยงเช่นอย่างนี้ มีหลาย ๆ สิบองค์ เราก็ยังได้นั่งดูว่าใครมันสับประหงกบ้าง การนั่งฟังปาฏิโมกข์นั่นชวนง่วง ชวนสับประหงกง่ายที่สุด เพราะมันไม่รู้ว่าอะไร นั่นฟังอย่างนี้มันยังรู้เรื่อง มันยังสับประหงกยาก เพราะมันรู้เรื่องอยู่บ้าง; แต้นั่งฟังปาฏิโมกข์นี้ ถ้าไม่ใจแข็งจริง ๆ แล้ว ก็จะต้องโงกง่วงสับประหงก อาตมาก็ไม่ยอมแพ้ นี่กล้าพูด กล้ายืนยันว่า ไม่เคยสับประหงก ในการที่ลงโบสถ์ฟังปาฏิโมกข์เวลา 12 น ฉันเพลงเสร็จไปใหม่ ๆ
            ทีนี้ก็มองเห็นอานิสงส์อันนี้ว่า แหม ! นี้มันเป็นเครื่องทดสอบ เป็นเครื่องสอบไล่ เป็นเครื่องวัด ว่าถ้าเราเอาชนะ ถีนะมิทธะ อย่างนี้ได้ เรามีจิตใจเข้มแข็งพอสมควร มีความแจ่มใสพอสมควร ที่จะแจ่มแจ้งในธรรมของพระพุทธเจ้า
        ทีนี้เรามาดุถึงคนทั่วไป พอกินเข้าไปอิ่ม ก็ง่วงนอน ง่วงนอนเขาก็นอนไม่มีใครว่าเขา ไม่มีใครเป็นนายเขา เขาก็นอนกันเสียงีบหนึ่ง เมื่อฝรั่งมาเป็นเจ้าเป็นนายอยู่ที่ประเทศอินโดจีน มาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของพวกทางนี้ว่า พอเที่ยงตี 12 ก็ปิดออฟฟิศ นอนกันถึงบ่าย 2 โมง ลุกขึ้นทำงานใหม่ นี่ออฟฟิศราชการที่พวกฝรั่งเขามาจัดให้ที่อินโดจีน; ในเมืองไทยเขาทำไม่ได้ เพราะเขาไม่เป็นนายถึงขนาดนั้น เขามาแก้นิสัยที่เคยอดทนของชายตะวันออกนี้ให้กลายเป็นคนขี้นอนเหมือนพวกเขา อ้างเหตุว่าเป็นเมืองร้อน เป็นฤดูร้อน ตอนเที่ยงต้องนอนแล้วมันก็นอน 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 12 ถึงบ่าย 2 โมงนั้น ปิดออฟฟิศให้นอนกัน อย่างนี้เป็นการเพาะนิสัย ให้มี ถีนะมิทธะ มากขึ้น ถ้าเราเป็นพุทธบริษัทเราต้องต่อสู้ ให้ถีนะมิทธะ นี้วินาศไป อย่าให้มีเหลือ มันต้องแจ่มใส แม้แต่เวลาที่รับประทานอาหารอิ่มแล้วก็ต้องแจ่มใส ถ้ากลัวจะไม่แจ่มใสก็อย่ารับประทานเข้าไปมาก หรือถ้ากลัวมากกว่านั้นอีกก็อย่ารับประทานเลยดีกว่า มันจะไม่ง่วงนอน
            ระเบียบของพระพุทธเจ้า ท่านไปบิณฑบาตตอนเช้า ไปสาย ๆ ไปในเมืองได้แล้วก็ออกมานอกเมือง แล้วก็มาฉัน มันก็สายมากจวนจะเที่ยง แล้วก็มีบาลีกล่าวไว้ชัดว่า จากนั้นท่านก็อยู่ทิวาวิหาร ทิวา แปลว่ากลางวัน วิหาร แปลว่าอยู่; ทิวาวิหาร แปลว่าอยู่กลางวัน ตอนบ่าย ตอนเย็นท่านจึงจะได้ไปวัด แล้วไปทำหน้าที่สอนภิกษุอะไรตามเคย ทีนี้คนขี้นอน มันก็เข้าใจเอาเองว่า ทิวาวิหารนั้นคือนอน; นี่โกหกใส่พระพุทธเจ้า วิวาวิหาร ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้หมายความว่านอน คือเมื่อรับประทานอาหารเสร็จไปแล้ว อยู่ทิวาวิหาร คือนั่งด้วยสมาธิ ถ้าพูดอีกทีก็คือนั่งต่อสู้กับ  ถีนะมิทธะ ด้วยอำนาจของสมาธิ แต่ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ท่านเคยชิ ทำมาแล้วแต่กาลก่อน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาสำหรับท่าน ฉะนั้นทิวาวิหาร ของพระพุทธเจ้าตอนเที่ยงนั้น ไม่ใช่นอน ไม่ใช่หลับ แล้วก็ไม่ใช่เอนตัวนอน ลูกศิษย์รุ่นหลังมันขี้เกียจ มันขี้นอน มันเลยอธิบายกันอย่างนั้น; มันโกหกใส่พระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าฉันแล้ว ก็นอนเสียพักหนึ่ง แล้วจึงจะไปทำอะไร ๆ
            นี่ขอให้คิดดูถึงเรื่องเหล่านี้ ว่าสิ่งที่เรียกว่า ถีนะมิทธะ นั้นมันเป็นปัญหาอย่างไรบ้าง? เราควรจะต่อสู้กับมันอย่างไรบ้าง? อาตมาก็มองเห็นประโยชน์อันนี้จึงเลือกเอาเวลาที่ว่ามี ถีนะมิทธะ ได้ง่ายนี้เป็นเวลาบรรยาย จึงเลือกเอาเวลา 11 ครึ่ง หรือ 12 น. เป็นเวลาบรรยาย; เป็นเวลาที่เขานอนกัน หรือที่พวกฝรั่งมาสอนให้พวกอินโดจีนนอน; ซึ่งเขาไม่เคยนอน มาลบล้างวัฒนธรรมของเขา
            นี่ขอให้สนใจคำว่า ถีนะมิทธะ ว่ามันเป็นข้าศึกอันร้ายกาจ ที่ทำให้คนเสียนิสัย มึนชา ซึมเซา ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง; แม้ไม่นอนมันก็ซึมเซา มันไม่แจ่มใส มันไม่กระจ่าง; นี่คือต้นเหตุที่ทำให้ไม่เกิดสมาธิ ไม่เกิดญาณ ไม่เกิดญาณทัสสนะ หรือแสงสว่างในจิตใจ
            เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าการที่เรามานั่งฟังอะไร ในเวลาเที่ยงซึ่งชวนให้ง่วงนอนนี้ เป็นการฝึกจิตอยู่แล้วในตัว; พูดให้ชัดก็คือว่า เป็นการฝึกสมาธิอยู่แล้วในตัว ถ้าไม่มี ถีนะมิทธะ ก็แปลว่าไม่มีนิวรณ์; ถ้ามี่มีนิวรณ์ก็แปลว่าจิตเป็นสมาธิ เพราะมีหลักอยู่ชัดเจนแล้วว่า จิตที่เป็นสมาธินั้น คือจิตที่ปราศจากนิวรณ์ ถ้าเดี๋ยวนี้เราไม่มีนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถีนะมิทธะ เราก็เป็นผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิอยู่แล้วโดยปริยายใดปริยายหนึ่งในลักษณะหนึ่ง ฉะนั้นควรจะพอใจแม้ว่าจะมานั่งฟังในเวลาที่ชวนให้ง่วงนอน
            นี้ขออย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องที่แกล้งทำให้ลำบาก; แต่เป็นเรื่องที่ฝึกฝนชวนกันฝึกฝนให้เข้มแข็ง ฉะนั้นก็เลยขอโอกาส ขอร้องไปเสียด้วยเลยว่า ต่อไปนี้ไปที่บ้านหรือไปที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ใช่เวลานอนแล้วก็ขอให้บังคับ ไม่ให้มันมี ถีนะมิทธะ คือง่วงนอน และถึงแม้เวลานอนเป็นเวลาที่ควรนอน แต่ถ้าไม่มีเรื่องที่จะต้องทำอะไร มันก็ต้องทำได้ ต้องไม่ง่วงนอน; คือให้มันเป็นได้ทั้งที่ว่าจะทำหรือจะไม่ทำ อาตมานี่ถ้าว่า ไม่มีธุระอะไร กินนอนเหมือนกัน ขอสารภาพว่าตั้งแต่อายุมันมากเข้านี้ ตอนบ่ายมักจะนอนเหมือนกัน แต่พอมันมีเรื่องต้องทำเช่นไปบวชนาค ตั้งแต่เที่ยงจนเย็นนี้ มันก็ไม่นอน มันก็ทำได้ แล้วก็ไม่เสียหายอะไร นี้เรียกว่าเราจะต้องทำได้ตามต้องการทุกอย่าง
            ในเรื่องเกี่ยวกับ ถีนะมิทธะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการศึกษาธรรมะเกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อไร ต้องศึกษาได้เมื่อนั้น เดี๋ยวนี่พระเณรมันขี้นอน มันก็นอนเสียมากกว่าที่จะเรียน แม้เรียนมันก็เรียนอย่างซึมเซา อย่างจิตใจที่ซึมเซา เพราะฉะนั้นส่วนมากมันจึงสอบไล่ตกทั้งนั้น เพราะอุปสรรคเพียงข้อเดียวคือ ถีนะมิทธะ ฉะนั้นเป็นการถูกต้องอย่างยิ่งที่ว่าจะฝึกฝนแก้ไข ถีนะมิทธะ ด้วยการมีการกระทำเช่นอย่างนี้ คือเราจะศึกษาหรือพูดจากันในเวลาทีมันชวนง่วงนอน เช่นเดียวกับที่วัดในกรุงเทพฯ ที่อาตมาเคยไปอยู่นั้น ทำวัตรเช้าในเวลาที่มันชวนง่วงนอนที่สุด ลงปาฏิโมกข์ในเวลาที่มันชวนง่วงนอนที่สุด ท่านจะมีเจตนาอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ท่านทำกันมาอย่างนั้น หลายชั่วท่านเจ้าอาวาสแล้ว บอกไม่ถูก; อาตมาเห็นว่าดี ดังนั้นเดี๋ยวนี้ก็ขอให้ถือว่าดี ที่มานั่งต่อสู้กับถีนะมิทธะ เพื่อจะฟัง นี้ดูจะเป็นเรื่องนอกเรื่องมากไปแล้ว เป็นเรื่องส่วนตัวด้วย; แต่ว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับท่านทั้งหลาย คือท่านทั้งหลายจะต้องเอาชนะความรู้สึก มึนชา ซึมเซา ง่วงเหงาหาวนอน นี้ให้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ เพราะธรรมะนี้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
            ทีนี้อาตมาจะบรรยาย เรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพื่อให้ท่านทั้งหลายนอน ก็คอยดูซิ เพราะเรื่องนี้มันฟังยาก มันเข้าใจยาก คงจะมีคนหลับกันมากกว่าเรื่องอื่น ดังนั้นขอให้คอยเหลียวกูกันว่าใครมันจะสับประหงกที่สุดนี้มาพูด ในเวลาที่มันชวนง่วงนอนที่สุดเหมือนกัน เอาละ ทีนี้จะได้วกไปพูดเรื่องที่เป็นเรื่องราวกันเสียที การบรรยายตลอดปี ปีนี้ จะพูดถึงเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง ยิ่งขึ้นไปกว่าทุก ๆ ปี จะพูดถึงเรื่องที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยแท้จริงยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าที่พูดมาแล้วทุก ๆ ปี
[เริ่มบรรยาย ตัวเรื่อง อิทัปปัจจยตา]
            อะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่จะพูดกันตลอดปีนี้? ก็คือสิ่งที่ท่านทั้งหลายฟังไม่รู้เรื่องว่าอะไร ที่พระท่านสวดว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตานี้ คือหัวใจของพุทธศาสนาที่แท้จริงยิ่งกว่าที่พูดมาแล้วแต่ปีก่อน ๆ ในสูตรที่เป็นที่มาที่สวดไปเมื่อตะกี้นี้ ในขนาด 2 หน้ากระดาษครึ่งเท่านั้นแหละ พระไตรปิฎกนั้น 2 หน้ากระดาษครึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นสูตรที่ 10ของวรรค ชื่อว่า อาหารวรรคนิทานสังยุตร์ แห่งคัมภีร์สังยุตตนิกาย สูตรนี้เป็นสูตรที่ 10 มีอยู่ราว 2 หน้ากระดาษครึ่ง ชั่ว 2 หน้ากระดาษครึ่งนี้ เอ่ยถึงคำว่า อิทัปปัจจยตา ถึง 22 หน ขอให้ฟังดุให้ดี ชั่วที่พระสวดเมื่อตะกี้มีคำว่า อิทัปปัจจยตา ถึง 22 ครั้ง มีคำว่าธัมมนิยามตา ธัมมัฏฐิตตา อย่างละ 11 ครั้ง; มีคำว่า ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา อย่างละ 11 ครั้ง คำเหล่านี้ที่ออกชื่อว่า ตา ๆ  ๆ นี้ คือหัวใจของพุทธศาสนาถึงที่สุดอย่างยิ่งที่แท้จริง แต่ว่าท่านทั้งหลายไม่เคยได้ยิน; จะไปโทษใครก็ไม่ได้  จะไปโทษบรรพบุรุษครูบาอาจารย์ แต่กาลก่อน ว่าทำไมไม่เอามาให้ได้ยินได้ฟัง ก็โทษไม่ได้ ไม่มีเหตุผลจะไปโทษท่าน ยกเลิกกันดีกว่า; เอาเพียงแต่ว่า เดี๋ยวนี้เราไม่เคยได้ยินคำที่สำคัญที่สุด คือคำว่า อิทัปปัจจยตา ที่เป็นหัวใจอย่างยิ่งของพุทธศาสนา ในบรรดาสิ่งที่ลึกซึ้งเห็นยาก ที่ชื่อว่า ทุทฺทสํ ทุทฺทสํ โข ภิกฺขเว ฐามํ ฐานะที่เห็นได้ยากอย่างยิ่ง; ก็คือ อิทัปปัจจยตาในปฏิจจสมุปบาทท นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็คือบทที่ว่า สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพพานํ; คือนิพพาน นี้อีกอย่างหนึ่ง; เป็น 2 อย่างเท่านั้น เรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า เห็นยากที่สุด เข้าใจยากที่สุด ทุทฺทสํ นี่; -ทุทฺทสํ เห็นยากที่สุดจนไม่อยากจะสอนใคร ตรัสรู้แล้วไม่อยากจะสอนใคร เรื่องที่เห็นยากที่สุดนี้ มี 2 เรื่องเท่านั้น คือเรื่อง.ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายเกิดทุกข์ แล้วก็เรื่องนิพพาน ฝ่ายดับทุกข์; แต่ทั้งสองเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องเดียวกัน
            นี้ขอให้ช่วยจำไว้หน่อยว่า ในพระไตรปิฎก ฝ่ายเถรวาทเรา ไม่ใช่ฝ่ายมหายาน สูตรเพียง 2 หน้ากระดาษครึ่ง มีคำว่า อิทัปปัจจยตา ในสูตรนั้นถึง 22 ครั้ง แล้วมีคำว่า ตถตา ตถตา นี่ ในสูตรนั้น มีถึง 11 ครั้ง แต่ว่า ตถตาที่เรียวชื่ออย่างอื่น ไม่ได้เรียกชื่อด้วยคำนี้ มีทั่วไปในพระไตรปิฏก ฝ่ายมหายาน หรือฝ่ายพวกจีนเขาเอาไปพูดกันมาก คำว่า ตถตา; ฝรั่งก็สนใจมาก คำว่า ตถตา ไปเรียกว่า ความเป็นอย่างนั้น ตามพระบาลีเดิม ตถตา แปลว่าความเป็นอย่างนั้นความไม่เป็นอย่างอื่น ภาษาฝรั่งแปลเป็นคำสั้น ๆ ว่า suchness ความเป็นอย่างนั้น ภาษาจีนเรียกว่า ยู่สี ยู่สี แปลว่าความเป็นอย่างนั้น ยู่ไล้ คือพระตถาคต ยู่สีคือตถตา คือความเป็นอย่างนั้น แล้วไปอธิบายกันมากมาย หลาย ๆ แขนง มากมายดีเดียว ซึ่งพุทธบริษัทไทยเราไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป คำว่า ตถตา; นี่หัวใจของพุทธศาสนาที่จะพูดถึงในวันนี้
            ทีนี้ขอให้ตั้งใจฟัง ว่าในวันนี้จะไม่พูดอะไร จะพูดแต่สิ่งที่เรียกว่าหัวใจอันแท้จริงของพุทธศาสนา แต่ในนามที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่แสดงความหมายลึกซึ้ง และสำคัญที่สุด
            เมื่อพูดถึงหัวใจพุทธศานา ผู้คงแก่เรียกทั้งหลายก็จะนึกถึงว่า สพฺพปาปสุส อกรณํ กุสลสฺสูปสฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แม้นี้จะเป็นพุทธภาษิต ก็ไม่ได้มุ่งหมายจะแสดงถึงหัวใจที่สุด แต่แสดงหลักกว้าง ๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงตรัสว่า เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านผู้รู้ไหนก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถือเป็นหลักที่ท่านกล่าวได้ ว่าท่านผู้รู้ทั้งหลายจะสอน 3 อย่างนี้ : สพฺพปหาปสฺส อภรณํ อย่าทำบาปทำชั่ว; กุสลสิสูปสมฺปทา ทำแต่กุศล ความดีให้ถึงพร้อม; สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตให้บริสุทธิ์; 3 ข้อนี้เป็นคำสอน เป็นวิธีสอน เป็นการสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย เราอย่าไปตะครุบเอาว่า นี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนาให้มันมากนัก เพราะยังเป็นคำที่ยังกว้างมาก เราก็รู้ได้ทันทีว่า สอนไม่ให้ทำบาปนี้ ศาสนาไหนก็สอน สอนให้ทำดี ศาสนาไหนก็สอน สอนให้ทำจิตบริสุทธิ์ ศาสนาไหนก็สอน อย่าไปโง่; หากแต่ว่าวิธีทำจิตให้บริสุทธิ์นั้น มันมีหลายอย่าง วิธีของเราก็มี วิธีของศาสนาอื่นเขาทำจิตให้บริสุทธิ์โดยวิธีอื่น; ในพุทธศาสนาเรานี้มีวิธีทำจิตให้บริสุทธิ์ ตามศาสนาของเราถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ตามวิธีของพุทธศาสนาเรา ต้องทำจิตให้ แจ่มแจ้ง ในอิทัปปัจจยตา; มันจึงจะบริสุทธิ์จากกิเลสได้
        ทีนี้บางคนจะเถียงว่า หัวใจพุทะศาสนานั่นคืออริยสัจจ์ 4 นี้ทุกคนก็แทบจะได้ยินมาแล้ว ว่าหัวใจพุทธศาสนา คืออริยสัจจ์ 4; นี้ก็จริง และถูกที่สุด แต่มันยังพร่ำ มันยังตั้ง 4 หัว จะเรียกว่าหัวใจมีตั้ง 4 หัว อย่างไรได้; หรือว่า  4 อย่างรวมกัน มันก็มากอย่างเป็น 1 หัว เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความไม่มีทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความไม่มีทุกข์ เรียกอริยสัจจ์ 4 นี้เป็นหัวใจ ทีนี้อย่าลืมว่าทุกข์นั้นก็เป็น อิทปัตจจยตา หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ก็เป็น อิทปัจจยตา ฉะนั้นอริยสัจจ์ 4 นั้น ก็คือ อิทัปัจจยตา อีกชื่อหนึ่ง ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท; คือสูตรหนึ่งในอังคุตตรนิกาย (ติก.อํ.20/227/501) พระพุทธเจ้า ได้ตรัสอริยสัจจ์ชนิดที่ไม่มีใครค้านได้ โดยทรงแสดงด้วยปฏิจจสมุปบาท : แสดงความทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย  ฯลฯ ตามอย่างในที่ทั่ว ๆ ไป ก็แสดงอย่างนั้น พอถึงทุกข์ สมุทัย ท่านก็ขึ้นว่า อะวิชชาปัจจะยา สังขารา; สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง ฯลฯ จนถึงทุกข์; ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์นั่นแหละ คือทุกข์สมุทัย พอถึงทุกขนิโรธ ก็ว่า อะวิชชายะ ต์เววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ ฯลฯ เรื่อยไปจนเป็นความดับทุกข์ คือ ปฏิปจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร นี่ดูซิอริยสัจจ์ 4 ที่เต็มรูป ที่เต็มเปี่ยม เต็มที่นั้น คงแสดงด้วย ปฏิจจสมุปบาท; ไม่ใช่แสดงสั้น ๆ ลุ่น ๆ เหมือนที่เราได้ยินได้ฟังกันโดยมาก ซึ่งเรียกว่าอริยสัจจ์ย่อ หรืออริยสัจจธรรมดา ถ้าอริยสัจจ์สมบูรณ์แบบ คือเต็มที่แล้ว ทุกขสมุทัยต้องแสดงด้วยปฏิจจสมุปบาทฝ่าย สมุทยวาร แล้วทุกขนิโรธต้องแสดงด้วยปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร ฉะนั้นเรื่อง ปกิจจสมุปบาท ก็คือเรื่องอริยสัจจ์ เรื่องอริยสัจจ์อันสมบูรณ์แบบก็คือ เรื่อง ปฏิจนสมุปบาท และเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือเรื่อง อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้เราก็เปรียบเทียบกันดูซิว่า มันเป็นหัวใจอย่างไร เป็นหัวใจมากน้อยกว่ากันอย่างไร? ถ้าไปพูดถึงเรื่องว่าอย่าทำบาป ก็มีเรื่องมาก ทำแต่บุญ ก็มีเรื่องมา ทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ยังมีวิธีมาก มีเรื่องมาก ทีนี้พูดว่าให้รู้จักอิทัปปัจจยตา คือ เห็นว่า เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น นี่เป็นหัวใจกว่า; เพราะว่าถ้ารู้อันนี้แล้ว มันมีความรู้สึกที่เป็นไปเอง ในตัวมันเอง มันทำบาปไม่ได้ ถ้าคนเห็น อิทัปปัจจยตา แล้วทำบาปไม่ได้ ทำบุญก็เป็นบุญอยู่ในตัวโดยไม่ต้องทำ และจิตบริสุทธิ์อยู่ในตัวมันเองเมื่อเห็น อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้จะดูกันอีกทีหนึ่งก็ว่า ไอ้บาปนี้คือตัว อิทัปปัจจยตา ในฝ่ายบาป ฉะนั้นการทำบาป ก็คืออิทัปปัจจยตา; ไอ้บุญกุศลก็เป็น อิทัปปัจจยตา ในฝ่ายบุญ ฉะนั้นการทำบุญ ทำกุศล ก็เป็น อิทัปปัจจยตา; การทำจิตให้ดีขึ้น ๆ ๆ จนเกิดปรากฏเป็นความดับทุกข์ นี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นในโอวาทปาฏิโมกข์ 3 ข้อนั้นก็ดี ในอริยสัจจ์ก็ดี หัวใจของมันนั้น คืออิทัปปัจจยตา ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะต้องพูดยาวว่าทุกข์ ว่าเหตุให้เกิดทุกข์ ว่าความดับแห่งทุกข์ ว่าทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ นี้ต้องพูดถึงอย่างนี้; กับพูดว่า อิทัปปัจจยตา คำเดียวนี้ เป็นหัวใจกว่า หรือจะพูดว่า ไม่ทำบาป ทำแต่บุญ ทำจิตให้บริสุทธิ์ นี้ มันก็สูดพูดคำเดียวไม่ได้
            ทีนี้ ถ้าจะพูดเป็นรายละเอียดของปฏิจจสมุปบาท ต้องพูดถึง 11-12 ครั้ง อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ คือความทุกข์ ตั้ง 11 ชั้น 11 ประโยค ทั้ง 11 ประโยคนี้ สรุปเป็นคำพูดสั้น ๆ เพียงคำเดียวว่า อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าจะตรัสอย่างนี้ พอตรัสว่า อิทัปปัจจยตา แล้ว ปฏิจจสมุปปาโท ก็ติดขึ้นมาเลย หรือพูดว่า ปฏิจจสมุปปาโท แล้ว อิทัปปัจจยตา ก็ติดขึ้นมาเอง เป็นไวพจน์ เป็น synonym ของกันและกันใช้แทนกันได้ ฉะนั้นเราอุตส่าห์สวดปฏิจจสมุปบาทกินเวลาตั้งนานนั้น มันสรุปได้ในคำสั้น ๆ เพียงว่า อิทัปปัจจยตา ซึ่งตามตัวหนังสือ แปลว่า เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น นี่คือกฎวิทยาศาสตร์ในสากลจักรวาลของ cosmos ของ logos ไม่ยกเว้นที่ไหน จะมีความหมายของคำว่า อิทัปปัจจยตานี้ ว่าเพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกสิ่งนี้ว่า ธรรมธาตุ ธรรมะแปลว่า ธรรมดา ธา-ตุ แปลว่า ธาตุ ธรรมาตุ ธรรม ธา-ตุ เป็นธาตุแห่งธรรม คือ อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ถ้าพูดว่า อิทัปปัจจยตา มันยาวนัก หลายพยางค์นัก ย่นอีกมันจะเหลือเพียง 3 พยางค์ว่า ตถตา; ตถตา แปลว่ ความเป็นอย่างนั้น ก็คือ อิทัปปัจจยตา ที่หลายพยางค์ก็ยืดยาว นั้นแหละ ที่ยืดยาวว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น 2 ประโยคน้อย ๆ นี้เอามารวมกันเข้าเป็นวลีเดียว เป็นคำพูดคำเดียวว่า ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น แล้วก็มีคำกำกับหรือว่าคำแทนกันได้ว่า อวิตถตา คือ ความผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น และว่า อนัญญถตา คือ ความไม่เป็นไปอย่างอื่น นั่นแหละคือ อิทัปปัจจยตา ดังนั้น พวกจีนเขาจึงเลือกเอาคำที่นั้นที่สุดคือ ตถตา นี้ไปใช้กันมากที่สุดทางฝ่ายมหายาน แล้วยิ่งเป็นภาษาจีนก็เหลือเพียง 2 พยางค์ ยู่สีว ยังลดได้อีกพยางค์หนึ่ง  ภาษาบาลีมันมีถึง 3 พยางค์ว่า ตถตา
            ขอให้เห็นใจพระพุทธเจ้าหรือผู้กล่าว ในการที่จะกล่าวสรุปอะไรให้เหลือเป็นคำสั้น ๆ นั้น มันก็ต้องเว้นคำบางคำ ซึ่งเอาจะฝากรวมไว้กับคำที่เหลืออยู่ เช่นว่า อิทะ แปลว่า นี้; ปัจจยตา แปลว่า ความเป็นปัจจัย; อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความที่มีนี้เป็นปัจจัย : เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เข้าใจเสียก่อนซิว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย แล้ว สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น เหลียวไปทางไหนให้รอบ ๆ ๆ ทั่วโลก ทั่วจักรวาล ทั่วสากลจักรวาล หรือว่าจนหมดอะไร ๆ มันมีอยู่ มันจะพบแต่ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงถือว่าอาการอย่างนี่ คืออาการที่สำคัญที่สุด; คือไม่เป็นอย่างอื่นจะเป็นแต่อย่างนี้ จะไม่เป็นอย่างอื่น ทีนี้เราก็เลือกเอาแต่คำสั้น ๆ คือว่าจะเป็นแต่อย่างนี้ จะเป็นแต่อย่างนี้ คือตถตา; มันก็เลยใช้คำนี้แทนคำว่า อิทัปปัจจยตา มันจะได้สั้นเข้า เหลียวไปทางไหนก็มีแต่ ตถตา; นี้พูดถึงวัตถุล้วน ๆ วัตถุมันเป็นอย่างนั้นคือมันเป็นอย่างที่มันเป็น มันไม่เป็นอย่างอื่นจากที่มันเป็น มันเป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าเพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เพราะมันมีอะไร อยู่ประเภทหน่างเป็นปัจจัย ก้อนหินก้อนนี้จึงเกิดขึ้น และมาตั้งอยู่ที่นี่; ฉะนั้นก้อนหินก้อนนี้จึงเป็น อิทัปปัจจยตา : เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ทีนี้คำประโยคยาวนี้มันย่อให้สั้นลงมาได้ว่า มันมี ความเป็นอย่างนั้นเอง : จึงว่าก้อนหินนี้เป็นอะไร? ตอบว่า เป็นอย่างนั้นเอง”; ก้อนหินนี้จึงเป็น ตถตา นี่คือสิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่เราถือว่าไม่มีชีวิต มันก็เป็น ตถตา ไปตามแบบของสิ่งที่มันไม่มีชีวิต เพราะมันมีปัจจัยสร้างขึ้นมา ชี้ไปถึงต้นไม้ก็อย่างเดียวกัน : ต้นไม้ก็เป็น ตถตา เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้นปรากฏอยู่เป็นต้นไม้ และจะเป็นสัตว์เช่นสุนัขและแมวก็เหมือนกัน อีก เพราะมีสิ่งนี้ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ทีนี้มาถึงคนก็อย่างเดียวกันอีก ทีนี่มาถึงความคิดนึกความรู้สึก ในหัวใจอย่างคน ในหัวใจของคน ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ คือความคิดนึกอย่างนี้มันจึงเกิดขึ้น มันมีปัจจัยอย่างนี้ มันเกิดอย่างนี้ ๆ เพราะปัจจัยอย่างนี้ ๆ มันจึงเกิดอย่างนี้ ๆ เมื่อมีปัจจัยสำหรับจะเป็นทุกข์ มันก็เกิดทุกข์ เมื่อมีปัจจัยสำหรับดับทุกข์ มันก็ดับทุกข์ มันก็ไม่มีทุกข์ เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา จึงไม่มีอะไรที่ไม่เป็น อิทัปปัจจยตา จะเล็งไปในทางไหนก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ความรู้สึกคิดนึกหรือว่าการกระทำการเคลื่อนไหวอะไรของใครก็เป็น อิทัปปัจจยตา
        เหมือนอย่างว่า ท่านทังหลายมาที่นี่ ความรู้สึกที่มาที่นี่นั้นเป็น อิทัปปัจจยตา เพราะมันมีอะไรกระตุ้น เตือน แหย่ อะไรต่าง ๆ ให้อยากมาที่นี่ ความอยากมาที่นี่ เป็น อิทัปปัจจยตา และท่านก็มาที่นี่ แล้วก็ต้องเดินมา ขึ้นรถไฟมา อะไรมา มันก็มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เดินมา ขึ้นรถไฟมา อาการอย่างนั้นก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ทีนี้มาเกิดฟัง รู้ธรรมะ เข้าใจธรรมะที่พูด รู้ธรรมะนี้; การรู้ธรรมมะนี้ ก็เป็นอิทัปปัจจยตา เพราะมันมีปัจจัยแห่งการรู้ธรรมะ มีปัจจัยที่จะให้รู้ธรรมะ มีความฉลาดบ้าง มีอะไรบ้าง มันจึงรู้ธรรมะ เพราะฉะนั้นความรู้ธรรมะนั้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เรามีความรู้ธรรมะเกิดขึ้น ก็เพราะมันมีปัจจัยของการที่จะให้รู้ธรรมะ ทีนี้มีศรัทธา มีศรัทธาอยากจะปฏิบัติธรรมะขึ้นมา ตัวศรัทธานี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา มันเกิดมาจากปัญญา ความรู้เห็น ว่าธรรมะนี้ดี การที่ท่านมีศรัทธาในพระพุทธ ศรัทธาในพระธรรม พระสงฆ์ มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ทีนี้พยายามพากเพียรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติธรรม ความพยายามนั้นมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา มันเป็นผลของเหตุปัจจัยอันใดอันหนึ่ง มันจึงเกิดความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติธรรม นี้ถ้าปฏิบัติได้ สามารถปฏิบัติได้ ความสามารถปฏิบัติได้ นี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา คือมันมีปัจจัยเพียงพอที่จะทำให้ปฏิบัติธรรมได้ ทีนี้ทำได้สำเร็จ ความสำเร็จนั้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา เพราะมันมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ
            นี้ขอให้ดูให้ดีว่าไม่มีอะไรที่มันไม่ใช่ อิทัปปัจจยตา ขออภัยพูดกันตรง ๆ หน่อยว่า ความที่มนุษย์ สัตว์ ต้องมีเพศผู้ เพศเมีย จะต้องสืบพันธุ์; ความจำเป็นที่จะต้องสืบพันธุ์นั้น ก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ถ้าไม่อย่างนั้น มันหายไปหมดแล้ว มันไม่มีสัตว์ ไม่มีคนเหลืออยู่ที่นี่ มันมีความจำเป็นอะไรอันหนึ่งโดยเป็นธรรมชาติ หรือโดยกฎของธรรมชาติอะไรก็ตาม ความจำเป็นที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องสืบพันธุ์ สัตว์เซลล์หนึ่งก็ต้องสืบพันธุ์ สัตว์หลายเซลล์ก็สืบพันธุ์ สัตว์แมลงก็สืบพันธุ์ สัตว์มีกระดูกสันหลังก็สืบพันธุ์ กระทั่งคนก็สืบพันธุ์; ความต้องสืบพันธุ์ ความจำเป็นที่ต้องสืบพันธ์นี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา แต่ว่ามันมีปัจจัยที่ลึกซึ้งมาก ที่เอามาอธิบายยาก แต่แล้วก็ไม่ต้องกลัว มันเป็นปัจจัยอันหนึ่งซึ่งลึกซึ้งมากที่ทำให้สัตว์ที่มีชีวิตต้องสืบพันธุ์ ทีนี้มันก็เกิดความอยากที่จะสืบพันธุ์ขึ้นมาในสัตว์ที่มีชีวิต เมื่อมันถึงกำหนด ถึงอายุ นี่ความอยากสืบพันธุ์นี้ก็เป็น อิทัปปัจจยา ทีรุนแรงขึ้น ทีนี้เมื่อมีการสืบพันธุ์ การสืบพันธุ์โดยความหมายก็ดี โดยการกระทำก็ดีนั้น ก็เป็น อิทัปปัจจยตา มันมีปัจจัยที่ทำให้ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น ทีนี้การตั้งครรภ์ มีท้อง มีครรภ์ มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ที่ชัดมากขึ้นอีก การคลอดลูกออกมา มันก็ยิ่งเป็น อทัปปัจจยตา มากขึ้นไปอีก ความเจิรญเติบโตจนมาเป็นพวกเราที่มานั่งอยู่ที่นี่ก็ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา ยิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา หลายซับหลายซ้อน อยากมาที่นี่ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แล้วก็มาได้ด้วยเหตุปัจจัยอย่างนั้นอย่างนี้ มันยิ่งเป็นอิทัปปัจจยตา ซ้อนกันหลาย ๆชั้น เราจึงได้มานั่งพูดกันอยู่ที่นี่ ขอให้ดูความเป็นอิทัปปัจจยตา ว่าเป็นอย่างนี้ มันอยู่ในสิ่งทุกสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต แต่เนื่องจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึกนั้น มันไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นอย่าไปพูดถึง; มันไม่มีปัญหา มันไม่ใช่ปัญหา; มันจะต้องพูดถึงแต่สิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกที่จะเป็นทุกข์ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า เรื่องอริยสัจจ์นี้ ฉันพูดเฉพาะผู้ที่มีเวทนา นี้จะเคยได้ยินหรือไม่เคยได้ยินก็ตามใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้นว่าเรื่อง อริยสัจจ์ 4 นี้ฉันพูดสำหรับผู้ที่มีเวทนา คือมีความรู้สึก ถ้ามันหมดความรู้สึกไม่มีเวทนา หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีเวทนา มันก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องอริยสัจจ์ เพราะเรื่องอริยสัจจ์ นี่พูดสำหรับคนที่มีความรู้สึก และเป็นทุกข์ หรือต้องการจะดับทุกข์ แต่คำว่า อิทัปปัจจยตา มันกว้างไปกว่านั้น มันแสดงความหมาย แม้ว่าสิ่งนี้ไม่มีชีวิตไม่มีความรู้สึก มันก็มีกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา อยู่ในนั้น เหมือนว่าก้อนหินก้อนนี้มาตั้งอยู่ได้ที่นี่ มันมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง คือมันใช้เวลากี่ล้าน ๆ ปี จึงเป็นก้อนหินขึ้นมา แล้วกี่ล้าน ๆ ปี กี่ร้อยล้านปี มันก็สลายกลายเป็นอันอื่นไป อย่างก้อนหินทราบนี้มันก็คงหลายหมื่นล้านปี มันจึงจะเป็นหินทรายอย่างนี้ขึ้นมารได้; แล้ววันหนึ่งมันก็จะสลายกลับไปเป็นธาตุตามนั้นของมัน นี้เรียกว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เป็น อิทัปปัจจยตา มีชีวิตก็เป็น อิทัปปัจจยตา ความคิดนึกของสิ่งที่มีชีวิตก็เป็นอิทัปปัจจยตา ส่วนใหญ่ทั้งหมดรวมทั้งตัวเรานี้เป็น อิทัปปัจจยตา ทีนี้แม้ส่วนย่อย แบ่งออกเป็น ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ แต่ละอย่าง ๆ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ตามแบบของมัน ของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯฃฯ หรือจะแบ่งเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ละธาตุ มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา  ตามแบบของมัน คือมันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดมาอย่างนั้น : เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย ผมจึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย ขนจึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย เล็บ หนัง ฟัน จึงเกิดขึ้น ๆ; นี้ส่วนร่างกาย ทีนี้พอมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย เวทนา ความรู้สึกแห่งจิตจึงเกิดขึ้น ทีนี้สัญญาเกิดขึ้น สังขารเกิดขึ้น วิญญาณเกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้น ถ้าจะว่าให้มันย่อยลวงไปอีก เช่นว่าในเนื้อนี้มันก็มีเลือด มีอะไรทุกอย่างแล้ว ถ้าว่าจะแยกเป็นโมลิคิวเป็นอะตอม  เป็นอีเล็กตรอน โปรตอน อะไรก็ตาม ทุกชิ้นยิ่งแยกไปเท่าไร ก็ยิ่งมีความเป็น อิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นกระทั่งว่า ความที่มันว่าง มันก็อยู่ในกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา : เมื่อไม่มีปัจจัยแห่งการเกิดขึ้น ความวุ่นก็ไม่มี; มันก็เป็นความว่าง ฉะนั้น ความไม่มี มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ความมี มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ไปแบบหนึ่ง มันมีเหตุมีปัจจัยสำหรับ ความมี มีเหตุมีปัจจัยสำหรับ ความไม่มี
            ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ฉลาดอีก ท่านจึงไม่พูดว่ามี ไม่พูดว่า ไม่มี; ท่านพูดเสียว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าใครมาเสนอว่า โลกนี้มี ท่านก็จะพูดว่า; (นี่ถ้าพูดอย่างอาตมาพูด ก็พูดหยาบ ๆ ว่า) ไอ้บ้า”; ถ้ามาเสนอว่าโลกนี้ไม่มี ก็จะว่า ไอ้บ้า”; นี่อาตมาเป็นคนพูดหยาบ แต่พระพุทธเจ้าท่านสุภาพ ท่านไม่พูดหยาบ ท่านพูดว่า ไม่ใช่-ไม่ใช่ มันเป็น อิทัปปัจจยตา อย่าพูดว่า มี อย่าพูดว่า ไม่มี
            ฉะนั้นเราจึงจับหลักได้ทันทีว่าทุก ๆ อย่างมีความหมายอยู่ที่ อิทัปปัจจยตา ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา ถ้าไม่อยากเรียกให้หลายคำนักก็เรียกว่า ตถตา ทุกอย่างเป็น ตถตา ถ้าใครรู้จัก ตถตา ก็คือรู้จักทุกอย่าง ดังนั้นนอกจากจะต้องรู้จักตัวมันทุกอย่างแล้ว จะต้องรู้จักกฎเกณฑธ์ของมันด้วย กฎเกณฑ์ก็เป็นอิทัปปัจจยตา เดี๋ยวก่อนจะพูดเสียให้หมดเลย ว่าความที่มีสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีขึ้นมานี้ก็เป็นอิทัปปัจจยตา นั้นมี นี้มี นี่เราพูดอย่างนี้เราโง่ หาเป็นพระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัสว่ามี ท่านตรัสว่า อิทัปปัจจยตา เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น หรือปรากฏอยู่ ฉะนั้นการที่มีสิ่งนี้ขึ้น มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา ทีนี้ความที่สิ่งทั้งหลายต้องมีกฎ ความที่สิ่งทั้งปวงต้องมีกฎ มีเกณฑ์ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ทีนี้ตัวกฎเกณฑ์นั้น ก็เป็น อิทัปปัจจยตา อย่างน้อยก็เพราะมันมีเหตุปัจจัยอย่างนี้ ๆ กฎนี้จึงเกิดขึ้น กฎว่าอยางนี้จึงเกิดขึ้น : กฎวิทยาศาสตร์ กฎอะไรก็ตาม กฎธรรมะ อะไรก็ตาม ที่เป็นกฎ เป็นเกณฑ์ เป็นสัจจธรรมแล้ว มันก็อยู่ในวิสัยแห่งอิทัปปัจจยตาด้วยเหมือนกัน ทีนี้การที่ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามกฎนี้ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ด้วยกฎนั้นมันอย่างหนึ่ง ตัวความที่สิ่งทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามกฎนี้ มันก็อีกอย่างหนึ่ง แต่แล้วมันก็ยังคงเป็นอิทัปปัจจยตา ทีนี้ความที่มันเป็นไปตามกฎ เป็นไปตามกฎ เป็นไปตามกฎ นี่มันก็เป็น อิทัปปัจจยตา หรือว่าเมื่อมันเป็นไปถึงที่สุดที่มันจะเป็นไปได้ ถ้าว่ามี ถ้าว่ามีที่สุด มันก็ยังคงเป็น อิทัปปัจจยตา; มันเป็นไปไม่ถึงที่สุดมันก็ยังเป็น อิทัปปัจจยตา มันไปทางนั้นก็ อิทัปปัจจยตา มันไปทางนี้ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ไปทางโน้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา เกิดขึ้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา ดับลงก็เป็น อิทัปปัจจยตา
            นี้อาตมาแกล้วพูดคำว่า อิทัปปัจจยตา หลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง ให้มันชินหูของท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ยินมาแต่กลาก่อน จึงใช้คำว่า อิทัปปัจจยตา ให้ชินหูกันตังแต่วันนี้ไปจนถึงวันหลัง ๆ ต่อไปจะพูดกันง่าย เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านสอนท่านรักของท่านมาก ก็จะเล่าเรื่องว่าพระพุทธเจ้าท่านรักของท่านมากอย่างไร คือว่าคราวหนึ่งท่านนั่งเล่น(พูดอย่างนี้ขออภัยประหยัดเวลาหน่อย พูดราชาศัพท์มันลำบาก) ท่านนั่งเล่นอยู่พระองค์เดียว เป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านก็ยังอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ ปากของท่านก็พึงพำ ๆ ไป ถ้าอย่างพวกเราคนเดี๋ยวนี้ มันก็ร้องเพลงเล่น ผิวปากเล่น เพราะปากมันอยู่ไม่สุขนี่ มันก็ร้องเพลงลามกอนาจารไปเลยก็มี คนสมัยนี้ เพราะปากมันอยู่ไม่สุข ทีนี้วันนั้นพระพุทะเจ้าเมื่อท่านนั่งอยู่องค์เดียวเท่านั้น ท่านก็ร้อง เพลงเหมือนกัน คือพึมพำ ๆ อิทัปปัจจยตาว่า อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ 3 อย่างนี้ถึงกันเรียกว่า ผัสสะ มีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ฯลฯ คือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา แล้วท่านแจกในกรณีที่เกิดขึ้นทางตาอย่างนี้จนตลอดสาย ทางหูอย่างนี้จนตลอดสาย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจนตลอดสาย ท่าน ร้องเพลงเล่นพระองค์เดียวด้วยเรื่อง อิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นจึงควรจะถือว่า มันเป็นเรื่องสำคัญเกิดกว่าที่จะสำคัญแล้ว ถ้าไม่สำคัญพระพุทธเจ้าจะไม่เอามาพึมพำเล่นอยู่พระองค์เดียว ทีนี้เผอิญคราวนั้นภิกษุองค์หนึ่งแอบมาฟังอยู่ท่านเหลียวไปเห็นเข้า เอ้า ! ดีแล้ว-ดีแล้ว นี่ต้องเล่าเรียน ต้องศึกษา ต้องเรียนธรรมปริยายนี้ คืออิทัปปัจจยตา
            ทำไมมันจึงมีอาการหนักถึงขนาดนี้ ซึ่งถ้าพูดหยาบ ๆ อย่างพวกเราเรียกว่า ขึ้นสมอง : ทำไม อิทัปปัจจยตา มันจึงเต็มอยู่ในจติใจของพระพุทธเจ้า? ขอให้ท่านทั้งหลายคิดดู มันก็เพราะเหตุว่าการที่ท่านสละราชสมบัติออกไปบวชนั้น เพราะว่า อิทัปปัจจยตา มันบังคับ กฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา มันบังคับ มันเป็นความแก่รอบสุกงอมของสติปัญญาที่ต้องการจะไปเรื่อย ๆ ๆ ๆ นี้มันเป็นกฎของ อิทัปปัจจยตา; ท่านจึงทนอยู่ไม่ได้จึงต้องไปบวช พอท่านบวชแล้วท่านก็มีปัญหาใหญ่ยิ่งอยู่ว่า ทุกข์นี้เกิดมาจากอะไร? นี้ถ้าท่านศึกษาให้ดี ท่านจะพบว่าพระพุทธเจ้าออกบวชเที่ยวค้นหา ๆ อยู่ 6 ปี จนกว่าจะตรัสรู้นั้น มีแต่การค้นหาว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากอะไร ตลอด 6 ปี นั้นแหละมัน อิทัปปัจจยตา ค้น อิทัปปัจจยตาด้วยอำนาจการบังคับของ อิทัปปัจจยตา จนกระทั่งพบ อิทัปปัจจยตา ว่าความทุกข์นี้เกิดมาจากชาติ แล้วก็ค้นต่อไปอีกว่าชาติเกิดมาจากอะไร ค้น อิทัปปัจจยตาที่ 2 ว่า ชาติเกิดมาจากอะไร ก็มาจากภพ; ค้นว่าภพมาจากอะไร ก็มาจากอุปทาน; อุปทานมาจากอะไร มันก็ อิทัปปัจจยตา ไปทีละอย่าง ๆ ๆ เหมือนที่พระสวดเมื่อตะกี้ ว่ามันเป็นธรรมธาตุทีมีอยู่ก่อนแล้ว ที่พระตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นมา หรือจะไม่เกิดขึ้นมาก็ตามใจ ไม่รู้ไม่ชี้หมด ธรรมธาตุอันนี้มีอยู่ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าจะเกิด ธรรมธาตุนี้ก็เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจะไม่เกิด ธรรมธาตุนี้ก็เป็นอย่างนี้
            เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ค้นหา อิทัปปัจจยตา จึงได้พบว่า ความทุกข์มาจาก ชาติจากภพ ภพมาจากอุปาทาน อุปาทานมาจากตัณหา ตัณหามาจากเวทนา เวทนามาจากผัสสะ ผัสสะมาจากอายตนะ อายตนะมาจากนามรูป นามรูปมาจากวิญญาณ วิญญาณมาจากสังขาร สังขารมาจากอวิชชา เลยนั้นไม่ต้องค้นเพรีค้นเท่าไรมันก็พบแต่อวิชชา นี่ถ้าพุดเป็นหลักวิชา เป็นทฤษฎี ก็พูดอย่างนี้ นี่คือ อิทัปปัจจยตา แต่ละข้อ เป็น ปฏิจจสมุปบาท และเป็น อิทัปปัจจยตา ว่าทุกขมาจากชาติ ชาติมาจากภพ ภพมาจากอุปาทาน ฯลฯ เหล่านี้เป็น อิทปัจจยตา หรือเป็น ปฏิจจสมุปบาท ก็เรียกอยู่ทุก ๆ ตอน ฉะนั้นมันจึง ขึ้นสมองท่าน : เมื่อแต่ตรัสรู้ คืนที่จะตรัสรู้ คืนที่จะตรัสรู้นั้นเป็นคนสำคัญที่สุด พิจารณา อิทัปปัจจยตา คือ ปฏิจจสมุปบาท นี้ในปฐมยาม การพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ในปฐมยามนั้น พิจารณาแต่ฝ่ายสุททยาวาร คือ ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ : อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ นี้เรียกว่า สมุทยวาร ในปฐมยามพิจาณาแต่ฝ่าย สมุทยวาร พอสิ้นสุดของปฐมยาม เกิดความรู้แจ้งขึ้นมาวาบหนึ่งเป็นอุทานออกมาทางปาก เป็นพุทธอุทานบทหนึ่งที่ว่า เมื่อใด ธรรมะมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพ่งหาความจริงอยู่...เพราะมารู้ว่าสิ่งทั้งหลายมาแต่เหตุ นี้ก็เป็นผลของการพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ตลอดปฐมยาม พอตรัสรู้หน่อยหนึ่ง ก็ตรัสออกมาเป็นพุทธอุทานทีหนึ่ง มิชฌิมยาม ก็ตรัสรู้เพิ่มขึ้น เพราะพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร ตลอดมิชฌิมยาม พอสิ้นสุดแห่งมัชฌิมยามนี้ก็เปล่งอุทาน เป็นอุทานที่สอง ว่า ...ความสงสัยสิ้นไป เพราะรู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย ทีนี้พอถึงปัจฉิมยามก็พิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายสมุทยวาร และทั้งฝ่ายสินโรธวาร ในที่สุดแห่งปัจฉิมยาม ท่านตรัสรู้ถึงที่สุดและเปล่งอุทานที่สาม ที่ว่า ...เดี๋ยวนี้ มาร และ เสนา สิ้นไป เหมือนดวงอาทิตย์ขึ้นมา กำจัดความมืดให้หายไป นี่คือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยการพิจารณา อิทัปปัจจยตา ทั้งคืน ทั้งคืนนี่ ช่วยจำไว้ด้วยว่าทั้งคืน : ปฐมยามก็พิจารณาส่วนสมุทยวารตลอดยาม มิชฌิมยามก็พิจารณาฝ่าย นิโรธวาร ตลอดยามปัจฌิมยามก็พิจารณาทั้งฝ่าย สมุทยวาร และนิโรธวาร ตลอดยาม พอสว่างพอดีพร้อมกับตรัสรู้ แล้วทำไมจะไม่ ขึ้นสมอง ท่าน : ก่อนตรัสรูก็ค้นแต่ อิทัปปัจจยตา ในคืนตรัสรู้ก็ง่วนกันอยู่แต่ อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ มาถึงตอนที่ว่า พอท่าตรัสรู้แล้วหยก ๆ นั้น คล้าย ๆ กับว่าท่านกลัวว่ามันจะหนีหายไปไหนเสีย อย่างนั้นแหละ ท่านก็นั่งพิจารณาทบทวนอยู่ที่นั่นไม่ลุกจากที่ ไม่ไปฉันอาหาร ไม่ไปบิณฑบาต นี่ตามพระคัมภีร์กล่าวอย่างนั้น อีก 7 วัน; ย้ำหัวตะปู อิทัปปัจจยตา อยู่อีก 7 วัน ไม่บุกไปบิณฑบาต ไม่ลุกไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ลุกไปไหน ข้อความมันมีอย่างนี้ในพระคัมภีร์ ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ; แต่อาตมาเชื่อ การที่มันมีจิตใจจดจ่ออยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดธรรมดานั้น มันไม่หิวข้าว มันไม่ต้องไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ดังนั้นก็แปลว่าท่านย้ำ หรือย้อมย้ำลงไปด้วยอิทัปปัจจยตา อีก 7 วัน ทีนี้ที่ท่านเที่ยวสอนทุกเรื่อง ๆ ที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีหัวใจอยู่ที่อิทัปปัจจยตา ทั้งนั้นโดยเฉพาะเรื่องอริยสัจจ์ทั้งหมด ก็คือกฎเกณฑ์แห่ง อิทัปปัจจยตา และท่านสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทมากที่สุด แต่เขาไม่ค่อยเอามาพูดกันให้ใครได้ยิน เขาถือว่ามันยากไม่ต้องเอามาพุด เอาแต่เรื่องง่ายมาพูด เพราะฉะนั้น เราจึงได้ยินแต่เรื่องง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่เรื่องยากที่สุดของเรื่องทังหมด คือเรื่อง ปฏิจจสมทุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา นี้เต็มไปหมดในคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่เราเข้าใจหรือเราเห็นแต่เพียงว่าที่มันออกชื่อถ้อคำเหล่านี้โดยตรง แต่ที่มันไปอยู่ในคำเหล่าอื่นนั้นเราไม่รู้ เราไม่รู้สึก ดังนั้นไม่มีอะไรเลย ที่ว่ามันจะไม่เป็น อิทัปปัจจยตา ธาตุทั้ง 4 ธาตุทั้ง 6 อะไรมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา อายตนะภายนอก อายตนะภายใน มันก็เป็น อิทปัจจยตา นามก็เป็น อิทัปปัจจยตา รูปก็เป็นอิทัปปัจจยตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ความที่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันสัมพันธ์กันโดยอาการอย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ฉะนั้นพระไตรปิฎกทั้งหมด ทังแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่อง อิทัปปัจจยตา; ถ้าไม่ฝ่ายเกิดก็ฝ่ายดับ ฝ่ายเกิดทุกข์หรือฝ่ายดับทุกข์
            ทีนี้คำที่แทนกันได้ยังมีอีก คือคำว่า ธัมมัฏฐิตตา เมื่อตะกี้พระได้สวดคำว่า ธัมมัฏฐิตตา 11 หน ใครสัปหงกเสียก็ไม่ได้ยินทั้ง 11 หน แต่เมื่อตะกี้นี้พระได้สวดคำว่า ธัมมัฏฐิตตานี้ 11 ครั้ง ธัมมัฏฐิตตา แปลว่ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความตั้งอยู่ตามธรรมดานี้ใช้แทนกันได้กับคำว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา มันก็หมายถึงปรุงแต่ง ๆ ๆ นั่นแหละ คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ไม่ได้มีอะไรอยู่นิ่ง มีแต่ปรุงแต่งกันอยู่เรื่อย
            แล้วคำที่แทนกันได้อีกคำหนึ่งก็ว่า ธัมมนิยามตา แปลว่า กฎตายตัวของธรรมดา ความตั้งอยู่ตามธรรมดาก็ดี กฎอันตายตัวของธรรมดาก็ดี นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา
            เท่าที่สวด ที่พระสวดไปเมื่อตะกี้นี้ คำว่า ธัมมธาตุ ก็คือ อิทัปปัจจยตา ธัมมาตุ แปลว่ ธาตุแห่งธรรม ธรรมาตุ นี้ก็คือ อิทัปปัจจยตา : พระพุทธเจ้าจะเกิดก็ตาม พระพุทธเจ้าจะไม่เกิดก็ตาม ธรรมธตุนี้มีอยู่แล้ว ก็แปลว่า อิทัปปัจจยตานี่มีอยู่แล้ว เป็น ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา บ้าง เป็นกฎตายตัวของธรรมดาบ้าง เป็นตถตา คือความเป็นอย่างนั้นบ้าง เป็น อวิตถตา คือความไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นนอกจากความเป็นอย่างนั้นบ้าง หรือ เป็น อนัญญถตา คือความไม่เป็นไปโดยประการอื่นบ้าง นี้คือ อิทัปปัจจยตา ฉะนั้นคำสอนทั้งหลาย มันจึงเป็น อิทัปปัจจยตา หมดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
            พระพุทธเจ้าจะนิพพานอยู่หยก ๆ แล้ว ประโยคสุดท้ายพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอะไร? ทุกคนก็คงจะนึกได้ ท่านตรัสว่า ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อไป สิ้นไปเป็นธรรมดา; นั่นแหละคือ อิทัปปัจจยตา สรุปท้าย; คำสังคำสุดท้ายที่พระพุทะเจ้าบอกเราเรื่อง อิทัปปัจจยตา ว่าสังขารทั้งหลายเป็น อิทัปปัจจยตา : ความสิ้นไปก็เป็น อิทัปปัจจยตา ความเสื่อมไปก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ท่านทังหลายจงสร้างความไม่ประมาทให้เต็มพร้อมในทุกแห่ง นั้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา แล้วพอสิ้นคำพูดคำสุดท้ายท่านก็เงียบ แล้วท่านก็นิพพาน
            การที่สังขารทังหลายต้องดับไป นี้ก็เป็น อิทัปปัจจยตา ฉะนั้น อิทัปปัจจยตา นี้มันเป็นเสียจนถึงกับว่าไม่มีตั้งต้น หรือไม่มีที่สุด มันเป็นตลอดไป และเป็นไปในทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นจึงถือได้ว่าเป็นหัวใจของทุกสิ่ง อิทัปปัจจยตาคือตัวจริงของทุกสิ่ง หัวใจของทุกสิ่ง อิทัปปัจจยตา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ทีนี้ถ้านอกไปจากนั้น อิทัปปัจจยตา ก็เป็นทุกอย่างที่มันเป็นอยู่ หรือมีอยู่ในโลกนี่ อย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อตะกี้นี้ว้า อะไร มันเป็น อิทัปปัจจยตา แม้แต่ก้อนหิน ก้อนดินขึ้นไป
            ทีนี้ก็อยากจะให้ย้ำหรือให่ทำความเข้าใจย้ำตรงคำว่า ตถตา เพื่อประหยัดเวลา ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เราพูดว่า อิทัปปัจจยตา 6 พยางค์ แต่ถ้าว่าเราพูดว่า ตถตา มันจะมี 3 พยางค์ ถ้าพูดอย่างจีนพูดว่า ยู่สีก็เหลือ 2 พยางค์ ความเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดอย่างบ้านนอก ภาษาบ้านเมืองนี้ก็ว่า พรรค์นั้นแหละ มีเท่านั้นแหละ ถามว่าอะไรเป็นยังไง อะไรเป็นยังไง ก็มีคำตอบว่าพรรค์นั่นแหละไม่มีพรรค์อื่น พรรค์นั้นแหละ อย่าดูถูกคำว่า พรรค์นั้นแหละ นั่นแหละคือความจริงของสากลจักรวาล คือคำว่า ตถตา ในภาษาบาลี ตถ แปลว่า อย่างนั้น ตา แปลว่า ความเป็น ความเป็นอย่างนั้น พูดภาษาบ้านนอกธรรมดาว่า พรรค์นั้นแหละ เช่นถามว่าความตายคืออะไร? พรรค์นั้นแหละ ความเกิดคืออะไร? พรรค์นั้นแหละ; ความสุขคืออะไร? พรรค์นั้นแหละ; ความทุกข์คืออะไร? พรรค์นั้นแหละ คนฟังว่าบ้าแล้ว บ้าแล้ว ! นี่คือดีที่สุด จริงที่สุด ไม่บ้าที่สุดคือคำว่า ตถตา หมายความว่าเมื่อใดเห็นตถตา เมื่อนั้นจะไม่มีความหลง ไม่มีอวิชชาอีกต่อไป จะไม่มีผู้หญิง จะไม่มีผู้ชาย จะไม่มีได้ จะไม่มีเสีย ไม่มีเกิด ไม่มีตาย ไม่มีขึ้น ไม่มีลง คือไม่มีทุกอย่างที่บัญญัติกันเป็นคู่ตรงข้าม; มันเป็นตถตา เหมือนกันไปหมด ไม่มีอะไรนอกจาก ตถตา นั้น
            ฉะนั้นคนที่มีการตรัสรู้แล้วก็คือตรัสรู้ ตถตา เหลียวไปทางไหน ก็เหมือนกันหมด จึงไม่เกิดความรัก ความชัง ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงในสิ่งใดได้; แล้วก็ไม่ทำอะไรให้ผิด หรือให้ถูกได้ มันเหนือความผิด เหนือความถูก; เรียกอีกทีหนึ่งก็ว่า มันเหนือความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ เพราะเห็นตถตา หรือว่าเห็น อิทัปปัจจยตา หรือว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท เหล่านี้จะมาขยายเป็นอริยสัจจ์ เป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ เป็นมรรค ขยายออกไปเถอะ มันก็ไม่พ้นไปจากความเป็น อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้ถ้าเป็นนักภาษาบาลีสักหน่อย ก็ขอให้นึกถึงคำว่า ตถาคตา คำว่า ตถาคต นี้ไม่ใช่หมายถึงพระพุทธเจ้า ในทิฏฐิ 10 คือ อันตคาหิกทิฏฐิ จะใช้คำว่า ตถาคต ทั้งนั้นเลย แต่เรามาพูดเป็นไทย ๆ แปลว่า สัตว์ โหติ ตถาคโต ปรํ มรณา; น โหติ ตถาคโต ปรํ มรณา แปลว่าตถาคตตายแล้ว-มี; ตถาคตตายแล้ว-ไม่มี ที่ออกชื่อว่า ตถาคโต นั้นไม่ใช่บ่งถึงพระพุทธเจ้า คนที่เรียนมาแคบ ๆ จะคิดว่าตถาคโต นั้นหมายถึงพระพุทธเจ้า เลยเกิดปัญหาที่บ้าหลังที่สุดว่า พระพุทธเจ้าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ หรือไม่เกิดอีก ที่แท้คำว่า ตถาคตา นั้นแหลว่า สัตว์ สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั่วไปเลย คือว่า มาอย่างนั้น หรือไปอย่างนั้น เรียกว่า ตถาคโต มันคือ ตถตา ในสัตว์ทั้งหลาย มีความเป็น ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งปลายจึงได้ชื่อว่า ตถาคต : ไปอย่างนั้น หรือมาอย่างนั้น หรืออะไรอย่างนั้น ตถาคต แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั่วไป รวมทั้งพระพุทธเจ้า
            ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกพระองค์เองว่า ตถาคต ก็แปลว่าท่านไม่ได้ยกตัวท่านขึ้นให้สูงกว่าเราแม้แต่อณูเดียว สัตว์ทั้งหลายเป็นตถาคตอย่างไร พระองค์ก็เป็นตถาคตอย่างนั้น การที่พระองค์เรียกว่า เรา ตถาคต นี้เพื่อจะบอกว่า เราก็คือสัตว์เหมือนพวกเธอ คือเป็น ตถาคต เหมือนพวกเธอ นั่นคือสัตว์ทั้งหลายก็มีความเป็น ตถตา อยู่ในความเป็นสัตว์นั้น เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงได้ชื่อว่าตถาคตด้วย พระพุทธเจ้าก็แสดงไว้ชัดเจนแล้วว่า ฉันก็ตถาคต แกก็ตถาคต สัตว์ทั้งหลายก็คือตถาคต; คือท่านไม่สมัครเรียกพระองค์เองด้วยคำอื่นนอกจากคำว่า ตถาคต นี้ก็แปลว่า เป็นการประกาศลัทธิ ตถาคต ไปในตัว; แล้วทรงลดพระองค์ หรือว่าจะเรียกว่าจัดพระองค์ไว้ในฐานะที่เท่ากันกับสัตว์ทั้งหลายคือ เป็นตถาคต เป็นผู้ไปอย่างนั้น มาอย่างนั้น อยู่อย่างนั้น อะไรอย่างนั้น คือว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเหมือนกัน เมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น แปลว่า เนื้อหนัง ร่างกาย กระดูก จิตใจ อะไรของท่าน ก็เหมือนกัน คือมันมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่า ตถาคต นี้ให้ดี ๆ แล้วก็จะเข้าใจ คำว่า ตถตา ได้ดี; หรือว่าถ้าเข้าใจคำว่า ตถตา ดี ก็จะเข้าใจ คำว่าตถาคต ดี เพราะว่าตถาคตก็คือผู้ที่มี ตถตา มีความเป็นอย่างนั้น ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย นี้มันก็จะรวมไปถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย สุนัขและแมวก็เป็นตถาคต เพราะมันมีความเป็นตถตา นี่จะเป็นเหตุให้พูดไปถึงว่า ในสุนัข ในพระพุทธเจ้า ในอะไรก็มีความเป็น ตถตา เหมือนกัน; นี่เราพูดไม่ออก เขาจะด่าเอาว่า เรานี่ดูถูกพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าท่านพูดเอง ว่าเป็นตถาคต สัตว์ทั้งหลายก็เป็น ตถาคต เราก็ตถาคต ตัวเราตัวพระพุทธเจ้าเอง ก็จัดไว้เป็นตถาคต คือมันเป็น ตถาตา หรือเป็น อิทัปปัจจยตา หรือว่าเป็นสักว่า ธรรมธาตุ ธรรมธาตุล้วน ๆ ไม่เป็นอะไรมากไปกว่านั้น ธรรม-ธาตุ ธรรมธาตุ นี้คือ อิทัปปัจจยตา มีความหมายว่าเมื่อมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น; แล้วความที่มันไม่เป็นอย่างอื่นเลย มันจะเป็นแต่อย่างนี้ คือเป็นว่าเพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงใช้คำรวมคำหนึ่งว่า มันมีความเป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้น ๆ ๆ นี่คือ ตถตา ผู้ใดมีความเป็นตถตา ผู้นั้นคือ ตถาคต ฉะนั้นจึงเสมอกันหมด ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลอะไรพิเศษอะไรไปจากไหน เมื่อมันไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเสียแล้ว ความต่างกันระหว่างบุคคลมันก็ไม่มี มันจึงมีแต่ ตถตา มันเลยเห็นความจริงที่สูงสุดว่าไม่มีอะไรนอกจากความเป็นตถตา หรือความเป็น อิทัปปัจจยตา; นี้คือหัวใจของพุทธศาสนา
            อยากจะย้ำเพื่อกันลืมด้วยคำว่า ให้ดูจนเข้าใจว่าไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา นี่เสียก่อน แล้วก็มาดุอีกทีว่าในพระไตรปิฎกทั้งแปดหมื่นสี่พันหัวข้อที่กล่าวไว้ ไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่อง อิทัปปัจจยตา ในทางปริยัติก็ไม่มีอะไรนอกจาก อิทัปปัจจยตา ในการปฏิบัติก็ไม่มีอะไรนอกจาก อิทัปปัจจยตา ในการที่ได้ผลของการปฏิบัติมาเป็นมรรค ผล นิพพานอะไร ก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจาก อิทัปปัจจยตา ฉะนั้น อิทัปปัจจยตา คำเดียวนั้นเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ทั้งในส่วนปริยัติ ทั้งในส่วนปฏิบัติ ทั้งในส่วนปฏิเวธ ดังนั้นจึงขอร้องให้ท่านทั้งหลายถือว่า อิทัปปัจจยตา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
            เมื่อพูดอย่างนี้มันกว้างกว่า มันหมดกว่า ที่จะพูดว่าอริยสัจจ์เป็นหัวใตจของพุทธศาสนา; หรือว่าไม่ทำบาป ทำแต่กุศล ทำจิตใจให้บริสุทิ์ เป็นหัวใจของพุทะศาสนา อย่างนี้มันก็ยังไม่มากเท่า ยังไม่เก่งเท่า ยังไม่ดีเท่าที่จะพุดว่า อิทัปปัจจยตา คือหัวใจของพุทธศาสนา
            จากคำ ๆ นี้แยกไปหาความทุกข์ก็ได้ แยกไปหาความดับทุกข์ก็ได้ หรือจะไม่ไปไหนไม่เกี่ยวกับดับทุกข์ เป็น อัพยากฤต ไปหมดก็ได้เหมือนกัน ทุกสิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา กฎเกณฑ์ของทุกสิ่งเป็น อิทัปปัจจยตา การกระทำตามกฎเกณฑ์นั้นก็เป็น อิทัปปัจจยตา; ฉะนั้นถ้าพวกเราอยากจะมีพระเจ้ากับเขาบ้างก็จงถือเอา อิทัปปัจจยตา ว่าเป็นพระเจ้า; แล้วจะเป็นพระเจ้าที่เก่งกว่าพระเจ้าไหน ๆ หมดเลย อย่างดีก็เสมอกัน ถ้าเราถือเอา อิทัปปัจจยตา เป็นพระเจ้าแล้ว เราจะมีพระเจ้าที่ไม่มีพระเจ้าไหนเหนือกว่า พระเจ้าที่เขาถือ ๆ กันอยู่นั้น ถือผิด ๆพระเจ้าผู้สร้าง มันก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า อิทัปปัจจยตา พระเจ้าผู้ทำลายก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า อิทัปปัจจยตา พระเจ้าผู้คุ้มครองก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า อิทัปปัจจยตา พระเจ้าผู้อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า อิทัปปัจจยตา พระเจ้าคือทุกสิ่ง ก็ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าพุทธศาสนาจะมีพระเจ้ากันบ้างก็มี อิทัปปัจจยตานี่เอง
        สิ่งนี้มีอำนาจที่สุด มีอำนาจบันดาล ถึงกับว่า พระพุทธเจ้าจะเกิด หรือพระพุทธเจ้าจะไม่เกิด ฉันก็อยู่ นั้น พระพุทธเจ้าตรัสเองว่า อุปฺปาทา วาภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปปาทา วา ตถาคตานํ ตถาคตจะเกิดขึ้น หรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม อิทัปปัจจยตานั้นยังอยุ่และมีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วโดยไม่มีจุดตั้งต้น; นี่มันเหมือนกับพระเจ้า พระเจ้ามีอยู่โดยไม่มีจุดตั้งต้น คนมันเข้าใจผิดเองว่าเป็นคนอะไรมันก็มีการตั้งต้นไปเสีย พระเจ้าที่แท้จริง ไม่ใช่คน ยิ่งกว่าคนมันคือกฎเกณฑ์อันนี้ ที่เราจะเรียกได้ว่า อิทัปปัจจยตา
            ทีนี้จะเอาอะไรกันอีกลองคิดดู ถ้าจะพูดว่าพระเจ้าคือทุกสิ่ง หมายถึงทุกสิ่งก็คือ อิทัปปัจจยตา แล้วสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นทั้งหมดทุกสิ่ง มันก็คือ อิทัปปัจจยตา กิริยาอาการของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็คือ อิทัปปัจจยตา การปฏิบัติก็เป็นอิทัปปัจจยตา ผลของมันก็เป็น อิทัปปัจจยตา
        พูดอีกทีหนึ่งก็ว่า ตัวธรรมชาติทังหลายคือ อิทัปปัจจยตา กฎเกณฑ์ของธรรมชาติทั้งหลายก็คือ กฎอิทัปปัจจยตา หน้าที่ของมนุษย์จะต้องปฏิบัติต่อกฎเกณฑ์นั้น ก็คือ อิทัปปัจจยตา ผลที่มนุษย์จะได้รับออกมาเป็นมรรค ผล นิพพานก็คือ อิทัปปัจจยตา; ฉะนั้นธรรมทังปวง ก็คือ อิทัปปัจจยตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวกู หรือเป็นของกู ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็น อิทัปปัจจยตา; อย่าพึงยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี่คือหัวใจของพุทะศาสนาที่แท้จริง
        เพราะฉะนั้น ประโยคที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย นั้นแหละเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่เข้มข้นใกล้เคียงกันที่สุดกับคำว่า อิทัปปัจจยตา เพราะมันเป็นอิทัปปัจจยตา มันจึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ หรือไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น มันมาอยู่ที่คำว่า อิทัปปัจจยตา ทีนี้ประหยัดแรงสำหรับจะพูดจะออกเสีย ก็ลดเหลือว่า ตถตา ขอให้ท่านทังหลายทุกคนจำคำ 2 คำนี้ไว้ให้ดี ตถตาคำหนึ่ง อิทัปปัจจยตา อีกคำหนึ่ง ว่านี้คือทุกอย่าง และนี้คือหัวใจของพุทธศาสนาด้วย
        สำหรับวันนี่ อาตมาต้องการจะพูดเพียงแง่เดียวเท่านั้น คือแง่นี้เท่านั้นคือให้รู้จักคำว่า อิทัปปัจจยตา นี้คืออะไร? เป็นอันว่าวันนี้เราพุดกันว่า อิทัปปัจจยตาคืออะไร ทีนี้พอรู้จัก อิทัปปัจจยตา ดีแล้ว ต่อไปก็จะพูดในแง่อื่น มุมอื่นที่มันเกี่ยวเนื่องกัน; จะได้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือว่ามีความรู้ที่มันแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปอีก
        ในวันนี้พูดโดยหัวข้อว่า อิทัปปัจจยตา คือหัวใจของ พุทธศาสนาด้วย และพูดโดยกว้างที่สุดว่า อิทัปปัจจยตา คืออะไรด้วย พูดว่าอิทัปปัจจยตา คืออะไร ก็พอแล้ว พอรู้ว่าคืออะไร มันก็รู้ได้เองว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือเป็นหัวใจของสากลจักรวาล เป็นหัวใจของความจริงทั้งหมด เป็นหัวใจของอะไรก็ไม่มีแรงจะพุด

วันนี้ขอหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้
 (คัดลอกจากหนังสือ  อิทัปปัจจยตา โดย พุทธทาสภิกขุ หน้า 1-29 ;14-17 มี.ค 49)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น